วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

เทพสิงห์ วีรบุรุษผู้กล้าหาญแห่งเมืองยวมใต้



                          เมื่อครั้งที่ชาวพม่ารามัญเข้ามาปกครองเชียงใหม่นั้น ก็ได้ปกครองชาวเชียงใหม่อย่างกดขี่ข่มเหง  ชาวเมืองต่างเสียขวัญเสียกำลังใจ  กลายเป็นคนเชื่อถือโชคลาง เห็นอะไรที่วิปริตผิดประหลาดก็เข้าใจว่าเป็นอุบาทว์ลางร้ายบอกเภทภัยไปหมด  จิตใจหวั่นไหวตระหนกนกใจง่ายมิได้เป็นปกติสุข  เนื่องด้วยถูกข้าศึกพม่ารบกวนไม่หยุด  ต่อมาได้มีชายหนุ่มนามว่า เทพสิงห์ ชาวเมืองยวมใต้  เกิดมีใจเจ็บแค้นที่ถูกฆ่าศึกชาวพม่าย่ำยีบีฑามาช้านาน จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ยกเข้าไปปล้นเมืองเชียงใหม่ในเวลากลางคืน  และจับโป่มังแรนราผู้ครองเมืองเชียงใหม่ชาวพม่าได้และเทพสิงห์ก็ได้จัดการฆ่าโป่มังแรนราและต่อมาก็ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๐ ส่วนบรรดาพม่ามอญในเมืองเชียงใหม่ก็แตกตื่นหนีไปยังเมืองเชียงแสน  เทพสิงห์ครองเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณเดือนเศษซึ่งเป็นเวลาอันน้อยนิดที่จะสะสางกิจการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย         เทพสิงห์ก็ได้มีประกาศไปทุกแห่งทุกตำบลให้จับพวกพม่ารามัญฆ่าให้หมดอย่าให้เหลือตกค้างในเชียงใหม่ แต่ปรากฎว่าพวกพม่าเหลืออยู่เป็นจำนวนมากและพวกพม่าก็ได้ชักชวนกันมั่วสุมเป็นหมู่กองแล้วตั้งหัวหน้าขึ้นคือ จะเรเนแต   จะเรเนแตก็รวบรวมกำลังพลได้ถึง  ๓ ร้อยคนพากันคิดการกับเจ้าองค์นกซึ่งเป็นเจ้าลาวที่หนีมาจากเมืองหลวงพระบางมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดบุปผาราม เมืองเชียงใหม่ พอตกลงกันว่าจะร่วมมือด้วยกัน  เจ้าองค์นกก็สึกออกมาเป็นหัวหน้านำพลโยธาไปซุ่มคอยดูท่าทีอยู่ที่วัดเกต ขณะนั้นทหารของเทพสิงห์ ๕๐ คนมารักษาสะพานท่าแพไว้ครั้นเวลาเที่ยงคืนเจ้าองค์นกได้จัดให้จะเรเนแตคุมกำลังอ้อมไปทางแจ่งศรีภูมิ    และมุมเมืองด้านเหนือกองหนึ่ง แล้วแต่งคนเข้าสู้กับเทพสิงห์ที่เฝ้าสะพานแตกหนีไปจากเมืองเชียงใหม่ทางประตูด้านทิศใต้คือประตูหะยา ที่ปัจจุบันเรียกว่า ประตูหายยา  เทพสิงห์จึงได้หนีไปเมืองน่านขอความช่วยเหลือจากเจ้าธรรมปัญโญ  เจ้าเมืองน่านยกกำลังมาตีเมืองเชียงใหม่  แต่ชะตาตกการศึกครั้งนี้จึงแพ้อย่างราบคาบเจ้าเมืองน่านเจ้าธรรมปัญโญเสียชีวิตในสนามรบและในตำนานก็ไม่ได้กล่าวนามวีรบุรุษเทพสิงห์อีกเลย
                           พอเจ้าองค์นกได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นานก็เกิดมีแม่ทัพพม่านามว่า สะแคงพญา ยกกองทัพมาจากกรุงอังวะ ประชิดเมืองเชียงใหม่เจ้าองค์นกได้เปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าองค์คำ  ได้แต่งให้คนเชียงใหม่ ๒๐ คนและชาวพม่า ๒๐ คนออกไปต้อนรับสะแคงพญา  พอ ๒๐ คนนี่ออกไป สะแคงพญาก้สั่งให้จับชาวเมือง ๒๐ คนฆ่าเสีย แต่ชาวเมืองทั้ง ๒๐ คนรู้ทันจึงรีบหนีเสียก่อนและกลับมาหาเจ้าองค์คำทูลให้องค์คำทราบ  ขณะนั้นทัพพม่าตั้งอยู่ที่หนองหมอน  เจ้าองค์คำจึงแต่งกองทัพยกไปรบกับพม่า  ทัพพม่าก็แตกหนีไปอยุ่เมืองพะเยา
                        เจ้าองค์คำเป็นชาวล้านช้างสืบเชื้อสายเจ้าลื้อเมืองศรีฟ้า  เคยคิดการกบฏต่อหลวงพระบางแล้วหนีมาในที่สุดก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่ ๓๒ ปีก็สิ้นพระชนม์



ศาลเทพสิงห์ ที่ ค่ายเทพสิงห์ จ.แม่ฮ่องสอน                




















2 ความคิดเห็น: