วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์(ครูบาฝายหิน)


ปฐมสังฆนายะกะ โสภา
เจ้าคุณพระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์ (อุ่นเรือน โสภโณ)
วัดฝายหิน  
ปฐมสังฆราชาแห่งมหานครเชียงใหม่ล้านนา

ภาพถ่ายครูบาฝายหิน ปฐมสังฆราชาแห่งล้านนา



                   แผ่นดินล้านนานอกจากมีชื่อเสียงในทางอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันเป็นหลักใหญ่ในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังได้รับการต้อนรับจากอาคันตุกะ อย่างน่าปลื้มปีติอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทางศีลธรรมอันดีงามของประชาชน สิ่งสำคัญสองประการนี้ อย่างที่หนึ่งเป็นไปในทางด้านวัตถุ อย่างที่สองเป็นไปในทางจิตใจ บ้านเมืองจึงทรงไว้ซึ่งสันติสุข อันสิ่งทั้งสองนี้ จะขอกล่าวในทางศีลธรรมอันดีงามของประชาชนก่อน ว่ามีความรุ่งเรืองและเป็นมานานประการใด สิ่งสำคัญที่ช่วยประชาชนให้มีศีลธรรมอันดีได้นั้น ปราชญ์แยกไว้สามประการ คือ

๑.ความเป็นอยู่ของประชาชนดี เช่น การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย ไม่ลำบาก
๒.สิ่งแวดล้อมจูงใจได้ดีมากเช่น วัดวาอารามอันสง่างาม เป็นขวัญบ้านฯ
๓.ผู้ที่คอยชี้แจงใจใส่ในการทำดีมีความแข็งแรงในภาระ

สิ่งสามประการนี้นับว่าเป็นหลักสำคัญ ในอันที่จะทำให้ประชาชนมีศีลธรรมดีได้เป็นอย่างมาก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงประวัติของบุคคลที่สำคัญในทางจูงใจ และทรงไว้ซึ่งระเบียบของศาสนา ในแผ่นดินลานนาไทยสมัยหลังก่อนนี้ว่า ใครเป็นผู้จัดการให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง อย่างเป็นที่น่าปีติเช่นทุกวันนี้ เมื่อกล่าวความมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ขอกล่าวย้อนหลังไปถึงพระพุทธศาสนาในลานนาไทยแต่หนหลัง พอเป็นที่เข้าใจก่อน
เมื่อพุทธศักราช ๒๐๙๔ ปี พม่าได้ยกกองทัพมาทำการรุกรานอาณาจักรลานนาไทยได้เข้ายึดนครต่างๆ ในภาคเหนือไว้ในอำนาจหมด แม้กระทั่งนครเชียงใหม่ ราชธานีของลานนาไทยในยุคนั้น ก็ได้กระจัดกระจายกัน ไพร่ฟ้าราษฎรต่างก็อพยพตัวเองไปอยู่ตามป่าตามเขาโดยมาก การพระศาสนาวัดวาอารามที่เคยรุ่งเรืองมาก็อับเฉาเศร้าหมองลง สังฆพระธรรมกระจัดกระจายไปคนละที่ละทาง เมื่อยึดเมืองได้แล้ว พม่าข้าศึกก็เข้ามานั่งเมืองด้วยการเป็นเหนือหัว ได้อยู่ถึง ๒๓๖ ปี ก็ได้มีคนลานนาไทยกลุ่มหนึ่ง อันมีพระยาสุลวฤาชัยสงคราม (เจ้าทิพย์ช้าง) เป็นหัวหน้า เล็งเห็นความเสื่อมโทรมของการพระศาสนา ก็มีความสังเวชสลดใจเป็นประมาณ จึงชักชวนบริวารมิตรสหายกลุ่มหนึ่ง ทำการกู้อิสระภาพของลานนาไทยกลับคืนมา โดยเข้ายึดเมืองลำปางคืนมาได้ก่อน อันพระยาทิพย์ช้างนี้ มีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจ้าฟ้าชายแก้วภายหลังเมื่อพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่รู้ระแคะระคายการกู้แผ่นดิน จึงจับเจ้าฟ้าชายแก้วไว้ แล้วก็ได้นำคุมขังไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้าชายแก้วนี้มีบุตรหลายองค์ด้วยกัน ที่นับว่าเป็นยอดทหารหาญอยู่ ก็คือ เจ้ากาวิละ กับ พระเจ้าธรรมลังกา ราชบุตรทั้งสอง เมื่อได้นำไพร่พลหักด่านเข้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อแหกเอาเจ้าฟ้าชายแก้วผู้เป็นบิดา ได้มาแล้วก็ได้ทำการขับไล่พม่าออกเมืองไป เจ้ากาวิละผู้เป็นพี่ใหญ่ก็ได้เข้านั่งเมืองเชียงใหม่ เป็นปฐมกษัตริย์ต่อมา เมื่อจัดบ้านเมืองและการพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปด้วยความรุ่งเรืองบ้างแล้ว ภาระใดที่เป็นของแผ่นดินลานนาไทย พระเจ้ากาวิละก็ได้รีบจัดการอีก เช่น หัวเมืองฝ่ายเหนือที่ใดยังไม่เป็นสุข ด้วยทุกขภัยเบียดเบียน จากการกดขี่ข่มเหงของพม่าผู้ครอบครองอยู่ เจ้ากาวิละก็ได้ระดมกำลังไปตีเพื่อขับไล่พม่าเสีย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่พระเจ้ากาวิละ กับพระเจ้าธรรมลังการ์ผู้น้อง ได้ยกกำลังไปตีเชียงแสน เมื่อขับพม่าแตกถอยไปแล้ว สองพี่น้องก็ได้ประชิดติดตามตีจนสุดเขตแดนลานนาไทย แล้วก็ได้กวาดผู้คนมาเป็นจำนวนมาก พวกที่พระเจ้ากาวิละนำมาครั้งนั้น มีพวกไตยวน และพวกลื้อเขิน อันเป็นชาวลานนาไทยเผ่าเดียวกัน พระองค์ได้นำมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากาวิละก็ได้จัดให้อยู่ในคามเขตของบ้านเมืองต่อไป เช่น พวกลื้อ ก็ให้ไว้ตะวันออกของเวียง พวกเขิน ก็ไว้ทางใต้เวียงประตูเชียงใหม่ อันพวกเขินนี้มีศิลปวิทยาการในทางหัตถกิจ และศิลปกรรมต่างๆ มาก ที่เหลือก็ให้ขยายไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ในท้องที่อำเภอสันทราย สันกำแพง ดอยสะเก็ดบ้าง ดังนี้ ในบรรดาหมู่ชาวเขิน ที่พระเจ้ากาวิละพามาทางเหนือ เมื่อมาตั้งรกรากเป็นปึกแผ่นแล้ว ก็ได้ช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองและการศาสนาให้รุ่งเรืองสืบกันมา
                 ลุถึงปีเต่าสี (มะโรง-จัตวาศก) พ.ศ. ๒๓๗๔ มีสามีภรรยาชาวเขิน ด้านตะวันตกเวียงคู่หนึ่ง ชื่อหนานอินต๊ะ นางซอน ได้กำเนิดลูกชายในวันอังคารขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ นั้นด้วยเหตุอัศจรรย์อยู่ว่าเวลาใกล้รุ่งที่ลูกชายกำเนิดนั้น ควายที่ชาวบ้านปล่อยให้ไปกินหญ้าตามลำพังในป่าทั้งหมดได้หวลกลับเข้ามาบ้านหมดทุกตัว โดยไม่มีใครต้อนกลับมา  ด้วยนิมิตอันเป็นมงคลเหตุนั้นลูกชายที่เกิดมานั้นจึงได้ชื่อตามนั้นว่า “ควาย” เมื่อผ่านอายุในปฐมวัยมาด้วยความสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยต่างๆ “ควาย” เมื่อเติบโตขึ้นพอช่วยบิดามารดาทำกิจกรรมต่างๆ ได้
ผ่านอายุในปฐมวัยมาด้วยความสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยต่างๆ ควายเมื่อเติบโตขึ้น พอช่วยมารดาบิดาทำกิจการต่างๆ บางครั้งก็ไปเลี้ยงควาย เป็นการช่วยพ่อแม่ตามวัย   เมื่อเด็กชายควายอายุได้ ๑๑ ปี ก็ได้มีสาธุเจ้าครูบามารวิชัยผู้มาเจริญบิณฑบาตทุกๆวัน ที่บ้านพบเห็นเข้า ครูบามารวิชัยจึงได้ขออนุญาตจาก หนานอินต๊ะให้ไปอยู่วัดด้วย ควายจึงมาเป็นลูกศิษย์วัดฝายหินกับครูบามารวิชัย
เข้าบรรพชา
เมื่ออายุ ๑๑ ปี เมื่อมาอยู่วัดช่วยปรนนิบัติครูบาอาจารย์ และวัดวาอารามแล้วก็ศึกษาอักขระสมัยประเพณีจนเข้าใจอย่างรวดเร็วจวบจนอายุได้ ๑๕ ปี ครูบามารวิชัยผู้เป็นอาจารย์ได้ทำการบรรพชา ให้เป็นสามเณรในปีนั้น สามเณรควายเมื่อได้น้อมตัวสู่เงาของพระบวรพุทธศาสนาแล้วก็ได้อุตส่าห์วิริยะทำการศึกษาอักขระสมัยและพระไตรปิฎกในสำนักของอาจารย์จนเข้าใจอักษรศาสตร์ และพระธรรมวินัยจนเชี่ยวชาญ เป็นที่ร่ำลือกันในสมัยนั้น ว่าสามเณรควายผู้นี้รู้ภาษาบาลี มูลกัจจายท-   สัททศาสตร์จนหาผู้ใดเสมอไม่ได้

