วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจ้าหลวงเมืองล้า และประวัติชาวไทลื้อสิบสองปันนา

อนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า  จ.น่าน



ประวัติเจ้าหลวงเมืองล้า

        เจ้าหลวงเมืองล้า เป็น เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองล้า ในสิบสองปันนา เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ และเป็น แม่ทัพนายกองของชาวไทลื้อ เมืองล้าทั้งมวล และท่านได้สิ้นชีพพิตักษัยในดินแดนสิบสองปันนา
ความเป็นมาของไทยลื้อ
ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ เดิมชาวไทลื้อมีถิ่นที่อยู่บริเวณหัวน้ำของ (น้ำโขง) เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำของ (น้ำโขง) สิบสองปันนา ปัจจุบัน ประมาณศตวรษที่ ๑๒ จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบัน ตั้งเป็นอาณาจักร แจ่ลื้อ (จีนเรียกเซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน ๗๙๐ ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ.๑๕๗๙-๑๕๘๓(พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๒๖) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา ๑,๐๐๐ หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อมาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบัน
เมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้
๑. ปันนาเชียงรุ่ง มี ๒ เมือง คือเมืองเชียงรุ่ง, เมืองฮำ
๒. ปันนาเมืองแจ่ มี ๓ เมือง คือเมืองอ๋อง, เมืองงาด, เมืองแจ่
๓. ปันนาเมืองหน มี ๒ เมือง คือเมืองปาน, เมืองหน
๔. ปันนาเมืองเจียงเจื่อง มี ๒ เมือง คือเมืองฮาย, เมืองเจื่อง
๕. ปันนาเจียงลอ มี ๔ เมืองคือเมืองมาง, เมืองงาม, เมืองลางเหนือ, เมืองเจียงลอ
๖. ปันนาเมืองลวง มี ๑ เมืองคือเมืองโลง
๗. ปันนาเมืองลา มี ๒ เมือง คือเมืองบาง, เมืองลา
๘. ปันนาเมืองฮิง มี ๒ เมืองคือเมืองวัง, เมืองฮิง
๙. ปันนาเมืองล้า มี ๒ เมืองคือเมืองบาน, เมืองล้า
๑๐. ปันนาเมืองพง มี ๒ เมืองคือเมืองหย่วน, เมืองพง อีกเมืองส่างกาง ส่างยอง
๑๑. ปันนาเมืองอู๋ มี ๒ เมืองคือเมืองอู๋ใต้, เมืองอู๋เหนือ (ปันนานี้ตกเป็นเขตแดนลาวล้านข้าง สมัยฝรั่งเศสปกครองประเทศลาวถึงปัจจุบัน)
๑๒. ปันนาเจียงตอง มี ๔ เมืองคือ เมืองบ่อล้า, เมืองอีงู, เมืองอีปัง, เมืองเจียงตอง
จึงเป็นที่มาของคำว่า สิบสองปันนา
ในห้วงระหว่างปี ค.ศ.๑๗๘๒-๑๘๑๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๖) ในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ที่ช่วงเวลานั้นเมืองเชียงใหม่มีจำนวนประชากรบางตา ชาวไทลื้อได้ถูกพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ทำการกวาดต้อนลงมายังเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียงตามนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ดังนี้
แม้พระเจ้ากาวิละจะได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่หรือเจ้า หลวงแล้ว ภายในเวลาขณะนั้น ในกำแพงเมืองเชียงใหม่แล้ว ผู้คนยังโหรงเหรงและเงียบเหงา ภายในยังเต็มไปด้วยบรรดาแมกไม้ยังรกรุงรัง จึงถือได้ว่า เป็นยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่จริง ๆ พระเจ้ากาวิละและเจ้าน้องทั้ง ๖ คน จึงเริ่มหาทางเพิ่มราษฎรในเมือง โดยการชักชวนและไปตีกวาดต้อนตามหัวเมืองต่าง ๆ ทุกทิศ เริ่มตั้งแต่เมืองฝาง (อำเภอฝาง) ไปจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงคำ เชียงของ เมืองปุ เมืองสาด เมืองกาย เมืองพะเยา เมืองเลน เมืองยอง เมืองเชียงตุง เมืองขอน เวียงตองกาย จนถึงสิบสองปันนา ทิศตะวันตกถึงเมืองบนฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) มีเมืองยวม เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองแหง เมืองปาย ฯลฯ ในปี ๒๓๓๒ ก็ได้ชาวบ้านสะต๋อย บ้านวังลุ วังกวาด และบ้านงัวลาย ท่าช้าง บ้านนา และอีกหลายเมือง ซึ่งได้ไปไว้ในที่ต่าง ๆ ในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จนถึงแพร่ น่าน
การอพยพ
เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรษที่ ๑๒ จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจี๋ยงหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน ๗๙๐ ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ. ๑๕๗๙-๑๕๘๓ (พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๒๖) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา ๑,๐๐๐ หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อมาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองเจ้าไต)
ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น ๑๒ ปันนา และทั้ง ๑๒ ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก ๓๒ หัวเมือง เช่น
ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ้ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง
ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาง, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองบาง และเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง)
การขยายตัวของชาวไทยลื้อสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบเมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู)
ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศ ตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน

ภาพการแต่งกายของชาวไทลื้อ


ไทลื้อปัจจุบัน
ปัจจุบันชาวไทลื้อกระจายตัวอยู่ที่
-ประเทศพม่า มีแถบเมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงลาบ เมืองไร เมืองพะยาก เมืองโก เมืองโต๋น เมืองเลน เชียงตุง
-ประเทศลาว เมืองหลวงน้ำทา เมืองหลวงพูคา เมืองบ่อแก้ว ไชยะบุลี (เชียงฮ่อนเชียง เชียงลม หงสา) เมืองหลวงพะบาง
-ประเทศไทย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน
-ประเทศเวียดนาม เมืองแถน

สำหรับในประเทศไทย มีชาวไทลื้อในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ตอนบน ดังนี้
-เชียงราย : อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน(ส่วนหนึ่งได้อพยพไปเมืองเชียงรุ้ง เมื่อเกิดสงครามไทยพม่า)
-เชียงใหม่ : อำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน
-น่าน :อำเภอเมืองน่าน (ต.ในเวียง บ้านเชียงแขง บ้านเมืองเล็น)
อำเภอท่าวังผา มีชาวไทลื้ออยู่ ๕ ตำบล คือ ต.ศรีภูมิ บ้านห้วยเดื่อ ต.ป่าคา เป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองล้า มี ๕ ประกอบด้วยหมู่บ้าน บ้านหนองบัว บ้านดอนแก้ว บ้านต้นฮ่าง บ้านดอนมูล บ้านแฮะ ,ตำบลยม มีชาวไทลื้อ ๕ หมู่บ้านเป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองเชียงลาบ และเมืองยอง ประกอบด้วย บ้านลอมกลาง บ้านทุ่งฆ้อง บ้านเชียงยืน บ้านเสี้ยว บ้านหนองช้างแดง ,ต.จอมพระ เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองยู้มีชาวไทลื้อ ๕ หมู่บ้าน บ้านถ่อน และถ่อนสอง บ้านยู้ บ้านยู้เหนือ บ้านยู้ใต้
อำเภอปัว เป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้ออยู่มากที่สุด ประกอบด้วย ต.ศิลาเพชรเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง มี ๗ หมู่บ้าน บ้านป่าตอง๓หมู่บ้าน บ้านดอนไชย บ้านนาคำ บ้านดอนแก้ว ,ตำบลศิลาแลง เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง บ้านเก็ด บ้านหัวน้ำ บ้านตีนตก เป็นต้น ต.วรนคร บ้านดอนแก้ว บ้านร้องแง บ้านมอน บ้านขอน บ้านป่าลานเป็นต้น ตำบลสถาน เป็นชาวไทลื้ออพยพมาจากเมืองเชียงลาบ มี ๓ หมู่บ้าน นอกนั้นในยังมีอีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ หมู่บ้านในอำเภอปัวที่เป็นชาวไทลื้อ
อำเภอเชียงกลาง
อำเภอสองแคว มีชาวไทยลื้ออาศัยอยู่ที่ตำบลยอด ที่บ้านปางส้าน บ้านผาสิงห์และบ้านผาหลัก
อำเภอทุ่งช้าง บ้านงอบ บ้านปอน ห้วยโก๋น และส่วนที่อพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งจะอยู่ปะปนกะชาวเมืองน่านแถบชายแดน (มีจำนวนมากที่สุด อพยพมาจากแขวงไชยะบุรี และ สิบสองปันนา)
-พะเยา : อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ(มีจำนวนมาก) อำเภอภูซาง
-ลำปาง : อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ
-ลำพูน : อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ
ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม(เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย)

วัฒนธรรม
ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทย หรือชนเผ่าอื่นๆทางภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย บ้านที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมยังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น บ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆ แทบทุกชุมชนของชาวไทลื้อ ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม มีการบูรณะ ซ่อมแซม ให้คงสภาพดีอยู่เสมอแม้ในปัจจุบัน
ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือ
ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อม ขายาวโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามและนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือชมพู
เรื่องของชาวไทลื้อ ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ (เมืองทั้งหมดนี้อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) และชาวไทยอง (คนเมือง คนที่มีถิ่นฐานดั่งเดิมอยู่ในเขตจังหวัดล้านนา) นั้น มีความเกี่ยวข้องกันมาก ดังนั้นจึงอาจจะไม่สามารถแบ่งแยกกันได้
สมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ้ง ๑ (พญาเจื๋อง) เป็นปฐมกษัตริย์ของชาวไทลื้อ แห่งราชวงค์อาฬโวสวนตาล จนถึงสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ ๔๑ เจ้าหม่อมคำลือ (ตาวซินซือ) ก่อสิ้นสุดลงเพราะรัฐบาลจีนได้ถอดท่านถอนท่านออกจากการเป็นเจ้าฯ ส่วนพระอนุชาได้ลี้ภัย มาอยู่ที่อำเภอแม่สาย หม่อมตาลคำ ได้ลี้ภัยมาอยู่กรุงเทพ

ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อ.ท่าวังผา จ.น่าน
(ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ช่วงเวลา จัดทุกๆ ๓ ปี หรือเรียกว่า "สามปี๋สี่ฮวงข้าว"  ความสำคัญ คือประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า เป็นประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งของไทยลื้อ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ชาวไทยลื้อได้เล่าต่อๆกันมาว่า เจ้าหลวงเมืองล้าคือ เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองล้าในดินแดนสิบสองปันนา เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ และเป็นทั้ง แม่ทัพนายกองของชาวไทยลื้อเมืองล้าทั้งมวล และท่านได้สิ้นชีพพิตักษัยในดินแดนสิบสองปันนา ในส่วนบริวารหรือผู้ช่วยของเจ้าหลวงเมืองล้า ประกอบด้วย หิ่งช้าง หิ่งม้า ล่ามเมือง หาบมาด แจ่งฝ่าย เชียงล้าน โอ๊ก่า ช้างเผือก น้ำปี๊ด ปูก่าผมเขียวดำแดง ปางแสน ปางสา ปางเม็ด ม่อนเชียง คือ ปากท่อทั้งห้า บ่อต่วน สวนตาล เมืองหลุก อ่างเรียง และม่านตอง
พิธีกรรม เมื่อใกล้ถึงประเพณีเข้ากรรมเมือง ตัวแทนชาวไทลื้อทั้งสามหมู่บ้านได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่างและบ้านดอนมูล จะมาประชุมกันเพื่อกำหนดพิธีการและมอบหมายหน้าที่การงานกัน และที่สำคัญอย่างยิ่งจะมีการคัดเลือกบุคคลที่สืบเชื้อสายทางสายโลหิตของ เจ้าหลวงเมืองล้า จำนวน ๑ คน มาเป็นตัวแทนชาวไทยลื้อทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า"เจ้าเมือง" ส่วนใหญ่มักจะคัดมาจากชาวไทลื้อ บ้านดอนมูลซึ่งจะ เป็นประธานในพิธีบวงสรวง และคัดเลือกชาวบ้านหนองบัว ที่สืบเชื้อสายมาจากหมอเมืองอีก1 หมอเมืองจะมีหน้าที่ป้อนอาหารในพิธีเซ่นวิญญาณ เรียกว่า "เจ้ายั๊ก" หลังจากนั้นจะเลือกวันประกอบพิธีบวงสรวงโดยเลือกวันที่ดีที่สุดว่า "วันเฒ่า" การเข้ากรรมเมืองจะมีด้วยกันทั้งหมด ๓ วัน ซึ่งแต่ ละวันจะมีกิจกรรมดังนี้
วันแรกประมาณ ๑๖.๐๐ น ชาวไทลื้อทั้ง ๓ หมู่บ้านจะปิดกั้นเขตแดน เข้า - ออก ของหมู่บ้านด้วย "ตาแหลว" (ใช้ไม้ไผ่สานคล้ายพัด) เมื่อปิดตาแหลวแล้วจะกั้นจะประกาศห้ามคนในหมู่บ้านออกนอกเขตตาแหลว และห้ามติดต่อกับภายนอกหมู่บ้านเป็นเวลา ๓ วัน และห้มบุคคล ภายนอกเข้าไปในหมู่บ้านเช่น เดียวกัน ใครฝ่าฝืนจะถูกปรับไหมเป็นเงินทองแล้วแต่จะตกลงกันเพราะประเพณีนี้จะเป็นประเพณีที่มีเฉพาะ ในหมู่ชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้าเท่านั้นจึงไม่ต้องการให้คนภายนอกล่วงรู้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถึงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น จะแห่ "เจ้าเมือง" และ"หมอเมือง" ไปยังสถานประกอบพิธีแห่งที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านหนองบัว โดยเจ้าเมือง และหมอเมืองจะพักอยู่ในที่พักที่จัดไว้ให้คนละหลัง ซึ่งที่พักนี้สร้างขึ้นไว้สำหรับพิธีนี้โดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีแล้วรื้อถอนทิ้งไป ครั้งถึงพิธีครั้งใหม่ก็จะสร้างขึ้นใหม่อีก ในบริเวณสถานประกอบพิธีแห่งที่ ๑ จะมีมหรสพสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืน และที่นิยมเล่นกันมากที่สุดคือ "การขับลื้อ" นอกจากนี้จะมีการละเล่นพื้นเมือง อาทิเช่น การเล่น มะกอน (โยนหมอนผ้าหรือลูกช่วง) การเล่นมะไข่เต่า การเล่นสะบ้าการขึ้นเสาน้ำมัน ตะกร้อลอดบ่วงเป็นต้น
วันที่ ๒ เป็นวันที่ชาวไทลื้อถือกันว่ามีความสำคัญที่สุดในระหว่างการอยู่กรรมเมืองเพราะจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ เจ้าหลวงเมืองล้าที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเวลาหลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว) โดยจะมีการแห่ เจ้าเมือง หมอเมืองและสิ่งของที่ใช้สำหรับพิธีบวงสรวง ในขบวนแห่เจ้าเมือง หมอเมืองจะมีบ่าวหมอให้การอารักขาอย่างใกล้ชิดขบวนแห่ดังกล่าว จะมุ่งตรงไปยังสถานประกอบพิธีแห่งที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า "ปางเมือง" (ปัจจุบันคืออนุเสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า) ซึ่งอยู่ห่างจากสถานประกอบพิธีแห่ง ี่ ๑ ประมาณ ๑๐๐ เมตร โดยจะจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่เพราะชาวไทลื้อทั้ง ๓ หมู่บ้านจะพร้อมใจกันมาร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์อย่างคับคั่งทุกครั้ง เจ้าเมือง จะแต่งกายสีแดงล้วน ก่อนที่ขบวนแห่จะเคลื่อนออกไป เจ้าเมืองกับหมอเมืองจะทำการทักทายกัน ณ บริเวณหน้าที่พักของเจ้าเมือง โดยทั้งคู่จะ เหยียบ ตาบเหล็ก(เหล็กแผ่น) คนละแผ่น หมอเมืองจะทักขึ้นมาก่อนว่า "เจ้าเมืองฮ่องหมอเมืองมาสัง" (เจ้าเมืองเรียกหมอเมืองมาทำไม) เจ้าเมืองจะ ตอบว่า "สองปี๋ฮาม สามปี๋คอบ ขอบดังมน ผีเมืองถูกจ้า ด้ามเมืองถูกกิน หมอเมืองมาเฮือน ให้หมอนั่งตั่งหมองเมืองเซา " (สรุปความว่าประเพณี บวงสรวงได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ขอให้หมอเมืองขึ้นไปพักผ่อนบนบ้านก่อน) เมื่อขึ้นบนบ้านแล้ว"บ่าวหมอ" (คนใช้หมอเมือง) จะทำหน้าที่ป้อน หมาก เมี่ยง และของกินอื่นๆแก่เจ้าเมือง เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว ขบวนแห่จะเคลื่อนไปยังสถานที่แห่งที่ ๒ เพื่อทำพิธี บวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้าต่อไปสิ่งของที่จะนำมาบวงสรวงนั้นจะประกอบด้วยสัตว์ ๔ เท้า และสัตว์ ๒ เท้า สัตว์ ๔ เท้า ได้แก่ วัว ควาย หมูดำ หมูขาวอย่างละ ๑ ตัว ส่วนสัตว์ ๒ เท้า ได้แก่ ไก่    ในระหว่างการเคลื่อนขบวน หมอเมืองจะแวะเซ่นบวงสรวงบริเวณเจ้าหลวงเมืองคือ หิ่งช้าง หิ่งม้า ซึ่งจะมีหออยู่สองหอโดยใช้ไก ่เป็นๆ ทำการเซ่นสรวง จากนั้นขบวนจะเคลื่อนที่ต่อไปจนถึงสถานที่ประกอบพิธีแห่งที่ ๒ เมื่อถึงบริเวณสถานที่ประกอบพิธีดังกล่าว เจ้าเมืองและ หมอเมืองจะทำการสักการะดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองหล้าก่อน จากนั้นจึงจะทำการเซ่นสรวงบริวารของเจ้าหลวง จะมีหออยู่ทั้งหมด ๓๒ หอ โดย ใช้ไก่เป็นๆ หมอ-เมืองจะถอนขนไก่แล้วเอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนจิ้มลงไปที่ตัวไก่ แล้ววางไว้ที่หอส่วนไก่นั้นจะโยนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อปล่อยออก ไปช่วงนั้นจะมีการแย่งชิงไก่เพื่อนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว เสร็จแล้วจึงจะเป็นพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้าอันศักดิ์สิทธ ิ์ต่อไป ซึ่งจะต้องเซ่นสรวงด้วยสัตว์ ๔ เท้า อันได้แก่ วัว ควาย หมูดำ หมูขาว สัตว์ดังกล่าวจะต้องผ่านพิธีลงดาบเสียก่อน แล้วจึงจะชำแหละเอาเนื้อ มาเข้าเซ่นวิญญาณ ส่วนเนื้อที่เหลือลูกหลานชาวไทลื้อที่มาร่วมพิธีจะแบ่งปันกันไปประกอบอาหารซึ่งจะประกอบกันบริเวณใต้ถุนบ้านห้ามนำขึ้น ไปประกอบบนบ้านโดยเด็ดขาด       วันที่สาม จะมีการเซ่นสรวงเทวดาอู ซึ่งหอเทวดาอูจะอยู่นอกบริเวณ สถานที่ทั้งสอง และตอนบ่ายจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าเมือง และหมอเมืองกลับสู่หมู่บ้านของตนเอง หลังจากนั้นจะเปิดสิ่งปิดกั้นหมู่บ้านออกเรียวว่าการ"เปิดแหลว" หรือ "ต้างแหลว" จากนี้ไปชาวไทลื้อเชื้อ สายเมืองล้าจะไปไหนมาไหนได้ตามปกติ
ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า เป็นความเชื่อความศรัทธาของชาวไทลื้อในการไหว้บรรพบุรุษ และเป็นการรวม ญาติพี่น้องให้ได้มาพบปะกันทุกๆ ๓ ปี เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของเผ่าชน
อนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้าในอีกอริยาบถ  จ.น่าน



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://kanchanapisek.or.th (เผชิญ จิณะสิทธิ์,จังหวัดน่าน,ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า)
-http://th.wikipedia.org (เจ้าหลวงเมืองล้า)
-http://th.wikipedia.org (ชาวไทลื้อ)
-http://www.gotoknow.org (วิถีไทลื้อ บ้านดอนมูล)
-http://www.ichiangrai.com (เล่าประวัติชาวไทลื้อ ชนชาติไตแห่งสิบสองปันนา)

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจ้าหลวงท้าวขาก่าน เจ้าหลวงเมืองน่านผู้พิชิตญวน

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน  จังหวัดน่าน


                      ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๙ พระเจ้าติโลกราชได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหลวงท้าวขาก่านมาปกครองนครน่าน ในบันทึกตามพงศาวดารได้บรรยายรูปร่างลักษณะเจ้าหลวงท้าวขาก่านไว้ว่า มีผิวกายสีดำแดง สักยันต์เป็นรูปพญานาคราชและเถาวัลย์ตั้งแต่ขาจนถึงน่อง ยามเดินคล่องแคล่ว ว่องไวนัก เจ้าหลวงปกครองนครน่านได้ระยะหนึ่ง จึงได้ใช้ให้หมื่นคำไปถวายเครื่องบรรณาการแด่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และไปได้ตำนานพระธาตุแช่แห้งมาจากพระคุณเจ้ามหาเถรวชิรโพธิ์ที่ได้มาจากเมืองลังกา เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า และชาวเมืองทั้งหลายได้พากันแผ้วถางบริเวณดอยภูเพียงแช่แห้งซึ่งขณะนั้นถูกปกคลุมด้วยป่าไผ่เครือเถาวัลย์จนเจอจอมปลวกใหญ่ลูกหนึ่งก็พากันทำการสักการบูชา ครั้นถึงเวลากลางคืนบริเวณจอมปลวกก็ปรากฏดวงพระธาตุเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีรุ่งเรืองนัก  จึงได้พากันขุดบริเวณจอมปลวกดู ขุดได้ลึก ๑ วาก็เจอก้อนศิลากลมเกลี้ยงลูกหนึ่งเจ้าหลวงท้าวขาก่านจึงให้ชีปะขาวเชียงโดมวัดใต้ ทุบให้แตกก็พบ ผอบทองคำมีฝาปิดสนิท เมื่อเปิดออกดูก็พบ พระธาตุเจ้า ๗ องค์พระพิมพ์คำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ที่พญาการเมืองได้มาจากเมืองสุโขทัยและนำมาประดิษฐานไว้  แล้วเจ้าหลวงท้าวขาก่านได้นำพระธาตุรวมทั้งพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำที่ขุดได้ทั้งหมดมาเก็บไว้ที่หอคำและได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราชทรงมีรับสั่งว่าเมื่อขุดได้ที่ใดก็ให้เก็บไว้ ณ ที่นั้น เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า ท้าวพระยาทั้งหลายก็พร้อมใจกันนำ พระบรมสาริกธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำมาประดิษฐานไว้ ณ บนดอยภูเพียงแช่แห้งตามเดิม และก่อเจดีย์ สูง ๖ วาคร่อมไว้  ต่อมาจุลศักราช๘๔๒ หรือ พ.ศ.๒๐๒๓ พวกแกว(ในขณะนั้นเรียกว่าแกวต่อมากลายเป็น เวียดนามหรือญวน) ขณะนั้นแกวปกครองโดย จักรพรรดิเลทันต์ตอง ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน และหลวงพระบาง พระเจ้าติโลกราช ได้มีพระบรมราชโองการให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล ๔ หมื่นคนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระเจ้าติโลกราช แต่พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า
แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ ๒๒
    วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 


                         สงครามระหว่างล้านนากับแกว(เวียดนาม,ญวน) ทำให้ท้าวขาก่านมีชื่อเสียงมาก 
จักรพรรดิเฉิงฮว่า (Chenghua) แห่งราชวงศ์หมิงต้องส่งคนมาวาดภาพท้าวขาก่านเก็บไว้ในหอตำราหลวง สาเหตุที่จีนชื่นชมล้านนาและท้าวขาก่านก็ไม่มีอะไรมากนั่นก็เพราะล้านนาช่วยแก้แค้นแทนจีนเนื่องจากจีนพ่ายแพ้เวียดนามหลายครั้งและไม่สามารถแผ่อำนาจเข้าไปปกครองเวียดนามได้เลยในสมัยราชวงศ์หมิง  ปัจจุบัน ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่านมีศาลของท้าวขาก่านในผู้คนสักการะ โดยท้าวขาก่านเป็นที่รู้จักดีของผู้คนในละแวกนั้นเพราะเคยเป็นถึงเจ้าเมืองน่านมาก่อนอย่างไรก็ตาม ในเมืองเชียงรายซึ่งเป็นอีกเมืองที่ท้าวขาก่านได้มาปกครองกลับพบว่าไม่มีผู้ใด้รู้จักท้าวขาก่านเลย  สาเหตุอาจจะมาจาก มิได้มีการบันทึกผลงานของท้าวขาก่านไว้ในช่วงที่ปกครองเมืองเชียงราย    ในสมัยท้าวขาก่านครองเมืองน่านนั้นทำให้พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง จนทำให้มีความผูกพันกับชาวน่านและจังหวัดน่าน อันเป็นเมืองพระพุทธศาสนา มีพระธาตุแช่แห้ง ที่ท้าวขาก่านสร้างไว้ให้ได้เคารพบูชา ประชาชนให้ความเคารพสักการะ โดยได้สร้างรูปปั้นท่านไว้ในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังไว้รำลึกสักการบูชาตลอดจน ชั่วลูกหลานเพื่อให้เกิดสิริมงคล

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน  จังหวัดน่าน ในอีกมุมหนึ่ง






ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.chiangraifocus.com (เชียงรายพันธุ์แท้,กำแพงเมืองน่าน)
-http://www.ch.or.th (พระประวัติเจ้าหลวงท้าวขาก่าน)
-http://www.lannatouring.com  (ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน)