หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องจริงหรือตำนาน พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวและตำนานเจ้าแม่มะลิกา แห่งเวียงมะลิกา

เรื่องของพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวตามจารึกที่อนุสาวรีย์กล่าวว่า

อนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวตั้งอยู่ที่สวนสุขภาพหน้าวัดพระบาทอุดม ตำบลเวียง  อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

       
             พุทธศักราช ๒๑๗๒-๒๑๘๐ พระเจ้าฝางอุดมสิน ทรงพระนามเดิมว่า พระยาเชียงแสนเป็นราชบุตรของเจ้าเมืองเชียงแสน ได้เสด็จมาทรงปกครองเป็นเจ้าเมืองฝาง ในปี พ.ศ. ๒๑๗๒ ศักราชได้ ๙๙๐ ตัว เดือน ๘ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ พร้อมด้วยพระชายา ซึ่งมีพระนามว่า พระนางสามผิวเป็นพระราชบุตรีของ เจ้าเมืองล้านช้าง (เมืองเวียงจันทน์) ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่า พระองค์ทรงมีผิวพระวรกายถึงสามผิว กล่าวคือในตอนเช้าจะมีผิวสีชาวดุจปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีผิวสีแดงดั่งลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายจะเป็นสีชมพูเรื่อ ประหนึ่งดอกปุณฑริกาทั้งสองพระองค์ทรงปกครองเมืองฝางอยู่นั้น เมืองฝางอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่า ทำให้พระเข้าฝางอุดมสินทรงมีพระราชดำริ ที่จะกอบกู้เอกราชเมืองฝางคืนจากพม่า โดยได้ซ่องสุมฝึกซ้อมกำลังพล ตระเตรียมอาวุธและเสบียงกรังไม่ยอมส่งส่วย ทั้งยังฝ่าฝืนและขัดคำสั่งของพม่า จนความทราบถึงเมืองพม่าว่าเมืองฝางคิดจะแข็งเมือง ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าภวะมังทาสุทโธธรรมราชาที่ครองเมืองอังวะ กษัตริย์พม่า จึงได้ยกทัพหลวงมาตีเมืองฝาง ในปีพุทธศักราช ๒๑๗๖ ศักราชได้ ๙๙๔ ตัว พระเจ้าฝางอุดมสินได้นำทัพเข้าต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภวะมังทาสุทธโธธรรมราชา ไม่สามารถเข้าตีเมืองฝางได้ พระเจ้าภวะมังทาสุทธโธธรรมราชา จึงเปลี่ยนแผนการรบใหม่ โดยให้ทหารล้อมเมืองฝางไว้ พร้อมกับตั้งค่ายบัญชาการรบที่เวียงสุทโธ และระดมยิงระบู (ปืนใหญ่) เข้าโจมตีเมืองฝางทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย ประชาชนเสียขวัญ ทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก  พม่าได้ล้อมเมืองฝางไว้ เป็นเวลานานถึง ๓ ปี กับ ๖ เดือน ทำให้เสบียงอาหารในเมืองฝางที่เก็บสะสมไว้หมดลง ประชาชนอดอยาก พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิว คิดว่าพระองค์ท่านเป็นต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนในการที่จะกอบกู้บ้านเมือง แต่กระทำการไม่สำเร็จ พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพ เพื่อปกป้องชาวเมืองฝางให้รอดพ้นจากการเข่นฆ่าของทหารพม่า และคามอดอยาก เดือดร้อน ดังนั้นในปีพุทธศักราช ๒๑๘๐ ศักราชได้ ๙๙๘ ตัว เดือน ๖ เหนือ ขึ้น ๕ ค่ำ พระเจ้าฝางอุดมสินและพะนางสามผิว จึงสละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดลงบ่อซาววา และเป็นเวลาเดียวกันที่ทหารพม่าเข้าตีเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อ พระเจ้าภวะมังทาสุทธโธธรรมราชา ทราบถึงวีรกรรมของทั้งสองพระองค์ท่าน พระเจ้าภวะมังทาสุทธโธธรรมราชา จึงมีคำสั่งห้ามทหารพม่าไม่ให้ทำร้ายประชาชนเมืองฝาง จากนั้นพระองค์จึงได้ยกทัพกลับกรุงอังวะ ประเทศพม่า
เมื่อศึกสงครามสงบลงแล้ว ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเจ้าเมืองฝางเห็นว่า เจ้าเมืองและพระมเหสีทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อรักษา เมืองฝางและชีวิตของชาวเมืองไว้ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งสองพระองค์ไว้ที่บ่อน้ำซาววา ซึ่งอยู่หน้าวัดพระบาทอุดมพากันกราบ ไหว้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปกบ้านคุ้มเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้
       ภาพถ่ายบริเวณที่เขาเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำซาววา


ภาพภายในบ่อน้ำซาววา ลึกมากพอสมควร



ส่วนในนิทานอีกฉบับหนึ่งกล่าวไว้แตกต่างกันว่า
พระเจ้าฝาง  มีพระมเหสีสิริโสภาองค์หนึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระนางสามผิว  เพราะเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงเวลาเช้าผิวของพระมเหสีจะเป้นสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องนวลใย  ครั้นตอนเที่ยงผิวกลับเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนงดงามตา  ถึงเวลาเย็นผิวกลับเป็นสีแดงได้อย่างน่าอัศจรรย์  ทั้งสองมีพระธิดาองค์หนึ่งนามว่า เจ้าหญิงมะลิกา ซึ่งมีความงามไม่ผิดกับพระมารดาเสียแต่ว่าพระโอษฐ์ด้านบนแหว่งทำให้เจ้าหญิงรู้สึกอับอาย  พระเจ้าฝางจึงสร้างเวียงให้อยู่ต่างหาก ปัจจุบันคือ เวียงมะลิกา  พระเจ้าสุทโธ แห่งเมืองพม่าได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางสามผิวใคร่ที่จะได้ยลโฉม  ได้ปลอมแปลงเป็นพ่อค้านำสินค้าจากเมืองตะโก้ง  เข้ามาขายในเมืองฝางและนำผ้าเนื้อดีเข้าไปถวายพระนางสามผิว  ครั้นเมื่อได้พบตัวจริงพระเจ้าสุทโธก้เกิดหลงรักพระนางสามผิวจนไม่อาจหักห้ามใจตนเองได้  รีบเสด็จกลับกรุงอังวะแล้วยกกองทัพมาตีเมืองฝาง  รบกกันอยู่ ๓ ปีพระเจ้าสุทโธได้รับชัยชนะ  แต่ก่อนที่เมืองฝางจะแตกอำมาตย์และนางข้าหลวงคู่หนึ่งซึ่งมีความจงรักภักดีทูลให้พระเจ้าฝางกับพระนางสามผิวเสด็จหนีไปอยู่ที่เมืองกุสินารายณ์ ณ ประเทศอินเดีย  แล้วทั้งสองได้ปลอมตัวเป็นเจ้าเมืองฝางและพระมเหสีพากันไปกระโดดน้ำตายที่บ่อน้ำซาววาเพื่อลวงพม่า  พระเจ้าสุทโธเข้าใจว่าพระเจ้าฝางกับพระนางสามผิวกระโดดบ่อน้ำสวรรคตก็ได้แต่โศกเศร้าเสียใจยกกองทัพกลับเมืองอังวะด้วยความผิดหวัง
   ภาพป้ายจารึกประวัติพระเจ้าฝาง-พระนางสามผิว


ผมขออนุญาตินำบทวิเคราะห์ตำนานพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวซึ่ง เรียบเรียง โดย คุณอินทร์ศวร แย้มแสง มาประกอบกับบทความนี้ครับเนื่องจากผมมีความคิดเห็นคล้ายกับคุณ อินทร์ศวร  แย้มแสง  ว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องจริง
  
