หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

พระญาคำฟู ยุคการวางฐานอำนาจของอาณาจักรล้านนา

                  พระญาคำฟู (พ.ศ.๑๘๗๗-๑๘๗๙) รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์มังราย   เมื่อพระญาแสนภูสิ้นพระชนม์ พระญาคำฟูได้ขึ้นครองราชย์ พระญาคำฟูทรงมอบให้ พระญาผายูราชโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสน อาณาจักรล้านนาในสมัยนี้ มีความเข้มแข็ง เห็นได้จากนโยบายขยายอาณาเขตไปทางตะวันออก โดยเริ่มทำสงครามกับพะเยาในปี พ. ศ. ๑๘๘๓ ซึ่งมีผู้ปกครองคือ ขุนคำลือ  โดยพระญาคำฟูทรงชักชวนพระญากาวแห่งเมืองน่านยกทัพตีเมืองพะเยา แต่พระญาคำฟูเข้าเมืองพะเยาจึงเอาทรัพย์สินในเมืองทั้งไปทั้งหมด    พระญากาวน่านจึงยกทัพมาตีพระญาคำฟู    พระญาคำฟูเสียทีก็เลยยกทัพกลับเชียงแสน กองทัพพระญากาวเมืองน่านติดตามไปยกทัพเลยไปตีถึงเมืองฝางได้  แต่ถูกทัพของพระญาคำฟูที่ยกทัพใหญ่มาตีถอยล่นกลับเมืองน่าน เมืองพะเยาในสมัยนั้นอ่อนแอมากจึงได้ถูกยึดเมืองผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของอาณาจักล้านนานับแต่นั้นมา หลังจากยึดพะเยาได้แล้ว พ.ศ.๑๘๘๓  พระญาคำฟูขยายอำนาจไปยังเมืองแพร่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงถอยทัพกลับมาทางเมืองลำปาง มาประทับทีเมืองเชียงใหม่ (แสดงให้เห็นว่าการรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ทางตะวันออก ของล้านนา ไม่ใช่กระทำได้ง่าย ๆ และการย้ายที่ประทับของกษัตริย์มายังแคว้นตอนบนถึง ๓ รัชกาลติดต่อกัน ก็เป็นเหตุผลด้านยุทธศาสตร์ พระญาคำฟูสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงคำ) พ. ศ. ๑๘๘๗ เสด็จไปเยี่ยมพระสหายเป็นเศรษฐีใหญ่ชื่องัวหงส์อยู่เมืองเชียงคำ อันตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำคำ
                    พระญาคำฟูกับเศรษฐีงัวหงส์คนนี้รักใคร่กันมากจนถือน้ำสาบานต่อกันว่าจะไม่คิดร้ายต่อกัน  หากผู้ใดผู้หนึ่งคิดร้ายขอให้มีอันเป็นไปถึงชีวิต เศรษฐีงัวหงส์เป็นคนค่อนข้างขี้ริ้วขี้เหร่อยู่ แต่น้ำใจงดงามทั้งยังมีภรรยาสาวสวยชื่อ นางเรือนแก้ว เมื่อพระญาคำฟูเสด็จถึงบ้านเศรษฐีนางเรือนแก้วก็ต้อนรับขับสู้ด้วยความสนิทสนม เอาน้ำมาล้างพระบาทให้เมื่อวันเวลาผ่านมาผ่านไปด้วยความสนิทชิดใกล้ประกอบกับนางเรือนแก้วก็เป็นคนสวย ทั้งสองก็มีความพึงพอใจต่อกันพระญาคำฟูและนางเรือนแก้วจึงลักลอบสมัครสังวาสกัน  ด้วยเหตุที่พระองค์เสียสัตย์สาบานต่อมหามิตร ครั้นอยู่มาได้ ๗ วัน พระญาคำฟูลงไปสรงน้ำดำเศียรเกล้าที่แม่น้ำคำก็มีเงือกผีพรายน้ำใหญ่ตัวหนึ่ง(จระเข้)  ออกมาจากเงื้อมผาตรงเข้าขบกัดเอาร่างพระญาคำฟูหายลงไปในน้ำผ่านไปถึง ๗ วันร่างนั้นจึงลอยขึ้นมา สวรรคตเมื่อพระชนม์ ๔๗ พรรษา เสนาอำมาตย์จึงเชิญพระศพกลับเมืองเชียงแสน แล้วจึงทูลเชิญเสด็จท้าวผายูมาจัดการพระบรมศพถวายพระเพลิงพระญาคำฟู  แล้วอัญเชิญพระอัฐิและพระอังคารของพระองค์บรรจุลงในผอบทองคำชั้นหนึ่ง  ผอบเงินชั้นหนึ่ง ผอบทองแดงอีกชั้นหนึ่งไปยังนครเชียงใหม่  แล้วก่อพระสถูปเจดีย์องค์เล็กบรรจุไว้ ณ ริมตลาดลีเชียง แล้วโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่ง ในปี พ.ศ.๑๘๘๘ ตั้งชื่อว่าวัดลีเชียง(ปัจจุบันคือวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร)  ต่อมาได้ขุดค้นพบ พระโกฏิที่บรรจุพระอัฐิของพระองค์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ มีทองคำจารึกลายพระนามพระมหา เถรในยุคนั้นหนังถึง ๓๖๐ บาท   ส่วนนางเรือนแก้วมีความเสียใจมากจึงผูกคอตาย  เศรษฐีงัวหงส์ก้เสียใจต่อเหตุการณ์จึงถือศีลภาวนาตลอดชีวิต
                  เมื่อพระญาคำฟูสิ้นพระชนม์ ท้าวผายูได้สืบราชสมบัติแทน แต่ไม่ได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเชียงแสน คงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ดังนั้น เมืองเชียงใหม่จึงได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลาง ของราชอาณาจักรอีกครั้งและนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง และกษัตริย์ล้านนาในลำดับต่อๆมา จะประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แทบทุกพระองค์
แผ่นจารึกมหาเจดีย์และกู่บรรจุอัฐิพระญาคำฟู


