วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระญายอดเชียงราย กษัตริย์ถูกลิดรอนอำนาจ

                
ภาพพระราชานุสาวรีย์พระญายอดเชียงราย วัดตโปทาราม  จังหวัดเชียงใหม่

                      พระญายอดเชียงราย มีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระเมืองยอด(ท้าวยอดเมือง) ทรงเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นโอรสของท้าวบุญเรือง เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าติโลกราช ท้าวยอดเมืองประสูติที่เชียงราย และในฐานะที่เป็นหลานของพระเจ้าติโลกราชจึงได้ครองเมืองแช่สัก ท้าวยอดเมืองเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามของพระเจ้าติโลกราช ครั้นถึงปลายรัชสมัยของพระอัยกา ท้าวบุญเรืองพระบิดาต้องอาญาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อยและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา เพราะเหตุถูกท้าวหอมุก พระสนมเอกของพระเจ้าติโลกราชทูลยุยงใส่ร้ายท้าวบุญเรือง  ท้าวยอดเมืองในฐานะโอรสของท้าวบุญเรืองจึงได้รับสิทธิในการสืบราชสมบัติแทนพระบิดา ครั้นพระเจ้าติโลกราชสิ้นพระชนม์ ท้าวยอดเมืองจึงได้ขึ้นครองราชย์ในล้านนาต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๐  พระญายอดเชียงรายขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๘ ปี (คัมภีร์ชินกาลมาลีเรียกพระนามว่า ชังรายัคคราชา) ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระอัยกา ณ วัดมหาโพธาราม แล้วก่อสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและอังคารธาตุไว้ในวัดนั้น ใน พ.ศ. ๒๐๓๕ ทรงสร้างวัดตโปทาราม และโปรดให้ชำระขัณฑสีมาที่เกาะดอนแท่น

                       ในรัชกาลนี้ปรากฏเหตุพระแก้วขาว พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หอพระแก้วหายไป จึงทรงให้สืบได้ความว่าพระภิกษุชาวอยุธยาทำอุบายลอบนำไปยังอยุธยา หลังจากส่งสาส์นและเครื่องบรรณาการไปยังพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า พระญายอดเชียงรายจึงยกทัพหลวงไปกรุงศรีอยุธยา ตั้งทัพเพื่อทวงเอาพระแก้วขาว เวลาล่วงไป ๑ เดือนจึงได้พระแก้วขาวคืนมา  ในช่วงดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยหลักฐานของจีนทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระญายอดเชียงรายทรงตอบสนองความต้องการของจีนหรือกรมการเมืองของยูนนานมาก จนไม่สนใจความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงพระญายอดเชียงรายไม่รักเจ้าแก้ว(รัตนราชกุมาร) ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดจากพระเทวีชื่อ ปงน้อย (ปร่งน้อย หรือโป่งน้อย) แต่กลับเอาใจใส่ลูกฮ่อ ซึ่งเลี้ยงเป็นลูกและให้ไปครองเมืองพร้าว ทั้งยังมีการกล่าวถึงเจ้าแก้วที่ถูกบังคับให้ไหว้ลูกฮ่ออีกด้วย เนื่องจากการที่พระองค์สนิทสนมกับฮ่อมากเกินไป จึงสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางเนื่องจากพระองค์ไม่ทรงรับฟังขุนนาง ซึ่งขุนนางเหล่านั้นต่างเชื่อถือโชคลางและเห็นว่าวิปริตต่างๆ เกิดจากการปฏิบัติที่มิได้เป็นไปตามขัติยประเพณีจารีต ท้าวคลองพญา หมู่อำมาตย์ราชวงศานุวงศ์สมณพราหมณาจารย์และราษฏรพากันเดือดร้อน ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ แล้วถูกเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย(เมืองซะมาดในเขตแม่ฮ่องสอน) ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๓๘ จากนั้นก็ยกเจ้ารัตนราชกุมาร ชนมายุ ๑๔ พรรษา ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดกับนางโป่งน้อยขึ้นครองราชย์แทนต่อมาขณะที่มีการยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์ ก็พบว่านางโป่งน้อย มีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า "พระเป็นเจ้าสองพระองค์" และ “พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสองขณะเดียวกันบทบาทของขุนนางได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ส่วนกษัตริย์กลับถูกลิดรอนอำนาจ  ส่วนพระญายอดเชียงราย เมื่อถูกปลดและเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย (เขตตำบลแม่ขะจาน เวียงป่าเป้า) อยู่ต่อมาอีก ๑๑ ปี ชนมายุได้ ๕๑ พรรษาจึงสิ้นพระชนม์ในปีขาล พ.ศ.๒๐๔๙ 





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.chiangmai.smileplaza.net (พญายอดเชียงราย:กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ)
http://www.chiangmai-thailand.net (รัชกาลที่๑๒ พระยอดเชียงราย:กษัตริย์และพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่)
http://th.wikipedia.org (พญายอดเชียงราย จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)
http://www.thaiticketmajor.com (วัดเจ็ดยอดหรือวักโพธารามมหาวิหาร เชียงใหม่)
http://www.bloggang.com (119. วัดตโปทาราม(ร่ำเปิง) อ.เมือง จ.เชียงใหม่: moonfleet)

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าติโลกราช ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก


พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช
                          
                 พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาองค์ที่ ๙ ราชวงศ์มังรายทรงเป็นโอรสลำดับที่ ๖ ในจำนวนพระโอรส ๑๐ องค์ของพระญาสามฝั่งแกนกับแม่พระพิลก อันได้แก่ ท้าวอ้าย ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวไส ท้าวงั่ว ท้าวลก ท้าวเจ็ด ท้าวแปด ท้าวเก้า และท้าวซ้อย  พระนามเดิมของพระองค์คือ ท้าวลก แปลว่า ลำดับที่ ๖ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาก็ทรงโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน(ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่)ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของท้าวลกยกไปสมทบพระราชบิดาล่าช้า พระญาสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้ท้าวลกไปครองเมืองยวมใต้(อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ต่อมา สามเด็กย้อย อำมาตย์เมืองเชียงใหม่คิดเอาราชสมบัติให้ท้าวลก จึงได้ซ่องสุมกำลังและลอบไปรับท้าวลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่พระญาสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน เชิงดอยสุเทพ (ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ในปัจจุบัน) สามเด็กย้อย ได้นำกำลังเข้าเผาเวียงเจ็ดลิน ยึดเมืองเชียงใหม่แล้วจึงบังคับให้พระญาสามฝั่งแกนสละราชสมบัติจากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญท้าวลก มาขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๑๙๘๕ ทรงมีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๓๒ พรรษา ส่วนพระราชบิดาทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาด (อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า)  และปูนบำเหน็จความชอบสามเด็กย้อยเป็น เจ้าแสนขานแต่อยู่มาได้เพียง ๑ เดือน ๑๕ วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฏ พระเจ้าติโลกราชจึงให้ "หมื่นด้งนคร" เสด็จอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น "หมื่นขาน" และให้ไปครองเมืองเชียงแสนแทน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน)



                            พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนาในช่วง ๑๐ ปี (พ.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๙๔) มีการปราบหัวเมืองฝางซึ่งมีผู้ปกครองคือ ท้าวซ้อย พระอนุชาของพระเจ้าติโลกราชที่แข็งเมืองเจ้าเมืองฝางเสด็จหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเทิง (อ.เทิง จ.เชียงราย) แต่ถูกหมื่นด้งนครประหารชีวิตต่อหน้าเจ้าเมืองเทิง เป็นการกระทำที่ไม่ไว้หน้าเจ้าเมืองเทิง จึงส่งสารลับแจ้งให้อยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่(ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ ๒หรือเจ้าสามพระยา)อยุธยาจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ตามที่เจ้าเมืองเทิงแปรพักตร์แจ้งให้ยกทัพมาชิงเมือง เจ้าเมืองเทิงจึงถูกประหารชิวิต ตัดคอใส่แพหยวกกล้วยล่องนำปิง โดยมีนัยว่าเพื่อให้ไปถึงพระเจ้าอยุธยา (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยา) และกองทัพอยุธยาได้ถูกกลศึกของฝ่ายเชียงใหม่ปลอมตัวเป็นตะพุ่นช้าง (คนหาอาหารให้ช้าง) ปะปนเข้าไปในกองทัพเจ้าสามพระยาเมื่อได้จังหวะยามวิกาลจึงตัดปลอกช้าง ฟันหางช้างจนช้างแตกตื่นแล้วฟันนายช้างตาย กองทัพเชียงใหม่ได้ยินเสียงอึกทึกก็ได้ทียกเข้าตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไป เจ้าสามพระยาได้พยายามอีกครั้งหนึ่งโดยยกทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองเชียงใหม่แต่ทรงประชวรสิ้นพระชนม์กลางทาง    นับว่าเป็นปฐมเหตุแห่งศึกสิงห์เหนือ เสือใต้ (เชียงใหม่ -อยุธยา) ยืดเยื้อยาวนาน ถึง๓๓ ปีนับแต่ พ.ศ. ๑๙๘๕ สมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ ถึง พ.ศ. ๒๐๑๘ ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

