หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจ้าหลวงท้าวขาก่าน เจ้าหลวงเมืองน่านผู้พิชิตญวน

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน  จังหวัดน่าน


                      ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๙ พระเจ้าติโลกราชได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหลวงท้าวขาก่านมาปกครองนครน่าน ในบันทึกตามพงศาวดารได้บรรยายรูปร่างลักษณะเจ้าหลวงท้าวขาก่านไว้ว่า มีผิวกายสีดำแดง สักยันต์เป็นรูปพญานาคราชและเถาวัลย์ตั้งแต่ขาจนถึงน่อง ยามเดินคล่องแคล่ว ว่องไวนัก เจ้าหลวงปกครองนครน่านได้ระยะหนึ่ง จึงได้ใช้ให้หมื่นคำไปถวายเครื่องบรรณาการแด่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และไปได้ตำนานพระธาตุแช่แห้งมาจากพระคุณเจ้ามหาเถรวชิรโพธิ์ที่ได้มาจากเมืองลังกา เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า และชาวเมืองทั้งหลายได้พากันแผ้วถางบริเวณดอยภูเพียงแช่แห้งซึ่งขณะนั้นถูกปกคลุมด้วยป่าไผ่เครือเถาวัลย์จนเจอจอมปลวกใหญ่ลูกหนึ่งก็พากันทำการสักการบูชา ครั้นถึงเวลากลางคืนบริเวณจอมปลวกก็ปรากฏดวงพระธาตุเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีรุ่งเรืองนัก  จึงได้พากันขุดบริเวณจอมปลวกดู ขุดได้ลึก ๑ วาก็เจอก้อนศิลากลมเกลี้ยงลูกหนึ่งเจ้าหลวงท้าวขาก่านจึงให้ชีปะขาวเชียงโดมวัดใต้ ทุบให้แตกก็พบ ผอบทองคำมีฝาปิดสนิท เมื่อเปิดออกดูก็พบ พระธาตุเจ้า ๗ องค์พระพิมพ์คำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ที่พญาการเมืองได้มาจากเมืองสุโขทัยและนำมาประดิษฐานไว้  แล้วเจ้าหลวงท้าวขาก่านได้นำพระธาตุรวมทั้งพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำที่ขุดได้ทั้งหมดมาเก็บไว้ที่หอคำและได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราชทรงมีรับสั่งว่าเมื่อขุดได้ที่ใดก็ให้เก็บไว้ ณ ที่นั้น เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า ท้าวพระยาทั้งหลายก็พร้อมใจกันนำ พระบรมสาริกธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำมาประดิษฐานไว้ ณ บนดอยภูเพียงแช่แห้งตามเดิม และก่อเจดีย์ สูง ๖ วาคร่อมไว้  ต่อมาจุลศักราช๘๔๒ หรือ พ.ศ.๒๐๒๓ พวกแกว(ในขณะนั้นเรียกว่าแกวต่อมากลายเป็น เวียดนามหรือญวน) ขณะนั้นแกวปกครองโดย จักรพรรดิเลทันต์ตอง ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน และหลวงพระบาง พระเจ้าติโลกราช ได้มีพระบรมราชโองการให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล ๔ หมื่นคนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระเจ้าติโลกราช แต่พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า
แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ ๒๒
    วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 


                         สงครามระหว่างล้านนากับแกว(เวียดนาม,ญวน) ทำให้ท้าวขาก่านมีชื่อเสียงมาก 
จักรพรรดิเฉิงฮว่า (Chenghua) แห่งราชวงศ์หมิงต้องส่งคนมาวาดภาพท้าวขาก่านเก็บไว้ในหอตำราหลวง สาเหตุที่จีนชื่นชมล้านนาและท้าวขาก่านก็ไม่มีอะไรมากนั่นก็เพราะล้านนาช่วยแก้แค้นแทนจีนเนื่องจากจีนพ่ายแพ้เวียดนามหลายครั้งและไม่สามารถแผ่อำนาจเข้าไปปกครองเวียดนามได้เลยในสมัยราชวงศ์หมิง  ปัจจุบัน ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่านมีศาลของท้าวขาก่านในผู้คนสักการะ โดยท้าวขาก่านเป็นที่รู้จักดีของผู้คนในละแวกนั้นเพราะเคยเป็นถึงเจ้าเมืองน่านมาก่อนอย่างไรก็ตาม ในเมืองเชียงรายซึ่งเป็นอีกเมืองที่ท้าวขาก่านได้มาปกครองกลับพบว่าไม่มีผู้ใด้รู้จักท้าวขาก่านเลย  สาเหตุอาจจะมาจาก มิได้มีการบันทึกผลงานของท้าวขาก่านไว้ในช่วงที่ปกครองเมืองเชียงราย    ในสมัยท้าวขาก่านครองเมืองน่านนั้นทำให้พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง จนทำให้มีความผูกพันกับชาวน่านและจังหวัดน่าน อันเป็นเมืองพระพุทธศาสนา มีพระธาตุแช่แห้ง ที่ท้าวขาก่านสร้างไว้ให้ได้เคารพบูชา ประชาชนให้ความเคารพสักการะ โดยได้สร้างรูปปั้นท่านไว้ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังไว้รำลึกสักการบูชาตลอดจน ชั่วลูกหลานเพื่อให้เกิดสิริมงคล

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน  จังหวัดน่าน ในอีกมุมหนึ่ง






ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.chiangraifocus.com (เชียงรายพันธุ์แท้,กำแพงเมืองน่าน)
-http://www.ch.or.th (พระประวัติเจ้าหลวงท้าวขาก่าน)
-http://www.lannatouring.com  (ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น