หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พญาผานอง วีรบุรุษยอดนักรบแห่งวรนครน่าน


อนุสาวรีย์ พญาผานอง  อำเภอปัว จังหวัดน่าน

พญาผากอง หรือพญาผานอง เป็นโอรสของเจ้าเก้าเกื่อนหรือปู่ฟ้าฟื้น เดิมชื่อขุนใสหรือขุนใส่ยศ สืบเชื้อสายมาจากพญาภูคา เจ้าเมืองภูคา ขุนฟอง ปู่ของพญาผานองแยกมาตั้งเมืองพลัวหรือเมืองปัวครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๖๓-๑๘๙๒ เมื่อสวรรคตแล้ว โอรสสององค์คือเจ้าไสและเจ้ากานเมืองได้ครองราชย์ต่อมา เจ้ากานเมืองมีโอรสชื่อพญาผากอง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๒๙พญาผากองนี้เป็นผู้สร้างเมืองน่านที่เวียงกุม บ้านห้วยไคร้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๙ เชื้อสายของพญาผากองได้ครองเมืองน่านจนถึงเจ้าผาแสงเป็นองค์สุดท้าย ก่อนที่ทางเชียงใหม่ จะส่งคนมาปกครองเมืองน่านโดยตรง
ตามตำนานเมืองเหนือ และพงศาวดารโยนก บันทึกไว้ว่า
                พระยาภูคา เป็นกษัตริย์ครองเมืองยาง(หรือเมืองภูคา) ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘   วันหนึ่งพรานป่าคนหนึ่งไปล่าเนื้อบนภูคา  ได้พบไข่ปลาขนาดเท่าผลมะพร้าว  วางอยู่ใต้ต้นไม้ 2 ฟอง  จึงนำมาถวายพระยาภูคา   พระองค์เห็นเป็นของประหลาด ก็เอาไข่ฟองหนึ่งใส่ไว้ในกะทองิ้ว(นุ่น)  อีกฟองหนึ่งใส่ไว้ในกะทอฝ้าย   อยู่มาไม่นานไข่ที่ใส่ไว้ในกะทอนุ่นก็แตกออกก่อน ปรากฏเป็นทารกรูปงาม  พระยาภูคาจึงเลี้ยงไว้   ต่อมาอีก 2 ปี ไข่ในกะทอฝ้ายก็แตกออกมาอีก  เป็นทารกรูปร่างงดงามเช้นกัน  พระยาภูคาจึงตั้งชื่อทารกคนแรกว่า “เจ้าขุนนุ่น”    ส่วนองค์ที่กำเนิดในกะทอฝ้ายตั้งนามว่า “เจ้าขุนฟอง”  จึงเลี้ยงทารกทั้งสองไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม
                วันเวลาผ่านไป ทารกทั้งสองก็เติบโตเป็นหนุ่ม  เจ้าขุนนุ่นผู้พี่มีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี  เจ้าขุนฟอง ๑๖ ปี  พระยาภูคาจึงให้ราชบุตรบุญธรรมทั้งสององค์ไปตามหาเถรแตงซึ่งเป็นฤาษีหรือชีผ้าขาวผู้มีฤทธิ์  เพื่อขอให้เถรแตงสร้างเมืองให้เจ้าสองพี่น้อง  เถรแตงจึงนำสองพี่น้องไปดูทำเลที่จะสร้างเมือง  จึงได้สร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง  ให้ชื่อว่า เมืองจันทรบุรี(เวียงจันทร์) แล้วให้เจ้าขุนนุ่นผู้พี่ครองเวียงจันทร์  จากนั้นเถรแตงจึงสร้างเมืองห่างจากแม่น้ำน่าน ๕,๐๐๐ วา  ตั้งชื่อเมืองว่า “วรนคร”  (คือเมืองปัว) แล้วให้เจ้าขุนฟองผู้น้องครองเมือง
                     ตำนานเมืองเหนือหลายเมือง  เมื่อจะกล่าวถึงการสร้างเมือง  มักยกให้ฤาษีเป็นผู้สร้าง   คำว่าฤาษี หมายถึงชีผ้าขาว ผู้อยู่ตามถ้ำตามป่าเขา  มีผู้คนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง  จึงเป็นผู้มีบารมีในการชักชวนชาวบ้านชาวเมืองให้ช่วยกันถางป่าสร้างบ้านแปงเมือง   มาในยุคหลังก็มีครูบาศรีวิชัยเป็นตัวอย่างที่สามารถแลไปเทียบกับอดีตได้  ก็สมัยโบราณนั้น  พระสงฆ์ยังไม่มีอิทธิพลในสังคมมากนัก  ชีผ้าขาวหรือฤาษีจึงได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงจากสังคมยุคนั้น  ท่านจึงเป็นผู้นำทางจิตใจ  เป็นผู้ประสานประโยชน์ในสังคม ระหว่างคนชั้นสูงคือผู้ครองเมือง กับคนชั้นล่างคือชาวบ้านชาวเมือง   ตำนานการสร้างเมืองหริภุญชัย  เมืองเขลางค์นคร ก็มีฤาษีเป็นผู้สร้างให้เจ้าชาย   ในตำนานของพ่อขุนงำเมืองก็ไปเรียนวิชากับพระฤาษีที่เขาสมอคอน เมืองพิจิต พร้อมกับพระร่วงเจ้า  และเครื่องรางของขลังวัตถุมงคลยุคนั้นก็สร้างขึ้นโดยฤาษีหรือชีผ้าขาว  ไม่ว่าพระรอดลำพูน  หรือพระซุ้มกอ  จนถึงพระผงสุพรรณ  ผู้เขียนได้รูปฤาษีมาจากกรุเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคราบกรุเป็นสนิมเหล็กเกาะติดแน่น แบบเดียวกับพระรอดลำพูนพิมพ์ต้อ  ก็คงสร้างมาในยุคเดียวกัน  ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปฤาษีนารอด ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทยยุคโบราณคือฤาษีหรือชีผ้าขาว   ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองแต่ละเมืองในยุคราชวงศ์พระเจ้ามังราย รับเอาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามา  พระสงฆ์ก็เริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น  และเจริญเฟื่องฟูที่สุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช  รัชกาลที่ ๙ แห่งเชียงใหม่       เจ้าขุนฟองครองเมืองวรนครจนสิ้นอายุขัย  ก็มีพระโอรสนามพระยาเก้าเกื่อน ครองเมืองสืบมา  ต่อมา เมื่อพระยาภูคาผู้เป็นปู่ชราภาพ ก็ให้พญาเก้าเกื่อนไปครองเมืองภูคา  พระยาเก้าเกื่อนจึงมอบวรนครให้นางพญาคำปินมเหสีอยู่ครองแทน   ซึ่งตรงกับสมัยพ่อขุนงำเมือง อาณาจักรพะเยา  (๑๘๐๑-๑๘๖๑) 
                    ต่อมาพ่อขุนงำเมืองก็ยกกองทัพไปตีวรนคร  พระนางคำปินจึงแจ้งข่าวศึกไปถึงพระยาเก้าเกือน  พร้อมกับแต่งทัพออกต่อสู้กับกองทัพพะเยา  แต่ไม่สามารถต้านทัพของพ่อขุนงำเมืองได้  นางพญาคำปินจึงหลบหนีออกจากเมืองพร้อมกับหญิงรับใช้คนหนึ่งไปอาศัยกระท่อมกลางป่าแห่งหนึ่ง  และประสูติกุมารที่กระท่อมกลางป่านั้น
                       ในบริเวณป่าแห่งนั้นมีแต่ห้วยที่แห้งแล้ง  หาน้ำใช้น้ำอาบไม่มี  นางและบุตรน้อยจึงได้รับความลำบากมาก  นางจึงตั้งสัจอธิษฐานว่า  หากกุมารมีบุญญาธิการจะได้ครองเมืองก็ขอให้มีฝนตกลงมาเถิด   ทันใดนั้นฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก  เกิดน้ำไหลนองพัดเอาก้อนหินก้อนผามากองไว้เป็นอันมาก   พระนางเห็นเช่นนั้นก็มีพระทัยยินดี  อุ้มเอากุมารน้อยไปสรงน้ำ  และได้อาศัยอยู่ที่กระท่อมหลังนั้นสืบมา
                   เช้าวันรุ่งขึ้น  ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของกระท่อมไร่กลางป่านั้นมาทำไร่ปลูกสวน ได้ยินเสียงกุมารร้องไห้จึงเข้าไปดู  ครั้นเห็นนางพญาก็จำได้  เพราะเคยเป็นข้าเก่าของพระยาเก้าเกื่อนมาก่อน  จึงรับเอานางพญาและกุมารไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน   จนกุมารเติบใหญ่ขึ้น อายุได้ ๑๖ ปี   นายบ้านเจ้าของกระท่อมกลางป่าดังกล่าวนั้นจึงนำกุมารไปถวายแด่พ่อขุนงำเมือง   พระองค์เห็นหนุ่มน้อยก็นึกรักเอ็นดู  จึงขอเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม  ตั้งให้เป็น “ขุนใส่ยศ”  ให้ไปกินเมืองปราด                    