ในสมัยของพระญาไชยสงคราม – สมัยพระญาคำฟู นับว่าเป็นสมัยของการสร้างราชอาณาจักรล้านนาซึ่งเป็นรากฐานของความรุ่งเรืองและมหาอำนาจในกาลต่อมา
                   ตั้งแต่สมัยพระญาไชยสงครามจนถึงสมัยพระญาคำฟู ได้มีการย้ายที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขึ้นไปยังเชียงรายและเชียงแสนตามลำดับ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า อาณาจักรล้านนาช่วงรัชสมัยพระญาไชยสงครามถึงพระญาคำฟู มีศูนย์กลาง ๒ แห่ง คือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก มีศูนย์กลางที่เชียงรายกับเชียงแสนตามลำดับและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงมีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ สันนิษฐานว่าการย้ายที่ประทับขึ้นไปอยู่แคว้นโยนน่าจะมาจากปัจจัยสำคัญ ๒ ประการดังนี้
             ๑.การรวมภูกามยาวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา แม้ว่าพระญามังรายมหาราชจะประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา โดยรวบรวมเมืองต่างๆ ในเขตแคว้นโยนและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ได้แล้วก็ตาม แต่เข้าใจว่าในเขตแคว้นโยน อาณาจักรล้านนายังมิได้มีอำนาจเหนือเมืองต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะภูกามยาวที่ยังมิได้รวมเข้ากับล้านนาอย่างแท้จริง มีฐานะเป็นเพียงพันธมิตรและในสมัยพระญาไชยสงคราม มีฐานะเป็นเครือญาติ โดยการแต่งงานระหว่างพระญาคำแดง เจ้าเมืองภูกามยาวกับนางแก้วพอตา พระธิดาของพระญาไชยสงคราม สมัยพระญาคำฟูพระองค์สร้างพันธมิตรกับเมืองน่านร่วมมือกันยกทัพเข้าไปโจมตีภูกามยาว และหลังจากนั้นเป็นต้นมาผู้ปกครองที่ ขึ้นครองเมืองพะเยาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์ที่เชียงใหม่ (หอวชิรญาณ บัญชีหนังสือจ้างแปล แฟ้มที่ ๑๔ เลขที่ ๔๓ พงศาวดารเมืองพะเยา: ๕๖) และมักจะถูกส่งมาจากเชียงใหม่เสมอ (ประชุมจารึกเมืองพะเยา ๒๕๓๘: ๕๘-๖๗)
             ๒.การขยายเขตแดนของอาณาจักรไปจดแม่น้ำโขง ด้วยการตั้งเมืองเชียงแสนออกไปประชิดแม่น้ำโขงและใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองธรรมชาติ ฉะนั้นบทบาทสำคัญของเชียงแสนคือ เป็นเมืองหน้าด่านในการรับศึกตอนบน และเป็นศูนย์กลางตอนบนในการรับสินค้าจากทางตอนเหนือของพม่า และทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าสำคัญ เช่น อัญมณี ทองเหลือง และชะมดเช็ด เป็นต้น การสร้างอำนาจประชิดแม่น้ำโขงอีกวิธีการหนึ่งคือ การสร้างพันธมิตรกับเมืองเชียงของด้วยการแต่งงานระหว่างพระญาผายู โอรส ของพระญาคำฟูกับพระนางจิตราเทวีพระธิดาเจ้าเมืองเชียงของซึ่งมีพระโอรสคือพระญากือนา ผู้ปกครองอาณาจักรล้านนาลำดับที่ ๖ และพระญากือนาเองก็แต่งงานกับหลานของเจ้าเมืองเชียงของเช่นกัน ความสำคัญของเชียงของคือเป็นเมืองหน้าด่านรับสินค้าทางฝั่งหลวงพระบาง ซึ่งสินค้าที่ทำรายได้ที่มาจากหลวงพระบางเช่นครั่ง และกำยาน เป็นต้นในสมัยรัชกาลพระญาผายูโอรสของพระญาคำฟู ได้ทรงย้ายที่ประทับกลับลงมาที่เชียงใหม่ตามเดิม ผู้ปกครองเชียงใหม่พระองค์ต่อมาได้ดำเนินนโยบายในการสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางที่เข้มแข็ง และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และศูนย์กลางของแนวความคิด เป็นต้น
กู่บรรจุอัฐิพระญาคำฟู วัดพระสิงห์วรวิหาร จ.เชียงใหม่



 ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

-http://www.bloggang.com (วัดพระสิงห์วรวิหาร ถ.สิงหราช อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
-http://aortai.multiply.com (ประวัติศาสตร์ล้านนา: aortai)
-http://www.baanjomyut.com (จังหวัดพะเยา:ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา:บ้านจอมยุทธ)
-http://gist.soc.cmu.ac.th (โครงการโบราณคดีภาคเหนือเฉลิมพระเกียรติ:จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา บทที่หนึ่ง บทนำ:อุษณีย์  ธงไชย)
-http://www.baanmaha.com (ที่มาอาณาจักรเมืองเชียงแสน:บ้านมหาดอทคอม:ญา  ทิวาราช)
-http://travel.upyim.com (วัดพระสิงห์วรวิหาร)
-http://www.sanyasi.org (ตำนานเมืองเชียงแสน:สันยาสี)