หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระญายอดเชียงราย กษัตริย์ถูกลิดรอนอำนาจ

                
ภาพพระราชานุสาวรีย์พระญายอดเชียงราย วัดตโปทาราม  จังหวัดเชียงใหม่

                      พระญายอดเชียงราย มีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระเมืองยอด(ท้าวยอดเมือง) ทรงเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นโอรสของท้าวบุญเรือง เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าติโลกราช ท้าวยอดเมืองประสูติที่เชียงราย และในฐานะที่เป็นหลานของพระเจ้าติโลกราชจึงได้ครองเมืองแช่สัก ท้าวยอดเมืองเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามของพระเจ้าติโลกราช ครั้นถึงปลายรัชสมัยของพระอัยกา ท้าวบุญเรืองพระบิดาต้องอาญาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อยและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา เพราะเหตุถูกท้าวหอมุก พระสนมเอกของพระเจ้าติโลกราชทูลยุยงใส่ร้ายท้าวบุญเรือง  ท้าวยอดเมืองในฐานะโอรสของท้าวบุญเรืองจึงได้รับสิทธิในการสืบราชสมบัติแทนพระบิดา ครั้นพระเจ้าติโลกราชสิ้นพระชนม์ ท้าวยอดเมืองจึงได้ขึ้นครองราชย์ในล้านนาต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๐  พระญายอดเชียงรายขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๘ ปี (คัมภีร์ชินกาลมาลีเรียกพระนามว่า ชังรายัคคราชา) ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระอัยกา ณ วัดมหาโพธาราม แล้วก่อสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและอังคารธาตุไว้ในวัดนั้น ใน พ.ศ. ๒๐๓๕ ทรงสร้างวัดตโปทาราม และโปรดให้ชำระขัณฑสีมาที่เกาะดอนแท่น

                       ในรัชกาลนี้ปรากฏเหตุพระแก้วขาว พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หอพระแก้วหายไป จึงทรงให้สืบได้ความว่าพระภิกษุชาวอยุธยาทำอุบายลอบนำไปยังอยุธยา หลังจากส่งสาส์นและเครื่องบรรณาการไปยังพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า พระญายอดเชียงรายจึงยกทัพหลวงไปกรุงศรีอยุธยา ตั้งทัพเพื่อทวงเอาพระแก้วขาว เวลาล่วงไป ๑ เดือนจึงได้พระแก้วขาวคืนมา  ในช่วงดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยหลักฐานของจีนทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระญายอดเชียงรายทรงตอบสนองความต้องการของจีนหรือกรมการเมืองของยูนนานมาก จนไม่สนใจความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงพระญายอดเชียงรายไม่รักเจ้าแก้ว(รัตนราชกุมาร) ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดจากพระเทวีชื่อ ปงน้อย (ปร่งน้อย หรือโป่งน้อย) แต่กลับเอาใจใส่ลูกฮ่อ ซึ่งเลี้ยงเป็นลูกและให้ไปครองเมืองพร้าว ทั้งยังมีการกล่าวถึงเจ้าแก้วที่ถูกบังคับให้ไหว้ลูกฮ่ออีกด้วย เนื่องจากการที่พระองค์สนิทสนมกับฮ่อมากเกินไป จึงสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางเนื่องจากพระองค์ไม่ทรงรับฟังขุนนาง ซึ่งขุนนางเหล่านั้นต่างเชื่อถือโชคลางและเห็นว่าวิปริตต่างๆ เกิดจากการปฏิบัติที่มิได้เป็นไปตามขัติยประเพณีจารีต ท้าวคลองพญา หมู่อำมาตย์ราชวงศานุวงศ์สมณพราหมณาจารย์และราษฏรพากันเดือดร้อน ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ แล้วถูกเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย(เมืองซะมาดในเขตแม่ฮ่องสอน) ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๓๘ จากนั้นก็ยกเจ้ารัตนราชกุมาร ชนมายุ ๑๔ พรรษา ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดกับนางโป่งน้อยขึ้นครองราชย์แทนต่อมาขณะที่มีการยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์ ก็พบว่านางโป่งน้อย มีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า "พระเป็นเจ้าสองพระองค์" และ “พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสองขณะเดียวกันบทบาทของขุนนางได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ส่วนกษัตริย์กลับถูกลิดรอนอำนาจ  ส่วนพระญายอดเชียงราย เมื่อถูกปลดและเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย (เขตตำบลแม่ขะจาน เวียงป่าเป้า) อยู่ต่อมาอีก ๑๑ ปี ชนมายุได้ ๕๑ พรรษาจึงสิ้นพระชนม์ในปีขาล พ.ศ.๒๐๔๙ 





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.chiangmai.smileplaza.net (พญายอดเชียงราย:กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ)
http://www.chiangmai-thailand.net (รัชกาลที่๑๒ พระยอดเชียงราย:กษัตริย์และพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่)
http://th.wikipedia.org (พญายอดเชียงราย จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)
http://www.thaiticketmajor.com (วัดเจ็ดยอดหรือวักโพธารามมหาวิหาร เชียงใหม่)
http://www.bloggang.com (119. วัดตโปทาราม(ร่ำเปิง) อ.เมือง จ.เชียงใหม่: moonfleet)