                  พ่อขุนงำเมืองได้หญิงสาวชาววรนครผู้หนึ่งเป็นชายา นามว่า “พระนางอั้วสิม”  มีโอรสด้วยกันองค์หนึ่งนามว่า “เจ้าอาบป้อม”   เมื่อพ่อขุนงำเมืองจะเสด็จกลับไปครองเมืองพะเยา จึงมอบให้พระนางอั้วสิมและโอรสอยู่ครองเมืองวรนคร   หลังจากพ่อขุนกลับพะเยาไม่นาน  พระนางอั้วสิมก็พาโอรสไปเยี่ยม  และเกิดมีเรื่องแหนงใจกับพ่อขุนงำเมือง  ก็บังคมลากลับเมืองวรนคร     ต่อมานางพบกับขุนใส่ยศก็มีจิตเสน่หากัน  จึงได้อภิเษกสมรสกับขุนใส่ยศ  ครองเมืองวรนครด้วยกัน 
                          ความทราบถึงพ่อขุนงำเมืองก็ทรงพระพิโรธเป็นอันมาก  จึงยกกองทัพมาตีเมืองวรนครอีกครั้ง  ขุนใส่ยศเจ้าเมืองปราดจึงยกรี้พลออกสู้รบ  และให้เจ้าอาบป้อม โอรสของพ่อขุนออกรบด้วย  พ่อขุนเห็นโอรสออกมาสู้รบด้วยดังนั้นก็นึกสงสาร   จึงถอยรี้พลกลับเมืองพะเยา   ชาวเมืองวรนครจึงพร้อมใจกันทำพิธีราชาภิเศกให้ขุนใส่ยศเป็น “เจ้าพญาผานอง”  ครองเมืองวรนครสืบมา
                          พระยาผานองได้ครองเมืองสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๑๘๙๓ ก็ถึงพิราลัย ทรงมีโอรสองค์ ๖ องค์ด้วยกัน    ขุนไสโอรสองค์น้อยได้ขึ้นครองเมืองแทน ต่อมาปี พ.ศ. ๑๘๙๖ ก็พิราลัย พระยาการเมืองราชโอรสองค์โตได้ขึ้นครองเมืองแทน พระยาการเมืองได้ทำไมตรีกับกรุงสุโขทัย(เข้าใจว่าครั้งนั้นเมืองน่านคงจะเป็นเมืองขึ้น ของกรุงสุโขทัย) ในปี พ.ศ. ๑๘๙๖ (จ.ศ.๗๑๕) ทางกรุงสุโขทัย มีการทำบุญทางศาสนาและได้บอกให้พระยาการเมืองทราบ พระยาการเมืองจึงลงไปช่วยเหลือและได้เกิดชอบกับพระยาโสปัตติกันทิ อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่เมืองสุโขทัยหลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว เมื่อพระยาการเมืองอำลากลับ พระยาโสปัตติกันทิได้มอบพระธาตุเจ้า ๗ องค์ กับพระพิมพ์คำ(ทองคำ) ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้พระยาการเมืองๆจึงอันเชิญพระธาตุดังกล่าวนั้นกลับมายังเมืองปัว และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุ และพระพิมพ์ที่ได้มานั้น ไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้งเมื่อได้อันเชิญพระธาตุเจ้าบรรจุที่นั้นเรียบร้อยแล้ว พระยาการเมืองก็ได้เสด็จกลับคืนยังเมืองปัว อยู่ต่อมาไม่นานนัก พระยาการเมืองจึงอยากอยู่ใกล้ชิดพระธาตุเจ้า เพื่อจะได้ทำการสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น ณ เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ในปี พ.ศ. ๑๙๐๖ (จ.ศ.๗๒๕) เจ้าผากองราชบุตรขึ้นเสวยราชย์แทน ในปีนั้นเองเจ้าผากองครองเวียงแช่แห้งได้    ปีก็เกิดแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ จนไม่มีให้สัตว์พาหนะกิน เจ้าผากองจึงขยับขยายไปสร้างเมืองอยู่ใหม่  ทรงทอดพระเนตรเห็นบ้านห้วยไค้ เป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหารน้ำท่าบริบูรณ์ดี จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น คือเมืองน่าน  เมืองน่านเก่าอยู่ทางทิศใต้เมืองน่านปัจจุบัน 
                   ในตำนานพื้นเมืองระบุปี ที่เจ้าผากองทรงสร้างเมืองน่าน(เก่า)นี้ว่า “ปีรวายสง้า (มะเมีย) จุลศักราชได้ ๗๓๐ ตั๋ว(พ.ศ. ๑๙๑๑) เดือน ๑๒(เหนือ) ขึ้น ๖ ค่ำ วันอังคาร ยามแถร    เจ้าผากองครองเวียงแช่แห้งได้ ๖ ปี แล้วย้ายไปครองเมืองน่าน(เก่า) ครองอยู่ได้นาน ๒๑ ปี ลุวีรวายยี(ปีขาลสัมฤทธิศก) จุลศักราช ๗๕๐ พ.ศ.๑๙๓๑ ก็ถึงพิราลัย เจ้าคำตั๋นราชบุตรได้ครองเมืองสืบมา
                               ตลอดเวลาที่พญาผานอง ครองวรนคร(เมืองน่าน)   ทรงมีความสุจริต  ยุติธรรม  เป็นนักรบที่เข้มแข็งและปกครองที่ดี  เมืองวรนครเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่มีเมืองใดเลยที่กล้ามาตีเมืองวรนคร  ถึงพ.ศ.1892 เวลา30ปี ครั้นพิราลัย   พญาผากองนี้เป็นผู้สร้างเมืองน่านที่เวียงกุม บ้านห้วยไคร้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๙ เชื้อสายของพญาผากองได้ครองเมืองน่านจนถึงเจ้าผาแสงเป็นองค์สุดท้าย ก่อนที่ทางเชียงใหม่จะส่งคนมาปกครองเมืองน่านโดยตรง ด้วยคุณงามความดีและอานุภาพของพญาผานอง  ชาวอำเภอปัวจึงสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่สักการะเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ และปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๖