บทวิเคราะห์เรื่องพระนางสามผิว(ของคุณ อินทร์ศวร  แย้มแสง)
          ตามที่กล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า เรื่องพระนางสามผิวกับพระเจ้าฝางอุดมสิน เป็นเรื่องเกิดในสมัย ประมาณ พ.ศ.๒๑๗๕ ที่พระเจ้าสุทโธธธรรมราชา ยกทัพมาตีเชียงใหม่ แต่ต้องล้อมตีเมืองฝางก่อนถึง ๓ ปี ด้วยเหตุผลดังกล่าวไว้ในตอนแรกแล้วนั้น แต่ ถ้าเป็นเรื่องจริง ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเรื่องเกิดในสมัยพระเจ้าไชยศิริครองเมืองไชยปราการมากกว่า เพราะขณะนั้นเป็นนครใหญ่ ไพร่บ้านพลเมืองล้นหลาม มั่งคั่งด้วยพระราชทรัพย์ อันเกิดจากราชบรรณาการ จากหัวเมืองใหญ่น้อยเป็นบริวาร ทั้งนี้ด้วยกฤษฏาภินิหาร ของพระเจ้าพรหมหาราช ทรงสร้างสั่งสมไว้มาก่อน พระเจ้าไชยศิริ จึงได้รับอานิสงค์นั้นโดยปริยาย คือความมั่งคั่งสมบูรณ์ ถ้าจะมีพระอัครมเหษี ในฐานะพระยามหากษัตริย์ ก็น่าเป็นจริงที่จะทรงพระรูปโฉมศิริวิลาศ มากกว่าและก็มีการศึกระหว่างทัพไทยเมา จากเมืองสุธรรมมาวดี ยกมาตีเอาเมืองด้วย
          อนึ่งเรื่องนิยายปรำปราเรื่องนี้ กล่าวว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน พาพระนางสามผิวหนีไปเมืองกุสินารายณ์ ก็ลองคิดดูว่าเมืองกุสินารายณ์อยู่ทางไหน จะพาพระมเหษีหลบหนีฝ่ายค่ายข้าศึก หนีเข้าไปดินแดนศัตรูอันกว้างใหญ่ คืออาณาแสนหวี หรือสุธรรมาวดี แล้วหนีต่อไปจนถึงเมืองกุสินารายน์ในอินเดียได้หรือไร แต่เหตุการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าไชยศิริคือ พระเจ้าไชยศิริ พาพระญาติวงศ์ไพร่พล หนีลงทางใต้ไปเมืองเล็กๆ ทางแคว้นเฉลี่ยง อันได้แก่ศรีสัชนาลัย แล้วลองคิดดูชื่อเมือง ศรีสัชนาลัยก็ดี กุสินารายณ์ก็ดี ใกล้เคียงกันใหม่ คนเล่าสืบกันมานานๆ หลายร้อยปี อาจจะเรียกชื่อผิดเพี้ยนไปกันได้ ในตำนานโยนกกล่าวว่า
          พวกไทยเมา ยกกองทัพเข้ามาทางตำบลโป่งน้ำร้อน และบ้านห้วยเป้า ข้าพเจ้าไม่ทราบบ้านห้วยเป้านั้น คือที่ใดในปัจจุบัน แต่สถานที่ธรรมชาติโป่งน้ำร้อนนั้น มีแน่ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เหมือนหมู่บ้าน ตำบลและเมือง และเรื่องนี้ เกี่ยวพันกับนครไชยปราการด้วย โดยที่เราจะยอมรับหรือปฏิเสธว่า นครไชยปราการจะอยู่ที่ ต.ปงตำ หรือ อยู่ในบริเวณปากแม่น้ำกก ทั้งสองอย่างก็ดี ถ้าสมมุติว่า นครไชยปราการตั้งอยู่ในอ่างกะทะธรรมชาติใบนี้ ดังกล่าวไว้ในตอนต้น ที่กล๋อมสร้างเมืองอุมงคเสลา ที่ทรากเก่าเมืองฝาง ว่าเพราะชัยภูมิดีเป็นกำแพงธรรมชาติแล้ว เขตแดนเมืองฝางปัจจุบันด้านตะวันตก ณ บ้านต้นผึ้ง ก่อนๆ เรียกบ้านห้วยผึ้ง มีทางเดินใช้กันมานานแต่โบราณ สำหรับเดินทางไปมา ระหว่างเมืองฝางกับเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน อันเป็นที่ตั้งอาณาจักรสุธรรมาวดี ของไทยเมา ตรงยอดดอยทิวเขายาวเหยียด กั้นเขตแดนไทยพม่า ในตำบลม่อนปิ่น ที่เรียกว่า สันจุ๊ เป็นด่านทางเดินติดต่อมานานแล้ว ตั้งแต่โบราณกาล และคำว่า สันจุ๊ เป็นภาษาเมืองเหนือ จุ๊ หมายถึง รวม ร่วม ชุมนุม สัน คือ สันเขา ตรงสันจุ๊ ก็มีทางเดินมาสู่ฝางได้ ๓ ทาง ลงมาสู่บ้านต้นผึ้ง หรือห้วยผึ้ง ลงมาสู่โป่งน้ำร้อน แล้วมาสู่ห้วยบอน อีกทางไปไกล เดินตามสันเขาไปจนลงสู่ตำบลแม่งอน
๑.ผู้ครองนครฝางที่ได้พระนามว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน ถ้าวิเคราะห์ตามชื่อ หมายถึงกษัตริย์ผู้มีพระราชทรัพย์มหาศาล เมืองฝางน่าจะมั่งคั่ง ประชาชนน่าจะมากมาย และน่าจะเป็นเมืองใหญ่ ทรงอำนาจจึงจะสมกับพระนาม อุดมสิน เมืองฝางจะต้องเป็นเมืองใหญ่ มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยราชทรัพย์ ด้วยราชบรรณาการจากเมืองบริวาร แต่ระยะที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ยกทัพมาตีเมืองฝางนั้น เมืองฝางเป็นเมืองเล็ก ขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ และพระนามผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ก็ไม่มีผู้ใดใช้พระนามว่า "พระเจ้า" อันหมายถึงกษัตริย์ยิ่งใหญ่ และเมืองเล็กๆ ขณะนั้น จะมั่งคั่งด้วยพระราชทรัพย์มหาศาล จนได้นามว่า "อุดมสิน" ได้อย่างไร
๒.ถ้าเรื่องราวของพระเจ้าฝางอุดมสิน และพระนางสามผิว เป็นเรื่องราวในสมัยพระเจ้าสุโธธรรมราชา มาตีเมืองฝางจริง เป็นเหตุการณ์ไม่กี่ร้อยปี น่าจะมีจดหมายเหตุ ตำนานไว้อย่างแน่ชัด เพราะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เมืองขนาดมีกษัตริย์ครองเมือง เมื่อเกิดศึกสงครามก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ที่จะถึงกับลืมจดเรื่องราวไว้ในตำนาน ขนาดเหตุการณ์ สมัยพระเจ้าเม็งราย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ ก่อนหน้าพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ยังมีตำนานกล่าวไว้แน่นอน ไม่ใช่กล่าวแบบนิยายปรำปรา อนึ่ง ในตำนานหรือพงศาวดาร ที่กล่าวถึงพระนามว่า พระนางสามผิว ก็มีอยู่เป็นหลักฐาน ในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ว่า "พม่าตั้งนายชายแก้ว ให้เป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว ครองเมืองลำปาง ในปีจุลศักราช ๑๑๒๖ ล้อโป่ซุก แม่ทัพพม่า จึงเอานายขนานกาวิล กับนายดวงทิพ บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว คุมพล ชาวเมืองนครลำปาง เข้าสมทบกับกองทัพพม่า ยกไปตีเมืองเวียงจันทร์ ได้เมืองเวียงจันทร์ และธิดาเจ้าเวียงจันทร์ ชื่อ นางสามผิว ส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ" เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๒ เท่านั้น แต่นิยาย เรื่องพระนางสามผิว ที่เล่าสืบๆ กันมา เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ
ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ยกทัพมาตีเมืองฝางและเชียงใหม่ และไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดกับนครเวียงจันทร์แน่นอน แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง ต้องเป็นเรื่องเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หลายร้อยปี ระยะเวลาที่เชียงใหม่กลับเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง ก็อยู่ในขอบขัณฑสีมา ของกรุงศรีอยุธยาบ้าง เป็นอิสระบ้าง สำหรับเมืองฝางก็ยังคงเป็นเมืองเล็กๆ ในอาณารัฐลานนาไทยอยู่ ไม่มีความสำคัญใดๆ ไม่มีตำนานใดๆ จะให้ศึกษาได้ชัดเจนในตอนนี้ ว่าเหตุการณ์ในเมืองฝางเป็นอย่างไร มีเจ้าผู้ครองเมืองชื่ออะไร ดูระยะนี้จะขาดหายไป จนกระทั่ง สมัยกรุงธนบุรี เป็นราชธานีอาณาจักรไทยสยาม  เหตุการณ์ทางลานนาไทย ก็ได้มีการสงครามกับพม่า โดยมีคนชาวไทยลานนา พยายามกอบกู้เอกราชคืนให้ได้ ระหว่างพม่ายังคงปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ของลานนาไทยอยู่ อาทิ เชียงแสน เชียงราย ฝาง เป็นต้น

ส่วนเรื่องของพระนางมะลิกาหรือเจ้าแม่มะลิกา  มีประวัติสืบต่อดังนี้

อนุสาวรีย์พระนางมะลิกา ตั้งอยู่ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


                    พระนางมะลิกา  เป็นพระธิดาของพระเจ้าอุดมสินแห่งเมืองฝางกับพระนางสามผิว  ประสูติราว  ปี พ.ศ.  ๒๑๓๑   ก่อนตั้งพระครรภ์พระมารดาทรงสุบินว่า   มีช้างเผือกนำดอกมะลิมาถวาย  จึงขนานพระนามว่า  มะลิกา ”  ตามพระสุบิน   พระนางสามผิวมีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า 
                  วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่องพระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาทเทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้าเสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่อง แม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป  เมื่อพระชันษาได้   ๑๘ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม  ได้มีราชบุตรต่างเมืองมาสู่ขอ  พระนางไม่สนพระทัย  กลับรบเร้าให้พระบิดาสร้างเวียง  (พระตำหนัก )ให้  ใน ปี  พ.ศ. ๒๑๕๐ เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมืองจึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับเมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการ ประตู  ๔ ด้านล้อมรอบประทานราชบุตรี ให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า เวียงมะลิกา(บางฉบับว่า เวียงสนธยา) เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศพระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก    กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ(แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย  พระเจ้าภูก่ำทรงอนุญาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตรทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราชบุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวายอัญมณีแม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วยและแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยวอยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราชบุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้า จำแลงก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วยนั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย" 
                  ต่อมาในปี   ๒๑๗๒  ทัพพม่าได้ยกมาตีเมืองฝาง   พระนางมะลิกาได้พาไพร่พลของตนเข้าต่อสู้กับพม่า  ช่วยบิดาต้านทานได้  ๓  ปี  ในที่สุดก็ต้านไม่ไหวเพราะกำลังที่มีน้อย  พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิวมารดา    ไม่ทรงยอมจำนนต่อข้าศึก  ได้กระโดดลงน้ำบ่อซาววา สิ้นพระชนม์   ส่วนพระนางมะลิกาได้พาไพร่พลที่เหลือกลับไปตั้งหลักที่เวียงสนธยา  และครองเวียงอยู่ได้  ๔๐  ปี  ทรงสวรรคตในปี   ๒๑๙๐  รวมพระชนมายุได้  ๕๘  ปี    ต่อมาได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระนางมะลิกาขึ้น  เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระนาง และเป็นที่เคารพสักการะของชาวแม่อายมาจนตราบเท่าทุกวันนี้






ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

-http://www.panoramio.com/photo/50750779
-หนังสือ ๕๐ นิทานไทย ของคุณ ธนากิต

9 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ13 กรกฎาคม 2554 เวลา 05:42

    เนื้อหาสาระ รวบรวมได้ดีมากๆเลยนะคะ เข้ามาอ่านบ่อยๆ เพราะชอบเรื่องราวของล้านนาค่ะ ตอนแรกนึกว่าเจ้าของบล๊อกจะเป็นคุณลุง หรือ คนวัยทำงาน ซะอีก ที่ไหนได้ ยังวัยรุ่นอยู่เลย ไม่คิดเลยว่า ยังมีเด็กวัยรุ่นสนใจเรื่องราวแบบนี้อยู่ สนับสนุนเต็มที่ค่ะ ^^

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ ผมเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมล้านนาเหมือนกันครับเลยรวบรวมข้อมูลขึ้นมา ผมดีใจมากที่มีคนชอบและสนใจในข้อมูลที่ผมโพสไว้ ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ21 กรกฎาคม 2554 เวลา 13:12

    จะคอยติดตามผลงานของน้องเรื่อยๆ นะคะ ^^

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ1 ธันวาคม 2554 เวลา 09:36

    ว่างๆ ก็ไปขุดหาโบราณคดีแถวบ้านเมืองงาม อาจมีร่องรอยเหลือบ้างทั้งวัดเก่า วัดใหม่ บ่อน้ำเก่า ทะลสาบเก่าไม่ก็อาจเป็นเมืองเก่าฝางก็ได้ เพราะป่า๙เก่าบ้ารัยในหมู่บ้านมีมากกว่า12แห่ง

    ตอบลบ
  5. ข้อมูลนี้ถูกใจมากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ6 กรกฎาคม 2556 เวลา 20:48

    อยากทราบเจ้ามหาวงค์(เจ้าหลวงเมืองฝาง)

    ตอบลบ
  7. ขอบมากเลยคะ อ่านแล้วจิตนาการตาม^^ อยากให้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเจ้าเมืองลำปางบ้าง คะ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:15

    ผมเชื่อเรื่องเจ้าแม่มากครับ เพราะผมมาแม่อายเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมาฝากตัวว่าอยากเป็นคนแม่อายแล้วผมก็ได้เจอกับแฟนคนแม่อายและแต่งงายกันกว่าสิบปีแล้ว แถมเรายังไปขอลูกสาวจากท่านซึ่งเราก็ไ้ลูกผู้หญิงจริงๆทุกครั้งเวลาไปแม่อายเราจะไปสักการะเจ้าแม่เสมอ ขอบคุณเจ้าแม่ที่ประทานสิ่งดีๆให้ผม. จริงๆผมเป็นคนใต้ซึ่งไปแม่อายคือครั้งแรกที่ไปภาคเหนือ. เหลือเชื่อจริงๆ

    ตอบลบ