สามเณรควาย เมื่อได้น้อมตัวลงมาสู่ร่มเงาของพระบวรพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้อุตส่าห์ วิริยะ ทำการศึกษาอักขระสมัยและไตรปิฎก ในสำนักของอาจารย์จนเข้าใจในอักษรศาสตร์และพระธรรมวินัยเชี่ยวชาญได้เป็นอย่ างดี เป็นที่ร่ำลือกันในสมัยนั้นว่า สามเณรควายผู้นี้ รู้บาลี มูลกัจจาย์ สัททศาสตร์ จนหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้
อุปสมบทและศึกษาด้านปริยัติ
วัดฝายหิน จ.เชียงใหม่



เมื่ออายุวัยล่วงมาได้ ๒๒ ปี ครูบามารวิชัยผู้อาจารย์ จึงให้ทำการอุปสมบท ในสำนักวัดฝายหินนั้น โดยมีพระมหาเถรสวามี สิริวํโส วัดป่าแดง เป็นพระอุปัชฌาย์ สาธุเถรอินต๊ะ วัดป่าแพ่ง เป็นกรรมวาจาจารย์ สาธุเถรมารวิชัย วัดฝายหิน เป็นอนุสาวนาจารย์ โดยได้ฉายาทางศาสนาว่า โสภาภิกขุ

เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และมูลกัจจายเพิ่มเติมอีก ในสำนักของพระมหาเถรสิริวํโส จวบจนถึงปี พ . ศ. ๒๓๙๘ คืออุปสมบทแล้วได้ ๑ ปี ท่านอาจารย์สาธุเถรมารวิชัย ได้ถึงมรณะภาพ จึงได้รับภาระเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา ในครั้งนั้น กิจการพระบวรพุทธศาสนายังไม่เจริญ เหตุนั้นโสภาภิกขุ เมื่อได้รับภาระเป็นเจ้าอาวาสแล้ว จึงได้จัดการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ทางอักขระภาษา ก็มีการเรียนคัมภีร์มูลกัจจาย์บ้าง คัมภีร์สมัญญาภิธานนามบ้าง ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า สทา ๘ มัคฝ่ายพระปริยัติธรรมก็รุ่งเรืองขึ้นมา ผู้สนใจศึกษาก็ได้มาจากสารทิศต่างๆ ทั้งหัวเมืองอื่นออกไปอีก เช่น เมืองลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย แม้กระทั่งเชียงตุง ก็มีพระมาร่วมศึกษาด้วย นอกจากฝ่ายปริยัติธรรมแล้ว การบริหารพระศาสนาทางด้านปฏิบัติธรรม ท่านโสภาก็ได้จัดให้มีขึ้นด้วย เฉพาะท่านเอง ได้ออกไปเจริญธรรมในวิเวกสถานเป็นนิจ สถานที่นั้นคือ เงิ้มผาทางหลังวัด ห่างออกไปอีกประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร หลักฐานปรากฏอยู่ก็คือ มีคนไปสร้างศาลาที่พัก ของผู้ไปคารวะวิสาสะธรรมกับท่านให้ ๑ หลัง 
วิทยฐานะ
                 จบนิรุต ทางอักษรศาสตร์ภาษาล้านนา ภาษาบาลี(มูลกัจจาย) และเป็นผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฏกอรรถกถาฎีกา และได้รับการยกย่องว่าเป็นพหูสูตรการปฏิบัติธรรม เฉพาะท่านเองได้ออกไปเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน บำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาในวิเวกสถานเป็นนิจ สถานที่นั้นคือเงิ้มผาทางหลังวัดซึ่งห่างออกไปอีกประมาณ ๒๐๐ เมตร
งานการบริหารปกครองและตำแหน่งสมณศักดิ์
                   ครั้งนั้น ฝ่ายสงฆ์จึงเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ทั้งคามวาสี และอรัญญวาสี การคณะสงฆ์ที่เคยกระจัดกระจายเพราะการศึก ก็ได้จัดการเป็นหมวดหมู่ขึ้น ด้วยความสามัคคีธรรม และสมรรถภาพของท่าน จวบจน พ . ศ. ๒๔๓๘ อันเป็นปีที่ ๓๖ ตั้งแต่อุปสมบทมา พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ( ราชบิดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้ถวายตำแหน่งโดยแต่งตั้งให้เป็น ปฐมสังฆนายกองค์ที่ ๑ ของลานนาไทย โดยให้มีสมณะศักดิ์ตำแหน่งนามว่า ปฐมสังฆนายะกะโสภา วัดฝายหิน สังฆราชาที่หนึ่ง เชียงใหม่ในสังฆราชาทั้ง ๗ คือ 

๑ . ปฐมสังฆนายะกะ วัดฝายหิน เชียงใหม่
๒ . สังฆราชา ศาณะโพธิ วัดแม่วาง ( อ. สันป่าตอง)
๓ . สังฆราชา สรภังค์ วัดนันทาราม ประตูเชียงใหม่ ( ตระกูลเขิน เชียงใหม่)
๔ . สังฆราชา คันธา วัดเชตุพน
๕ . สังฆราชา คูบายะ วัดหนองโขง เขตลำพูน ( ภายหลังมาอยู่ วัดดับภัย เชียงใหม่)
๖ . สังฆราชา เจ้าตุ๊ปัญญา วัดพวกแต้ม ( องค์นี้เป็นราชตระกูล ณ เชียงใหม่)
๗ . สังฆราชา ญาณะรังสี วัดสันคะยอม

ในการถวายตำแหน่งนี้ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ประกาศถวายเป็นมหาสังฆพิธี ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ ( ๘ เหนือ) จุลศก ๑๒๕๗ ปี ดังนี้ หนนั้นบ้านเมืองจึงรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนะธรรมดา ตามลำดับกาลฯ ด้วยวิริยะอุตสาหะในการใจใส่ปกครองและจัดสรรการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย
บริหารการคณะสงฆ์และจำพรรษาที่วัดเชียงยืน
ฉะนั้น เมื่อได้ถวายตำแหน่งสังฆนายะกะ และสังฆราชาทั้ง ๗ ของเมืองแล้วได้ ๑ปี พ. ศ. ๒๔๓๙ พระเจ้าอินทยานนท์และไพร่ฟ้าบ้านเมือง จึงอาราธนาให้ท่านมาประจำอยู่ที่วัดเชียงยืน เหนือเวียงเชียงใหม่ เพื่อจะได้จัดการคณะสงฆ์และการพระศาสนาโดยสะดวก

เมื่อการพระศาสนาได้รุ่งเรืองขึ้น ในเมื่อกาลนั้น บ้านเมืองก็สงบสุข เสียงแซ่ซร้องอนุโมทนาในกุศลผลบุญ ประกาศหยาดน้ำและปอยหลวง ก็เป็นมหกรรมพิธีอึงคะนึงอยู่มิได้ขาด ในเวลาเช้า สังฆ ภิกขุ เณร จะจาริกบิณฑบาต โปรยบุญสุนทานอร่าม เป็นขวัญเมืองอยู่นิรันดร์ ตราบสายันต์กาล เสียงกังวานของ เด็กที่วัดสนั่น พระสงฆ์สวดสูตร นั่งเป็นระเบียบตามอายุพรรษกาล มีปริมณฑล การนุ่งห่ม มัดอกตามแบบสังฆบูรพาจารย์แต่ก่อนมา เป็นผลผาสุกยิ่ง แต่ครั้งนั้นแหละ
เกิดเหตุการณ์แตกแยกทางความคิด(ตุ๊ป่ากับตุ๊บ้าน)
 เมื่อต่อมาอีกไม่นานเท่าใด ยังมีกุลบุตรชาวชนบทผู้หนึ่ง มีนามว่า ปิงเป็นชาวบ้านลวงใต้ อำเภอดอยสะเก็ด ได้ไปทำการศึกษาพระปริยัติธรรมมาจากกรุงเทพฯ สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้เป็นเจ้าหัวคณะใหญ่ฝ่ายพระธรรมยุติกะนิกาย เรียนปริยัติจนสำเร็จเปรียญธรรม เป็นพระมหาปิงมาแล้ว ก็ได้กลับมาสำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง ชาวบ้านชาวเมืองมีเจ้าขุนมูลนายฝ่ายใต้ และฝ่ายเหนือ ก็นิยมชมชอบในลัทธิธรรม ที่มหานำมาจากใต้มาก แต่ว่าการนิยมนี้มีนัยอยู่สองประการ คือ

๑ . เพราะเจ้านายฝ่ายสูงทางใต้นิยม เจ้านายฝ่ายไพร่ และฝ่ายเหนือก็คล้อยตาม
๒ . เพราะลัทธิที่มหาปิงนำมาเป็นของใหม่ คนก็ตื่นกัน

เมื่อลัทธิใต้ที่มหาปิงนำมา ที่เรียกว่า ลัทธิกุมผ้าบ่รัดอกเป็นที่นิยมของเจ้านายทั้งหลายแล้ว การพระศาสนาฝ่ายเหนือก็ซบเซาลงไป ผู้เอาใจช่วยเหลือฝ่ายที่เป็นเจ้านายก็เหลือน้อย เพราะไปนิยมกับนิกายใหม่ ฝ่ายพระมหาปิง เสียจนหลายปีดีดัก เมื่อได้ลูกศิษย์ลูกหาสาวกสาวิกามากมายแล้ว พระมหาปิงก็ลงเรือล่องไปเวียงใต้ ทำนองที่เป็นไปเพื่อรายงานตัว จวบจนกลับมา พระมหาปิงก็ได้รับตำแหน่ง เจ้าคุณนพีสีพิศาลคุณขึ้นมาด้วย คนทั้งหลายก็ยิ่งปฏิพัทธ์เลื่อมใสมากขึ้นอีกเป็นล้นพ้น เจ้านายหลายคนถึงกับปวารณาตัวใจใส่ฝ่ายพระมหาปิง หรือเจ้าคุณใหม่เสียฝ่ายเดียวก็มี ลัทธิของ เจ้าคุณนพีสีจึงรุ่งเรือง จนเจ้านครเชียงใหม่ฝ่ายหนนอกครั้งนั้น คือเจ้าอินทวโรรส กำหนดอารามให้เป็นสำนักใหม่ โดยนิมนต์ย้ายพระมหาปิงมาสำนักเสียที่ วัดเชียงมั่น คนทั้งหลายผู้ไพร่ฟ้า ก็สำคัญไปว่า อันอาชญาเหนือหัว พระเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครนี้มีน้ำพระทัยเป็นอคติครอบงำเสียแล้ว มาทิ้งรีดรอยธรรมเนียมเดิมฝ่ายสงฆ์ มาเป็นไปเสีย บ้านเมืองและการพระศาสนาครั้งนั้นจึงอลเวงมากมาย สังฆราชาครูบาวัดฝายหิน ก็ได้จัดการระงับความวิปฏิสารครั้งนั้นด้วยประการต่างๆ แม้จะมิได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่ฝ่ายหนภายนอก ก็ได้ปกครองหมู่สงฆ์ทั้งหลายด้วยความเรียบร้อย มีบางครั้งที่ฝ่ายบ้านเมืองที่ไปติดข้างพระมหาปิง จะมีความเอนเอียงใช้อำนาจบ้าง สังฆราชาครูบาฝายหิน ก็มิได้ยอม ถือธรรมาธิปไตยเป็นแบบในการปฏิบัติงานสงฆ์อยู่ คนทั้งหลายที่ศรัทธาปสาทะตามขนบแบบแผนเดิม ก็พลอยตำหนิเจ้านายด้วยตามนัยต่างๆ ความในบางครั้งจวนเจียนจะเกิดความร้าวราน ถึงขนาดใช้กำลังกันบ้าง ตามความดื้อรั้นของทิฏฐิ ที่ต่างฝ่ายมีอยู่ จนลางคนที่เป็นกลางจะบอกตกลงมิได้ เมื่อใครมาถามว่า จะไหว้ตุ๊ป่า หรือไหว้ตุ๊บ้าน(ตุ๊ป่าได้แก่ ครูบาฝายหิน) ความแตกร้าวในพระศาสนามีมากขึ้น จนลุกลามไปจะเป็นความบ้านเมือง เจ้านายทั้งหลายก็นำความกราบทูลฯ พระเถระทั้งหลายในกรุงเทพอยู่เนืองนิจ เมื่อความอื้อฉาวไปถึงพระกรรณ์เจ้านายผู้ใหญ่ อันเป็นรัชสมัยของพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ ๕ จึงสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำรัสให้เจ้ากรมมหาดไทย อาราธนาครูบาฝายหินลงไปเฝ้า  ความจริงการอาราธนา ครูบาฝายหินไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ คงเป็นการประชุมพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ทั่วพระราชอาณาจักร ครูบาฝายหินคงไปในฐานะ ปฐมสังฆนายกองค์ที่ ๑ ของล้านนา และครั้งนั้นก็มี สังฆราชาคันธา แห่งวัดเชตุพนติดตามไปด้วย หากแต่สถานการณ์ครุกกรุ่นทางการเมืองขณะนั้น จึงเกิดคำร่ำลืออย่างปริวิตกยิ่ง

การเข้าร่วมประชุมสงฆ์สมาคมในปี พ . ศ. ๒๔๔๙ นั้น ครูบาฝายหินได้แสดงบารมีธรรม ถวายพระพรตอบกิจการพระศาสนาฝ่ายเหนืออย่างรอบรู้ เป็นที่พอพระทัยรัชกาลที่ ๕ ยิ่ง ทรงถวายตำแหน่งพระราชาคณะให้ครูบาฝายหิน ดำรงสมณศักดิ์เป็น พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และให้สังฆราชาวัดเชตุพน ดำรงสมณศักดิ์ พระโพธิรังสีเป็นรองเจ้าคณะใหญ่ เดินทางกลับเชียงใหม่ในปีเดียวกัน 

ครั้งนั้นเล่า ฝ่ายหนการพระศาสนาจึงโกลาหล ปั่นป่วนด้วยข่าวลือเป็นประการต่างๆ บางคนก็ว่า ครูบาฝายหินจะถูกกักตัว บางคนก็ว่า ครูบาฝายหินถูกหาเป็นกบฎ บางคนหมู่ที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์ครูบา ก็หาว่าจะถูกประหารก็มี กรณีเล่าลือก็กว้างแผ่ไปทุกวัน จนลงเรือที่ท่าวัดไชยมงคล ชาวบ้านชาวเมืองก็อึงคะนึงสาธุ บางคนที่หูไม่มีน้ำหนักถึงกับร้องไห้ก็มี พระสงฆ์ที่มาเจริญชัยมงคลแก่ครูบาก็เนืองแน่น อร่ามไปด้วยกาสาวพัตรเต็มอยู่ท่าเรือ ครูบาฝายหินไปครั้งนั้น กับสังฆราชที่ ๕ วัดเชตุพน ขณะที่สาละวนกันอยู่นั้น มงคล ไสยมงคล ได้ประกอบเสร็จแล้ว ครูบาก็สั่งพวกสงฆ์ทั้งหลายว่า

สงฆ์ทั้งหลาย อย่าเดือดร้อนไป ข้าจักไปดี อยู่กันทางนี้ หมายหนังสือภายใน ( สงฆ์) ไผมาอย่ารับ หื้อรักษากองปฏิบัติเราไป
การกลับสู่เชียงใหม่ของครูบาฝายหิน ได้รับการต้อนรับจากสงฆ์และฆราวาสพื้นเมือง อย่างเอิกเกริกยิ่ง ลางคนถึงกับทอดกาย และเอามวยผมก้มปูให้สังฆราชาได้เหยียบเดิน

แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้สนับสนุนธรรมยุติกนิกายบางคน ต้องร้อนรนด้วยจิตริษยา ถึงกับเป็นลมบนคุ้มบนวังก็มีสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในขณะนั้นได้อย่างดี 

ประชุมสังฆสันนิบาตที่กรุงเทพ

ที่ตำหนักวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ . ศ. ๒๔๔๙ ท่ามกลางที่ประชุมพระเถรานุเถระทั้งหลาย สังฆราชาฝายหิน ก็ได้ร่วมสังฆสมาคมด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงประทับ ณ เบื้องหน้าสงฆ์ ได้ทรงพระราชดำรัสปราศรัย ตรัสถามกิจการพระศาสนาฝ่ายเหนือ กับสังฆราชาฝายหินๆ ได้ถวายพระพรตอบโดยไม่สะทกสะท้าน เล่าเรื่องความเป็นมาแห่งศาสนาฝ่ายเหนือ อย่างเป็นที่พอพระทัยของพระพุทธเจ้าหลวงยิ่ง

เมื่อมีพระราชดำรัสกับครูบามากเรื่องไป องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร . ๕ ก็ยิ่งปสาทะเลื่อมใสในจริยะวินัย และอากัปกิริยาที่สังวรยิ่งของครูบาอีก จนในวันต่อมาก็ได้เสด็จเยี่ยมอีกหลายหน ครูบาสังฆราชาทั้งสอง ได้ดูกิจการงาน และศึกษาความเป็นไปในการพระศาสนาอยู่เป็นเวลาพอสมควร ตราบจนจะกลับสู่นครพิงค์เชียงใหม่
ได้รับสมณศักดิ์ ที่  พระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถวายพระราชทานนาม ตำแหน่งพระราชาคณะ ให้สังฆราชาที่ ๑ วัดฝายหิน เป็นพระราชาคณะที่ พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์และให้สังฆราชาที่ ๕ วัดเชตุพน เป็นที่ พระครูโพธิรังสีเป็นรองเจ้าคณะใหญ่ 
กลับสู่นครพิงค์เชียงใหม่
เมื่อได้กลับสู่นครพิงค์เชียงใหม่ครั้งนี้ ชาวบ้านชาวเมืองและคณะสงฆ์ ได้นำขบวนเรือไปรับถึงใต้จังหวัดลำพูน สังฆนาวานำเรือจึงอร่ามเหลือง สลอนไปทั่วทุกคุ้งแควน้ำ พระสงฆ์ทั้งหลายที่อยู่ทำชัยมงคลทางบ้านเมือง ต่างก็ปลื้มปีติอย่างมากมาย ในการกลับของพระสังฆราชานายะกะราชครู บางคนถึงกับทอดกายและเอามวยผมก้มปู ให้สังฆราชาได้เหยียบเดิน แต่บางคนที่ใส่ซ้ำครูบาด้วยความริษยามายา ก็ถึงกับเป็นลมอยู่บนคุ้มบนวังก็มี ครั้งหลังนี้ พระบวรพุทธศาสนาจึงรุ่งโรจน์ขยับขยายขึ้นไปอีกมากมาย 

งานสาธารณูปการ
      เมื่อเจ้าคุณพระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์ กลับสู่นครเชียงใหม่แล้ว ได้บริหารกิจการคณะสงฆ์ในนครพิงค์เชียงใหม่ ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ในด้านสาธารณูปการ ได้เป็นประธานเสริมสร้างวัดวาอาราม เช่น กุฏิ วิหาร โบสถ์ และถาวรวัตถุต่าง ๆ ทั้งในวัดและต่างวัดในล้านนาไทยที่ชำรุดทรุดโทรมให้มั่นคงถาวรเป็นที่สง่างามสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
ไปร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ลุถึง พ . ศ. ๒๔๕๓ พระปิยะมหาราชสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฏราชกุมาร ได้สืบสันตติวงศ์ รัชกาลที่ ๖ เมื่อถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ได้อาราธนาราชครูสังฆราชานายะกะอภัยสารทะ วัดฝายหิน ลงไปร่วมในพระราชพิธีด้วย การไปครั้งนี้ ท่านได้วิลาสะสนทนาปรึกษากับพระเถรานุเถระทั้งหลายทางกรุงเทพฯ พระมหานคร เกี่ยวกับการสงฆ์อีก ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต ( จ่าย) วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

ภายหลังจากกลับมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการ อาราธนาพระธรรมวโรดม ( สมเด็จพระวันรัต จ่าย) ให้ช่วยจัดการพระศาสนาฝ่ายหนเหนือ การบริหารพระศาสนาจึงเจริญตามลำดับ จนปัจฉิมวัย สังฆราชใหญ่วัดฝายหินก็ได้ส่งพระสงฆ์ผู้เป็นกำลังศาสนา ไปดูการบริหารการสงฆ์ ที่กรุงเทพฯ มี

๑ . พระอินทจักร์ ( คัมภีรธรรม) วัดเชตวัน เจ้าคณะจังหวัด องค์ที่ ๒
๒ . พระอภิวงศ์ ( ญาณลังการ์) วัดทุงยู เจ้าคณะจังหวัด องค์ที่ ๓
๓ . พระคันธาโร ( โพธิรังสี) วัดศรีดอนชัย เจ้าคณะจังหวัด องค์ที่ ๔

ฝ่ายการศึกษาพระปริยัติธรรม ก็ได้จัดที่พระสงฆ์ทรงวิริยะ อุตสาหะ ไปเรียนบาลีและนักธรรมอีก ผู้เป็นกำลังสำคัญ มันสมองของพระศาสนาในจังหวัดเชียงใหม่ ในกาลต่อมา ก็มี พระครูปริยัติยานุรักษ์ ( สุดใจ) วัดเกตุการาม เป็นต้น 

มรณภาพ
เจ้าคุณพระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์ ปฐมสังฆราชาแห่งล้านนาไทย อดีตเจ้าอาวาสวัดฝายหิน และอดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์ที่หนึ่ง ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งในด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนได้ก่อสร้างและทนุบำรุงถาวรวัตถุต่าง ๆ ของวัดในล้านนาไทยเป็นงานสาธารณูปการ และเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมในล้านนาไทย ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวล้านนาไทย จนลุในวันที่ ๒๑ เมษายน พ . ศ . ๒๔๕๗ ท่านได้อาพาธด้วยโรคชรา และได้มรณะภาพไป รวมสิริอายุได้ ๘๓ พรรษา พระเถรานุเถระ และศิษยานุศิษย์ทั้งหลายจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ ณ ที่วัดฝายหิน ตราบเท่าทุกวันนี้
ปฐมสังฆราชาองค์ที่ได้รับสถาปนาเป็นราชครูใหญ่ นับถึงวันที่ ๒๑ เมษายน พ . ศ . ๒๕๔๕ ครบรอบ ๘๘ ปี มีประวัติสังเขปมาด้วยประการฉะนี้
พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิพระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์(ครูบาวัดฝายหิน)



ทำไมธรรมยุตไม่รุ่งเรือง
ในเมืองเชียงใหม่และล้านนา

การขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในหัวเมืองล้านนา
ธรรมยุติกนิกายเป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่ง ซึ่งได้รับการสถาปนาโดยเจ้าฟ้ามงกุฎในขณะที่ทรงผนวช และมีฉายาว่าวชิรญาณภิกษุ การแผ่ขยายของธรรมยุติกนิกายเริ่มต้นในกรุงเทพฯ ภายหลังจึงเผยแผ่ไปยังหัวเมืองอื่นๆ โดยการออกธุดงค์ของวชิรญาณภิกษุ ด้วยวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสประกอบกับหลักการสอนที่เน้นการใช้ปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผลและส่งเสริมความรู้ทางโลกอื่นๆ เช่น การเรียนวิชาเลข วิชาภาษาอังกฤษ ฯลฯ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบกับการที่พระสงฆ์จากสายธรรมยุตสามารถสอบปริยัติธรรมได้เป็นจำนวนมาก ทำให้พระสงฆ์และประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหันมาอุปสมบทในธรรมยุติกนิกายมากขึ้น 
     เมื่อวชิรญาณภิกษุลาสมณเพศขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมยุติกนิกายได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองอย่างกว้างขวาง และได้กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการผนวกหัวเมืองต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เพื่อตอบสนองอุดมการณ์แบบรวมศูนย์ที่เรียกรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่นี้จะกล่าวถึงการขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในหัวเมืองล้านนา 
     ก่อนทศวรรษ ๒๔๒๐ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและหัวเมืองล้านนาคือความสัมพันธ์แบบรัฐประเทศราช โดยหน้าที่ของหัวเมืองล้านนาคือการป้องกันและขยายพระราชอาณาเขต ส่งกองทัพช่วยเหลือยามศึกสงคราม ส่งเครื่องราชบรรณาการ  ปีต่อครั้ง ในด้านการติดต่อกับเมืองใกล้เคียงเป็นไปอย่างอิสระ ตราบเท่าที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสยาม ในด้านการปกครอง ภายในล้านนามีรูปแบบการปกครองและกฎหมายของตนเอง โดยที่สยามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ความสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ดำรงอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งอังกฤษทำสงครามรบชนะพม่าครั้งที่  ใน พ.ศ.๒๓๖๘ และขยายการค้าข้ามพรมแดนเข้ามาในล้านนา ประกอบกับการที่สยามเซ็นสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๘ ซึ่งเป็นการบังคับให้สยามเปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้ชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อทางการค้ากับล้านนามากขึ้น และเกิดความขัดแย้งตามมามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่อังกฤษใช้ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้ออ้างเข้ายึดครองหัวเมืองล้านนา 
     ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการประพาสพม่าและอินเดีย พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยการบังคับให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่  ที่พระองค์ทรงทำไว้กับอังกฤษใน พ.ศ.๒๔๑๗ และส่งข้าหลวงขึ้นไปกำกับดูแลให้เจ้านายล้านนาปฏิบัติตามสนธิสัญญา นอกจากนี้พระองค์ยังได้ปรับใช้วิธีการของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมขณะนั้นหลายประการ ผสมไปกับวิธีการแบบรัฐจารีต เพื่อผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ
     วิธีการหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมการศึกษาและเข้าควบคุมสถาบันสงฆ์ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปใน พ.ศ.๒๔๔๐ ทรงมีจุดประสงค์ที่จะขยายการศึกษาออกไปตามหัวเมืองให้กับราษฎรทั่วไป เพื่อวางรากฐานอุดมการณ์แบบรัฐชาติ โปรดให้ร่างแผนการศึกษาในกรุงสยาม โดยให้กรมศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบและใช้วัดเป็นสถานศึกษา เนื่องจากเห็นว่าสถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่เข้าถึงราษฎรมากที่สุด ตามแผนการจัดการศึกษาตามหัวเมืองนี้ พระองค์ทรงอาราธนากรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเป็นผู้อำนวยการ และโปรดให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพเป็นผู้คอยช่วยเหลือกิจการฝ่ายฆราวาส โดยอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้ช่วยเหลือจัดการศึกษาแก่ประชาชน 
     จากแผนการจัดการศึกษาที่ต้องอาศัยวัดและพระสงฆ์เป็นฐาน แต่ขณะนั้นบางพื้นที่เช่นหัวเมืองล้านนายังไม่มีตัวเลขบัญชีวัดที่แน่นอน ประกอบกับมีรายงานว่า ครูบาไม่ให้ความร่วมมือในการตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยในวัด ทำให้กรุงเทพฯ ต้องเข้าควบคุมพระสงฆ์ในล้านนา ด้วยการบังคับใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ซึ่งเป็นการรื้อโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนาใหม่ให้ขึ้นกับมหาเถรสมาคมที่กรุงเทพฯ 
     ในการจัดการศึกษาและการศาสนาตามหัวเมืองเบื้องต้น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้แต่งตั้งพระราชาคณะเป็นผู้อำนวยการประจำมณฑลต่างๆ โดยระยะแรกมณฑลพายัพยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง แม้ว่ายังไม่ได้มีการแต่งตั้งพระราชาคณะอย่างเป็นทางการ แต่ข้าหลวงใหญ่ได้มอบหมายให้เจ้าคณะตามเมืองต่างๆ ช่วยเป็นธุระในการจัดตั้งโรงเรียน โดยโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในเวลานี้ เช่น เมืองเชียงใหม่และเมืองน่าน ผู้จัดตั้งเป็นพระล้านนาที่ผ่านการศึกษาจากกรุงเทพฯ เช่นในเมืองเชียงใหม่ โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นคือโรงเรียนวัดเจดีย์หลวง โดยมีพระครูสังฆบริคุต (พระมหาคำปิง) เป็นครูใหญ่และผู้อำนวยการศึกษา และพระม่วง อรินทโม เป็นครูรอง ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง ภายใต้การดูแลของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส 
     ในสมัยที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นข้าหลวงพิเศษต่างพระองค์จัดราชการในหัวเมืองล้านนา กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงคัดเลือกสามเณรคำปิงและพระปินตา มาฝากไว้กับกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสที่วัดบวรนิเวศใน พ.ศ.๒๔๒๗ ภายหลังสามเณรคำปิงได้บวชแปลงเป็นธรรมยุต โดยคราวเดียวกันนั้นมีการส่งพระภิกษุสามเณรจากวัดสำคัญๆ ลงมาด้วยกันหลายรูป เช่น พระอินทจักร จากวัดเชตะวัน พระอภิวงศ์ จากวัดทุงยู พระคันธาโร จากวัดศรีดอนชัย เมืองเชียงใหม่ และพระชยานันทมุนี จากวัดพระธาตุช้างค้ำ เมืองน่าน 
     ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เสนอว่าการส่ง "สามเณรคำปิง" มาศึกษาธรรมยุติกนิกายที่กรุงเทพฯ เป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายในหัวเมืองล้านนา สามเณรคำปิงภายหลังได้ศึกษาที่วัดมกุฏกษัตริย์ จนสอบเปรียญธรรมตรีเทียบ  ประโยคได้ จึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆบริคุต กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงให้กลับเมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระปินตาที่ลงมาที่กรุงเทพฯ คราวเดียวกัน เมื่อพระครูสังฆบริคุตเดินทางกลับไปเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๓๙ ได้พำนักที่วัดเจดีย์หลวง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรม   
     ใน พ.ศ.๒๔๔๒ พระครูสังฆบริคุตได้เริ่มจัดการศึกษาภาษาไทยและการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนใหม่แบบกรุงเทพฯ โดยใช้วัดเจดีย์หลวงและวัดหอธรรม ในปีถัดมาพระครูสังฆบริคุตได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตในเมืองเชียงใหม่ จากนั้นพระครูสังฆบริคุตได้ส่งพระภิกษุสามเณรลงไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดบวรนิเวศอีกหลายรูป  
     ในส่วนการศึกษาของสามเณรในเมืองเชียงใหม่ พระครูสังฆบริคุตได้เริ่มสั่งสอนธรรมวินัยตามแบบของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๔ โดยสามเณรจากวัดหอธรรมเข้าสอบไล่ธรรมวินัยในสนามสอบของมณฑลพายัพจนได้เป็นสามเณรรู้ธรรม (นักธรรม) สืบต่อมาอีกหลายรูป การจัดการศึกษาและการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายของพระครูสังฆบริคุตเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาเจ้านาย เนื่องจากความรอบรู้ในพระธรรมโดยสามารถเทศน์เป็นสำเนียงกรุงเทพฯ ได้อย่างไพเราะ และถือเป็นของใหม่ตามแบบอย่างของกรุงเทพฯ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากข้าหลวงใหญ่ด้วย เนื่องจากธรรมยุติกนิกายถือเป็นนิกายที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำของสยาม  
     จากความเลื่อมใสศรัทธาของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ทำให้เจ้าอินทวโรรสอาราธนาพระครูสังฆบริคุตให้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเชียงมั่นใกล้กับคุ้มของพระองค์ พระครูสังฆบริคุตได้เปลี่ยนให้พระสงฆ์ที่วัดเชียงมั่นเปลี่ยนมานับถือวัตรปฏิบัติตามแบบธรรมยุต และได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นที่วัดเชียงมั่นอีกแห่งหนึ่ง โดยช่วงเวลานั้นพระครูสังฆบริคุตได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูพิศาลสรภัญ ฐานานุกรมผู้ใหญ่ในเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 
     ใน พ.ศ.๒๔๔๙ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงแต่งตั้งให้พระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้วัดเบญจมบพิตรซึ่งเป็นมหานิกายขึ้นมาเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพเพื่อจัดการศึกษาและคณะสงฆ์ พระธรรมวโรดมถือเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่และมีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ 
     เมื่อพระธรรมวโรดมได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพได้นำพระศรีสมโพธิ์ พระราชาคณะวัดสุทัศนเทพวราราม พระมหาบางและพระมหายา จากวัดเบญจมบพิตร มาช่วยงานด้วย โดยเดินทางถึงเมืองเชียงใหม่ในปีถัดมาและเข้าพักที่วัดอุปคุตและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับ การนี้ พระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีสารตราถึงพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายในการจัดการคณะสงฆ์ในมณฑลพายัพไว้ว่า 
      "...เมื่อราชการฝ่ายพระราชอาณาจักร ได้จัดให้เรียบร้อยขึ้นตามระเบียบแล้ว ส่วนการพระสาสนาฝ่ายพระพุทธจักร ก็สมควรจะจัดให้เปนการเจริญเรียบร้อยขึ้นทันกันตามควรแก่คราวสมัย ดังเช่นหัวเมืองในมณฑลอื่นๆ...เพื่อพระสงฆ์สามเณรในมณฑลพายัพ จะได้ปฏิบัติตามคลองพระบรมพุทโธวาทให้เปนที่เลื่อมไสยของพุทธศาสนิกชน..." 
     "...ในมณฑลพายัพนี้ก็เป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนามาช้านานตลอดจนปัจจุบันนี้ ยังมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ อุสาหะรวมหมู่รวมคณะสั่งสอนธรรมปฏิบัติตามลัทธิเพศบ้านเมืองอยู่ แต่ว่าข้อใดที่เป็นที่สงไสยแล้ว ก็ยากที่จะปฤกษาหารือกันให้เป็นการเด็ดขาดได้ เพราะห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร พระสงฆ์ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ยากที่จะได้พบปะพระราชาคณะที่รอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกธรรม เพื่อสั่งสนทนาธรรมพระสงฆ์และสามเณรที่ประกอบด้วยความอุสาหะลงไปศึกษาเล่าเรียนยังกรุงเทพมหานคร นำความรู้กลับขึ้นมายังชาติภูมิก็มีน้อย จึงไม่สามารถที่จะจัดการปกครองหมู่คณะสงฆ์ให้เจริญยิ่งขึ้น ถ้ามีพระราชาคณะผู้ใหญ่ขึ้นมาบังคับบัญชาจัดการแนะนำแล้ว การพุทธศาสนาก็จะเจริญถาวรรุ่งเรืองยิ่งขึ้น..." 
     การจัดการคณะสงฆ์ให้มีลักษณะรวมศูนย์โดยขึ้นกับมหาเถรสมาคมด้วยอำนาจของกฎหมายนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ส่วนกลางเห็นว่าคณะสงฆ์และการศาสนาตามหัวเมืองมีความอ่อนแอเหลวไหล จำเป็นต้องทำให้เกิดความเรียบร้อยเป็นเอกภาพ อีกทั้งปัญหาจากการควบคุมเลกวัดซึ่งเดิมถือเป็นแรงงานและผลประโยชน์หลักของวัด แต่จากการที่ส่วนกลางประกาศใช้พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ และพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารทำให้เลกวัดกลายเป็นคนของแผ่นดินโดยมีพันธะโดยตรงต่อรัฐ แต่ยังมีเจ้าอาวาสบางวัดขอพระราชทานเลกวัดคืนเนื่องจากสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับ จากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะใช้วัดและพระเป็นฐานในการจัดการศึกษาตามหัวเมือง ดังนั้นการควบคุมองค์กรสงฆ์ล้านนาจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 
     ทั้งนี้ การเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายของพระครูพิศาลสรภัญได้สร้างความขัดแย้งในคณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเดิมโครงสร้างของคณะสงฆ์ล้านนามีผู้ปกครองสูงสุดในแต่ละเมือง ในเมืองเชียงใหม่ เจ้าอินทวิชยานนท์ได้มีการแต่งตั้งสังฆราชทั้งเจ็ดเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์โดยประกาศถวายเป็นสังฆพิธี ณ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีพระครูบาวัดฝายหิน เป็นปฐมสังฆนายก แต่ระเบียบของพระสงฆ์ล้านนาให้ความสำคัญกับระบบหมวดอุโบสถหรือหัวหมวดวัดมากกว่า และการปกครองเป็นแบบพระอุปัชฌาย์ โดยให้ความสำคัญระหว่างอาจารย์กับศิษยานุศิษย์ เนื่องจากพระสงฆ์ล้านนามีแนวการปฏิบัติที่หลากหลาย โดยจำแนกได้ถึง ๑๘ นิกาย
     จากการสำรวจในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นิกายทั้ง ๑๘ นิกายนี้น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่สืบต่อกันมาจากอาจารย์หรืออุปัชฌาย์เดียวกันในแต่ละท้องถิ่น โดยขึ้นต่อกันตามสายปกครอง และมักเป็นไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ โดยปัจจุบันความนิยมของผู้คนในการทำบุญในวัดตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองยังคงมีอยู่ เช่น กลุ่มตองซู่นิยมเข้าวัดหนองคำ กลุ่มไทยใหญ่นิยมเข้าวัดป่าเป้า เป็นต้น ดังนั้นการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายที่ไม่มีรากจากพระอุปัชฌาย์จึงไม่เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ดั้งเดิม โดยครั้งหนึ่ง พระครูพิศาลสรภัญได้รายงานปัญหาการจัดการศาสนาในเมืองเชียงใหม่เพื่อให้เป็นไปตาม "...กาลสมัยของประเทศ..." โดยออกประกาศให้ครูบาซึ่งเป็นสังฆราชาช่วยดูแลพระสงฆ์ในหมวดของตนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามวินัยสงฆ์ ซึ่งพระส่วนใหญ่รับทราบตามคำประกาศแต่ไม่ยอมปฏิบัติตาม เป็นไปได้ว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามของพระสงฆ์เหล่านี้อาจมีพระครูบาวัดฝายหิน ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นปฐมสังฆนายกในเมืองเชียงใหม่ และพระครูบาน้อย เจ้าอาวาสวัดเชียงมั่น เป็นผู้นำ ความขัดแย้งนี้ทำให้พระครูพิศาลสรภัญทำรายงานมายังกรุงเทพฯ กระทรวงธรรมการจึงได้นิมนต์พระครูบาวัดฝายหินลงไปกรุงเทพฯ เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหา
     จากปัญหาดังกล่าว พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ได้กราบทูลมายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพระครูพิศาลสรภัญได้จัดการศาสนาและการคณะสงฆ์ในเมืองเชียงใหม่จนเจริญก้าวหน้าแม้ว่าจะมีพระมหานิกายไม่พอใจอยู่บ้าง พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์จึงทูลขอพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้พระครูพิศาลสรภัญมียศตำแหน่งสูงขึ้นเพื่อให้มีอำนาจจัดการศาสนาให้เจริญขึ้นเหมือนเช่นที่พระชยานันทมุนี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะเมืองน่าน ทั้งนี้พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ได้ปรึกษากับบรรดาเจ้านายเมืองเชียงใหม่และเจ้าอธิการวัดโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัย ความว่า
     "...การแต่งตั้งเจ้าคณะเช่นนั้น ถ้าเป็นมหานิกายอย่างพระชยานันทมุนี ซึ่งเป็นมหานิกายนั้นสะดวกกว่าธรรมยุติเพราะทำการร่วมเสมอกันได้ ธรรมยุตินั้นถึงจะโอบอ้อมไหวอย่างไร ร่วมสังฆกรรมกันไม่ได้ ก็จะตัดทางซึ่งจะให้คบกันสนิทไม่ได้  ยังคงรู้สึกว่าตั้งตัวข่มขี่ว่าดีกว่ากันอยู่ พวกเลวก็ย่อมเลวไม่แลดูหน้าเสียทีเดียว ถึงจะมีพวกพ้องมากขึ้นก็คงเปนแต่หมู่หนึ่งเหล่าหนึ่ง ไม่แพร่หลายได้ แต่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองสาสนาหละหลวม...ซึ่งเจ้าคณะเปนธรรมยุติกาได้ก็นับว่าเปนอย่างดี ถ้าตั้งขึ้นใหญ่โตเต็มที่เสียจะมีช่อง ผู้อื่นขึ้นไปก็จะไปไม่ได้ ถ้าจะให้เปนราชาคณะก็เปนลอยๆ ไว้ทีอย่าให้ถึงสังฆษาโมกขก่อนเห็นจะดี อย่างพระชยานันทนั้นสนิทที่เปนมหานิกาย ทั้งเปนลูกเจ้านครด้วย..." 
     เนื่องจากธรรมยุติกนิกายเป็นนิกายทางพุทธศาสนาแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในหัวเมืองล้านนา พระองค์ทรงเกรงว่าการตั้งพระธรรมยุติกนิกาย ให้มีสมณศักดิ์เทียบเท่าเจ้าคณะใหญ่ซึ่งเป็นมหานิกาย และเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่แล้ว การกระทำดังกล่าวอาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่นับถือนิกายเดิม และสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกรุงเทพฯ และต่างจากการตั้งพระชยานันทมุนีขึ้นเป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองน่านเนื่องจากเป็นมหานิกายอีกทั้งเป็นบุตรของเจ้าเมือง ดังนั้น พระองค์มีพระราชวินิจฉัยให้เลื่อนสมณศักดิ์ได้โดยมีตำแหน่งเป็นพระราชาคณะแบบลอยๆ ในวันฉัตรมงคลปีเดียวกันนั้นพระครูพิศาลสรภัญจึงได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระนพีสีพิศาลคุณ พระราชาคณะธรรมยุต วัดเชียงมั่น  
     ทั้งนี้ การส่งพระธรรมวโรดมซึ่งเป็นมหานิกายขึ้นเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้กรุงเทพฯ ได้สนับสนุนพระนพีสีพิศาลคุณซึ่งเป็นธรรมยุติกนิกายขึ้นไปวางรากฐานจัดการคณะสงฆ์ใหม่ เรื่องดังกล่าวได้รับการทักท้วงจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพระราชหัตถเลขาความว่า
     "...การที่พระธรรมวโรดมขึ้นไปครั้งนี้ น่าที่พระนพีสีจะเข้าใจว่าไปเปนพรรคพวกอุดหนุนพวกเก่าบางทีจะมีข้อขัดแขง แต่ก็คงไม่กล้าทำอไรได้มาก การที่จะให้ไปจัดคงต้องให้เปนธรรมยุติหมวด  มหานิกายหมวด  เห็นจะเอาเคล้ากันเข้าไม่ได้ ตรานำพระธรรมวโรดม จะต้องว่าให้ดี จะต้องมีหนังสือถึงพระนพีสีด้วย  ฉบับ จึงจะเปนที่เรียบร้อยกันได้ อย่าให้ทำแต่ท้องตราตามบุญตามกรรมปล่อยไป ขอให้คิดดูเสียให้มาก เดิมตั้งพระนพีสีขึ้นไป เหตุใดจึงส่งเจ้าคณะขึ้นไปใหม่ ย่อมจะให้ไปหักล้างกัน ซึ่งความจริงกระทรวงธรรมการก็ออกเปนบ้าจี้อยู่ ครั้งก่อนก็จะเอาให้พระนพีสีเปนเจ้าคณะเมืองจริงๆ ที่หากว่าเหนี่ยวรั้งไว้ บางทีครั้งนี้ถูกครูบาที่  ลงมาจี้ก็จะสั่งเผลอๆ ไปกลายเปนให้ไปทำลายพระนพีสีเสียโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่ได้คิดให้รอบคอบ..." 
     ทั้งนี้ การแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้กับพระจากมณฑลพายัพเป็นเรื่องใหม่ โดยระยะแรกมีพระชยานันทมุนี เมืองน่านและพระนพีสีพิศาลคุณเท่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อพระนพีสีพิศาลคุณเดินทางกลับไปถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าอินทวโรรสจึงจัดให้มีพิธีฉลองสัญญาบัตร ผู้เขียนเชื่อว่าการฉลองสัญญาบัตรครั้งนี้ถือเป็นหน้าตาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระสงฆ์จากมณฑลพายัพได้รับการยอมรับจากกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับพระสงฆ์จากมณฑลอื่นๆ ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ เองก็ได้ประโยชน์ในการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าในการเป็นผู้แต่งตั้งพระราชาคณะในล้านนา 
     นับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๕๐ เป็นต้นมา พระจากมณฑลพายัพเริ่มได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์จากกรุงเทพฯ และได้รับพระราชทานค่านิตยภัตตามบรรดาศักดิ์ โดยการนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่เสนอตัวเป็นผู้ออกเงินให้ด้วยความเต็มใจ
              จากการที่กรุงเทพฯ พยายามจัดโครงสร้างคณะสงฆ์มณฑลพายัพให้เข้าระเบียบเดียวกันกับส่วนกลาง โดยแต่งตั้งให้พระจากล้านนามีสมณศักดิ์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ในมณฑลอื่นๆ อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่จากการที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้พระนพีสีพิศาลคุณเผยแผ่ธรรมยุติกนิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้มีพิธีพระราชทานสัญญาบัตรที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต โดยแต่งตั้งให้พระครูบาที่ ๑(พระครูบาวัดฝายหิน) วัดเชียงยืนขึ้นเป็นพระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่มหานิกาย พระครูบาที่  วัดเชตุพนขึ้นเป็นพระครูโพธิรังสี อีกทั้งมีการตั้งนิตยภัตและพระราชทานพัดเพื่อแสดงเครื่องยศ ซึ่งพัดดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ำให้ "...หาเลือกพิมพ์อไรที่เป็นตราแผ่นดินปักลงบนพัด..." โดยท้ายที่สุดทรงเลือกลายพัดที่มียอดพระเกี้ยว และทรงให้ปักข้อความระบุชื่อของพระองค์ว่า พระราชทานมายังคณะสงฆ์เชียงใหม่ที่ลงมาเฝ้า ร.ศ.๑๒๕ ในวันฉัตรมงคล พ.ศ.๒๔๔๙ พระครูทั้ง  รูปนี้ได้รับเกียรติเข้าร่วมสวดมนต์ในพิธีดังกล่าวด้วย ซึ่งปกติแล้วจะมีแต่พระชั้นผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ เท่านั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแก้ปัญหาเพื่อลดการต่อต้านจากคณะสงฆ์มหานิกายในเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งเป็นการเน้นย้ำให้คนล้านนาตระหนักถึงบทบาทของพระองค์ว่าเป็นประมุขสูงสุดในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มิใช่เจ้าเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป ทั้งนี้การแต่งตั้งสมณศักดิ์ให้กับพระล้านนาตามโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ คล้ายกับที่กรุงเทพฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ข้าราชการพื้นเมืองโดยหวังให้กลุ่มคนเหล่านี้ยอมอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองแบบใหม่ที่กรุงเทพฯ จัดวางขึ้น 
     เมื่อพระธรรมวโรดมได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพได้เดินทางถึงเชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๐ ได้มีการเชิญเจ้าเมือง ข้าหลวงใหญ่ และพระสงฆ์ มาประชุมชี้แจงการจัดการศึกษาและองค์กรสงฆ์ใหม่ โดยพระธรรมวโรดมเห็นว่า การจัดตั้งพระครูเจ้าคณะแขวงให้เป็นตามพระราชบัญญัติการปกครองสงฆ์ยังไม่ได้ เนื่องจากมีพระสงฆ์ที่ได้รับฐานันดรจากเจ้าเมืองเชียงใหม่พร้อมอยู่แล้ว จึงต้องอนุโลมจัดไปตามประเพณีเดิมให้เป็นหมวดหมู่ไว้ก่อน จากนั้นจึงแต่งตั้งให้พระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์รับผิดชอบปกครองในฐานะเจ้าคณะใหญ่เมืองเชียงใหม่ (เท่ากับเจ้าคณะจังหวัดของทางกรุงเทพฯ) โดยทำหน้าที่ดูแลว่ากล่าวพระสงฆ์และสามเณรมหานิกายทั่วไป โดยมีเจ้าคณะรอง เจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอ) เจ้าอธิการหมวด (เจ้าคณะตำบล) เจ้าอธิการ (เจ้าอาวาส) หัววัด (เจ้าสำนักสงฆ์หรือที่พักสงฆ์) ตามลำดับ 
     ในส่วนของการศึกษา พระธรรมวโรดมแบ่งเป็น  ส่วน ส่วนแรกให้พระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์เป็นผู้สอนพระสงฆ์และสามเณรตามแบบพื้นเมือง และแต่งตั้งให้พระนพีสีพิศาลคุณรับผิดชอบด้านการศึกษา โดยเป็นผู้สั่งสอนธรรมปริยัติตามแบบแผนกรุงเทพฯ โดยให้อิสระแก่พระสงฆ์และสามเณรในการเลือกเรียน แม้ว่าจะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทำงานอย่างชัดเจน แต่ในรายงานของพระธรรมวโรดมที่มีมายังเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรกล่าวว่าต้องใช้พระเดชพระคุณของเจ้าเมืองเชียงใหม่อย่างมากในการที่จะทำให้งานทั้ง  ส่วนเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างพระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ในแบบจารีตล้านนาและพระนพีสีพิศาลคุณซึ่งเป็นธรรมยุติกนิกายจากกรุงเทพฯ 
     ในรายงานของพระธรรมวโรดมกล่าวถึงการจัดการคณะสงฆ์ในมณฑลพายัพว่ามักพบปัญหาที่คล้ายๆ กันในแต่ละเมือง คือ พระสงฆ์และสามเณรมักบกพร่องในวัตรปฏิบัติ เช่น การฉันข้าวยามวิกาล การไปช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าวเลี้ยงควาย และการเลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย การลงอุโบสถแม้ว่ากระทำกันทุกเดือนแต่วิธีลงปาฏิโมกข์ยังไม่ถูกต้องโดยสวดเพียงปาราชิกเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการศึกษาของพระสงฆ์ล้านนายังนิยมเรียนกรรมฐานธุดงค์ตามวัดที่ครูบามีชื่อเสียง ในด้านพิธีการยังไม่นิยมพิธีวิสาขบูชาและมาฆบูชาแต่นิยมจัดเครื่องไทยธรรมและบริขารมาถวายพระธาตุซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปี 
ทั้งนี้พระธรรมวโรดมได้ตั้งข้อสังเกตถึงพระสงฆ์ล้านนาไว้ว่า
     "...พระสงฆ์ในมณฑลนั้นจะว่าดื้อก็ดื้อจะว่าง่ายก็ง่าย ถ้าหัวหน้าลงหรือนับถือแล้วก็เป็นการง่ายที่สุด ถ้าหัวหน้าไม่ลงแลนับถือแล้วก็เป็นการยากที่สุด คอยฟังเสียงของครูบาเท่านั้น ถ้าครูบาว่าอย่างไรแล้วก็แล้วกันไม่มีใครมีปากเสียง การที่จัดคณะนี้อาตมภาพก็ได้จัดสำเร็จทุกๆ เมือง พากันนิยมมาก ถ้าจะมีความเจริญหนังสือไม่พอแจกมีผู้ต้องการมาก ที่สั่งลงมาขอพระไตรปิฎกก็มี..." 
     จากรายงานนี้ย้ำให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของพระสงฆ์ล้านนาที่ครูบามีความผูกพันกับศิษย์อย่างมาก ซึ่งถ้าครูบาหรือหัวหน้าคณะซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์มีความเห็นอย่างไร พระผู้เป็นลูกศิษย์จะเห็นตามกัน
     การจัดการศึกษาและการศาสนาในเมืองเชียงใหม่ของพระธรรมวโรดมคงเป็นที่พอใจของบรรดาเจ้านายเนื่องจากเจ้าอินทวโรรสกราบทูลมายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าการพระศาสนาและการศึกษาที่พระธรรมวโรดมจัดไว้ดีแล้ว จากนั้นพระธรรมวโรดมได้เดินทางไปจัดการศึกษาและคณะสงฆ์ในเมืองอื่นๆ เช่น ที่เมืองลำปาง พระธรรมวโรดมได้เชิญข้าหลวงและเจ้าเมืองมาประชุมที่วัดเจดีย์หลวงในกำแพงเวียงนครลำพูน และแต่งตั้งให้พระครูบาสมเด็จวัดเสาต้นธงเป็นเจ้าคณะเมืองลำพูน และแต่งตั้งเจ้าคณะหมวดอุโบสถแขวงในเวียงลำพูน เจ้าคณะแขวงปากบ่องและเจ้าคณะแขวงเมืองลี้
     ใน พ.ศ.๒๔๕๑ มีรายงานจากพระสงฆ์ในมณฑลพายัพมายังพระธรรมวโรดมเรื่องการจัดการคณะสงฆ์ในแต่ละเมืองว่ามีความก้าวหน้าขึ้น เช่น เมืองน่านพระปลัดวงษ์ รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่นครน่าน (พระชยานันทมุนี) กล่าวถึงพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่จัดขึ้นวัดช้างค้ำร่วมกับเจ้านายและข้าราชการ โดยพระชยานันทมุนีได้เชิญพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชมอบประกาศนียบัตรให้กับเด็กที่สอบไล่ได้ และพระชยานันทมุนีได้แจกใบประทวนแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ให้กับพระครูรวม ๗๖ รูป ในเมืองเชียงใหม่ พระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ได้รายงานถึงการจัดระเบียบคณะสงฆ์ที่ทรงให้คณะหมวดอุโบสถออกไปจัดการศาสนาตามหัวหมวดวัดให้ขึ้นกับทุกพระครูตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ในรายงานของพระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์เน้นควบคุมพระสงฆ์ให้มีความประพฤติหรือวัตรปฏิบัติสอดคล้องกับกรุงเทพฯ เช่น การห่มผ้าครองให้เรียบร้อย ห้ามมิให้ฉันข้าวล่วงเวลาและซื้ออาหารกินตามตลาด ห้ามมิให้เล่นการพนันและเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน ฯลฯ 
     ในด้านการศึกษาพระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ได้ให้พระภิกษุศึกษาปาติโมกข์และนวโกวาทโดยเณรให้ศึกษาสามเณรสิกขา และให้ช่วยทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญขึ้นตามความสามารถ การนี้พระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าพระภิกษุสามเณรจะรับไม่ไหว เชื่อว่าการจัดการคณะสงฆ์ในมณฑลพายัพน่าจะเริ่มเข้ารูปอย่างที่กรุงเทพฯ ต้องการ 