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

-http://www.sanyasi.org(ตำนานเมืองน่าน)
-จารึกประวัติพญาผานองบริเวณอนุสาวรีย์ พญาผานอง
- http://www.cm77.com (ภาพจาก rachata อัลบั้ม – วรนคร)

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พญาภูคา ปฐมกษัตริย์น่านแห่งราชวงศ์ภูคา

ศาลพญาภูคา จังหวัดน่าน


                       พญาภูคาเดิมเป็นชาวเมืองเงินยาง (อยู่ทางตอนเหนือของ จ.น่าน) ได้อพยพพร้อมด้วยชายา ชื่อ จำปา หรือแก้วฟ้า นำราษฎรประมาณ ๒๒๐ คน เดินทางลงมาทางทิศใต้ ครั้งแรกได้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณ ห้วยเฮี้ย (ปัจจุบัน ต.ศิลาแลง) ต่อมาเล็งเห็นว่าบริเวณเมืองล่าง (ปัจจุบัน ต.ศิลาเพชร) เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และชัยภูมิดีเหมาะที่จะสร้างเมือง (พื้นที่ดังกล่าวชนชาวลั๊วะหรือเขมรก่อตั้งเมืองมาก่อนแล้วแต่ปล่อยให้ร้างคงมีราษฎรเหลืออาศัยประมาณ ๔๐ ครอบครัว) จากนั้น พญาภูคาจึงได้นำราษฎรย้ายจากห้วยเฮี้ยมายังเมืองล่างภายหลังที่สร้างเมืองเสร็จเรียบร้อย และด้วยพระทัยที่กว้างขวางโอบอ้อมอารี ราษฎรต่างเลื่อมใสศรัทธาจึงพร้อมใจกันยกย่องพญาภูคาขึ้นเป็นพญาครองเมืองล่างเมื่อปี พ.ศ.๑๘๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปกครองเมืองล่างเรื่อยมาจึงถึงแก่พิราลัยเมื่อปีพ.ศ.๑๘๘๐รวมระยะเวลาปกครองเมืองล่าง๖๘ปี 
             
สำหรับเมืองล่างเมื่อสิ้นยุคของพ่อพญาภูคาแล้วก็เริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ กอปรกับเมืองล่างขณะนั้นถูกพม่าเข้าตีเมืองหลายครั้ง และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๓ ได้เข้ามากวาดต้อนผู้คนรวมทั้งทำลายวัดวาอารามเก็บเอาทรัพย์สินไปหมด เมืองล่างจึงเสื่อม และเสียหายในที่สุด ต่อมาเมืองล่างเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองย่าง และประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๔ เมืองย่างได้เปลี่ยน ชื่อเป็นตำบลศิลาเพชรจนถึงปัจจุบัน


เกียรติประวัติของพ่อพญาภูคา
  ๑.ด้านการเมือง/การปกครองได้ขยายเขตการปกครองออกไปดังนี้.
       -
ทิศเหนือถือเอาศาลเมืองล่างเป็นเขต
       -
ทิศใต้จรดเมืองสุโขทัย
       -
ทิศตะวันออกจรดเขตเมืองหลวงพระบาง
       -
ทิศตะวันตกจรดเขตพม่า
   
๒. ด้านศาสนา ปี พ.ศ. ๑๘๑๖ พญาภูคา นำราษฎรปฏิสังขรณ์ และบูรณะวัดมณี เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองล่าง รวมทั้งได้นิมนต์พระมหาเถระองค์หนึ่งซึ่งจาริกมาจากกรุงสุโขทัย ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมณี
   ๓. ด้านการพัฒนา ได้ฟื้นฟูบูรณะเมืองล่างซึ่งเป็นเมืองร้างให้เจริญรุ่งเรือง ขุดสระเก็บน้ำ และขุดเหมืองฝาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคและการเกษตร ประชาชนอยู่ดีกินดีบารมีแผ่ไปทั่วสารทิศ ทำให้ชาวเชียงแสน และชาวไทยลื้อสิบสองปันนาอพยพมาพึ่งบารมี และ อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
 ปี พ.ศ. ๑๘๗๐ พญาภูคา และเสนาอำมาตย์ ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสุโขทัยได้เข้าเฝ้าพระร่วงเจ้า พระร่วงเจ้าทรงพอพระทัย จึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พญาภูคา เป็นพ่อพญาภูคาครองเมืองล่าง นับแต่นั้นมากรุงสุโขทัย และเมืองล่าง จึงมีความสัมพันธ์อย่างดียิ่ง

