หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

พญาสิงหนาทราชา(ชานกะเล) เจ้าเมืองคนแรกแห่งแม่ฮ่องสอน

อนุสาวรีย์ชานกะเล ตั้งอยู่ต้นถนนขุนลุมประพาส

จ.แม่ฮ่องสอน


           พญาสิงหนาทราชาเดิมชื่อ ชานกะเลเป็นชนชาติไตเงี้ยว (หรือไทยใหญ่) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙   ที่เมืองจามกา      รัฐฉานในสหภาพพมา ไดอพยพมาอยูที่บานปางหมูกับพะกาหมองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙แต่เนื่องด้วยเป็นคนซื่อสัตย์  และมีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทย  ที่เขาได้อาศัยตั้งถิ่นฐานทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุข  เขาจึงได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็น พญาสิงหนาทราชาเป็นพ่อเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก

         ชีวิตของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติเมืองแม่ฮ่องสอนดังต่อไปนี้


         เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๓๗๔ พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นครเชียงใหม่ องค์ที่ ๕  มีความประสงค์ใคร่จะทราบถึงความเป็นไปทางชายแดนด้านตะวันตกเมืองเชียงใหม่  และต้องการช้างป่าไว้ใช้การ  จึงจัดให้เจ้าแก้วเมืองมา  ซึ่งเป็นญาติและไพร่พลช้างต่อหมอควาญ  ออกเดินทางไปตรวจตราและไล่จับช้างมาฝึกสอนเพื่อไว้ใช้ในราชการ  เจ้าแก้วเมืองมาเมื่อได้รับรับสั่งของพ่อเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่แล้ว  ก็ยกขบวนเดินทางรอนแรมไปตามระยะทางเมืองปาย  แล้วบ่ายโฉมหน้าไปทางใต้  



         จนกระทั่งบรรลุถึงที่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำปาย  เป็นป่าพงที่ว่างเปล่า  และเป็นที่โป่ง  หมูป่าลงมากินดินโป่งชุกชุม ณ ที่แห่งนี้  มีพวกเงี้ยว กระเหรี่ยง(ยาง) ตั้งทับกระท่อมอยู่ตามชายเขาริมห้วย  กระจัดกระจายกันอยู่เป็นหย่อมๆ  เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสำหรับจะตั้งหมู่บ้านได้  จึงหยุดพักขบวนอยู่ที่นั่น  และให้เรียกพวกชาวเงี้ยว กะเหรี่ยง(ยาง) ที่ตั้งทับกระท่อมอยู่ริมห้วยชายเขามาประชุมชี้แจง  แนะนำให้ตั้งเป็นหมู่บ้านบุกเบิกทำไร่นา  เพราะบริเวณป่าพงที่นั้นพอจะบุกเบิกทำนาได้  พวกเงี้ยว กะเหรี่ยงก็เห็นชอบด้วย  เพราะสมัยนั้น  ผู้ใดจะบุกเบิกทำไร่นาปลูกบ้านเรือน  จะต้องไปขอรับอนุญาตจากหัวหน้าผู้ดูแลปกครองที่ดินเสียก่อน  มิฉะนั้นจะถูกขับไล่และมีโทษ  



         เมื่อเห็นว่าพวกเงี้ยว กะเหรี่ยงตกลงแล้ว  เจ้าแก้วเมืองมาจึงเลือกชาวเงี้ยวผู้หนึ่ง ชื่อ พะกาหม่อง เป็นคนเฉลียวฉลาดคล่องแคล่ว  ตั้งให้เป็น ก๊าง” (ผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าราษฎร) คอยควบคุมดูแลพวกลูกบ้านที่จะมาตั้งอยู่  และแนะนำชี้แจงให้พะกาหม่องไปชักชวนเกลี้ยกล่อมพวกอื่นๆที่อยู่ตามชายเขาริมห้วยใกล้เคียง  ให้มาอยู่รวมกันที่เดียวเป็นหมวดหมู่  และให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านโป่งหมูเพราะมีดินโป่งที่หมูป่าชอบมากินนั้นเอง (หมู่บ้านนี้ปัจจุบันเรียกว่า บ้านปางหมู  ห่างจากศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ ๗ กิโลเมตร)



         เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาจัดตั้งหมู่บ้านโป่งหมูเรียบร้อยแล้ว  ก็ยกขบวนออกเดินทางตรวจเขตแดน  หารอยที่จะไล่คล้องช้างป่าต่อไป  ครั้นเดินทางมาถึงห้วยแห่งหนึ่ง  มีรอยช้างป่าชุกชุมก็หยุดพักออกทำการไล่คล้องช้างป่า  ได้หลายเชือก  จึงตั้งคอกสอนช้างที่ริมห้วย  ที่บริเวณนั้นกว้างขวาง ภูมิภาคพื้นที่ก็ดีกว่าบ้านโป่งหมู  มีพวกเงี้ยวและชาวเขาตั้งทับกระท่อมอยู่ตามไหล่เขา  เช่นเดียวกับบ้านโป่งหมู  เจ้าแก้วเมืองมาเห็นสมควรที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านได้  จึงเรียกเงี้ยวผู้หนึ่งชื่อว่า แสนโกม เป็นบุตรของเทพหม่อมบ้านโป่งหมู  มาตั้งให้เป็น ก๊าง”  และให้เกลี้ยกล่อมชักชวนผู้อื่นที่อยู่ตามชายเขาในป่า  ลงมาตั้งบ้านเรือยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขึ้น  แสนโกมก็ยินดีปฏิบัติตาม  เมื่อมีผู้คนลงมาตั้งอยู่พอประมาณ  เจ้าแก้วเมืองมาก็ให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า บ้านแม่ร่องสอนหมายถึงลำห้วยที่ใช้เป็นที่สอนช้างนั้นเอง  แต่คำว่า ร่องคำเมืองออกเสียงเป็น ฮ่องจึงเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า แม่ฮ่องสอนจนกระทั่งทุกวันนี้



         เมื่อเจ้าแก้วเมืองมากลับมายังเมืองเชียงใหม่แล้ว  ก็ได้ทูลให้พระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทรงทราบ  และต่อมาพ่อเจ้าหลวงได้ถือเอากรรมสิทธิ์ป่าไม้เมืองยวม (แม่สะเรียง) และให้ชาวพม่า ๒ คนเหมาทำป่าไม้  จนมีเรื่องพิพาทกัน  เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  เจ้าราชบุตรสุริยวงศ์บุตรของท่านต้องเป็นความกับพม่าต้องซู่  ต้องเสียเงินให้พม่าต้องซู่ถึงสองร้อยแปดสิบหกชั่ง (๒๒,๘๘๐ บาท)



         ฝ่ายพะกาหม่องและแสนโกม  เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาหลับมาแล้ว  ก็ได้เกลี้ยกล่อมชักชวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง  และที่อื่นๆให้มาตั้งอยู่รวมกัน  ครั้นจำเนียรกาลนานมา  ก็มีผู้คนอพยพมาอยู่ด้วยมากเข้า  หมู่บ้านโป่งหมูและบ้านแม่ฮ่องสอนก็กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ผู้คนมากขึ้น  หมู่บ้านทั้งสองก็เจริญขึ้นตามลำดับ  พะกาหม่องและแสนโกมเห็นว่าป่าแถวนั้นมีไม้ขอนสักอยู่มาก  หากตัดฟันชักลากลงลำห้วยและให้ไหลออกแม่น้ำคง (สาละวิน) ไปขายทางเมืองพม่า  จะได้เงินบำรุงบ้านเมืองให้เป็นประโยชน์ดีกว่าที่เป็นอยู่  จึงพากันไปเมืองเชียงใหม่  เข้าเฝ้าพระเจ้ามโหตรประเทศฯ  ทูลขออนุญาตฟันไม้สักล่องไปขายเมืองพม่า  ได้ผลประโยชน์มาจะแบ่งเงินค่าตอไม้มาถวายทุกปี  พระเจ้ามโหตรประเทศฯก็ทรงยินดีอนุญาต  พะกาหม่องและแสนโกมจึงทูลลากลับ  แล้วก็เริ่มลงมือทำป่าไม้แต่นั้นมา  โดยตัดไม้ส่งขายที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า  ได้เงินมาก็แบ่งเป็นค่าตอไม้ถวายพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทุกปี



         ต่อมา พ.ศ. ๒๓๙๗  พระเจ้ามโหตรประเทศฯ ถึงแก่พิราลัย  พระยาเมืองแก้วสุริยวงศ์ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่  มีนามตามสุพรรณบัฏว่า พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์เพราะเป็นราชบุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ)  พะกาหม่องและแสนโกม ก็ยังคงทำป่าไม้และส่งเงินถวายเป็นค่าตอไม้เสมอมา  และพะกาหม่องกับแสนโกมก็มีฐานะดีขึ้น  บ้านโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนก็ค่อยเจริญขึ้น



         ในครั้งนั้น  หัวเมืองเงี้ยวฝ่ายตะวันตกฝั่งแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) เกิดการจลาจล เกิดรบราฆ่าฟันกัน  พวกราษฎรชาวเมืองก็พากันแตกตื่นหนีภัยจลาจล  อพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ที่บ้านโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนมากขึ้น  บางพวกก็ไปอาศัยอยู่ที่บ้านขุนยวม  ซึ่งมีพวกเงี้ยวไปตั้งหมู่บ้านอยู่บนเขานั้น  บางพวกก็ไปอาศัยอยู่ที่เมืองปาย



         ในจำนวนพวกเงี้ยวที่อพยพเข้ามานี้  มีชาวเงี้ยวเมืองจามก๋าผู้หนึ่งชื่อ ชานกะเล  ได้เข้ามาอาศัยอยู่กับพะกาหม่องบ้านปางหมู  ชานกะเลเป็นคนสัตย์ซื่อ  และขยันขัยแข็ง  พะกาหม่องมีความพอใจรักใคร่  จึงแบ่งทุนให้ร่วมในการทำป่าไม้  ชานกะเลก็มีความตั้งใจทำงานโดยมิคิดเหนื่อยยาก  ทำให้มีรายได้ดีขึ้น  พะกาหม่องไว้วางใจมาก  ถึงยกบุตรสาวชื่อนางใสให้เป็นภรรยา  นางใสมีบุตรหญิงกับชานกะเลคนหนึ่งชื่อ นางคำ



         ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙  เจ้าฟ้าโกหล่าน เจ้าเมืองหมอกใหม่  ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแม่ฮ่องสอน  ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าฟ้าเมืองนาย  เมืองนายจึงยกกองทัพไปตีเมืองหมอกใหม่แตก  เจ้าฟ้าโกหล่านพาครอบครัวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแสนโกม ณ ที่บ้านแม่ฮ่องสอน  เจ้าฟ้าโกหล่านมีภรรยาชื่อ นางเกี๋ยง มีบุตรชายผู้หนึ่งชื่อ เจ้าขุนหลวง  เจ้าขุนหลวงมีบุตร ๔ คน  เป็นชาย ๑ หญิง ๓   ชายชื่อ ขุนแจ  หญิงชื่อ เจ้านางหอม เจ้านางนุ เจ้านางเมี๊ยะ



         แสนโกมจึงนำความกราบบังคมทูลให้พระเจ้ากาวิโรรสทรงทราบ  พระเจ้ากาวิโรรสสั่งให้ส่งตัวเข้าไปเฝ้า  แต่เจ้าฟ้าโกหล่านป่วย  จึงให้เจ้าขุนหลวงไปแทน  พระเจ้ากาวิโรรสทรงชอบในอัธยาศัยของเจ้าขุนหลวง  จึงอนุญาตให้เจ้าฟ้าโกหล่านและบุตรภรรยาอาศัยอยู่ในเขตแดนต่อไป



         ครั้นต่อมานางใส ภรรยาขอดงชานกะเลถึงแก่กรรม  เจ้าฟ้าโกหล่านจึงยกเจ้านางเมี๊ยะหลานสาวให้เป็นภรรยาของชานกะเล  เจ้านางเมี๊ยะเคยมีสามีเป็นชนชาติแม้ว  และมีบุตร ๒ คน  คนแรกชื่อ ขุนทุนเล่า ถึงแก่กรรมที่ขุนยวม  อีกคนหนึ่งชื่อ เจ้าแดง  เจ้านางเมี๊ยะมีบุตรกับชานกะเล ๑ คน ไม่ทราบชื่อ  ชานกะเลเมื่อได้นางเมี๊ยะเป็นภรรยาแล้ว  ก็แยกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ขุนยวม  ความขยันขันแข็งและความซื่อสัตย์ของชานกะเล  ได้ทรงทราบถึงพระกรรณของพระเจ้ากาวิโรรสฯ จึงเรียกตัวไปอยู่กับพระเจ้ากาวิโรรสฯ ที่นครเชียงใหม่



         ๒ ปีเศษ  พระเจ้ากาวิโรรสพิราลัย ใน พ.ศ. ๒๔๑๓  เจ้าอุปราชอินทนนท์ ซึ่งเป็นบุตรเขยได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นองค์ที่ ๗   และต่อมาใน พ.ศ.๒๔๑๗  พระเจ้าอินทวิชานนท์ (เป็นพระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) เห็นว่าชานกะเลเป็นคนซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่เป็นอันดี  และเป็นบุคคลที่พวกเงี้ยวทั้งหลายเชื่อถือ  จึงได้แต่งตั้งให้ชานกะเลเป็น พญาสิงหนาทราชา เป็นพ่อเมือง  และยกบ้านแม่ฮ่องสอนขึน้เป็นเมืองหน้าด่าน  เรียกว่า เมืองแม่ฮ่องสอน  มีเมืองขุนยวมและเมืองปายเป็นเขตแดน  เมืองยวมเป็นเมืองรอง  นับว่าพญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) เป็นพ่อเมืองเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นคนแรก



         พญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นเป็นอนุสรณ์ที่พระธาตุดอยกองมู  และถวายไว้กับพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ 



         เมื่อพญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) ถึงแก่กรรมแล้ว  ผู้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนในต่อมาคือ แม่เจ้านางเมี๊ยะ ภรรยาของพญาสิงหนาทราชา  พญาพิทักษ์สยามเขต  และพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี  จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงเลิกตำแหน่งพ่อเมือง





ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
๑. ที่ระลึกในพิธีเปิดตึกโรงพยาบาลศรีสังวาล พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๙
๒. จังหวัดแม่ฮ่องสอน งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พิมพ์ ๒๕๐๐
๓. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย  พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) พิมพ์ ๒๕๐๕
๔. พงศาวดารโยนก  พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุนนาค) พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๘
๕. ประวัติแม่ฮ่องสอนสังเขป  พระญาณวีราคม การพระศาสนา ภาค ๕ พ.ศ. ๒๔๙๕ 
ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ 

3 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาติ โพสต่อนะครับ เพื่อเป็นการเแพร่ความรู้เรื่อประวัติความเป็นมาของเมืองแม่ฮ่องสอนนะครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ได้ครับ แต่ควรอ้างอิงเอกสารข้อมูลต่างๆที่ผมพิมพ์ขึ้นด้วยนะครับจะได้เป็นเครดิตส์ต่อเอกสารต่างๆอีกทีหนึ่ง

    ตอบลบ
  3. ฮ่อง แปลเป็นภาษาไต(ไทใหญ่) ความหมายคือ เรียก ฮ่อง หรือเรียก พูดเหมือนกันกับชาวโยกนก(หรือชาวไตยน)/คนเมือง ในปัจจุบัน แม่ฮ่องสอน ////// คือแม่เรียกลูกมาสั่งมาสอน

    ตอบลบ