พระญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่๗
แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระโอรสของพระญากือนา สาเหตุที่ได้พระนามว่า
"แสนเมืองมา" นั้นเป็นเพราะในช่วงที่ประสูตินั้นอาณาจักรล้านนากำลังรุ่งเรือง
มีท้าวพญาต่างเมืองนำบรรณาการจำนวนมากมาถวายแด่พระญากือนา
|
เจ้าแสนเมืองมาทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๙๒๘ ขณะทรงมีพระชนมายุได้ ๒๓ปี เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ แต่ก็ยังไม่อาจทำพิธีราชาภิเษกได้ เนื่องจากเจ้าท้าวมหาพรหม เจ้าอาของพระองค์ซึ่งพญากือนาให้ไปครองเมืองเชียงรายนั้น ได้ยกกองทัพมาจะแย่งชิงราชสมบัติที่นครเชียงใหม่ แต่พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากแสนผานองขุนนางคนสำคัญ ได้ทำการปราบเจ้าท้าวมหาพรหมที่คิดกบฏ จนกองทัพของเจ้าท้าวมหาพรหมต้องถอยร่นไปยังเมืองเชลียงเมื่อเจ้าท้าวมหาพรหมทำการไม่สำเร็จ เจ้าท้าวมหาพรหมจึงไปขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑(ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใน พ.ศ.๑๙๒๙ กองทัพอยุธยาได้ยกทัพมาตีล้านนา โดยเข้าตีเมืองลำปาง แต่ไม่สำเร็จจึงล่าถอยกลับไป นับเป็นครั้งแรกที่ทัพอยุธยายกขึ้นมารบกับล้านนา เจ้าท้าวมหาพรหม ครั้นภายหลังขัดแย้งกับทางอยุธยาจึงหันกลับมาสามิภักดิ์ต่อล้านนาอีก พระญาแสนเมืองมาจึงส่งไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม ต่อมาพระญาแสนเมืองมาได้พยายามขยายอาณาเขตลงสู่ทางใต้ เพราะสุโขทัยกำลังต่อสู้กับกองทัพอยุธยา ทัพสุโขทัยโจมตีกองทัพล้านนาจนต้องล่าถอยกลับมาระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๑ ตั้งแต่นั้นมาพระญาแสนเมืองมาก็ทรงมุ่งทำนุบำรุงพุทธศาสนา พระกรณียกิจด้านศาสนาที่สำคัญคือ โปรดให้สร้างเจดีย์หลวง ใน พ.ศ. ๑๙๓๔ ขณะที่ทรงครองราชย์ในปีที่ ๑๖ (พระชนมายุ ๓๙ ปี) ณ กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ (มเหสีของพระองค์ได้สร้างยอดพระธาตุเจดีย์หลวงต่อมาจนสำเร็จ) และโปรดให้หุ้มพระธาตุเจดีย์ในวัดพระธาตุหริภุญชัยด้วยแผ่นทองคำหนักสองแสนหนึ่งหมื่น (เท่ากับ ๒๕๒ กิโลกรัม) อาณาจักรล้านนา ในสมัยพระญาแสนเมืองมา ยังคงมีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจดี
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.chiangmai-thailand.net (รัชกาลที่๙
พระเจ้าแสนเมืองมา:กษัตริย์และพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น