     ใน พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อถึงพิธีบรมราชาภิเษกได้อาราธนาพระอภัยสารทะสังฆปาโมกข์ไปร่วมในพระราชพิธีด้วย การไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ท่านได้หารือถึงการจัดการคณะสงฆ์ในมณฑลพายัพกับพระเถรานุเถระทั้งหลายในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัติ (จ่าย) วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น ภายหลังกลับจากกรุงเทพฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้อาราธนาสมเด็จพระวันรัติ (จ่าย) ให้ช่วยจัดการพระศาสนาในมณฑลพายัพ 
     ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายในเมืองเชียงใหม่น่าจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจาก พ.ศ.๒๔๕๒เป็นปีที่เจ้าอินทวโรรสถึงแก่พิราลัย และอุบาสกสำคัญคือ อินต๊ะค่อ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมบารมีให้แก่พระนพีสีพิศาลคุณถึงแก่กรรมแล้วเช่นกัน ทำให้พระนพีสีพิศาลคุณขาดผู้อุปถัมภ์ เพราะในสมัยที่เจ้าอินทวโรรสยังมีพระชนมชีพ พระนพีสีพิศาลคุณไปที่แห่งใดจะมีผู้ต้อนรับให้ความสะดวก อีกทั้งได้รับความเกรงใจ เมื่อสิ้นเจ้าอินทวโรรสอำนาจของพระนพีสีพิศาลคุณจึงลดน้อยลง ท่านจึงจากวัดเชียงมั่นกลับมาพักอยู่วัดหอธรรมตามเดิม   
     ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้ขอพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้กับพระนพีสีพิศาลคุณ เนื่องจากได้จัดการเรียนพระธรรมวินัยของภิกษุสามเณรและจัดการสอบไล่ประจำปี โดยได้ขยายไปเมืองแพร่และเมืองน่านจนสามารถตั้งโรงเรียนนักธรรมของมณฑลพายัพได้ จึงขอพระบรมราชานุญาตยกพระนพีสีพิศาลคุณขึ้นเป็นพระอาจารย์โทในทางคันถุระมีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าคณะเมือง 
     แม้ว่าพระนพีสีพิศาลคุณจะได้รับการยกย่องจากกรุงเทพฯ ให้มีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าคณะเมือง แต่เพียง  เดือนหลังจากได้รับการแต่งตั้ง พระนพีสีพิศาลคุณได้มีหนังสือกราบทูลกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสว่าตนเองมีความเบื่อหน่ายไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้จึงขอลาสิกขา เมื่อกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงตรวจสอบแล้วพบว่าพระนพีสีพิศาลคุณเป็นผู้หมดความเลื่อมใสและเสื่อมจากการเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระนพีสีพิศาลคุณลาสิกขาได้ 
     จากการที่พระนพีพิศาลคุณขาดการอุปถัมภ์จากเจ้าเมืองเชียงใหม่ทำให้การเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายเริ่มเสื่อมคลายลง ผู้เขียนเชื่อว่าสาเหตุอีกประการหนึ่ง คือ การส่งพระธรรมวโรดมเป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นมหานิกายมาปกครองตั้งแต่แรก ทำให้ธรรมยุติกนิกายขาดการสนับสนุน เมื่อหมดสมัยของพระนพีสีพิศาลคุณสายสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ล้านนาจึงมุ่งไปสู่วัดเบญจมบิตรซึ่งเป็นมหานิกายมากกว่าวัดธรรมยุต 
     แม้ว่าจะหมดสมัยของพระนพีสีพิศาลคุณและธรรมยุติกนิกายได้ลดบทบาทลง แต่มีพระมหาเถระอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกาย คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชกวีระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๕๗ ได้ขึ้นมาที่เมืองเชียงใหม่โดยทางเรือและคงเข้าพักที่วัดหอธรรม ในขณะนั้นเจ้าอินทวโรรสถึงแก่พิราลัยแล้ว พระราชกวีได้เทศน์โปรดเจ้าทิพเนตร์ที่คุ้ม ใน พ.ศ.๒๔๖๕ ท่านได้ขึ้นมาเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง สาเหตุที่ท่านขึ้นมาในครั้งนี้เนื่องจากท่านได้แต่งหนังสือชื่อ "ธรรมวิจยานุศาสน์" โดยข้อความในหนังสือขัดต่อรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ตำแหน่งพระเทพโมลี ท่านจึงถือโอกาสออกธุดงค์ในภาคเหนือโดยเดินทางไปนมัสการพระธาตุจอมยองและได้รับการต้อนรับจากเจ้าฟ้าเชียงตุงเป็นอย่างดี 
     ใน พ.ศ.๒๔๗๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และได้ขึ้นมาที่เมืองเชียงใหม่โดยพำนักที่ดอยสุเทพ ขณะนั้นเจ้าแก้วนวรัฐและเจ้าแม่จามรีได้ไปพักร้อนที่คุ้มบริเวณพระธาตุดอยสุเทพเช่นกัน เจ้าแก้วนวรัฐจึงได้อาราธนาท่านไปแสดงธรรมที่คุ้ม บรรดาเจ้านายที่รับฟังพระธรรมต่างเลื่อมใสและต้องการให้พระอุบาลีคุณูปมาจารย์จำพรรษาที่เมืองเชียงใหม่ จึงพากันขออนุญาตกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราชทรงนำความขึ้นขอพระราชทานอนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้รับพระบรมราชานุญาตให้พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ไปประกาศพระศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ โดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ตั้งมั่นว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์อีกต่อไป 
     เมื่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์จำพรรษาอยู่ที่คณะหอธรรม วัดเจดีย์หลวงตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ ได้รื้อฟื้นธรรมยุติกนิกายให้เป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง โดยเปิดโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี จัดให้มีการแสดงธรรมประจำวันธรรมสวนะเช้า-บ่าย ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา โดยท่านเป็นผู้นำในการเทศนาธรรมด้วยปฏิภาณโวหารและเป็นที่เลื่อมใสของประชาชน๔๗ นอกจากกิจกรรมการเผยแผ่พระธรรมแล้วท่านยังได้บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิและศาสนสถานโดยพระวิหาร วัดเจดีย์หลวงที่ปรากฏในปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยของท่าน
ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการขึ้นไปตรวจราชการที่เมืองเชียงใหม่ รายงานว่าที่วัดเจดีย์หลวงมีราษฎรนิยมมาบวชเรียนมากขึ้น จนเจ้าแก้วนวรัฐเสนอให้ตั้งพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นเจ้าคณะมณฑลเพราะมีผู้นับถือมากและเทศน์เก่ง แต่พระองค์เจ้าธานีนิวัตไม่สามารถแต่งตั้งได้เพราะมีเจ้าคณะมณฑลคือพระเทพมุนี (ปลด กิตติโสภณ) อยู่แล้ว พระอุบาลีคุณูปมาจารย์จำพรรษาอยู่วัดเจดีย์หลวงเป็นเวลา  ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๔เมื่อท่านกลับกรุงเทพฯ ได้มรณภาพใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่วัดบรมนิวาส การขึ้นไปประกาศพระศาสนาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ในครั้งนี้ทำให้ธรรมยุติกนิกายตั้งมั่นในหัวเมืองล้านนาได้จนทุกวันนี้ 
     ข้อมูลการสำรวจวัดธรรมยุตในล้านนา พ.ศ.๒๔๙๗ ระบุว่ามีวัดธรรมยุตในล้านนา ๒๓ วัด โดยเมืองเชียงใหม่มี ๑๓วัด เมืองลำปาง  วัด เมืองลำพูน  วัด เมืองเชียงรายมี  วัด โดยเมืองน่าน เมืองพะเยา เมืองแพร่ และเมืองแม่ฮ่องสอนในขณะนั้นไม่มีวัดธรรมยุตอยู่เลย ในขณะที่อีสานมีวัดธรรมยุตมากถึง ๓๓๔ วัด ทั้งๆ ที่ธรรมยุติกนิกายเป็นนิกายที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเจ้านายเมืองเชียงใหม่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นครั้งพระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาคำปิง) ในสมัยเจ้าอินทวโรรส หรือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ นั่นอาจเป็นเพราะธรรมยุติกนิกายเป็นนิกายที่ได้รับการยอมรับจากกรุงเทพฯ เจ้านายเมืองเชียงใหม่ที่ถูกดึงเข้าสู่ระบบราชการของกรุงเทพฯ อาจเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนแนวทางที่กรุงเทพฯต้องการ อีกทั้งวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสและความแตกฉานทางพระศาสนาของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเองทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาก็เป็นได้ 
     จากการสัมภาษณ์ พระราชเจติยาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย) เจ้าอาวาสวัดพระเจดีย์หลวงองค์ปัจจุบันให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ธรรมยุติกนิกายไม่แพร่หลายในหัวเมืองล้านนาซึ่งต่างไปจากหัวเมืองอีสาน เป็นเพราะพระพุทธศาสนาในล้านนามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีรากฐานมั่นคงจนยากที่ธรรมยุติกนิกายจะเผยแผ่ได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ล้านนา ที่ยึดมั่นในระบบหัวหมวดอุโบสถวัด โดยราษฎรเองยังคงสืบทอดความนิยมในการเข้าวัดตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตนแม้กระทั่งทุกวันนี้



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.faihin.org  (วัดฝายหิน : เส้นทางผ่านครั้งอัญเชิญพระบรมธาตุสู่ดอยสุเทพ)
-http://www.faihin.org (ประวัติ ปฐมสังฆนายะกะ โสภา ”,รวบรวมจากหนังสือประวัติเจ้าคุณอภัยสารทะ :ลานนาสีโห ภิกขุ (บุญเลิศ พริงพราวลี)พระคำอ้าย เขมธมฺโม พระสิงห์ สุภทฺโท)
-http://www.alittlebuddha.com (ทำไมธรรมยุตไม่รุ่งเรืองในเมืองเชียงใหม่และลานนา,ผศ. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต,จาก : ศิลปวัฒนธรรม อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม 26 กุมภาพันธ์ 2554)
-http://forums.212cafe.com  (pongsagone44,พระอภัยสารทะ  (ปฐมสังฆนายก “โสภา)วัดฝายหิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปฐมสังฆราชาของลานนาไทย,)
-http://www.bloggang.com (118. วัดฝายหิน หมู่บ้านฝายหิน หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น