                       อาณาจักรล้านนามีความเข้มแข็งจากการที่แสดงแสนยานุภาพทางทหารมากขึ้น ได้ทำการขยายอำนาจลงสู่ทางใต้ ทำสงครามกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถติดต่อกัน ในช่วงเวลา ๒๔ ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๙๔ พระยายุทธิษเฐียรเจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยาเข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้าติโลกราชพร้อมนำไพร่พลเมือง ทหารกว่า ๑ หมื่นคน มาอยู่ในเชียงใหม่  และร่วมกันตีได้เมืองปากยม (พิจิตรตอนใต้) จากนั้นใน พ.ศ.๒๐๐๓ พระยาเชลียงได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ในปีต่อมาพระยาเชลียงนำพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกและเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงใช้กลศึกหลบหนีออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืนและเดือนมืดสนิท ทางลำน้ำน่านกลับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชทรงพระพิโรธ รับสั่ง ให้"ควักลูกตา "ทหารทุกนายที่ซุ่มล้อม ณ พื้นที่ลำน้ำน่าน "หมื่นด้งนคร"แม่ทัพใหญ่รุดเข้าเฝ้า กราบบังคลทูลถวายรายงานว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใช้ "กลศึก" ตีสัญญาณ ฆ้อง กลองล่องเรือหนีมาตามลำน้ำน่านโดยให้จังหวะเคาะสัญญาณ เลียนแบบสัญญาณ ของ "มหาราชเชียงใหม่" ทุกประการ ประกอบกับเดือนมืด มองเห็นไม่ถนัด ทหารที่ซุ่มเฝ้าระวัง จึงไม่เฉลียวใจ ต่างคิดว่า เป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าติโลกราช เสด็จ จึงไม่ยับยั้ง และข้าในฐานะแม่ทัพ ขอรับโทษแทนทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมด หากจะควักลูกตาทหารผู้น้อย ก็ขอให้ควักลูกตาของข้าแต่เพียงผู้เดียว พระเจ้าติโลกราช ได้ฟังทหารเอกผู้ภักดี ยอมสละแม้กระทั่งลูกนัยตาของตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง รับแทนทหารลูกน้อง อีกทั้ง ความจงรักภักดีของหมื่นด้งนคร ที่มีต่อ มหาราชเชียงใหม่ รุกรบไปทั่วดินแดนใกล้ ไกล เคียงบ่า เคียงไหล่ ร่วมเป็น ร่วมตาย มาด้วยกัน นับครั้งไม่ถ้วน ทรงตรึกตรอง แล้วนิ่งเสีย ไม่ตรัสถึงอีกต่อไป ต่อมากองทหารม้าทัพหน้าไล่ตาม เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขณะพักที่ปากยม และกองทัพม้าได้รายล้อมทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้แล้ว จึงได้ส่งม้าเร็วรีบแจ้งขอรับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราช พระองค์ทรงตรัสว่า "มันก็พญา (กษัตริย์) กู ก็ พญา กูแป้ (ชนะ) มัน มันก็ละอายแก่ใจแล้ว หมื่นด้ง มึงอย่าทำเลย" ต่อมากองทัพหน้าไปตีเมืองปากยม (พิจิตร)      ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๐๔ พระเจ้าติโลกราชยกทัพลงมาตีหัวเมืองตอนเหนือของอยุธยาอีก แต่บังเอิญพวกฮ่อ (จีน ยูนนาน) ยกกำลังมาตีชายแดนเชียงใหม่ก็จำต้องยกทัพกลับไปรักษาเมืองขึ้นกับเชียงใหม่ อยุธยา สบโอกาส กองทัพเชียงใหม่ยกขึ้นเหนือไปตี เมืองพง ไทลื้อ (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) จึงยกทัพเข้าตีเมืองแพร่ ฝ่ายหมื่นด้งนคร ผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ป้องกันเมือง ครั้นกองทัพพระเจ้าติโลกราชเผด็จศึกเมืองพงไทลื้อ เสร็จแล้วจึงกลับยังไม่ทันถึงเชียงใหม่ ทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปช่วยเมืองแพร่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงเห็นกองทัพเชียงใหม่ใหญ่เกินกำลังจะต้านทานได้จึง ถอยทัพกลับ โดยทัพหลวงมหาราชเชียงใหม่ไล่ติดตามไปแต่ไม่ทัน จึงไม่ได้รบกัน ทัพหลวงผ่านเมืองเชลียงกลัวหายนะภัยจึงขอเป็นข้าราชบริพาร จากนั้นทัพมหาราชเชียงใหม่เข้าตีเมืองพิษณุโลกสองแคว แต่ไม่สำเร็จ จึงถอยทัพไปตีเมืองปางพล แล้วกลับผ่านเมืองเชลียง ลำปาง เชียงใหม่ต่อมาเจ้าเมืองเชลียงเป็นกบฏจึงให้หมื่นด้งนครยกทัพไปจับกุมตัวเจ้าเมืองเชลียงมายังเชียงใหม่ และเนรเทศไปอยู่เมืองหาง พร้อมกับแต่งตั้งให้หมื่นด้งนคร ครองเมืองเชลียง (สวรรคโลก) เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง    อย่างไรก็ดี พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยาอยู่เนืองๆ เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. ๒๐๐๖ โดยใช้เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง ในการทำสงครามกับล้านนา  นอกจากใช้กำลังทหารโดยตรงแล้วทางอยุธยายังใช้พิธีสงฆ์และไสยศาสตร์ด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงออกผนวชใน พ.ศ. ๒๐๐๘ ขณะพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก พระองค์ส่งราชทูตมายังเชียงใหม่เพื่อขอเครื่องอัฐบริขารพร้อมกับพระเถรานุเถระไปทำพิธีผนวชจากพระเจ้าติโลกราช (ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๕๖พรรษา) จึงโปรดให้หมื่นล่ามแขกเป็นราชทูตพร้อมด้วยพระเทพคุณเถระและพระอับดับ ๑๒ รูปลงมาเมืองพิษณุโลกเพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องอัฐบริขารแด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตามหลักฐานศิลาจารึกวัดจุฬามณี ที่บันทึกว่า " ศักราช ๘๒๖ปีวอกนักษัตร (พ.ศ. ๒๐๐๗) อันดับนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเปนเจ้า ให้สร้างอาศรมจุฬามณีที่จะเสด็จออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะนั้น เอกราชทั้งสามเมืองคือ พระญาล้านช้าง แลมหาราชพระญาเชียงใหม่ แลพระญาหงสาวดี ชมพระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัฐบริขารให้มาถวาย" ในขณะทรงผนวช ๘ เดือน ๑๕ วัน พระองค์ได้ทรงถือโอกาสส่งสมณะทูตชื่อโพธิสัมภาระมาขอเอาเมืองเชลียง -สวรรคโลกคืน เพื่อ"ให้เป็นข้าวบิณฑบาตร"จากพระเจ้าติโลกราชแต่พระเจ้าติโลกราชเห็นว่าเป็น"กิจของสงฆ์"จึงทรงนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีทุกรูปมาประชุมเพื่อถวายข้อปรึกษา ครั้งนั้นมีพระเถระเชียงใหม่ชื่อสัทธัมมรัตตนะได้กล่าวกับโพธิสัมภาระสมณะทูตของอยุธยา ว่า" ตามธรรมเนียมท้าวพระญา (พระมหากษัตริย์) เมื่อผนวชแล้วก็ย่อมไม่ข้องเกี่ยวข้องในเรื่องบ้านเมืองอีก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชแล้วยังมาขอเอาบ้านเอาเมืองนี้ ย่อมไม่สมควร"สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถได้ยินคำเหล่านั้น ก็นิ่งเก็บไว้ในใจ เมื่อทรงลาผนวชแล้วจึงได้ออกอุบายจ้างให้พระเถระพุกามรูปหนึ่งที่ทรงไสยคุณไปเป็นไส้สึกในเชียงใหม่ ทำไสยศาสตร์ ยุแยงให้พระเจ้าติโลกราช ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธ์ของเมือง อาทิ ตัดโค่นไม้นิโครธประจำเมือง จนเกิดอาเพศ มีความระแวงสงสัยบรรดาข้าราชบริพาร จนถึงกับสำเร็จโทษท้าวบุญเรืองราชโอรสตามที่เจ้าจอมหอมุกใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังค์ ครั้นทราบความจริงภายหลังทรงเสียพระทัยที่หลงเชื่อจนประหารราชโอรสพระองค์เดียว รวมทั้งการลงโทษหมื่นด้งนครผู้เป็นแม่ทัพเอกคู่บารมีผู้พิชิตเมืองเชลียง เชียงชื่น(ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ซึ่งเคยเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) ที่ถูกใส่ความอีกด้วย ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่งราชทูตนำเครื่องราชสักการะมาเยือนเชียงใหม่ นัยว่ามาสืบราชการลับที่ จ้างพระเถระพุกามทำคุณไสยแก่เชียงใหม่ ต่อมาพระเถระพุกามถูกจับและเปิดเผยความจริง จึงถูกลงราชทัณฑ์นำตัวใส่ขื่อคาไปทิ้งลงแม่นำปิงที่"แก่งพอก" เพื่อให้คุณไสยชั่วร้ายสนองคืนกลับแก่ผู้ที่สั่งมา พระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๒๗ ปี ต่างพลัดกันรุกผลัดกันรับ ครั้งนั้นพระองค์ขยายอำนาจขึ้นไปทางทิศเหนือตีได้เมืองเชียงรุ้ง (เชอหลี่ใหญ่หรือจิ่งหง) เมืองยอง  เมืองอิง สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ภาคใต้ของประเทศจีน ตีได้เมืองเชียงตุง (เชอหลี่น้อยหรือเขมรัฐ) ทิศตะวันตก ได้รัฐฉาน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ติดพรมแดนมู่ปางหรือแสนหวี คือเมืองล๊อกจ๊อก  เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีป้อ เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเชียงทอง รวมกว่า ๑๔ เมือง โดยเจ้าฟ้าเมืองต่างๆนำไพร่พลเมืองมาพึ่งพระโพธิสมภารที่เชียงใหม่ ๑๒,๓๒๘ คน นอกจากนี้ยังตีได้เมืองแพร่ เมืองน่าน ทางทิศตะวันออกจรดล้านช้าง ประเทศลาว ทิศใต้จรด ตาก เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น (สวรรคโลก) ซึ่งอยู่ห่างจากสุโขทัยเพียง ๖๐กม.ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๐๑๘ พระเจ้าติโลกราชจึงทรงติดต่อกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยาขอเป็นไมตรีกัน ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งบอบช้ำมากพอกันจึงรับข้อเสนอของพระเจ้าติโลกราช ในปลายสมัยของรัชกาลของทั้งสองพระองค์อาณาจักรล้านนากับกรุงศรีอยุธยาจึงมีความสงบเป็นไมตรีต่อกันจนสิ้นรัชกาลโดยพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๐๓๐ และให้หลังอีก ๑ ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็สวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๐๓๑ เป็นการปิดฉาก ศึก ๒ มหาราชแห่ง ๓ โลก ("ติโลก""ไตรโลก"แปลว่า ๓ โลกคือเมืองสวรรค์ เมืองมนุษย์ และเมืองนรก)        การขยายอำนาจไปในทิศเหนือครั้งนั้น ในปี พ.ศ. ๒๐๒๓  ทรงทราบข่าวว่าไดเวียด(เวียดนาม)ยกทัพ ๔๐๐,๐๐๐ นาย มาตีหลวงพระบาง และมาโจมตีเมืองน่าน ซึ่งก่อนหน้านั้นหลวงพระบางถูกกองทัพไดเวียดโจมตี พระมหากษัตริย์ลาวสิ้นพระชนม์พร้อมกับโอรสอีกสององค์ โอรสองค์สุดท้ายคือเจ้าซายขาวได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าติโลกราช  กองทัพล้านนาได้ยกทัพมารบกับไดเวียด โดยมีเจ้าเมืองน่านท้าวขาก่านเป็นแม่ทัพรบชนะกองทัพมหาศาลของจักรพรรดิเลทันตองแห่งไดเวียด ตัดศีรษะแม่ทัพ มาถวายเป็นจำนวนมาก และขับไล่ทหารไดเวียดออกจากหลวงพระบางจนสิ้น พระเจ้าติโลกราชจึงมีพระบรมราชโองการให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ควบคุมเชลยศึกไดเวียดพร้อมศีรษะแม่ทัพ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อถวายแด่จักรพรรดิเฉิงฮว่า แห่งราชวงศ์หมิง ในตอนแรกจอมจักรพรรดิจีนไม่เชื่อว่ากองทัพล้านนาจะต่อตีกองทัพจักรพรรดิเลทันตองแห่งไดเวียดได้ เพราะกองทัพจีนเพิ่งรบแพ้แก่กองทัพไดเวียดมาหยกๆจอมจักรพรรดิจีนจึงมีพระบัญชาสั่งสอบสวนเชลยศึกเวียดนาม ทีเดียวพร้อมๆกันโดยแยกสอบสวนคนละห้อง เพื่อป้องกันมิให้เชลยศึกเวียดนาม บอกข้อมูลให้แก่กัน ผลการสอบสวน ตรงกันหมดว่ากองทัพที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิเลทันตองแห่งเวียดนาม พ่ายแพ้หมดรูปแก่กองทัพพระเจ้าติโลกราช ณ สมรภูมิที่ เมืองน่าน จักรพรรดิจีนถึงกับยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ตรัสด้วยพระสุรเสียงดังทั่วท้องพระโรงต่อหน้าเสนา อำมาตย์ ที่ชุมนุม ณ ที่นั้นว่า "เหวยๆ ข้าคิดว่าในใต้หล้ามีเพียงข้าผู้เดียวที่มีเดชานุภาพมาก แต่บัดเดี๋ยวนี้มี ท้าวล้านนาพระเจ้าติโลกราช มีเดชานุภาพทัดเทียมข้า ข้าจึงแต่งตั้งให้ท้าวล้านนาเป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก"ให้เป็นใหญ่รองจากข้า มีอำนาจที่จะปราบปรามกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ก่อการแข็งเมืองต่อข้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป" พร้อมกับทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องประกอบเกียรติยศ กองทหารพร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่ เดินทางมาประกอบพิธีที่เชียงใหม่อย่างยิ่งใหญ่ อลังการโดยทรงยกย่องให้เป็น "รอง" จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิง เป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก" (King of the West) ส่วนจักรพรรดิจีนเป็นจักรพรรดิแห่งทิศตะวันออก  ซึ่งมีการบันทึกไว้ใน"หมิงสื่อลู่"เป็นเอกสารโบราณประจำรัชกาลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งราชสำนักจักรพรรดิจีน และ ดร.วินัย พงศรีเพียร นักประวัติศาสตร์ผู้เรืองนาม ได้แปลไว้ในเอกสารชื่อ "ปาไป่สีฟู่ ปาไป่ต้าเตี้ยน" (คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ในโอกาสเชียงใหม่มีอายุครบ ๗๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙) บันทึกว่า จักรพรรดิจีนยกย่องให้พระเจ้าติโลกราชเป็น ตาวหล่านนา หรือท้าวล้านนาและพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศมากมายนอกจากนี้ยังสถาปนาพระเกียรติยศเป็นลำดับสอง รองจากองค์จักรพรรดิจีน ซึ่งตรงกับเอกสารของพม่าที่บันทึกสมัยอยุธยาก่อนกรุงแตกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๕ ชื่อว่า Zinme Yazawin (Chronicle of Chiang Mai หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพม่า) ดังความว่า ที่ใดก็ตามที่ปรากฏศัตรูขึ้นในแปดทิศของจักรพรรดิอุทิปวาผู้ปกครองทุกสิ่งภายใต้สวรรค์ ให้ท้าวล้านนาเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงใหม่มีอำนาจที่จะปราบปรามและลงโทษศัตรูนั้นได้... (Wherever enemies appeae in the eight directions of the Empire of the Utipwa,who Rules All under Heaven ,Thao Lan Na , Chaofa of Chiang Mai with his forecs shall subdue and punish them.)  และทรงให้ราชสมญานามพระเจ้าติโลกราชว่า ราชาผู้พิชิต,ราชาแห่งทิศตะวันตก  (Victorious Monarch, King of the West)และชัยชนะครั้งนี้ทำให้พญาซายขาว พระมหากษัตริย์ลาวพระองค์ใหม่ มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ทำให้พระราชอำนาจของพระเจ้าติโลกราชจึงแผ่ไปกว้างขวาง



                          นอกจากพระราชกรณียกิจทางการสงครามแล้ว ยังทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทำให้รัชกาลของพระองค์พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด ดังเห็นได้จาก  ในปี พ.ศ. ๑๙๙๐ เมื่อพระราชบิดา พระญาสามฝั่งแกนสวรรคต จึงจัดการพระราชทานเพลิงพระศพแล้วสถาปนาพระสถูปบรรจุพระอัฐิไว้ ณ ป่าแดงหลวง ( อยู่เชิงดอยสุเทพ ในบริเวณ ม.เชียงใหม่) โดยบุทองแดงแล้วปิดทองทั้งองค์ เมื่อเสร็จงานในปีเดียวกันก็ออกผนวชโดยให้พระมารดาว่าราชการแทนพระองค์ ทั้งนี้เพื่อศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ต่อมาเมื่อพระมารดาสิ้นพระชนม์ก็ถวายพระเพลิง ณ สถานที่เดียวกันกับพระบิดา แล้วสถาปนาที่นั้นเป็นพระอารามในปี พ.ศ.๑๙๙๔ โดยทรงขนานนามว่าวัดอโศการามวิหาร ลุถึงปี พ.ศ.๑๙๙๘ โปรดให้สร้างวัดโพธารามวิหาร หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด  ในปี พ.ศ.๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ชุมนุมพระเถรานุเถระ โดยมีพระธรรมทินมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน กระทำสังคายนาชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่วัดโพธารามนี้ได้รับการยอมรับต่อเนื่องต่อเนื่องว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๘ ในประวัติพระพุทธศาสนต่อจากที่ทำมาแล้ว ๗ ครั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา โดยเรียกการสังคายนาครั้งที่ ๘ ที่เชียงใหม่นี้ว่า อัฏฐสังคายนาทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้ จนเป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศไปทั่วประเทศข้างเคียง ทำให้พระเจ้าติโลกราชได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่   เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๒ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเดินทางไปประเทศลังกาจำลองแบบโลหะปราสาทและมาก่อสร้างเป็นเจดีย์ ๗ ยอด ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) และจำลองรัตนมาลีเจดีย์เพื่อนำแบบมาปฏิสังขรพระเจดีย์ใหญ่ที่วัดเจดีย์หลวงที่พระญาแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายโปรดฯ ให้สร้างขึ้น พระเจดีย์ใหญ่องค์นี้จึงได้รับการขยายเสริมฐานให้กว้างเป็น ๗๐ เมตร สูง ๘๘ เมตร โปรดให้บรรจุพระบรมธาตุที่ได้มาจากลังกาไว้ในองค์พระเจดีย์นี้ พร้อมทั้งโปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วตามอย่างโลหะปราสาทที่ลังกา แล้วอาราธนาพระแก้วมรกตและพระแก้วขาวมาไว้
ด้านซ้ายคือภาพพระแก้วมรกตและด้านขวาคือพระแก้วขาว

ในหอพระแก้ววัดเจดีย์หลวงนี้อีกด้วย  ในปี พ.ศ. ๒๐๒๕ โปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก่นจันทน์แดงจากวิหารวัดป่าแดงเหนือเมืองพะเยามาไว้ที่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่เมืองลำพูน ตลอดเวลาในช่วงปลายรัชกาล พระเจ้าติโลกราชได้สนพระทัยทะนุบำรุงพระศาสนาเป็นอันมาก ได้โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งและโปรดฯ ให้บรรจุพระบรมธาตุ ๕๐๐ องค์ ขนานนามว่า พระป่าตาลน้อย ประดิษฐานไว้ ณ วัดป่าตาลวัน ที่ซึ่งพระธรรมทินเถระผู้เป็นประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ เป็นเจ้าอาวาส
                       พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๐พระชนมายุ ๗๘ พรรษา  พระญายอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ขึ้นเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่แทน นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย พระญายอดเชียงรายได้โปรดสร้างสถูปขนาดใหญ่ บรรจุพระอัฐิของพระอัยกาธิราช ( พระเจ้าติโลกราช ) ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังให้ได้ตระหนักและระลึกถึงพระองค์ท่าน ในฐานะเป็นผู้สถาปนาวัดเจ็ดยอดนี้ขึ้นซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
เจดีย์บรรจุพระอัฐิพระเจ้าติโลกราช  วัดเจ็ดยอด




ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.chiangmai-thailand.net (พระเจ้าติโลกราชมหาราช:กษัตริย์และพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่)
http://th.wikipedia.org (พระเจ้าติโลกราชจากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)
http://www.siamsouth.com (ตำนานพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่)
http://www.komkid.com (พระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งล้านนา)
http://xn--82cxba3e0a0c1a0lzc.com/about4.php (เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช:วัดเจ็ดยอด)
http://neannoi.com (ประวัติพระเจ้าติโลกราช:วิทยุอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ทั่วโลกฟังธรรมมะออนไลน์ )
http://www.chiangmai.smileplaza.net (พระเจ้าติโลกราช:กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ)
http://www.teeneelanna.com (พระเจ้าติโลกราช มหาราชในยุคทองของล้านนา: thejeekung 的 บล๊อก)
วิลาสวงศ์ พงศะบุตร ติโลกราช สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิยสถาน เล่ม 13 พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ 2524
สรัสวดี อ๋องสกุล เว็บไซต์ล้านนาคดี 2530
วินัย พงศ์ศรีเพียร ปาไป่สีฟู่ ปาไป่ต้าเตี้ยน เชียงใหม่ในเอกสารจีนโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539
Zinme Yazawin (Chronicle of Chiang Mai)
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏชียงใหม่, 2538 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
 ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี
มูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่, 2548 วัดโลกโมฬี ส.ทรัพย์การพิมพ์ เชียงใหม่
http://www.abhakara.com (๖๐๐ ปี พระเจ้าติโลกราช (๒๕๕๒-๒๕๕๓))
http://www.madchima.org (ภาพจากพระคาถาปโชตา(สังวาลย์เพชรพระพุทธเจ้า)ของพระเจ้าติโลกราช ล้านนา)
http://www.thakan.com (ภาพจากบทความพระญาติโลกราชะ เวียงท่ากานแหล่งข้อมูลล้านนาศึกษา)

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระญาสามฝั่งแกน ศึกฮ่อประชิดเมือง


พระบรมราชานุสาวรีย์พระญาสามฝั่งแกน อ.เเม่แตง จ.เชียงใหม่
     
                    พระญาสามฝั่งแกน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนาพระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๓ ของพระญาแสนเมืองมากับพระนางรายา พระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากสิบสองพันนาโดยมีพระเชษฐาต่างพระมารดาพระนามว่าท้าวยี่กุมกาม ในกรณีของลำดับองค์ราชบุตรพระญาสามฝั่งแกนนั้น สงวน โชติสุขรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ‘‘เข้าใจว่าคงจะเป็นโอรสองค์ที่ ๓ เพราะตามธรรมเนียมไทโบราณ มีวิธีนับและเรียกลูกคนโตว่า พี่อ้ายคนต่อมาก็จะเรียกว่า ยี่-สาม-สี่-งั่ว-ลก-ตามลำดับ แต่ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกนั้น อาจจะสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่มีพระนามปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์’’
                   ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนทรงมีโอรสต่างมารดาทั้งหมด ๑๐ องค์ดังนี้ ๑.ท้าวอ้าย ๒.ท้าวยี่ ๓.ท้าวสาม ๔.ท้าวไส ๕.ท้าวงั่ว ๖.ท้าวลก ๗.ท้าวเจ็ด ๘.ท้าวแปด ๙.ท้าวเก้า ๑๐.ท้าวสิบหรือท้าวซ้อย
                   ท้าวอ้าย พระบิดาคิดยกราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ตั้งวังอยู่ที่ใกล้เวียงเจ็ดลินได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา
                   ท้าวงั่ว หรือเจ้าเชียงล้าน พระบิดาให้ครองพันนาเชียงเรือ
                   ท้าวลก พระบิดาให้ครองเมืองพร้าว แบ่งสรรที่ดินชาวพร้าวังหินให้ ๕๐๐ พันนา
                   ท้าวเจ็ด พระบิดาให้ครองเมืองเชียงราย
                   ท้าวซ้อย พระบิดาให้ครองเมืองฝาง
ส่วนพระโอรสที่เหลืออีก ๕ องค์นั้น คือ ท้าวยี่ ท้าวใส ท้าวแปด และท้าวเก้า พระบิดาปล่อยให้ไปตามทางเดินชีวิตของตนเอง
                   ในตำนานเก่าแก่แต่โบราณมีการเรียกนามของพระญาสามฝั่งแกนต่างกันไปนาๆ เช่น  ดิษฐกุมาร(เจ้าดิสกุมาร) หรือ เจ้าดิสในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ พระเจ้าสามปรายงค์แม่ในในตำนานไม่ปรากฏพระนามและ พญาสามประหญาฝั่งแกนหรือ สามแม่ใน ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล เป็นต้น      ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ กล่าวถึงที่มาของพระนามพระญาสามฝั่งแกนว่า ทรงได้รับการตั้งพระนามตามสถานที่ประสูติ ช่วงนั้นพระราชมารดาของพระองค์ทรงครรภ์ได้ ๘ เดือน เจ้าแสนเมืองมาพาเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ ถึงสิบสองปันนาลื้อ พอล่วง ๗ เดือนผ่านไป จึงเสด็จกลับมาที่พันนาสามฝั่งแกน และประสูติราชบุตรที่นั่น ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่ที่ ตำบลอินทขิล อำเภอ แม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ โดยบริเวณเมืองเก่านี้มีแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ๑. แม่น้ำแกน ๒. แม่น้ำปิง และ๓. แม่น้ำสงัด หรืองัด
                ในงานวิจัย รายงานการสำรวจพื้นฐาน ทุ่งพันแอกพันเฝือเมืองแกน ของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้สันนิษฐานว่าพระนามของพระองค์อาจมาจากทั้งชื่อเมืองพันนาฝั่งแกน หรือชื่อแม่น้ำสามฝั่งแกน ในกรณีของชื่อแม่น้ำแกน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า อาจมาจากคำว่า กั่งแก๊นซึ่งตำนานเมืองแกนกล่าวว่า เป็นอาการคับแค้นใจของประชาชนในเมืองแกนที่ถูกศัตรูรุกราน แล้วกวาดต้อนผู้คนไปทำให้พลัดพรากกัน หรืออาจมาจากคำว่า แก๊นแปลว่ากลาง                 
                  
                 ภายหลังจากพระญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ในปีพ.ศ. ๑๙๔๕ ราชบุตรเจ้าสามฝั่งแกน ก็ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา การครองราชย์ของพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากพระราชบิดาและเจ้าอา ซึ่งต่อมาพระองค์จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าอาไปเป็นเจ้าสี่หมื่น ครองเมืองพะเยาส่วนพระราชมารดา พระองค์ได้สถาปนาไว้ในที่สมเด็จพระชนนีพันปีหลวง พระมหาเทวีโลกะจุกราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่
                ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ได้ตำหนิพระญาสามฝั่งแกนไว้ในตอน สีหฬสาสนาคมนกาล ว่า เจ้าดิสกุมารมีศรัทธาในศาสนาน้อย ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ บวงสรวงแต่ภูติผีปีศาจ สวน ต้นไม้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาและป่า ทรงเซ่นไหว้บวงสรวงด้วยโคและกระบือ เป็นต้น
                ทรงสร้างมหาวิหารที่ตำบลฝั่งแกน อันเป็นที่ประสูติของพระองค์ ปรากฏชื่อว่า วัดมุงเมือง ทรงแบ่งนาไร่ถวายแก่มหาวิหารนั้นเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงวัด และทรงแบ่งเอาไร่นาที่เขาถวายเป็นพุทธบูชาในที่ต่างๆ ทั่วแคว้นล้านนาโอนมาถวายแก่มหาวิหารด้วย
               ในรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นและเกิดศึกกับอาณาจักรสุโขทัย เริ่มแต่ตอนต้นรัชกาล โดยขณะนั้นท้าวยี่กุมกามพระเชษฐาทรงครองเมืองเชียงรายอยู่ ครั้นพระองค์ได้ทราบข่าวว่าข้าราชการเสนาอำมาตย์ได้เชิญพระอนุชาขึ้นครองเมืองเชียงใหม่เป็นพระญาสามฝั่งแกน หลังจากที่พระราชบิดาทิวงคตแล้ว พระองค์ทรงกริ้วมากที่พระองค์ไม่ได้ครองราชย์ จึงได้ยกรี้พลจากเชียงรายเข้าล้อมหมายจะรบชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ทางฝั่งเมืองเชียงใหม่เองก็ทราบดีว่าไม่ช้านานจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงได้มีการเตรียมกองทัพไว้ล่วงหน้าแต่เมื่อแรกยกราชสมบัติให้เจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเจ้าท้าวยี่กุมกามยกทัพมา ฝ่ายเชียงใหม่ก็ยกทัพออกรบสู้ป้องกันเมืองจนกองทัพเชียงรายไม่สามารถเข้าหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ จำต้องล่าถอยหนีไป กระนั้นก็ตาม ฝ่ายกองทัพเชียงใหม่ยังได้ตั้งกองทัพสกัดทางเท้ายี่กุมกามที่จะเข้าเมืองเชียงราย จนพ่ายแพ้ยับเยินเสียรี้พลเป็นอันมาก เมื่อท้าวยี่กุมกามรู้แน่แล้วว่าตนเองไม่สามารถกินเมืองเชียงใหม่ได้ จึงหนีไปเพิ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระญาไสลือไท) ณ กรุงสุโขทัย
ฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เองก็ทรงเห็นชอบ สั่งให้จัดกองทัพหลวงขึ้นมารบ โดยยกไพร่พลไปตามลำน้ำยมเพื่อเข้าไปตีเมืองพะเยาซึ่งอยู่ฝ่ายเหนือก่อน เมื่อเข้าประชิดเมืองพะเยานั้น ให้ปลูกหอเรือกสูง ๑๒ วา ที่ตำบลหนองเต่า เพื่อจะเอาปืนยิงขึ้นกวาดในเมือง ฝ่ายข้างชาวเมืองพะเยาก็ไปรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาวัดมหาพนมาหล่อปืนใหญ่เล่มหนึ่ง ใหญ่ ๔ กำ หนักสามล้านทอง เสร็จแล้วเซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือก ๑ กระบือ แล้วก็บรรจุลูกกระสุนดินดำ ยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาที่ ๓เห็นร้าย จึงให้ท้าวยี่กุมกามนำทัพลาดขึ้นไปทางบ้านแจ้พรานไปเมืองเชียงราย พักบำรุงไพร่พลพอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกลงมาทางเมืองฝาง
ตกวันเสาร์ก็เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งกองทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวง ใช้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่เป็นใจความว่า ท้าวยี่กุมกามเป็นพี่ควรจะได้สืบราชสมบัติแทนบิดา ถ้าไม่ให้ท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็จะให้พลโยธาเข้าหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ท้าวขุนเสนาในนครพิงค์เชียงใหม่มีหนังสือตอบไปว่า ท้าวยี่กุมกามไม่สมควรจะได้เป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ถึงแม้เป็นพี่ก็หาสติปัญญาและบุญญาภิสมภารมิได้ เพราะเหตุฉะนั้น การที่จะรบกันด้วยกำลังพลโยธา ไพร่พลก็คงจะล้มตายลงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าจะให้รู้ว่าเจ้าท้าวยี่กุมกามกับเจ้าท้าวสามฝั่งแกน ใครจะมีบุญญาภิสมภารยิ่งกว่ากัน ขอให้จัดสรรทหารที่มีฝีมือเพลงอาวุธอย่างดีฝ่ายละคนให้ต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าคนทั้งสองที่สู้กันนั้น ฝ่ายใดแพ้และชนะ กองทัพฝ่ายนั้นก็เป็นแพ้ด้วยชนะด้วย เป็นการเสี่ยงบุญวาสนาแห่งเจ้าทั้งสองนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ได้ฟังตอบเช่นนั้นก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้เลือกสรรได้คนไทยผู้หนึ่ง เป็นผู้ชำนาญเพลงดาบสองมือหาผู้ใดเสมอมิได้ ฝ่ายข้างชาวเชียงใหม่เลือกได้หาญยอดใจเพชรชำนาญดาบเขน ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันตั้งสนามที่ตำบลเชียงขวาง ครั้นคนทั้งสองเข้าสู้รบกัน ถ้อยทีมีฝีมือปัดป้องว่องไวด้วยกันทั้งสองข้าง แต่ต่อสู้กันอยู่ช้านาน ประหารกันและกันมิได้ ในที่สุดหาญยอดใจเพชรได้ท่วงที ก็ฟันถูกนิ้วแม่เท้าทหารไทยผู้นั้นเพิกไปนิดหนึ่ง ฝ่ายไทยก็เป็นแพ้แก่ชาวเชียงใหม่
ขณะที่กองทัพไทยมาตั้งอยู่นั้น มีชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งชื่อเพ็ดยศ รวบรวมคนหนุ่มฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไปถึง ๓๐ ปี ได้ประมาณ ๒๐๐ คน ขึ้นไปตั้งซุ่มอยู่บนดอยอุสุจบรรต คอยดูชาวทัพไทยออกลาดหาหญ้าช้าง ครั้นได้ทีก็ออกทะลวงฟัน ได้ศีรษะมาถวายพระญาสามฝั่งแกนทุกวัน พระญาสามฝั่งแกนตรัสชมว่าเขาเหล่านี้เป็นเด็กชายน้อยยังมีใจสวามิภักดิ์กล้าหาญถึงปานนี้ จึงตั้งให้ เพ็ดยศที่เป็นหัวศึกสี่หมู่ มีตำแหน่งว่า พญาเด็กชายสืบแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ (ตำแหน่งหัวศึกขุนพล) สี่หมู่นั้นคือ พญาแสนหลวง ๑ พญาสามล้าน ๑ พญาจ่าบ้าน ๑ พญาเด็กชาย ๑
ครั้นอยู่มาได้ ๗ วันพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลิน แล้วก็ขึ้นไปสรงน้ำดำเศียรยังดอยผาลาดหลวง แล้วก็เลิกทัพกลับไปข้ามน้ำแม่ระมิงค์ที่ท่าสบกาง (ปากน้ำกาง) ไปทางตะวันออกแต่งกองทัพซุ่มไว้รั้งท้ายเป็นสามกอง ณ ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ จึงแต่งให้หมื่นมะขาม ๑ หมื่นสามหมาก ๑ หมื่นเข็ม ๑ หมื่นเขือ ๑ ถือพลยกไปตามตีตัดท้ายพลพระมหาธรรมราชาที่ ๓ หมื่นทั้งสี่คนยกกองทัพไปจวบกองทัพไทยที่ซุ่มไว้ จึงได้ตกเข้าอยู่ในที่ล้อม กองทัพไทยล้อมไว้ ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอนฟันแทงกันเป็นบั้นเป็นบ่อนตายกลาดอยู่ที่ใกล้หนองแสนท่อนนั้น
                      ในช่วงที่ เชียงใหม่กับสุโขทัยได้ทำการประลองยุทธ์สู้รบด้วยการส่งทหารที่มีฝีมือเพลงดาบ ผลปรากฏว่าสุโขทัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถอยกำลังออกไปตั้งค่ายพักกำลังพลอยู่ที่ดอยเจ็ดลินตลอดเวลาที่อยู่ ณ ที่นั่น พระองค์ทรงสุบินเห็นแต่ช้างไล่ราชสีห์ติดต่อกัน ๗ คืน ยิ่งมาทราบข่าวว่า ทางเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน ๒๒๐ เล่มเกวียนตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ก็ทำให้ทรงมีความกลัวเกรงยิ่งนัก เกิดมีใจครั่นคร้ามจนเลิกทัพกลับไป
ด้วยเหตุนี้ พระญาสามฝั่งแกนจึงได้ถือเอานิมิตของพระมหาธรรมราชาที่ ๓นั้นมาสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้น วัตถุประสงค์ในการสร้างเวียงเจ็ดลิน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พระองค์สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ทางด้านตะวันตก รวมทั้งใช้เป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. ๑๙๕๔) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙ ๒๓๘๙)
ภาพถ่ายเวียงเจ็ดลินในปัจจุบัน

กรณีของการสถาปนาเวียงเจ็ดลินนี้อาจหมายความถึงการกระจายความเจริญเข้ามาสู่เขตพื้นที่เชิงดอยสุเทพ โดยการให้ขุนนางหรือบุคคลในราชวงศ์มาปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เป็นเขตชุมชนที่อาศัยของกลุ่มคนพื้นเมืองตั้งแต่ระยะก่อนสมัยล้านนา
                      ครั้นศึกพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เลิกกลับไปแล้ว อยู่มามินานก็เกิดศึกกับฮ่อขึ้น พระญาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสนหลวง (ฮุน- หนำ) ใช้ให้คนมาทวงบรรณาการเป็นส่วยสองหมื่นคาน (สองหมื่นหาบ) พระญาสามฝั่งแกนตอบว่าส่วนข้าวซึ่งแต่ก่อนเคยส่งเก้าพันคานนั้น หากได้เลิกละเสียแล้วตั้งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าพระญากือนาเป็นต้นมา(เหตุที่ฮ่อยกทัพมาประชิดก็เพราะล้านนาไม่ส่งส่วยให้ นับตั้งแต่สมัยของพระญากือนาแล้ว จึงในปี พ.ศ. (๑๙๔๗-๑๙๔๘) เสนาฮ่อกลับไปทูลพระญาฮ่อเจ้าลุ่มฟ้า พระญาฮ่อจึงให้ฝ่ายฟ้าเมืองแสยกพลศึกเป็นอันมากเข้ามาติดเมืองเชียงแสน พระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่จึงมอบให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นที่เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกพลชาวเชียงใหม่แปดหมื่นขึ้นไปรักษาเมืองเชียงแสน ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนก็ประมวลรี้พลชาวเชียงแสนและชาวเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองพะเยา รวมพลสองแสนสองหมื่น แต่งรักษาเมืองเชียงแสนทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง แล้วแต่งสนามรบเหนือเมืองเชียงแสนแห่งหนึ่งยาว ๕๐๐๐ วา กว้าง ๑๗๐๐ วา ในเวลากลางคืนแต่งกันไปขุดหลุมไว้หลายแห่ง สานเรือกปิดปากหลุม กรุใบไม้เกลี่ยดินกลบปากหลุมให้เสมอเหมือนพื้นดินธรรมดาไว้ระยะห่างกัน ๑ วาต่อหลุมนั้นๆ กว้าง ๑ วา ลึก ๑ วา ทุกหลุมทำทางไว้ด้านเหนือและด้านตะวันตก ตะวันออกกว้าง ๑๐๐ วา จึงให้ทัพเมืองเชียงรายเมืองฝางเป็นปีกขวา ทัพเมืองเชียงของเมืองเทิงเป็นปีกซ้าย ทัพเมืองเชียงใหม่เมืองพะเยาเป็นองค์ แล้วจัดกองทัพม้า ๕๐๐ ออกยั่วทัพฮ่อ วันนั้นเป็นยามแตรใกล้เที่ยง ฮ่อก็ยกพลศึกเข้ามา ฝ่ายกองทัพชาวล้านนาไทยก็แยกปีกกายอพลศึกเข้าต่อรบตามทางโดยแผนที่ๆ แต่งไว้นั้น และตีฆ้องกลองโห่ร้องเป็นโกลาหล เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งติดพันกันแล้ว ฝ่ายทัพชาวล้านนาก็แสร้งล่าถอยลงมาตามทางที่ทำหลุมไว้นั้น ฮ่อก็ยกพลไพร่รบตะลุยลงมาถึงหลุมที่แต่งไว้ ก็ตกหลุมลงไปเป็นอันมาก กองทัพชาวล้านนากลับรุกล้อม เข้ามารบราฆ่าฟันฮ่อตายในหลุมเป็นอันมาก อยู่มาอีกสามวัน กองทัพฮ่อยกหนุนมาอีก เข้าปล้นเวียงเชียงแสน ชาวล้านนานำกองทหารอาสาออกทะลวงฟันต่อยุทธ์กันถึงตะลุมบอน ฝ่ายพลฮ่อมีเกราะเหล็กเกราะหนัง ฟันแทงไม่เป็นอันตราย ชาวเมืองจึงเอากรวดทรายมาคั่วไฟให้ร้อน และโปรยสาดให้เข้าไปในเกราะนั้นร้อนไหม้ ฮ่อจึงพ่ายแพ้เลิกถอยไป
ถัดนั้นมาได้ ๓ ปี ถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราชได้ ๗๒๗ กองทัพฮ่อยกมาติดเมืองเชียงแสนอีกหลายทัพหลายกอง มีรี้พลมากนัก ครั้งนั้นมหาเถรศิริวังโสบวชอยู่วัดดอนแท่นเมืองเชียงแสนเป็นผู้รอบรู้ศิลปะศาสตร์และวิทยาอาคม มีสติปัญญาสามารถ พระญาสามฝั่งแกนอาราธนาให้ไปครองอารามกู่หลวง รับอาสาแต่งการพิธีพลีกรรมกระทำวิทยา ให้บังเกิดลมพายุและฝนใหญ่อัสนีบาตตกในกองทัพฮ่อ ต้องนายทัพและรี้พลฮ่อเป็นอันตรายหลายคน ทัพฮ่อก็เลิกถอยไปตั้งอยู่เมืองยอง พระญาสามฝั่งแกนจึงปูนบำเหน็จสถาปนาพระมหาศิริวังโสขึ้นเป็นราชครู ยกแคว้นดอนแท่นให้เป็นกัลปนาแล้ว จึงให้หมื่นเมืองพร้าวอยู่ครองเมืองเชียงแสน
ฝ่ายกองทัพฮ่อไปตั้งอยู่เมืองยองสิบสองพันนาลื้ออาฬวิเชียงรุ้ง เมืองแรมนานได้ ๓ ปี ไพร่พลเมืองแตกฉานออกอยู่ป่าอยู่เถื่อน ไม่เป็นบ้านเป็นเมือง พระญาสามฝั่งแกนจึงมอบหมายให้เจ้าขุนแสนลูกพระยาวังพร้าวเป็นแม่ทัพ ยกพลขึ้นไปรบฮ่อยังเมืองยอง ฮ่อทั้งหลายก็พ่ายหนีไป เจ้าขุนแสนตามตีฮ่อไปถึงที่สุดดินแดนสิบสองพันนาแล้ว ก็กลับมาตั้งทัพอยู่เมืองยอง ให้ตั้งเวียง ณ ตำบลดอนดาบสทิศตะวันออกเมืองยองเรียกว่า เวียงเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระญาแสนฟ้าเมืองอาฬวิเชียงรุ้งและเมืองแรมเมืองเขมรัฐ ก็มากระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นไมตรีกับเจ้าขุนแสน แล้วจึงปักปันเขตแดนแว่นแคว้นเชียงรุ้งกับเชียงแสนต่อกัน ตั้งแต่น้ำโอน้ำดำลงมาภายใต้เป็นแดนเมืองยอง และเมืองยองเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่แต่นั้นมา เจ้าขุนแสนจึงตั้งเจ้าเมืองยองเป็นที่พญาอนุรุธ เป็นประธานแก่เมืองทั้งหลาย อยู่อุปัฏฐากมหาธาตุเจ้าจอมยองตามโบราณประเพณีแต่ครั้งพญาอโสกราชตั้งไว้ และเมืองนี้เป็นเมืองอุปัฏฐากมหาธาตุเจ้ามาแต่โบราณกาล พลเมืองทั้งหลายหากเป็นข้าพระธาตุทั้งสิ้น เหตุฉะนั้น จึงไม่ต้องส่งส่วย นอกจากบรรณาการปีละครั้ง
เจ้าขุนแสนจัดการเมืองยองสำเร็จแล้ว ก็พาเอาเชลยฮ่อและช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบลงมาถวายพระญาสามฝั่งแกนยังเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพระโสมนัสยินดียิ่งนักจึงสถาปนาเจ้าขุนแสน ให้เป็นเจ้าพญาศรีสุวรรณคำล้านนาไชยสงครามครองเมืองชัยบุรีเชียงแสน เป็นใหญ่แก่ล้านนาเชียงแสนทั้งมวล มีอาณาเขตฝ่ายใต้ตั้งแต่น้ำตกแม่ของ ฝ่ายตะวันตกถึงริมน้ำแม่คง ฝ่ายเหนือถึงน้ำโอน้ำดำ ฝ่ายตะวันออกถึงดอยหลวงเชียงชีเป็นอาณาเขตมลฑลเชียงแสนส่วนหนึ่ง

ตอนต้นรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกนจึงมีการรบทั้ง ๒ ด้าน คือจากด้านใต้และด้านเหนือ ครั้นยุติสงครามกับฮ่อแล้ว ความสงบสุขก็คืนมาตลอดปลายรัชสมัย พระญาสามฝั่งแกนทรงมีพระปรีชาสามารถในการรักษาบ้านเมืองในยามศึกสงคราม ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นยังทรงพยายามปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผน โดยการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ไว้ในตำแหน่งอุปราช อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ที่เชียงใหม่

เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์สายรามัญแพร่หลายในล้านนา สมัยพญากือนา พระภิกษุชาวล้านนา ก็ได้ให้ความสนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ครั้นผ่านรัชสมัยของพระญาแสนเมืองมา เข้าสู่รัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน ก็ปรากฏมีพระสงฆ์กลุ่มลังกาวงศ์ใหม่ หรือลังกาวงศ์รุ่น ๒ เข้ามาสู่ล้านนาสาเหตุของการสถาปนานิกายสงฆ์ใหม่นั้นก็คือสืบเนื่องมาจากความไม่พอใจของบรรดาพระสงฆ์ที่มีต่อพระญาสามฝั่งแกนที่ยกเลิกเอากัลปนาค่าส่วยสำหรับพระสงฆ์ในที่ต่างๆ ไปขึ้นกับวัดวัดบุรณฉันท์ หรือวัดศรีมุงเมือง ผลคือพระมหาเถรทั้งหลายที่เป็นพหูสูต ผู้รู้ปริยัติ พากันออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ไปศึกษาพระธรรมที่เมืองลังกา
เมื่ออยู่ที่เมืองลังกาก็เกิดฝนแล้งข้าวแพง บรรดาพระเถรานุเถระเหล่านี้เห็นว่าจะอยู่ต่อไปไม่สุข จึงชักชวนกันกลับจากลังกาทวีป ได้ชวนเอาพระภิกษุชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ มีพรรษาได้ ๑๕ พรรษารูปหนึ่ง ชื่อพระอุดมปัญญา มีพรรษาได้ ๑๐ พรรษาอีกรูปหนึ่ง พอถึงปีพ.ศ. ๑๙๗๓ (จุลศักราช ๗๙๒ ปีระกา โทศก) พระเหล่านี้ได้พากันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ สำนักอยู่ ณ รัตนมหาวิหาร คือวัดป่าแดงหลวง ในปีพ.ศ. ๑๙๗๕ (จุลศักราช ๗๙๔ ปีชวด จัตวาศก) ได้เดินทางไปเมือง เขลางค์นคร กระทำสังฆกรรม ณ อุทกสีมา ในแม่น้ำวัง บวชพระจันทรเถร เป็นต้น และกุลบุตรอื่นเป็นอันมาก ล่วงในปีพ.ศ. ๑๙๗๗ (ลุจุลศักราช ๗๙๖ ปีเถาะ ฉศก) ได้ขึ้นไปเมืองเชียงแสน บวชกุลบุตรในเกาะชื่อว่าปักลังกทิปะกะในแม่น้ำของ มีพระมหาธรรมเสนาบดีกุลวงษ์เป็นต้น
 จากการสถาปนานิกายนี้ส่งผลทำให้พระสงฆ์ล้านนามีความรู้ความสามารถทางพุทธศาสนาสูงมาก ส่งผลให้มีการทำสังคายนาสอบชำระพระไตรปิฏกขึ้นที่วัดเจ็ดยอดเชียงใหม่ในสมัยต่อมา ใน พ.ศ.๒๐๒๐ และปรากฏผลงานวรรณคดีบาลีของพระภิกษุชาวล้านนาที่โดดเด่น ต่อมาในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘ เหตุเกิดพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ (รุ่น ๒) หรือนิกายสิงหล มีดังนี้

ใน จ.ศ. ๙๘๕ (พ.ศ.๑๙๖๖) ซึ่งอยู่ช่วงรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน มีพระสงฆ์ล้านนากลุ่มหนึ่งจำนวน ๒๕ รูป นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ พระมหาเมธังกร พระมหาญาณมงคล พระมหาศีลวงศ์ พระมหาสาริบุตร พระมหารัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นต้น ได้เดินทางไปสู่สำนักพระมหาสวามีวนรัต ที่ลังกาทวีปเพื่อเรียนอักขระบาลี การอ่านออกเสียง การสวดตามอักขระบาลีในลังกาทวีป และขออุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา ในแม่น้ำกัลยาณี พ.ศ. ๑๙๖๘ (จ.ศ.๗๘๖) จากนั้นก็จาริกไปนมัสการพระทันตธาตุ รอยพระบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ และมหาสถานอีก ๑๖ แห่ง หลังจากอยู่ในลังกาได้ ๔ เดือนท่านเหล่านั้นประสบทุพภิกขภัย จึงกลับมาโดยได้นำพระเถระชาวลังกา ๒ รูป คือพระมหาวิกกมพาหุและพระมหาอุตตมปัญญา มาด้วยเพื่อทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์

ใน พ.ศ. ๑๙๗๔ (จ.ศ. ๗๙๒) พระเถระเหล่านั้นได้มาถึงเชียงใหม่ และเข้าจำพรรษาอยู่ในวัดป่าแดงมหาวิหาร (รัตตวนมหาวิหาร) เชิงดอยสุเทพ ท่านเหล่านั้นได้เดินทางไปเผยแผ่นิกายสิงหลโดยทำอุปสมบทกรรม บนแพขนานกลางแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำวัง นครเขลางค์ แม่น้ำปิง เมืองหริภุญชัย ท่าน้ำกาดกุมกาม เกาะดอนแท่นเมืองเชียงแสน และสร้างวิหารป่าแดงหลวงขึ้นที่เชิงดอยจอมกิตติ สุวัณณปาสาณกะเมืองเชียงราย ฯลฯ
ในปีพ.ศ. ๑๙๗๙ ณ เมืองเชียงราย เกิดอัสนีบาตฟาดใส่พระสถูปใหญ่ที่วัดพระแก้วจนพังครืนลงมา ต่อมาได้มีผู้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่ง จึงได้มีการเชิญเข้าไปไว้ในวัดนั้น กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองที่ลงไว้เกิดหลุดลอกออกมาจนเห็นเป็นสีเขียวมรกต เมื่อเจ้าอาวาสมาพบเข้าจึงได้นำมาชำระขัดสี แล้วพบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ ท่านจึงดีใจเป็นล้นพ้นเลยนำมาจัดการให้สระสรงตามประเพณีนิยม จากนั้นปรากฏว่ามีผู้คนมาเคารพสักการะเป็นอันมาก
ต่อมาเรื่องราวทราบไปถึงพระกรรณของพระญาสามฝั่งแกน จึงมีรับสั่งให้เชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงรายจึงเชิญพระแก้วขึ้นสถิตบนหลังช้าง แล้วเดินออกไปเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกจะไปทางเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และไปยังเมืองลำปางทางหนึ่งช้างก็ตื่นหนีไปทางเมืองลำปางทุกครั้ง หมื่นด้งนครพระญาติของพระญาสามฝั่งแกน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางก็ทูลขอพระแก้วไว้ที่เมืองลำปาง พระองค์ก็ทรงอนุญาต
รูปปั้นช้างจำลองการเชิญพระเเก้วมรกตไปเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

 สำหรับด้านการปกครองสมัยของพระองค์นั้นกษัตริย์จะใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นหลักในการปกครอง กล่าวคือ ส่งเชื้อพระวงศ์ที่ทรงวางพระทัยไปปกครองเมืองต่างๆ ในลักษณะการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ดังเห็นได้จาก พระญาสามฝั่งแกนส่งโอรสหลายองค์ไปครองเมืองตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวลกครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบครองเมืองฝาง เป็นต้นนอกจากนั้นยังใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการอภิเษกสมรสกับธิดาของกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พระญาแสนเมืองมาอภิเษกสมรสกับธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนา แล้วกำเนิดพระญาสามฝั่งแกน เป็นต้น
ในสมัยเริ่มแรกของพระองค์พบว่าการปกครองยังหละหลวมอยู่ อีกทั้งที่ตั้งเมืองก็อยู่แยกกันทำให้หัวเมืองมีอำนาจทางการเมืองสูง พร้อมที่จะแข็งข้อได้ง่าย ด้านการเมืองการปกครองนั้น กษัตริย์มีอำนาจปกครองจำกัดอยู่เพียงเมืองราชธานี ส่วนเมืองอื่นที่ขึ้นต่อนั้นจะปล่อยให้เจ้าเมืองมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการตามลำพัง ลักษณะนี้พบเห็นได้จากการไม่มีสายบังคับบัญชาเชื่อมโยงไปสู่หัวเมือง ในแง่ของระบบพันนา รวมถึงไพร่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ กล่าวคือ หน่วยพันนาของที่ดินจะเป็นตัวกำหนดไพร่ในสังกัด ยิ่งทั้งสองส่วนนี้มีมากเท่าใดก็จะเป็นต่อสูง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเสบียงจากที่ดิน (พันนา) และกำลังคน (ไพร่ที่สังกัดในพันนา) ลักษณะดังกล่าวทำให้หัวเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากย้อนมาดูเหตุการณ์ที่ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงรายที่คิดการชิงราชสมบัติของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นอนุชานั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีไพร่จำนวนมาก พันนาในสังกัดมากถึง ๓๒ พันนา สามารถปลูกข้าวได้มาก อีกทั้งที่ตั้งยังเป็นฐานเศรษฐกิจใช้ส่งผ่านสินค้า
ภายหลังพระญาสามฝั่งแกนพยายามจัดการปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น มีการควบคุมหัวเมืองที่ไม่ให้เป็นภัยต่อราชธานี เท่าที่พบคือ การแต่งตั้งและย้ายตำแหน่ง พระองค์จะใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งให้บุคคลที่ไว้วางใจไปครองเมืองต่างๆ กล่าวคือส่งท้าวลก ซึ่งเดิมกินเมือง พร้าว ไปกินเมืองยวมใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นมีการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ใกล้ชิดพระองค์ที่เมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เมืองเชียงรายลดความสำคัญลงกลายเป็นเมืองอุปราช              
                          ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๕๒ ท้าวลกราชบุตรของพระญาสามฝั่งแกนทรงครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใด ก็ทำความผิดอาชญาจนพระบิดาทรงพิโรธ ให้นำตัวไปไว้ยังเมืองยวมใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏท้าวลกชิงราชสมบัติ ทำให้รัชสมัยพญาสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด
ช่วงเวลานั้นพระญาสามฝั่งแกนผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ทรงประทับสำราญอยู่ ณ เวียงเจ็ดลิน ก็ได้มีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย คิดไม่ซื่อจึงแปรพักตร์เข้ารับใช้ท้าวลก คิดการไกลถึงกับจะเอาราชสมบัติให้พระองค์ หลังจากนั้นสามเด็กย้อยจึงรวบรวมซ่องสุมกำลังจนพร้อม แล้วจึงลอบไปรับเจ้าท้าวลกจากเมืองยวมใต้ มาซุ่มซ่อนไว้ในเวียงเชียงใหม่ เมื่อเจ้าท้าวลกกับขุนสามเด็กย้อยเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ตกเวลาเที่ยงคืนก็ให้คนลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินไหม้ขึ้น พระญาสามฝั่งแกนจึงทรงม้าหนีออกมาเข้าในเวียง พระองค์นั้นหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นท้าวลกนั้นยึดครองราชย์มนเทียรอยู่ พอเข้ามาถึงคุ้ม ท้าวลกก็ให้กุมเอาตัวพระญาสามฝั่งแกนพระบิดาไว้บังคับให้มอบราชสมบัติแก่ตน
ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พระญาสามฝั่งแกนได้นิมนต์ชาวเจ้าสังฆะเข้าประชุมในพระราชมณเฑียร แล้วจึงประกาศมอบราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่ราชบุตรในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ให้ท้าวลกเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามความประสงค์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งการ ปราบดาภิเษกเจ้าท้าวลกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ใ นปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ ๘๐๔ เดือนแปด (คือเดือนหก) เพ็ญวันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อได้เถลิงราชสมบัติพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษาจึงปูนบำเหน็จหมื่นสามเด็กย้อยผู้ต้นคิดเอาราชสมบัติให้นั้น ตั้งให้เป็นเจ้าครองพันนาขาน ชื่อเจ้าแสนขาน ส่วนพระญาสามฝั่งแกนนั้นพระเจ้าติโลกราชเนรเทศไปไว้เมืองสาด
ฝ่ายเจ้าท้าวช้อย พระอนุชาท้าวลกผู้ครองเมืองฝาง รู้ข่าวว่าเจ้าท้าวลกเป็นขบถ แย่งราชสมบัติบิดา แล้วเนรเทศพระบิดาไปไว้เมืองสาดก็มีความแค้นเจ้าท้าวลกพระเชษฐายิ่งนัก จึงให้ไปรับเสด็จพระบิดาจากเมืองสาดมาไว้ในเวียงเมืองฝาง เตรียมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ทราบข่าวดังนั้น จึงให้หมื่นหาญแต่งตั้งผู้ครองเมืองเขลางค์ยกพลหนึ่งหมื่นไปตีเมืองฝาง ชาวฝางรู้ข่าวก็ยกกองทัพออกโจมตีหมื่นหาญแต่ท้องแต่กลางทาง หมื่นหาญแต่ท้องเสียที แตกฝ่ายหนีมา พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นโลกสามล้าน (คือหมื่นด้งนคร) ยกพลสี่หมื่นเศษพันไปตีเมืองฝางให้จงได้ ครั้งหลังนี้ชาวฝางต้านทางกำลังไม่ได้ ทัพเชียงใหม่จึงเข้าปล้นเอาเมืองฝางได้ จับได้ตัวพระญาสามฝั่งแกนส่งมาเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ แต่เจ้าท้าวช้อยนั้นหนีไปเมืองเทิง เจ้าท้าวช้อยสู้รบเป็นสามารถ จนสิ้นพระชนม์ในที่รบ
                            ล่วงถึงปี พ.ศ. ๑๙๙๐ พระญาสามฝั่งแกนก็ถึงแก่ทิวงคต พระเจ้าติโลกราชจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.chiangmai.smileplaza.net (พญาสามฝั่งแกน:กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ)
- http://www.chiangmai-thailand.net (กษัตริย์และพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่ จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่)
- http://th.wikipedia.org (พญาสามฝั่งแกนจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
- http://www.oknation.net (ภาพจากมหัศจรรย์เวียงเจ็ดลิน ของดีที่ถูกลืม)
- http://www.lampang.go.th (ภาพจากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม)