วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระญากือนาธรรมิกราช กับยุคทองแห่งพระพุทธศาสนา

ภาพพระญากือนาธรรมิกราช  กษัตริย์องค์ที่ ๖แห่งราชวงศ์มังราย
ผู้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพ ในหนังสือตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพ

                       พระญากือนาธรรมิกราช(ตื้อนา หรือ กิลนา) พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระราชโอรสของพระญาผายู ทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๘ ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ ทรงปกครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองมีความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ก็คือ การรับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาท ลังกาวงศ์สายรามัญมาจากสุโขทัย แต่เดิมพุทธศาสนาในล้านนาสมัยพระญามังรายจนถึงสมัยพระญาผายู เป็นพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดมาจากหริภุญชัยและผสมกับพุทธศาสนาที่มาจากหงสาวดีและอังวะ 

                     ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์สายรามัญ ได้แพร่หลายเข้ามาสู่เชียงใหม่ครั้งแรกในรัชสมัยของพระญากือนา โดยผ่านทางเมืองสุโขทัย โดยครั้งนั้นพระญากือนาทรงมีพระประสงค์ให้พระภิกษุอรัญญวาสีมาอยู่ที่เชียงใหม่ และเพื่อให้ทำสังฆกรรมได้ครบทุกประการ จึงได้ทรงอาราธนาพระสุมนเถระชาวสุโขทัยมาจากสุโขทัยในราวปี พ.ศ. ๑๙๑๒  พระสุมนเถระมาถึงหริภุญชัยได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน พระญากือนาทรงเลื่อมใสในพระสุมนเถระด้วยทรงเห็นว่า ท่านเป็นฝ่ายอรัญญวาสีมีความรู้สึกซึ้งในศาสนา โดยเฉพาะท่านได้บวชมาในสายรามัญ ซึ่งทำสังฆกรรมถูกต้องตาม พระวินัยบัญญัติ พระญากือนาจึงโปรดให้พระพื้นเมืองในล้านนา หรือนิกายเดิมที่สืบต่อกันมาแต่ครั้งพระนางจามเทวี เข้าพิธีอุปสมบทใหม่กับพระสุมนเถระจำนวนหลายพันรูป ในสมัยโบราณก่อนที่จะรับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนา จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างสันนิษฐานว่าล้านนานับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน โดยได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวาราวดีที่หริภุญชัย และพบธรณีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนา มีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน จึงสันนิษฐานได้ว่าล้านนามีการนับถือภูตผีปีศาจวิญญาณ และนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ ในขณะเดียวกันแคว้นหริภุญชัยได้มีการนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระนางจามเทวี เชื่อกันว่าแคว้นหริภุญชัยจะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาตลอดมา จนถึงสมัยพระญากือนา  เมื่อพุทธศาสนาจากแคว้นสุโขทัยได้เข้ามาแพร่หลายในล้านนา มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม และประเพณี สมัยต่อมาพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาพระสงฆ์ได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก บทบาทของพระสงฆ์มีหลายด้านด้วยกันอาทิเช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัยพญากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง และจากหลักฐานตำนานราชวงศ์พื้นเมืองเชียงใหม่เขียนว่า พระสงฆ์มีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนพระมหากษัตริย์ล้านนาผู้ประพฤติไม่ถูกต้อง และยังเป็นที่พึ่งของราษฎรในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม 


                     พระญากือนาสร้างวัดบุปผาราม (สวนดอก) ขึ้นในอุทยานป่าไม้พยอม สำหรับเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระในปี พ.ศ. ๑๙๑๔ และจัดทำเวียงสวนดอกให้เป็นเวียงพระธาตุเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖ ต่อมาทรงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยจัดสร้างขึ้น ๒ แห่ง คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และที่วัดสวนดอก 

วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

                     ครั้นพระสุมนเถระเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม (สวนดอก) แล้ว ได้ดำเนินการเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ได้ศึกษามาจากพระอุปัชฌาย์ (พระอุทุมพรมหาสวามีในรามัญประเทศ) และเมื่อพำนักอยู่วัดสวนดอกต่อมาได้ ๑๘ ปีท่านก็ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๑๙๓๒ 

                     ดังนั้นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ในรัชสมัยของพระญากือนา จึงเป็นศูนย์กลางของสายรามัญ ต่อมาเรียก ลังกาวงศ์รุ่นแรก นิกายสวนดอก หรือนิกายรามัญ เนื่องจากพระสุมนเถระได้บวชเรียนมาจากสำนักของพระมหาสวามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะในรามัญประเทศ พระญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆ เช่น เชียงแสน เชียงตุง เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมวินัย นับเป็นความพยายามที่จะให้เชียงใหม่และล้านนาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแทนหริภุญชัยซึ่งเคยมีบทบาทมาก่อนหน้านั้น

                       การรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยในสมัยพญากือนา เป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวทางด้านภูมิปัญญาศาสนา ซึ่งนำไปสู่ความเจริญของพุทธศาสนาในยุคทองของล้านนา ต่อมาอาณาจักรล้านนาในสมัยพระญากือนาจึงมีเสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและการปกครองมากขึ้น 
ต่อมาพระญากือนาได้ทรงยกเลิกการส่งส่วยต่อฮ่อ ซึ่งได้เคยปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น ดังนั้นพอถึง พ.ศ. ๑๙๐๘ พระญาฮ่อลุ่มฟ้าจึงทวงถามเอาส่วยข้าว ๙๐๐๐ คานงาช้าง ๒๐ หาบ ผ้าขาว ๔๐๐ รำ ถ้วยแช่สัก ๑๐๐๐ ลาย ๕๐๐ เขียว ๒๐๐ ขาว ๓๐๐ เป็นส่วยแก่เจ้าลุ่มฟ้า พระญากือนาจึงปฏิเสธไม่ส่งส่วยต่อฮ่ออีก การไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อๆ มา คือ พระญาแสนเมืองมา และพระญาสามฝั่งแกน ก็พลอยไม่ส่งส่วยด้วย ภายหลังกองทัพฮ่อจึงยกมาทวงส่วยในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เมื่อพระองค์ไม่ยอมส่งให้ กองทัพฮ่อจึงเข้าล้อมเมืองเชียงแสน จนเกิดการรบและฮ่อก็พ่ายแพ้ไป

                     พระญากือนาทรงสวรรคตขณะมีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ ๓๐ ปี สถานที่ที่ทรงสวรรคตคือคุ้มเวียงบัว อันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดป่าเป้า ริมคูเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ต่อมาคุ้มนี้ในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน ได้สร้างเป็นวัดพราหมณ์



ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
-http://www.chiangmai.smileplaza.net (พญากือนา:กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ)
-อุดม เชยกีวงศ์.(๒๕๕๐).ยุคทองแห่งวรรณกรรมพุทธศาสนาของลานนาไทย/พระยากือนา,หนังสือพระเจ้ามังรายมหาราช(๑๒๐-๑๒๑),สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา
-http://www.hflight.net (หนีเมืองกรุง ไปอาบแดดยังเชียงใหม่กับใคร? ไปดูกัน by f2f: Premium Members )
-http://www.oknation.net (ไขปริศนาพญากือนาหน้าเหลี่ยม:โดยบางอ้อ)
- http://chiangmainavigator.com (สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่:วัดสวนดอก)