วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เกริ่นนำ ว่าด้วยประวัติแคว้นล้านนา เริ่มต้นที่เวียงโยนกนาคนคร

ภาพพญานาคในตำนานที่บอกทางสร้างเมืองแก่พระญาสิงหนวัติ

                 อาณาจักรโยนกเชียงแสนได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยพระญาสิงหนวัติได้สถาปนาเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินครขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ดินแดนที่ราบในเมืองเชียงราย ใน พ.ศ.๑๑๑๗ โดยทำการแย่งชิงดินแดนมาจากพวกที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนคือ พวกขอม หรือกล๋อม ที่พากันหนีไปตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้บริเวณถ้ำอุโมงค์เสลานคร พระญาสิงหนวัติ ทรงรวบรวมพวกมิลักขุหรือคนป่าคนดอยเข้ามาอยู่ในอำนาจของเมืองโยนกนาคนคร มีอาณาเขตทิศเหนือจดเมืองน่าน ทิศใต้จดปากน้ำโพ ทิศตะวันออกจดแม่น้ำดำ ในตังเกี๋ย ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสาละวิน มีเมืองสำคัญ คือเมืองเวียงไชยปราการ อยู่บริเวณแม่น้ำฝาง และแม่น้ำกก ดินแดนทางใต้สุดคือที่เมืองกำแพงเพชร


                อาณาจักรโยนกนาคนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหมมหาราช พระเจ้าชัยศิริ ต่อมาประมาณ พ.ศ.๑๕๕๒ อาณาจักรโยนกนาคนครในสมัยพระเจ้ามหาชัยชนะ ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องมาจากพนังกั้นน้ำหรือเขื่อนเหนือน้ำพังทลายลง จนทำให้ที่ตั้งเมืองกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ (เข้าใจว่าจะเป็นบริเวณที่เรียกว่าเวียงหนองล่ม บ้านท่าข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทะเลสาบเชียงแสน และบริเวณที่แม่น้ำกกต่อกับแม่น้ำโขง ใกล้วัดพระธาตุผาเงา และพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย) จนเป็นเหตุให้บรรดาราชวงศ์กษัตริย์และขุนนางของโยนกนาคนครเสียชีวิตด้วยเหตุน้ำท่วมเมืองทั้งหมด พวกชาวบ้านที่เหลือรอดชีวิตได้ประชุมปรึกษากันเลือกตั้งให้คนกลุ่มหนึ่งที่มิใช่เชื้อสายราชวงศ์ขึ้นดูแลพวกตน เรียกว่า ขุนแต่งเมือง และเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า เวียงปรึกษาเป็นเวลาต่อไปอีก ๙๔ ปี อาณาจักรโยนกนาคนครจึงสิ้นสุดลงเพราะเกิดแผ่นดินไหว ในสมัยพระมหาชัยชนะ โดยในข้อความข้างต้นมีตำนานเล่าว่า
                  อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันเสาร์  เดือน ๗  แรม ๗ ค่ำ  มีราษฎรพวกหนึ่งไปหาปลาในแม่น้ำกุกะนที (แม่น้ำกก) ได้ปลาไหลเผือกตัวหนึ่งใหญ่เท่าลำตาล  ยาว ๗ วา  ก็พากันทุบตีให้ตายแล้วผูกเรือชักลากมาตามลำห้วย  ซึ่งภายหลังมีนามว่าห้วยแม่ลาก  แล้วนำมาถวายพระเจ้านครโยนกมหาไชย  พระเจ้านครโยนกมหาไชยดำรัสสั่งให้แล่เนื้อแจกกันทั่วทั้งเมือง
                  ครั้นล่วงเวลาราตรีกาลค่ำวันนั้น ในปฐมยามแผ่นดินสะท้านดังสนั่นครั่นครื้นขึ้นครั้งหนึ่ง  ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามก็ดังสนั่นลั่นเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง  พอล่วงเข้าปัจฌิมยามก็ดังกึกก้องเป็นคำรบสาม  เมืองโยนกนครก็ทรุดล่มจมลง กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินและขัตติยวงศา เสนาอำมาตย์ ราษฎร บรรดาที่อยู่ในนครนั้น ก็ถึงกาลกิริยาไปตามยถากรรม  ยังเหลือแต่เรือนหญิงม่ายหลังหนึ่งค้างอยู่ขอบหนอง
                    ครั้นรุ่งขึ้นเช้าขุนพันและชาวบ้านนอกทั้งหลายพากันไปดูได้พบหญิงม่ายคนนั้น จึงไต่ถามก็ได้เนื้อความจากถ้อยคำแห่งหญิงม่ายนั้นว่า เมื่อเวลาพลบค่ำมีมาณพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งมาจากที่ได้ไม่แจ้ง มาพักอาศัยอยู่ที่เรือนหญิงม่ายนั้น ถามว่าชาวเมืองนี้เอาอะไรมากินกลิ่นหอมยิ่งนัก หญิงม่ายนั้นจึงบอกแก่มาณพหนุ่มนั้นว่า เขาได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่มาถวายพระมหากษัตริย์  ทรงตรัสให้แจกกันกิน มาณพผู้นั้นถามว่า ป้าได้กินกับเขาด้วยหรือไม่ หญิงม่ายนั้นตอบว่าป้าเป็นคนชรา เป็นแม่ร้าง แม่ม่าย หาลูกหลานมิได้ ไม่มีใครให้กิน มาณพนั้นจึงกล่าวแก่หญิงม่ายนั้นว่า ป้าไม่ได้กินก็ดีแล้วอย่าได้พูดจาไป ข้าจะไปเที่ยวยามหนึ่งก่อนภายหลังมีเหตุการณ์ประการใด ถ้ายังไม่เห็นข้าผู้หลานนี้กลับมาก็อย่าได้ลงจากเรือนก่อนเป็นอันขาด สั่งเช่นนี้แล้ว มาณพหนุ่มนั้นก็ลงจากเรือนไป ได้สักครู่ใหญ่หนึ่งก็ได้ยินเสียงดังมาสนั่นหวั่นไหวแล้วก็สงบไป แล้วก็กลับดังอีก ครั้นดังถ้วน ๓ ครั้ง แลไปในเมืองก็เห็นแต่น้ำ  ขุนพันนาทั้งหลาย ได้ฟังหญิงม่ายล่าความดังนั้น จึงได้ทราบเหตุ เขาก็รับเอาหญิงม่ายนั้นไปเลี้ยงไว้ แล้วเขาก็ประชุมกันเลือกสรรเอาโภชก นายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนวัง ยกขึ้นเห็นประธานาธิบดี แล้วจึงให้สร้างเมืองใหม่ริมแม่น้ำฟากตะวันตกซึ่งเป็นเบื้องตะวันออกแห่งเมืองเก่าที่ล่มจมเป็นหนองน้ำนั้นตั้งหลักเมืองใน  วันอังคาร  เดือน๘ ขึ้น    ค่ำ  ปีเมิงเม้า คือ ปีเถาะ  มหาศักราชได้   ๔๗๖  สร้างสำเร็จแล้วให้ชื่อว่า   “ เวียงปฤกษา ”   แต่นั้นมาก็สิ้นกษัตริย์วงศ์สิงหนวัติ  นับได้  ๔๖ พระองค์
สามารถนับลำดับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์สิงหนวัติ แห่งอาณาจจักรโยนกเชียงแสนซึ่งนับได้ว่าเป็นราชวงศ์แรกแห่งล้านนาไท ได้ทั้งหมด ๔๖ พระองค์ ดังรายพระนามดังต่อไปนี้
.พระเจ้าสิงหนกุมาร                ๑๖.พระองค์ลือ               ๓๑.พระมังสิงห์     
๒.พระเจ้าคันธกุมาร                  ๑๗.พระองค์รวย             ๓๒.พระมังแสน     
๓.พระเจ้าอนุตราช                    ๑๘.พระองค์เชิง              ๓๓.พระมังสม       
๔.พระเจ้ามังรายนราช              ๑๙.พระองค์ถัง                ๓๔.พระองค์ทิพ
๕.พระองค์เมือง                         ๒๐.พระองค์เถา               ๓๕.พระองค์กอง
๖.พระองค์ขืน                            ๒๑.พระองค์พิง                ๓๖.พรระองค์กม
๗.พระองค์ดำ                            ๒๒.พระองค์ศรี                ๓๗.พระองค์ชาย
๘.พระองค์เกิง                          ๒๓.พระองค์สม                ๓๘.พระองค์ชิน
๙. พระองค์ชาติ                        ๒๔.พระองค์สวรรย์          ๓๙.พระองค์ชม
๑๐.พระองค์เว่า                        ๒๕.พระองค์แพง               ๔๐.พระองค์ถัง
๑๑.พระองค์แวน                     ๒๖.พระองค์พวน               ๔๑.พระองค์ตัง     
๑๒.พระองค์แก้ว                    ๒๗.พระองค์จันทร์             ๔๒.พระองค์เกียง
๑๓.พระองค์เงิน                     ๒๘.พระองค์ฟู                    ๔๓.พระองค์พังคราช
๑๔.พระองค์ตน                      ๒๙.พระองค์ผัน                  ๔๔.พระเจ้าทุกขิต
๑๕.พระองค์งาม                     ๓๐.พระองค์วัง                    ๔๕.พระเจ้ามหาวัน
๔๖.พระเจ้ามหาไชยชนะ     
รูปปั้นพระเจ้าพรหมมหาราช บางฉบับกล่าวว่าทรงเป็นมหาราชองค์แรกของไทย

หลังจากนครโยนกนาคพันธุ์ถูกถล่มด้วยแผ่นดินไหวล่มสลายลง เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๘๘ ก็สิ้นราชวงศ์สิงหนวัติ หลังจากนั้นอีกหลายปี บรรดาชุมชนบริเวณรอบๆที่หลงเหลืออยู่ จึงต้องหาผู้นำใหม่ ปรากฏว่าได้  ขุนลัง เป็นผู้นำ ก่อนจะย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งบนเวียงริมฝั่งแม่น้ำโขง ปกครองด้วยการประชุมหารือกันในหมู่หัวหน้าชุมชน ทำให้เวียงแห่งใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า เวียงปรึกษา วิธีปกครองแบบปรึกษา ซึ่งนักวิชาการบางท่านก็จะคิดว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยครั้งแรกในเมืองไทยนี้ สามารถใช้มาจนถึงพ.ศ. ๑๑๘๑ เป็นเวลาถึง ๙๓ ปี ก่อนที่พระยากาฬวรรณดิศราช หรือ พญาอนิรุทธ กษัตริย์แห่งทวารวดีจะเสด็จขึ้นมาสนับสนุน "พระญาลวจักรราช" ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่แทนราชวงศ์สิงหนวัติ

                  ซึ่งเจ้าผู้ปกครองเวียงปรึกษา แห่งราชวงศ์โกชกเวียงปฤกษา มีรายพระนามสืบต่อกันมาดังนี้

๑.ขุนลัง
๒.ขุนจาง
๓.ขุนลาน
๔.ขุนถาน
๕.ขุนตาม
๖.ขุนตง
๗.ขุนแตง
๘.ขุนดัน
๙.ขุนกง
๑๐.ขุนจอม
๑๑.ขุนชง
๑๒.ขุนชิต
๑๓.ขุนอิทธิ
๑๔ขุนสิทธะ
๑๕ขุนศุกขะ


หลังจากเวียงปรึกษา ได้ปกครองพื้นที่แถวๆนั้นได้ ๙๓ ปี ก็เป็นอันอวสานของเวียง เนื่องจากเมื่อปีพ.ศ.๑๑๘๑ พระญากาฬวรรณดิศราช หรือ พระเจ้าอนิรุทธ กษัตริย์ แห่งทวารวดี ได้เสด็จขึ้นมาสนับสนุนพระญาลวจักรราช ผู้มีเชื้อสายของปู่เจ้าลาวจก หรือผู้ที่ขายดอยตุง ให้นครโยนกนาคพันธุ์ สร้างพระธาตุดอยตุง ขึ้นเป็นกษัตริย์ ของเวียงปรึกษา พระญาลวจักรราช จึงตั้งชื่อให้ราชวงศ์ใหม่ของพระองค์นี้ว่า ราชวงศ์ลวจักรราช หรือ ราชวงศ์ลาว
หลังจากขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนนาม จากเวียงปรึกษา เป็นเมืองหิรัญนครโดยมีศูนย์กลางอยู่แถวๆแถบแม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าลาวเคียง พระองค์ได้สร้างเมืองเงินยาง หรือ เมืองเชียงแสน หรือตรงเวียงเชียงแสนในปัจจุบัน และย้ายเข้าไปปกครองที่นั่น มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องมาอีกถึง ๖๒๑ ปี รวม ๒๔ รัชกาล
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อ พระญาลาวเม็ง พระบิดาของ พระญามังรายมหาราช สร้างเมืองเชียงราย และ พระญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๕ ของหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ.๑๘๐๕ พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริ่จะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น
เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราช พระองค์ก็ได้โปรดให้เมืองเชียงราย เป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลวจักรรราช แห่ง หิรัญนครเงินยาง เริ่มต้น ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา
พระญาลวจักรราช นั้น คาดว่าเดิมมีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว บริเวณดอยตุง และ แม่น้ำสาย ต่อมาจึงได้ขยายมาสู่เมืองเงินยาง หรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พระองค์ มีราชบุตร ๓ พระองค์ ได้แก่ ลาวครอบ ลาวช้าง และ ลาวเก๊าแก้วมาเมือง โดยให้บุตรของพระองค์ครองเมืองดังนี้
ลาวครอบ ครอง เมืองเชียงของ
ลาวช้าง ครอง เมืองยอง
ลาวเก๊าแก้วมาเมือง ครอง เมืองเชียงลาว สืบต่อมา
กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์สืบต่อมาถึง ๒๔ องค์ ในระหว่างนั้นหลายองค์ได้มีการส่งราชบุตรของตนออกไปครองเมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ ล้านช้าง น่าน ฯลฯ ดังนั้น เมืองทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นเครือญาติกัน
ซึ่งเวียงเชียงแสนนั้นได้ถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ยุคหิรัญนคร และยุคเงินยาง มีพระมหากษัตริย์ทรงปกครองดังนี้

ยุคเมืองหิรัญนคร
๑.พระญาลวจักราช (ลาวจก)
๒.พระญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง
๓.พระญาลาวเส้า (ลาวเสา)
๔.พระญาลาวตัง (ลาวพัง)
๕.พระญาลาวกลม (ลาวหลวง)
๖.พระญาลาวเหลว
๗.พระญาลาวกับ
๘.พระญาลาวคิม (ลาวกิน)

ยุคเมืองเงินยาง
๑.พระญาลาวเคียง
๒.พระญาลาวคิว
๓.พระญาลาวเทิง (ลาวติง)
๔.พระญาลาวทึง (ลาวเติง)
๕.พระญาลาวคน
๖.พระญาลาวสม
๗.พระญาลาวกวก (ลาวพวก)
๘พระญาลาวกิว (ลาวกวิน)
๙.พระญาลาวจง
๑๐.พระญาจอมผาเรือง
๑๑.พระญาลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
๑๒.พระญาลาวเงินเรือง
๑๓.พระญาลาวซิน (ลาวชื่น)
๑๔.พระญาลาวมิง
๑๕.พระญาลาวเมือง (ลาวเมิง)
๑๖.พระญาลาวเม็ง (พระบิดาพญามังรายมหาราช แห่งล้านนา)
พระราชานุสาวรีย์พระญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย


ต่อมาพระญามังราย หรือ เม็งราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ ๒๕ ในราชวงศ์ลวจังกราชปู่เจ้าลาวจก ได้เริ่มตีเมืองเล็กเมืองน้อย ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำปิง ตอนบน รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นปึกแผ่น นอกจากเงินยางแล้ว ยังมีเมืองพะเยาของพระญางำเมืองพระสหาย ซึ่งพระญามังรายไม่ประสงค์จะได้เมืองพะเยาด้วยการสงคราม แต่ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรีแทน หลังจากขยายอำนาจระยะหนึ่ง พระองค์ทรงย้ายศูนย์กลางการปกครอง โดยสร้างเมืองเชียงราย ขึ้นแทนเมืองเงินยาง เนื่องด้วยเชียงรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำกกเหมาะเป็นชัยสมรภูมิ ตลอดจนทำการเกษตรและการค้าขาย หลังจากได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางมาทางทิศใต้ ขณะนั้นก็ได้มีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนอยู่แล้วคือ อาณาจักรหริภุญชัย มีนครลำพูนเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในชัยสมรภูมิที่เหมาะสมประกอบด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านได้แก่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเหมาะแก่การค้าขาย มีนครลำปางเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันศึกศัตรู สองเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่มีกษัตริย์ปกครองอย่างเข้มแข็ง การที่จะเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ได้จะต้องตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ พระองค์ได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็นทัพใหญ่และยกลงใต้เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ โดยเริ่มจากตีเมืองเขลางค์นคร นครลำปาง เมืองหน้าด่านของอาณาจักรหริภุญชัย ก่อน เมื่อได้เมืองลำปางแล้วก็ยกทัพเข้าตีนครลำพูน (แคว้นหริภุญชัย) พระองค์เป็นกษัตริย์ชาตินักรบมีความสามารถในการรบไปทั่วทุกสารทิศ สามารถทำศึกเอาชนะเมืองเล็กเมืองน้อยแม้กระทั่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้วรวบเข้ากับอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้อย่างสมบูรณ์
หลังจากพระญาเม็งรายรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า "อาณาจักรล้านนา" พระองค์มีดำริจะสร้างราชธานีแห่งใหม่นี้ให้ใหญ่โตเพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งอาณาจักรล้านนาทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ ได้อัญเชิญพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานสองพระองค์ได้แก่ พระญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา และ พ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัย มาร่วมกันสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในสมรภูมิบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งมหานทีแม่ระมิงค์ แม่น้ำปิง โดยตั้งชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ แต่ก่อนที่จะตั้งเมือง พระองค์ทรงได้สร้างราชธานีชั่วคราวขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งก็เรียกว่า เวียงกุมกาม แต่เนื่องจากเวียงกุมกามประสบภัยธรรมชาติใหญ่หลวงเกิดน้ำท่วมเมืองจนกลายเป็นเมืองบาดาล ดังนั้นพระองค์จึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ และได้เป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรล้านนานับแต่นั้น นครเชียงใหม่มีอาณาบริเวณอยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และ บริเวณที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง (พิงคนที) นับเป็นสมรภูมิที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกเนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน
ตราแผ่นดินล้านนา สมัย อาณาจักรล้านนา

พระญามังรายมหาราชทรงส่งพระญาติวงศ์ของพระองค์ ไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น เมืองเขลางค์ (ลำปาง) เมืองเขมรัฐเชียงตุง (ในพม่า) และ เชียงรุ้ง (สิบสองปันนาในจีน) ทรงส่งพระราชโอรสไปปกครอง เมืองที่ใหญ่และสำคัญๆ ได้แก่ เมืองนาย (หัวเมืองไทใหญ่) และเชียงราย ซึ่งเคยเป็นเมืองราชธานีของล้านนา
รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๓๐) กษัตริย์องค์ที่ ๙ ราชวงศ์มังราย พระองค์ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" พระองค์ทรงแผ่ขยายขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรล้านนาให้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเดิม
ด้านทิศเหนือ เมืองเชียงรุ้ง เมืองยอง
ด้านทิศตะวันออก เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ ทุ่งยั้ง (ส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์) จรดถึง หลวงพระบาง
ด้านทิศตะวันตก ขยายไปจนถึงรัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) เช่น เมืองไลคา สีป้อ ยองห้วย
ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนา ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง ๒๕ ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการในการแผ่อิทธิพลเข้าไปในสุโขทัยของทั้งสองอาณาจักร แต่ไม่มีฝ่ายไหนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอาณาจักรจึงผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ. ๒๑๐๑
อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย "พระญาแก้ว" เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุง ในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง หลังจาก "พระญาแก้ว" สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองขึ้นต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของเชียงใหม่จึงแยกตัวเป็นอิสระ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการ อีกต่อไป
มีพระมหากษัตริย์ทรงปกครองสืบต่อมา ๑๘ พระองค์ดังนี้
๑.พระญามังรายมหาราช                                   พ.ศ.๑๘๓๙-๑๘๖๐(นับตั้งแต่สถาปนานครเชียงใหม่)
๒.พระญาไชยสงคราม(เจ้าขุนคราม)       พ.ศ.๑๘๖๐-๑๘๖๑
๓.พระญาแสนภู                                                พ.ศ.๑๘๖๒-๑๘๖๓(ครองราชย์ครั้งที่๑)
๔เจ้าขุนเครือ                                                 พ.ศ.๑๘๖๒-๑๘๖๓(ทรงยกทัพมาชิงราชสมบัติจากพญาแสนภูซึ่งเป็นหลาน)
สงครามชิงราชย์สมบัติระหว่างพระโอรส
ของพระญาชัยสงคราม ๒ พระองค์         พ.ศ.๑๘๖๓-๑๘๖๗
ท้าวน้ำท่วม                                                    พ.ศ.๑๘๖๓-๑๘๖๗
พระญาแสนภู                                               พ.ศ.๑๘๖๗-๑๘๗๑(ครองราชย์ครั้งที่ ๒)
๕.พระญาคำฟู                                               พ.ศ.๑๘๗๑-๑๘๗๗
๖.พระญาผายู                                                 พ.ศ.๑๘๗๗-๑๙๑๐
๗.พระญากือนา                                             พ.ศ.๑๙๑๐-๑๙๓๑
๘.พระญาแสนเมืองมา                                 พ.ศ.๑๙๓๑-๑๙๕๔
๙.พระญาสามฝั่งแกน                                   พ.ศ.๑๙๕๔-๑๙๘๕
๑๐.พระเจ้าติโลกราช                                    พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๓๐
๑๑.พระญายอดเชียงราย                              พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘
๑๒.พระญาเมืองแก้ว                                    พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘
๑๓.พระญาเมืองเกษเกล้า                            พ.ศ.๒๐๖๘-๒๐๘๑(ครองราชย์ครั้งที่ ๑)
๑๔.ท้าวทรายคำ                                             พ.ศ.๒๐๘๑-๒๐๘๖
พระญาเมืองเกษเกล้า                                   พ.ศ.๒๐๘๖-๒๐๘๘(ครองราชย์ครั้งที่ ๒)     
๑๕.พระนางจิรประภามหาเทวี                  พ.ศ.๒๐๘๘-๒๐๘๙
๑๖.พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช                       พ.ศ.๒๐๘๙-๒๐๙๐(พระนัดดาพระเกษเกล้าทรงมาจากล้านช้าง)
ว่างกษัตริย์                                                      พ.ศ.๒๐๙๐-๒๐๙๔
๑๗.พระเจ้าเมกุฎิสุทธิวงศ์                           พ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๐๗
๑๘.พระนางวิสุทธิราชเทวี                          พ.ศ.๒๑๐๗-๒๑๒๑     
***บางฉบับไม่นับเจ้าขุนเครือเป็นพระมหากษัตริย์แห่งล้านนา
***บางฉบับนับการขึ้นครองราชย์ของพระเมืองเกษเกล้าทั้ง ๒ ครั้ง ทำให้บางฉบับมีกษัตริย์ ๑๗พระองค์บ้าง ๑๘ พระองค์บ้าง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่๑ พระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอู ได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามพระเจ้าผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดครองนครเชียงใหม่ไปประเทศราชได้สำเร็จ รวมทั้งได้เข้าได้ยึดเมืองลูกหลวงและเมืองบริเวณของเชียงใหม่ไปเป็นประเทศราช ด้วย ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากยุ่งกับการศึกกับกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงให้ "พระเจ้าเมกุฎิ" ทำการปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ไปให้หงสาวดี ต่อมา "พระเจ้าเมกุฎิ" ทรงคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้ง "พระนางราชเทวี หรือ พระนางวิสุทธิเทวี" เชื้อสายราชวงศ์มังราย พระองค์สุดท้าย ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน จนกระทั่งพระนางราชเทวี สิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่เกือบจะเป็นเมืองพระยามหานครของพม่าแล้ว อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์พลชาวเชียงใหม่ และ เตรียมเสบียงอาหารเพื่อไปทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา
อาณาจักรล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้มีความสงบสุข มีแต่การกบฏ แก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เชียงใหม่อย่างเดียว เมืองอื่นๆในล้านนาก็ด้วย จนกระทั่งราชวงศ์นยองยาน สถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะอีกครั้งจึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง
มีรายนามผู้ปกครองแคว้นล้านนา-แคว้นเชียงใหม่ในยุคนี้ดังนี้

รายพระนามผู้ปกครองแคว้นล้านนา
แคว้นล้านนาในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู (พ.ศ. ๒๑๐๑ ๒๑๓๙)
๑.พระเจ้าเมกุฎิสุทธิวงศ์                                    พ.ศ. ๒๐๙๔๒๑๐๗ (ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ปกครองภายใต้อำนาจพม่า)
๒.พระนางวิสุทธิราชเทวี                                 พ.ศ. ๒๑๐๗-๒๑๒๑
๓.พระเจ้าสาวถีนรตรามังซอศรีมังสรธาช่อ พ.ศ. พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐
แคว้นล้านนาในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๓๙ ๒๑๕๘)
๑.พระเจ้าสาวถีนรตรามังซอศรีมังสรธาช่อ   พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐
๒.พระช้อย                                                          พ.ศ. ๒๑๕๐-๒๑๕๑(ครองราชย์ครั้งที่ ๑)
๓.พระชัยทิพ                                                       พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๖
พระช้อย                                                               พ.ศ. ๒๑๕๖– ๒๑๕๘(ครองราชย์ครั้งที่ ๒)
แคว้นล้านนาในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรอังวะ (พ.ศ. ๒๑๕๘ ๒๒๐๖)
๑.พระเจ้าศรีสองเมือง(วงศ์น่าน)                    พ.ศ. ๒๑๕๘๒๑๗๔(ต่อมาได้ทรงแข็งเมืองต่อพม่าจึงถูกจับกุมตัวไปอังวะ)
๒.พญาหลวงทิพยเนตร                                    พ.ศ. ๒๑๗๔ – ๒๑๙๘  
๓.พระแสนเมือง                                                พ.ศ. ๒๑๙๘๒๒๐๒
๔.พระเจ้าเมืองแพร่                                           พ.ศ. ๒๒๐๒ – ๒๒๑๕

ต่อมา ราชวงศ์นยองยานสถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะอีกครั้ง จึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง ในฐานะของแคว้นเชียงใหม่ เมืองพระยามหานครของอาณาจักรอังวะ เริ่มนับจากปี พ.ศ๒๒๐๗ พระเจ้าปเย ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง รวมเอาล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร พม่าได้ใช้ล้านนาเป็นฐานสำคัญในการยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒


รายพระนามผู้ปกครองแคว้นเชียงใหม่
แคว้นเชียงใหม่ในฐานะหัวเมืองของอาณาจักรอังวะ (พ.ศ. ๒๒๐๗-๒๒๗๐)
๑.พระเจ้าเมืองแพร่                                           พ.ศ. ๒๒๐๒– ๒๒๑๕
๒. อุปราชอึ้งแซะ                                              พ.ศ. ๒๒๑๕ – ๒๒๑๘
๓. เจพูตราย                                                        พ.ศ. ๒๒๑๘ – ๒๒๕๐
๔. มังแรนร่า                                                       พ.ศ. ๒๒๕๐ – ๒๒๗๐
แคว้นเชียงใหม่ในฐานะหัวเมืองอิสระ (พ.ศ. ๒๒๗๐-๒๓๐๖)
๑. เทพสิงห์                                                         พ.ศ. ๒๒๗๐ – ๒๒๗๐
๒. องค์คำ                                                           พ.ศ. ๒๒๗๐๒๓๐๒
๓. องค์จันทร์                                                     พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๐๔ 
๔. เจ้าขี้หุด (อดีตภิกษุวัดดวงดี)                     พ.ศ.๒๓๐๔ – ๒๓๐๖
แคว้นเชียงใหม่ในฐานะหัวเมืองของอาณาจักรอังวะ (พ.ศ. ๒๓๐๖-๒๓๑๗)
๑. โป่อภัยคามินี (โป่อะเกียะคามุนี)              พ.ศ. ๒๓๐๖ – ๒๓๑๑
๒. โป่มะยุง่วน                                                  พ.ศ. ๒๓๑๑-๒๓๑๗ 

ดินแดนล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้มีความสงบสุข มีแต่การกบฎแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา หัวเมืองล้านนาพยายามฟื้นม่านมาโดยตลอด แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่ง พญาจ่าบ้าน(บุญมา) เจ้ากาวิละ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถตีเอาเชียงใหม่คืนมาได้ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ทำให้อิทธิพลของพม่าหมดไปจากแผ่นดินล้านนา และล้านนาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามเป็นประเทศราชจนกระทั่ง  พระราชอำนาจในฐานะเจ้าผู้ครองนครได้ถูกลดบทบาทลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี .. ๒๓๖๙ประเทศอังกฤษได้ทำสงครามกับประเทศพม่า และได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายกับล้านนา และทำธุรกิจป่าไม้ในล้านนา ซึ่งในช่วงแรกๆนั้นยังไม่มีปัญหากันมากนัก เมื่ออังกฤษได้ดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ขยายมาใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น ก็มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนามากขึ้น จึงเกิดมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าเมืองผู้ให้สัมปทานป่าไม้ในท้องถิ่น กับคนในบังคับของอังกฤษมากขึ้น อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางที่กรุงเทพเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในปี .. ๒๔๑๖ ทางกรุงเทพจึงได้ส่งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองประจำที่เชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะนั้นเหล่าหัวเมืองขึ้นของพม่าต่างเป็นอิสระ ได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกินกำลังที่เชียงใหม่จะจัดการได้ และในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา เนื่องจากพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ไม่มีความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงจึงแย่งชิงอำนาจกัน ทำให้เป็นโอกาสดี ของกรุงเทพ ที่จะเข้ามาปฏิรูปการปกครอง โดยระยะแรกในปี .. ๒๔๒๗ ได้จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง การปฏิรูปการปกครองดำเนินการอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยทางกรุงเทพ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้ง ตำแหน่งเสนาขึ้นมาใหม่ ตำแหน่งได้แก่ กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวังและกรมนา และให้คงตำแหน่ง เค้าสนามหลวงอยู่ แต่ลดความสำคัญลงและพยายามลิดรอนอำนาจเจ้าเมืองทีละเล็กทีละน้อย ในปี .. ๒๔๔๒ ล้านนาได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล นับเป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามซึ่งพระเจ้าอินทวิชญานนท์นับว่าทรงเป็นเจ้าประเทศราชองค์สุดท้ายแห่งเชียงใหม่ แต่ก็ยังมีเจ้าผู้ปกครองเมืองสืบต่อมา และได้ถูกยกเลิกในที่สุดเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ ๗ นับจากพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่๙ ได้เสด็จถึงพิราลัยนับได้ว่าล้านนาได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสยามอย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร แบ่งส่วนจังหวัดขึ้นกับส่วนกลาง เริ่มแต่งตั้งผู้ว่าราชการ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ - ปัจจุบัน
ภาพวาดเจ้าเจ็ดตนที่ทรงร่วมกันกู้ปลดแอกล้านนาจากพม่า

รายพระนามผู้ครองนครล้านนา(ประเทศราชในอาณาจักรธนบุรี-รัตนโกสินทร์)
ประเทศราชสมัยราชอาณาจักรธนบุรี
๑.พระยาหลวงวชิรปราการ(พญาจ่าบ้าน)           พ.ศ.๒๓๑๗-๒๓๑๙
ประเทศราชสมัยราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์
๑.พระเจ้าบรมราชธิบดีกาวิละ                                  พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๖
๒.พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา                                พ.ศ.๒๓๕๖(๒๓๕๘)-๒๓๖๔
๓.เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น                                            พ.ศ.๒๓๖๔(๒๓๖๖)-๒๓๖๘
๔.เจ้าหลวงพุทธวงศ์                                                  พ.ศ.๒๓๖๘(๒๓๖๙)-๒๓๘๙

๕.พระเจ้ามโหตรประเทศ                                        พ.ศ.๒๓๘๙(๒๓๙๐)-๒๓๙๗
๖.พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์                                     พ.ศ.๒๓๙๗(๒๓๙๙)-๒๔๑๓
๗.พระเจ้าอินทวิชยานนท์                                        พ.ศ.๒๔๑๓(๒๔๑๖)-๒๔๓๙
๘.เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์                                        พ.ศ.๒๔๓๙(๒๔๔๔)-๒๔๕๒
๙.มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ                  พ.ศ.๒๔๕๒(๒๔๕๔)-๒๔๘๒

 

ปีที่()วงเล็บไว้คือปีที่ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://th.wikipedia.org (แค้วนโยนกเชียงแสน:สารานุกรมเสรี)
-http://th.wikipedia.org (เวียงเชียงแสน:สารานุกรมเสรี)
- http://th.wikipedia.org (หิรัญนครเงินยางเชียงแสน:สารานุกรมเสรี)
-http://th.wikipedia.org (อาณาจักรล้านนา:สารานุกรมเสรี)
-http://th.wikipedia.org(แคว้นเชียงใหม่:สารานุกรมเสรี)
-http://www1.mod.go.th (ภาพพระเจ้าพรหมมหาราช:อนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานจากสมรภูมิต่างๆ)

-http://www.kasetsomboon.org (อาณาจักรล้านนาฐานะประเทศราช:นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา)
-http://www.kasetsomboon.org (อาณาจักรล้านนายุคตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า:นายตัวดี ท. เทือกเขา)
-http://www.takhaopleuk.go.th (ศาลเจ้าผู้ครองเมืองหนองหล่ม,พงศาวดารโยนก,รายพระนามกษัตริย์โยนกเชียงแสนโบราณ:เทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น