            
พญาภูคาได้ขยายอาณาเขตการปกครองโดยส่งราชบุตรบุญธรรมสององค์ คือ ให้ขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง) ส่วนขุนฟองผู้น้องไปสร้างเมืองวรนคร (เมืองปัว) และในสมัยพญากานเมือง (หลานพ่อพญาภูคา) ได้ย้ายเมืองจากวรนครไปสร้างเมืองที่แช่แห้งเรียกว่าเวียงภูเพียง เมื่อ ปี พ.ศ. ๑๙๐๒ และได้มีการโยกย้ายเมืองไปที่เวียงใต้ เวียงเหนือ และมาอยู่ที่เมืองน่านจนถึงปัจจุบัน
พงศาวดาร หรือตำนานเมืองย่าง 
ต่อ มาปี พ.ศ.๑๘๑๖ พญาภูคาและราษฎร จึงได้พร้อมใจกันบูรณะวันมณีขึ้นให้ดีงาน และได้ไปนิมนต์เอาพระมหาเถระองค์หนึ่งให้มาอยู่วัดนี้ ซึ่งจาริกมาจากสุโขทัยได้เป็นเจ้าอาวาสในวัดมณีขึ้น แล้วให้จัดทำเหมืองนาทุ่งแหนและนามุขขึ้น เมื่อทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เกณฑ์เอาราษฎร ถางป่าทางทิศตะวันตกเฉียงบ้านกำปุงขึ้นไป และพากันบุกเบิกทำเป็นนาขึ้น เรียกว่าทุ่งแหนและนามุขจนทุกวันนี้ สถานที่นั้นเป็นสระน้ำใหญ่ มีปลาและเต่าและสัตว์น้ำต่าง ๆ มีเป็นอันมากซึ่งพญาภูคาหวงแหนไว้มิให้คนใดทำอันตรายสัตว์น้ำที่มีอยู่ในสระ นี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจะทำอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้นในปีหนึ่งจะมีการจับปลาในสระนี้ครั้งหนึ่ง ถ้าจะจับปลาในสระนี้แล้วจำเป็นต้องหาท้าวขุนหมื่นขุนแสนมาเป็นผู้ดูแล และเก็บเอาปลาจากผู้ที่จับได้ครั้งหนึ่งในขณะนั้นยังมีนางคนหนึ่งชื่อนางมุข จับปลาได้มาก แต่ได้เอาปลาไปช่อนไว้ที่บ่อน้ำหมายว่าจะไม่ให้ใครเห็น ในเมื่อคนทั้งหลายได้หนีหมดแล้ว นางก็ได้เอาปลาจากบ่อน้ำขึ้นมา มีชายคนหนึ่งเห็นเข้าจึงถามว่า นางเอาปลาซ่อนไว้ที่ไหนนางบอกว่าซ่อนไว้ในบ่อน้ำ ถ้าอย่างนั้นท่านจงชำระบ่อน้ำให้สะอาดดีกว่าเดิม นับแต่นั้นมาจึงได้เรียกว่า "บ่อน้ำนางมุข" หรือ เรียกว่า "บ่อน้ำนามุข" จนทุกวันนี้  ต่อมาเมื่อ  พ.ศ.๑๘๗๐  พญาภูคาพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์   จึงได้พระมหาเถระเจ้า ไปถึงเมืองสุโขทัย แล้วพระมหาเถระองค์นั้นกล่าวว่า พระร่วงท่านมีสมภารมากจะหาพระมหากษัตริย์องค์ใดจะเสมอมิได้ และเอาใจใส่ในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และเป็นที่ชุมนุมแห่งนักบวชทั้งหลาย ในเมื่อพญาภูคากับพระมหาเถระเสด็จไปถึงเมืองพระร่วงแล้ว พอพระร่วงได้เห็นพญาภูคาเสด็จมาเป็นที่น่ารักมาก จึงได้แต่งตั้งให้เป็น พ่อพญาภูคาครองเมืองล่าง เมืองสุโขทัยกับเมืองล่างจึงได้ติดต่อกันนับตั้งแต่นั้นมา เมืองล่างก็เป็นเมืองส่วยของพระร่วง ขณะนั้นพญาภูคามีบุตรอยู่สองคน ผู้พี่ชื่อขุนนุ่น ผู้น้องชื่อท้าวขุนฟอง เมื่อเจ้าทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นมา ท่าวขุนนุ่นอายุได้ ๑๕ ปี จึงเข้าไปหาพญาภูคาซึ่งเป็นบิดาของตนว่า ฉันทั้งสองอยากเป็นเจ้าเมือง พญาภูคาผู้เป็นบิดาจึงได้ชี้แจงว่า ถ้าเจ้าทั้งสองรักจะเป็นใหญ่ใฝ่สูงเช่นนี้ให้เข้าไปหาฤษีเถระแดงที่อยู่ ระหว่างดอยติ้วและดอยยาวนั้นเถอะ เจ้าขุนนุ่นและเจ้าขุนฟอง สองพี่น้องก็ได้กราบลาผู้เป็นบิดาของตนไปหาฤษีเถระแดงพอฤษีเห็นทั้งสองเข้า ไปหาก็ถามเหตุการณ์ต่าง ๆ จนได้ทราบว่าพญาภูคาให้มาก็ได้ตอบรับทั้งสอง เสร็จแล้วฤษีก็นำเจ้าขุนนุ่นและเจ้าขุนฟองไปข้ามแม่น้ำโขง ข้างหน้าก็เห็นเวียงจันทร์อยู่ที่นั้น ก็ชักชวนชาวเวียงจันทร์ทั้งหมดแผ่วถางที่พร้อมได้สร้างเมืองเวียงจันทร์ขึ้น เรียบร้อยแล้วก็ได้บอกให้ชาวเวียงจันทร์ทั้งหมดให้เจ้าขุนนุ่นปกครอง ต่อจากนั้นฤษีก็พาเจ้าขุนฟองกลับมาถึงที่แห่งหนึ่ง ไกลจากน้ำน่านประมาณ ๕,๐๐๐ วา ที่นั้นเป็นที่ราบเรียบดี จึงได้พาราษฎรในหมู่บ้านลาวชาวเขาทั้งหมดมาอยู่ที่ราบแล้วก็ได้พร้อมใจกัน สร้างเมืองขึ้นที่นั้น จึงตั้งชื่อเมืองว่า "เมืองวรนคร" อยู่ที่นั้น ทีนี้พ่อพญาภูคาปกครองเมืองล่างนานได้ ๕๐ ปีแล้ว พอถึง พ.ศ.๑๘๘๐ พญาภูคาก็ถึงแก่กรม รวมพระชนมายุ ๖๘ พรรษา


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.mdu31.com (ประวัติเจ้าพ่อพญาภูคา:หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๓๑ สำนักงานพัฒนา ภาค๓ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพไทย จ.น่าน)
- http://www.nan2day.com  (ภาพจาก :nan2day.com :งานพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงภูคา)

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจ้าพ่อพญาวัง เจ้าเมืองพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งเมืองวัง

ศาลเจ้าพ่อพญาวัง ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ต.วังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

     
              เจ้าพ่อพญาวัง เป็นเจ้าเมืองวัง ปกครองเมืองวัง ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๐๐- ๑๘๐๐ และเจ้าพ่อพญาวังน่าจะเป็นพระยูรญาติพระองค์หนึ่งของพระเจ้าไชยสิริ และในยุคนี้มีการค้าขายและผลิตสินค้า มีความเจริญมากที่สุด ประเภทถ้วยชามเครื่องปั้นดินเผา ผางประทีป     ที่มาจากเตาเผาสันกำแพง   เชียงใหม่   เตาเผาพาน  เชียงราย  หรือเตาเผา 
ประวัติเจ้าพ่อพญาวัง
"
ลุเมื่อ พ.ศ.๑๗๐๒ พระเจ้าไชยศิริแห่งนครไชยปราการ ได้เสียเมืองให้แก่ขุนเลียขวัญฟ้ามหาราช แห่งอาณาจักรเมาพระองค์จึงได้ อพยพพลเมือง ไปตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง มื้อนั้นก็ถึงกาลที่นครไชยปราการต้องถึงคราววิบัติ นี่เอง พญาวังข้าราชบริพาร แห่งพระเจ้าไชยศิริมิได้อพยพติดตามไปด้วย หากแต่ได้อพยพผู้คนส่วนหนึ่ง ซึ่งรักถิ่นฐานเดิมหลบหนีจาก ไชยปราการ มาตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ พญาวังได้สร้างคุ้มและวัดวาอารามขึ้นในอาณาบริเวณแห่งนี้ อันมีชื่อเรียกในกาลปัจจุบันว่า ดงหอเจ้าพ่อพญาวัง อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอวังเหนือและอำเภอใกล้เคียงตราบจนปัจจุบัน"

ประวัติอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
                   อำเภอวังเหนือ ตามปรากฏในธรรมพุทธจาริก ได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเดิมเรียกว่าเมืองหวัง ต่อมาผู้คนพูดกันผิดเพี้ยนเป็น เมืองวัง และเรียกว่า วังเหนือ จนถึงปัจจุบัน สำหรับการตั้งถิ่นฐาน แบ่งได้เป็น ๓ ยุคคือ
              ยุคที่ ๑ สมัยเจ้าพ่อพญาวังปกครองเมืองวัง ประมาณ ช่วง พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๘๐๐ จากการศึกษาประวัติพระองค์ท่านจากเอกสารแผนภูมิปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอวังเหนือ และเอกสารประวัติอำเภอวังเหนือ ซึ่งแต่งโดยพระมหาสุทัศน์ หลักแน่น (ปัจจุบันคือ พระเทพรัตนมุนี รจภ.๖) วัลลพ เสียงกึก ได้เขียนประวัติเจ้าพ่อพญาวังตรงกันว่า ได้มีพระประยูรญาติพระองค์หนึ่งของพระเจ้าไชยสิริ เจ้าเมืองไชยปราการ ขณะหนีภัยสงคราม หลังเสียเมืองให้แก่พระเจ้าขวานฟ้าแห่งอาณาจักรเมา ได้นำข้าราชบริพารหลีกออกจากขบวนมาตั้งถิ่นฐานและครอบครองเมือวังและได้สถาปนาตนเองเป็นพญาวัง
             ยุคที่ ๒ หลังจากสิ้นเจ้าพ่อพญาวัง พ.ศ. ๑๙๐๐-๒๓๐๐ เป็นยุคที่ไม่มีเจ้าผู้ครองเมือง เป็นเพียงหัวเมืองเล็กๆ โดยมีฐานะเป็นพันนาคือเป็นตำบลที่จะต้องส่งส่วย ขึ้นอยู่กับแว่นแคว้นพะเยา ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างเมือง สินค้าที่พบคือเครื่องปั้นถ้วยชาม เครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งเป็นวัตถุโบราณที่สวยงามและหายากในปัจจุบัน
              ยุคที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๐๐ - ปัจจุบัน เป็นยุคที่เริ่มมีการปกครองระบบเทศาภิบาล วังเหนือเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอแจ้ห่ม ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเมื่อขึ้น พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อได้พัฒนาตัวเองจนเจริญมากขึ้น จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐  จากการที่ เจ้าพ่อพญาวัง เป็นผู้ครองเมืองวังเพียงพระองค์เดียว จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาวังขึ้นบริเวณคุ้มวังเดิม ในเขตเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ตำบลวังเหนือ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของคนวังเหนือสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุกปีจะมีประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพญาวัง เดือน ๙  ( เหนือ ) แรม ๑๓  ค่ำ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนวังเหนือมีความรัก ความผูกพันในถิ่นเกิด ทุกปีต้องกลับต้องกลับมาภูมิลำเนา
              เมืองวัง มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็กมีการค้นพบเครื่องมือหินบริเวณสันเขาปันน้ำและภูเขาทั่วไปในอำเภอวังเหนือ โดยเฉพาะพบรอย พระพุทธบาทบนภูเขาบ้านสบลืน ตำบลร่องเคาะมีการพบขวานหิน ขวานสำริดอำเภอวังเหนือ ในประวัติศาสตร์เดิมมีชื่อเรียกว่า ดงเวียงหรือ เวียงวัง (เมืองวัง) ตามหนังสือประวัติศาสตร์อำเภอวังเหนือที่แต่งโดยพระมหาสุทัศน์ หลักแน่น และนายวัลลพ เสียงกึก สันนิษฐานว่าเมืองวังเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๕๐๐-๕๙๙ เป็นต้นมา โดยคาดว่าน่าจะเป็นเมืองขึ้นหรือส่วนหนึ่งของเมืองอื่นในอดีต เช่น เมืองเชียงแสน หรือ เมืองนครเขลางค์ เมืองวังมีช่วงที่เจริญสูงสุด จะเป็นในช่วงยุคสมัยที่เจ้าพ่อพญาวัง ปกครองเมืองวังระหว่างปี พ.ศ.๑๗๐๐-๑๘๐๐ ซึ่งประวัติเจ้าพ่อพญาวังน่าจะเป็นพระประยูรญาติพระองค์หนึ่งของพระเจ้าไชยสิริ และในยุคนี้มีการค้าขายและผลิตสินค้า ประเภทถ้วยชามเครื่องปั้นดินเผา ผางประทีป ที่มาจากเตาเผาสันกำแพง เชียงใหม่ เตาเผาพาน เชียงราย หรือเตาเผา วังเหนือ เวียงกาหลง และมีการค้นพบชิ้นถ้วยที่ผลิตในยุคราชวงค์หมิงประเทศจีน ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๑๗ เกิดภาวะสงครามขึ้นระหว่างพม่า กับล้านนา ทำให้ผู้คนต่างหนีภัยไปในทิศทางต่างๆ จนกลายเป็นสภาพเมืองร้าง  จนถึงปีประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๓ เมืองวังกลับคืนสู่สภาพความเป็นชุมชนเมือง อีกครั้งหนึ่ง หลังจากพม่าสิ้นอำนาจการปกครองในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่สามารถขับไล่พม่าได้สำเร็จ   ใน พ.ศ.๒๔๓๕ มีการแบ่งการปกครอง เป็นระบบส่วนภูมิภาค และระบบเทศาภิบาลเมืองวังเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอมีการเปิดที่ว่ากิ่งอำเภอครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๘๑ และปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับการยกฐานขึ้นเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบัน


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก นักรบในตำนานแห่งเมืองฝาง

        

  ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่       
          

          ประวัติเมืองฝาง หรือ อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่  ในอดีตเป็นที่ตั้งของเวียงสุทโธ , เวียงไชยปราการ และเวียงฝาง  ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่  ด้านทิศเหนือป้องกันการรุกรานจากพม่า     เล่ากันว่าในครั้งที่พม่ายกทัพเข้ามารุกรานแผ่นดินไทย (ในสมัยรัชกาลใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด)  ได้มีทหารเอกเจ้าเมืองฝางท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญ และชำนาญในการรบ ได้นำกำลังกองทัพเข้าต่อสู้กับทหารพม่าด้วยความเด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ  สามารถมีชัยชนะต่อข้าศึกหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่เลื่องลือไปทั่วถิ่นล้านนา  และเป็นที่หวาดหวั่นยำเกรงต่อทหารพม่า  เมื่อเอ่ยชื่อถึงทหารเอกท่านนี้  จนเมื่อท่านเสียชีวิตลง  ผู้คนเชื่อกันว่าดวงวิญญาณของท่านยังคงสถิตอยู่ที่เมืองฝาง ณ บริเวณแหล่งน้ำมันไชยปราการ  เพื่อคอยปกป้องดูแลรักษาผืนแผ่นดินที่ท่านหวงแหนตลอดมา    ทหารเอกที่ได้กล่าวถึงนี้  มีประวัติความเป็นมาที่ได้จากการบอกเล่าของผู้คนในท้องที่อำเภอฝางที่เล่าสืบต่อกันมาบ้าง  ได้จากการบอกเล่าของร่างทรงมาบ้าง  ที่สามารถบันทึกไว้ได้มีจำนวน ๕  ประวัติ  ซึ่งแต่ละประวัติจะกล่าวถึงคุณงามความดีและความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของท่าน ในการต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ามารุกรานผืนแผ่นดินไทย  แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนในชีวประวัติที่แท้จริงของท่าน  จึงได้มีการเรียกชื่อทหารเอกท่านนี้ภายหลังที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว นามว่า  
เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”  โดยเรียกชื่อตามลักษณะการแต่งกายของท่านที่ใช้  ๒ ดาบเป็นอาวุธ  มีปลอกเหล็กหุ้มข้อมือต่างโล่ห์ ทั้ง๒ ข้อมือ


ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
               ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเท่าที่ประมวลจากตำนานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา บันทึกที่ค้นพบ และการถามม้าขี่ (คนทรง) ปัจจุบันเจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีคนทรงหลายคนได้ข้อมูลที่ตรงกันประการหนึ่ง คือ เจ้าพ่อข้อมือเหล็กขณะยังมีชีวิตอยู่ เป็นทหารหรือนักรบของคนไทยลานนา มีความกล้าหาญสามารถกำดาบสู้กับข้าศึกได้นับร้อย มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง ถือดาบสองมือเป็นอาวุธ ชื่อเดิมและประวัติครอบครัวไม่ค่อยตรงกัน พื้นเพเดิมอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง และมาเป็นทหารให้กับหัวเมืองเหนือตั้งแต่เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ จนถึงเวียงฝางทำสงครามกับไทยใหญ่และพม่าเสียชีวิตลงเนื่องจากการรบหรือตรากตรำในการรบ ยุคสมัยของท่านไม่สามารถระบุได้แน่นอนในประวัติศาสตร์คาดว่าจะอยู่ระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังจากเสียชีวิตแล้วยังเป็นห่วงชาติบ้านเมือง เป็นเทวดาคุ้มครองตอนเหนือของเชียงใหม่ ตั้งแต่ อ.แม่แตง จนถึง อ.ฝาง
               ประวัติที่จะได้อ่านต่อไปนี้ ได้มาจาก คำบอกเล่า บันทึกที่ค้นพบจากการถามม้าขี่ (ร่างทรง) และจากหนังสือตำรา ( “ผีเจ้านาย โดยฉลาดชาย  สมิตานนท์)
ประวัติที่ ๑
               เป็นทหาร รูปร่างสูงใหญ่ ประมาณ ๑ เท่าครึ่งของคนปัจจุบันใช้ดาบคู่ แขนตั้งแต่ข้อมือถึงข้อศอก สวมปลอกเหล็กไว้กันดาบของคู่ต่อสู้ที่รับไว้แล้วอาจพลาดมาถูกแขนได้ เนื่องจากดาบไม่มีโกร่งกันอย่างดาบฝรั่ง นอกจากนั้นยังใช้ปลอกเหล็กกันอาวุธแทนโลห์อีกด้วย 
              -  เจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีชื่อว่า บุเหลง, เหล็ก และเพชร(๓ ชื่อ) เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก แล้วย้ายตามบิดามารดาลงมาเติบโตที่จังหวัดพิจิตร ท่านเป็นนักรบของคนไทยในภาคเหนือ ตั้งแต่เมืองปัว เมืองน่าน ต่อมาถึงเมืองฝางเป็นทหารเอกของเจ้าพระยาฝาง ต่อสู้กับพม่ามาตลอดจนสิ้นชีวิต(สมัยเจ้าพระยาตาก)
                        ลักษณะการแต่งกาย นุ่งกางเกงแค่หัวเข่า (ขาก๊วย) เสื้อแขนยาวถึงข้อศอกใช้ผ้าผูกแทนกระดุม (เสื้อหม้อห้อม) สวมรองเท้าหนังสัตว์ใส่เกราะไม้ไผ่รอบอก (ทำอย่างการเผ้าเฝือกรักษากระดูกหลัง) แล้วสวมเสื้อทับ คาดเอวทับด้วยผ้าแดง
                        มีความชำนาญในการใช้ดาบคู่ สามารถรำดาบให้เห็นเงาของปลายดาบเป็นรูป ๓ เหลี่ยม อยู่รอบตัว ในขณะที่รำดาบให้ดูนี้อาจตัดหัวคนให้ขาดได้โดยไม่รู้ตัว
                        ปัจจุบัน ท่านเป็นเทวดาที่ดูแลคุ้มครองพื้นที่เขตอำเภอฝางทั้งหมด การกระทำสิ่งใด ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจของท่านในบริเวณอำเภอฝางนั้นจำเป็นต้องขออนุญาตท่านเสียก่อน
                        การบวงสรวง ประกอบพิธีกรรม จัดเครื่องสักการะบูชาในระดับชั้นเทวดา และชอบการละเล่นที่แสดงพละกำลังความสามารถของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การงัดข้อบนตอไม้ที่สูงระดับประมาณครึ่งเมตร
                      -   การทำบุญให้ทาน ให้ใช้วิธีสังฆทาน ถวายผ้าไตร สร้างพระพุทธรูป
ประวัติที่ ๒
                        เมื่อสมัยพระยาหมื่นคื่น ได้ปกครองเมืองก๊ะ สันนิษฐานว่าจะอยู่ใกล้ ๆ บ่อน้ำมัน บริเวณหมู่บ้านแม่คะปัจจุบัน พระยาหมื่นคื่น มีภรรยาชื่อ ธรรมเนียม มีบุตรธิดาทั้งหมด ๑๒ คน มีชื่อเท่าที่ ปรากฎ
๑.    เจ้ากาบคำ หรือก๊าบคำหรือดาบคำ คือเป็นลูกคนแรก พ่อแม่คงรักมาก เมื่อเกิดนางธรรมเนียมผู้เป็นแม่จึงเอาแก้วแหวนเงินทองให้คาบไว้ เป็นการเอาเคล็ดว่าจะได้เสวยสุข มั่งมีเงินทองถึงคาบเงินคาบทอง
๒.    เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
๓.    เจ้าคมดาบ
๔.    เจ้าใจดำ
๕.    เจ้าอินสอน
๖.     เจ้าขวัญเรือน
๗.    ฯลฯ ไม่ทราบนาม
                            มีสมัยหนึ่งมีทัพมาจากพม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองใหญ่น้อยในภาคเหนือ จนมาถึงเมือก๊ะ และเข้าล้อมเมืองไว้ หวังจะให้ชาวเมืองก๊ะหมดอาหารและยอมจำนน พระยาหมื่นคื่นจึงได้เรียกประชุมที่เหล่าแม่ทัพนายกองและบุตรที่เป็นทหาร ทั้งแม่ทัพและราชบุตรต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรสู้ เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของตนเอง มีแต่เจ้าคมดาบน้องคนที่สาม ซึ่งปกครองเมืองสะหลุงเชียงดาว เมื่อทราบข่าวการศึกจึงรีบมาช่วยให้ความเห็นว่าไพร่พลของตัวมีน้อย และเป็นการถนอมรักษาชีวิตพลเมืองไว้ เห็นควรยอมแพ้แต่โดยดี เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก จนถึงเจ้าใจดำบุตรคนที่สี่เศร้าเสียใจที่ยกเมืองให้ข้าศึกง่าย ๆ จึงกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตาย
                          เมื่อตกลงกันเป็นที่แน่นอนว่าวิธีที่จะรักษาเอกราชของตนเอง คือสู้เท่านั้น และในที่ประชุมต่างเห็นว่าผู้ที่มีความสามารถทั้งด้านฝีมือและการวางกลยุทธการต่อสู้ ไม่มีใครเกิน เจ้าพ่อข้อมือเหล็กจึงได้ร่วมใจกันยกให้เจ้าพ่อข้อมือเหล็กขึ้นเป็นนายทัพ
                          การสู้รบครั้งนั้นเป็นไปด้วยความกล้าหาญของไพร่พลแม่ทัพกองเมืองก๊ะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายพลได้แสดงความกล้าหาญ นำทัพเข้าตลุยนำหน้าตลอดเวลา จนกระทั่งศัตรูแตกพ่ายไปทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่า จนรักษาเอกราชไว้ได้
ร่างทรง
                         คุณยายเทียมต๋า ซึ่งขณะนี้อายุ ๓๘ ปี เป็นชาวบ้านแพะ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งได้ย้ายมาอยู่ บ้านแม่คะ ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อาชีพทำนา ว่างจากนาก็หาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ นำมาขาย เป็นครอบครัวที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน
                        วันหนึ่ง เมื่อคุณยายเทียมต๋า ขณะนั้นอายุได้ ๒๑ ปี เข้าไปหาของป่าเหมือนเช่นเคย ผ่านมาทางบ่อต้นขาม รู้สึกเวียนศรีษะจนเป็นลม เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยต้องช่วยกันพากลับบ้าน ถึงบ้านก็ไม่สบายมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่คิดว่าคุณยายไปทำมิดีมิร้ายต่อเจ้าพ่อ จึงไปขอขมาลาโทษต่อเจ้าพ่อที่บ่อต้นขาม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น อาการมีแต่ทรงกับทรุด จึงได้สอบถามเจ้าพ่อองค์หนึ่งที่ผ่านร่างทรง จึงได้ทราบว่าขณะนี้เจ้าพ่อข้อมือเหล็กได้มาสถิตย์อยู่ทิศทางนี้และอาศัยศาลที่บ่อต้นขามมานานยังไม่มีร่างทรง ติดต่อระหว่างผู้มีมาขอความคุ้มครองกับเจ้าพ่อ และรอมานานไม่พบผู้ที่เหมาะสม จนกระทั่งเห็นคุณยายเทียมต๋าจึงรู้เป็นผู้ที่ท่านรอมานาน เพราะเป็นผู้ที่มีความสัตย์ ใจบุญ ไม่คดโกง ท่านกล่าวว่าเป็นคนน้ำไหลใจซื่อ มีศีลธรรม เหมาะที่จะเป็นร่างทรง ถ้าไม่ทรมานด้วยการให้ความป่วยไข้เสียก่อนก็อาจจะไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ และไม่รับการเป็นร่างทรง
                       เมื่อไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะร่างรายผ่ายผอมลงไปทุกวันสุดท้ายคุณยายเทียมต๋าจึงยอมรับเป็นร่างทรง ตั้งแต่อายุ ๒๑ ปี หลังจากนั้นอาการเจ็บป่วยก็หายไปดีปลิดทิ้ง จนถึงขณะนี้คุณยายอายุ ๗๘ ปี ยังรับใช้เป็นร่างทรงเจ้าพ่อข้อมือเหล็กอยู่

หมายเหตุ  คุณยายเทียมต๋า ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ด้วยโรคชรา

สัมภาษณ์ร่างทร
                        ได้สอบถามเจ้าพ่อกาบคำ  ผ่านร่างทรงถึงความเป็นมาของท่านและเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก  ท่านได้เล่าว่าเมื่อเจ้าพ่อข้อมือเหล็กท่านเสียชีวิต  ด้วยความห่วงใยบ้านเมืองท่านจะกลับมารักษาเขตด้านชายแดนในลักษณะเทพ  จนผ่านมาหลายยุคหลายชาติ  และจะมาปรากฏตัวอีกครั้งที่เมืองฝางมีน้ำมันปรากฏขึ้น  แต่กาลทั้งนี้ได้รับบัญชาจากเจ้าพ่อหลักเมืองให้มารักษาเขตแดนทางด้านเขตบ่อน้ำมัน  พ้อมกับเจ้าพ่อกาบคำผู้เป็นพี่  สมัยเป็นมนุษย์  เจ้าพ่อกาบคำจะมีอิทธิฤทธิ์น้อยกว่า  จึงคอยรักษาหมู่บ้านและคอยช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วย  พร้อมทั้งการช่วยเหลือเล็กๆ  น้อย ๆ ส่วนเจ้าพ่อมือเหล็กท่านมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าจึงได้รักษาเขตบ้านเขตเมือง  เรียกว่าเป็นเสมือนทัพหน้าและเป็นเช่นนี้ตลอดมาจนถึงขณะนี้  เจ้าพ่อข้อมือเหล็กท่านจะมาเข้าทรงน้อยมาก   เพราะภารกิจของท่านมากต้องตระเวนรักษาเขตแดนตลอดเวลา  เว้นแต่จะมีความจำเป็นจริง ๆ และมีผู้ร้องขอท่าน  นี่เป็นการบอกเล่าผ่านร่างทรงของเจ้าพ่อกาบคำ  ซึ่งเมื่อสมัยเป็นมนุษย์เป็นพี่ชายเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ประวัติที่ ๓
                        ในอดีตเป็นสามัญชนชื่อ น้อย เป็นทหาร เป็นนักรบ บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลานดอกไม้เมืองตาก ตนเป็นนักรบของหมื่นหาญ หมื่นดำ ซึ่งเป็นแม่ทัพอยู่ลำพูน ในสมัยนั้นเจ้าฟ้าสะท้านเป็นกษัตริย์ปกครองเชียงใหม่ ลำพูน เจ้าฟ้าสะท้านเป็นน้องของเจ้าหลวงคำแดง ในตอนนั้นเมืองตากตกเป็นข้าทาสของเชียงใหม่-ลำพูน เจ้าฟ้าสะท้านได้นำนางสร้อยทองมาเชียงใหม่ด้วย เจ้าฟ้าสะท้านได้จัดให้นางสร้อยทองพักอยู่ที่คุ้มประตูระแกง ต่อมานางถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา จากพวกข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าสะท้าน ต่อมาน้อยก็ได้ไปรับจ้างขุดดินทำกำแพงเมืองเชียงใหม่ เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางพานางสร้อยทองกลับเมืองตากได้เงินมาหกพันด้วง ในขณะที่น้อยรับจ้างขุดดินอยู่นั้นได้พบชายเฒ่าคนหนึ่งถูกทหารของเจ้าฟ้าสะท้านโดยในข้อหาว่า พาลูกสาวไปซ่อนไม่ยอมให้เจ้าฟ้าสะท้านเอามาเป็นเมีย น้อยก็บังเกิดโทสะขึ้นมา และคิดว่าถ้าตนได้เป็นทหารอีกเมื่อไรจะปลดปล่อยข้าทาสให้จงได้ ต่อมานางสร้อยทองและน้อยเดินทางกลับเมืองตาก ขณะเดินทางถูกทหารของเจ้าฟ้าสะท้านจับได้ ชาวบ้านต่างนินทาว่าน้อยเป็นชู้กับนางสร้อยทอง น้อยปฏิเสธและขอให้เจ้าหลวงคำแดงให้ความเป็นธรรมแก่ตน เจ้าหลวงคำแดงยอมให้พิสูจน์ตนเองโดยการส่งไปรบกับไทยใหญ่พม่า และต้องสู้รบ ขณะสู้รบถูกไทยใหญ่จับตัวได้ถูกใส่ปลอกเหล็กที่ข้อมือที่ซึ่งติดตัวต่อมา แต่น้อยไม่ยอมจำนน นำทหารที่ถูกจับเป็นเชลยด้วยกันลุกขึ้นสู้และสามารถหนีกลับได้
หลังจากนั้นก็รวบรวมทหารตั้งเป็นด่านรักษาเมืองเชียงใหม่อยู่แม่แตงต่อมาได้ตายไปเพราะเป็นอัมพาตคือช้ำในตายเพราะผ่านการรบมามาก โดยเหล็ก  โดนดาบอยู่ตลอดเวลา เมื่อตายไปชาวบ้านก็ได้สร้างศาลให้สถิตย์อยู่ที่แม่แตง (เจ้าข้อมือเหล็กในร่างของม้าขี่ กล่าวว่าเรื่องประวัติของตนนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์จึงไม่รรู้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.อะไร)

ประวัติที่ ๔
                       ชาติก่อนเจ้าพ่อคือ พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นน้องของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เคยเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงพูดภาษาต่างประเทศได้ แต่ม้าขี่ไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร

ประวัติที่ ๕
                      เจ้าพ่อข้อมือเหล็กเดิมเป็นคนบ้านลานดอกไม้ แขวงเมืองกำแพงเพชร เป็นทหารยุคเจ้าฟ้าสะท้าน สามารถกำดาบสู้คนได้เป็นร้อย โดยข้อมือไม่ตกจึงได้ชื่อว่าข้อมือเหล็ก เป็นทหารให้เมืองเชียงใหม่ ครั้งสุดท้ายไปทำสงครามที่บ้านสบแตง รบกับพม่า ๑ วัน กับ ๑ คืน จนตายโดยยังถือดาบอยู่ในมือ อยู่หน้ากองทัพ พม่าไม่กล้าเข้าใกล้ (ในสมัยพระเจ้าอังวะ) ตอนเป็นทหารอยู่เป็นมีจิตใจเหี้ยมโหดแต่มีความรักบ้านเมือง จึงทำให้จิตกังกลอยู่เช่นนี้ ดังนั้นเลยไม่ยอมไปผุดไปเกิดยังคงเป็นผีอยู่
                      เหตุที่มาเข้าร่างทรงในเมืองมนุษย์ก็เพื่อล้างกรรมเก่า ที่มีมาแต่ชาติปางก่อน เคยฆ่าคนไว้มากและอีกประการหนึ่งจิตใจยังกังวลห่วงชาติบ้านเมืองอยู่ จึงต้องลงมาประทับทรงกับร่างมนุษย์ มาช่วยเหลือมนุษย์สร้างบุญบารมี เจ้าพ่อเคยมีร่างทรงมาแล้ว ๓ คน ตายไป ๑ คน อีกคนหนึ่งลาไปบวชเป็นพระไม่สึกตลอดชีวิต การที่เลือกมาขี่ก็เพราะชาติก่อนได้เคยช่วยเหลือใช้สอยกันมา ชาตินี้จึงเลือกเป็นม้าขี่ศาลใหญ่อยู่ที่อำเภอแม่แตง


บริเวณรอบๆศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก