วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระญาแสนภู ธรรมกษัตริย์ผู้รักสันติสุข

พระราชานุสาวรีย์พระญาแสนภู จ.เชียงราย


          พระญาแสนภู ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๓ ทรงเป็นราชบุตรองค์แรกของพระญาไชยสงคราม เหตุที่ชื่อแสนภู เพราะเกิดบนภูดอยทรงพระประสูติ ณ เวียงหิรัฐนครเงินยาในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีพี่น้องร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาเดียวกัน  พระองค์  คือ เจ้าแสนภู  เจ้าน้ำท่วม  และเจ้าน้ำน่าน(ท้าวงั่ว)  ในขณะทรงพระเยาว์  ได้ติดตามพระราชบิดาไปพำนักที่เมืองเชียงราย

          ในปีจศ.๖๔๙ หรือ พ.ศ.๑๘๓๐ ในขณะที่พระญามังรายครองเวียงกุ๋มก๋วมหรือกุมกาม พระญามังคามครองเมืองเชียงราย  ปล่อยให้เวียงเงินยางว่างเว้นเจ้าเมืองปกครอง  พระญามังรายจึงมีบัญชาให้เจ้าแสนภูกลับไปฟื้นฟูเมืองเงินยางให้เหมือนเดิม  ดังนั้นพระญาแสนภูจึงได้นำครอบครัวเสนาอำมาตย์  ประชาราษฎร  ลงเรือเสด็จล่องตามลำแม่น้ำกกจากเมืองเชียงรายสู่เมืองเงินยางในปี  พ.ศ. ๑๘๓๐วันอังคาร  เดือน   ออก  ๕ ค่ำ  หรือประมาณเดือนธันวาคม  เป็นเวลา   วัน  จึงออกสู่แม่น้ำโขงและแวะพักที่เวียงปรึกษา  (เชียงแสนน้อย) เดือน   ออก ๑๓ ค่ำ  จึงได้เสด็จสู่เมืองเงินยาง



         พ.ศ. ๑๘๓๑  พระองค์ได้นำอาณาประชาราษฎร  ขุดคูก่อสร้างกำแพงเมืองตามแนวคันหินเดิม
         พ.ศ. ๑๘๓๓   ได้สร้างวัดเจดีย์หลวงทับวัดเดิม   คือ วัดหลวง
         พ.ศ. ๑๘๓๘  ได้สร้างวัดป่าสักไว้นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก

การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
          เมื่อครั้งที่ พระญาไชยสงคราม พระราชโอรสในพระญามังรายมหาราชได้ทรงครองราชย์สมบัติเพียง ๔ เดือนเท่านั้นก็ทรงจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วทรงมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าแสนภู พระราชโอรสปกครองเมืองเชียงใหม่แล้ว ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าท้าวน้ำท่วม ราชบุตรองค์กลางให้ไปครองเมืองฝาง ส่วนท้าวงั่วหรือท้าวน้ำน่านราชบุตรองค์เล็กโปรดให้ไปครองเมืองเชียงของ ส่วนพระองค์เองกลับเสด็จไปปกครองเมืองเชียงรายดังเก่า  ต่อมาเจ้าขุนเครือพระอนุชาในพระญาไชยสงครามซึ่งทรงปกครองเมืองนายอยู่นั้น ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระราชบิดาสวรรคต และพระญาไชยสงครามพระเชษฐาธิราชทรงยกเมืองเชียงใหม่ให้พระราชนัดดาคือเจ้าแสนภูทรงปกครอง ก็มิทรงพอพระทัยเจ้าขุนเครือจึงทรงจัดแต่งรี้พลชาวไทยใหญ่ของพระองค์เตรียมจะยกมาชิงราชสมบัติ  เจ้าขุนเครือ ทรงยกพลมาถึงเวียงกุมกาม พักพลอยู่ ณ ทุ่งข้าวสาร ก็ทรงจัดทำเครื่องบรรณาการของฝากส่งไปถึงเจ้าแสนภูและสั่งบอกไปว่าพระองค์ทรงมาถวายพระศพพระญามังรายมหาราชผู้ทรงเป็นพระราชบิดาในพระองค์  จากนั้นเจ้าขุนเครือก็ทรงแต่งไพร่พลโดยพระองค์เองแต่งเครื่องทรงอย่างจะออกศึกไปดักที่ประตูเชียงใหม่ และอีกพวกหนึ่งดักอยู่ที่ประตูสวนดอก เพื่อคอยจับกุมตัวเจ้าแสนภูไปเป็นประกันเพื่อชิงราชสมบัติ  เจ้าแสนภูในขณะนั้นทรงมีพระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา ทรงทราบว่า เจ้าขุนเครือ เจ้าอาของพระองค์นั้นมุ่งประสงค์จะช่วงชิงราชสมบัติเพื่อครองเมืองนครพิงค์ที่พระองค์ครองอยู่  เจ้าแสนภูจึงทรงจัดแจงอพยพพระราชวงศ์เสด็จหนีออกทางประตูหัวเวียงไปทางเวียงเชียงโฉมในเวลาเที่ยงคืน เนื่องจากทรงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสู้รบกับเจ้าอาผู้มีสายพระโลหิตเดียวกันและมิทรงอยากให้ผู้คนล้มตาย  พระองค์จึงได้เสด็จเลยไปหาเจ้าท้าวน้ำท่วมผู้เป็นพระอนุชาไปยังเมืองฝางแจ้งเหตุการณ์ให้ทราบตามที่เป็นจริงแล้วต่อจากนั้นก็เสด็จเลยไปถึงเมืองเชียงรายเข้าเฝ้าพระราชบิดาก็คือพระญาไชยสงครามเพื่อทูลแจ้งให้ทรงทราบ ส่วนฝ่ายเจ้าขุนเครือก็ทรงขึ้นครองนครพิงค์ตามที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก ต่อมาพระญาไชยสงครามพระราชบิดาในเจ้าแสนภูทรงทราบเรื่องก็ทรงพิโรธ ที่ถูกพระอนุชากระทำให้เสียน้ำพระทัย พระญาไชยสงครามก็ได้แต่งพลโยธาแล้วสั่งให้เจ้าท้าวน้ำท่วมผู้ครองเมืองฝางยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่คืน เป็นวันอังคารแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ เวลาใกล้รุ่ง กองทัพของเจ้าท้าวน้ำท่วมก็มาพักอยู่ที่ตำบลทุ่งแสนตอ พอได้เวลาสมควรท้าวน้ำท่วมผู้เป็นแม่ทัพก็ทรงแต่งกลศึกอันมีชื่อว่า กลราชปัญญา คือแต่งกลให้คนเอาเครื่องศึกซ่อนในหาบ หาบไปเหมือนดังจักไปเข้าเวรรั้งเมือง คนหาบเหล่านี้มีหลายคนต่างก็แยกย้ายเข้าประจำอยู่ทุกประตูเมือง ครั้นแล้วก็ทรงแต่งพลศึกยกเรียงรายกันเข้าตั้งล้อมเมืองเอาไว้ดุจจะเข้าตีในทันทีทันใด ชาวนครทั้งหลายก็ถูกเกณฑ์ให้เข้าประจำรักษาประตูต่างๆตามหน้าที่  ครั้นถึงเวลาได้ฤกษ์งามยามดี เจ้าท้าวน้ำท่วมกับทหารร่วมใจก็ลอบยกเข้าไปถึงประตูเมือง  คนที่ล้อมตัวเป็นผู้รักษาประตูก็เปิดรับ เจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าเมืองได้ในคืนนั้นสั่งไพร่พลให้จุดไฟขึ้น กองทัพที่ล้อมเมืองก็โห่ร้องตีฆ้องกลองขึ้นอีกกะทึกแล้วกรูกันเข้าเมืองพร้อมกับยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ผู้คนแตกตื่นกันชุลมุนไปหมด  เจ้าขุนเครือนั้นเสพสุราเมานอนหลับอยู่ เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้ยกทัพมาตีเอาเมืองง่ายๆ เจ้าท้าวน้ำท่วมสั่งให้ทหารจับกุมตัวเจ้าขุนเครือทันที ครั้นแล้วก็สั่งให้นำไปขังไว้ที่มุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้แต่เป็นนอกเวียงชื่อว่า แจ่งกู่เฮือง ให้หมื่นเรืองเป็นผู้ควบคุมรักษามิให้หลบหนีไปได้ ตำบลที่เจ้าท้าวน้ำท่วมใช้เป็นที่คุมขังเจ้าขุนเครือผู้เป็นเจ้าอานี้ ภายหลังได้ชื่อว่า ตำบลขวงเชียงเรือง สืบต่อมาเจ้าท้าวน้ำท่วมกับไพร่พลโยธา ตีได้เมืองเชียงใหม่และจับได้ตัวเจ้าขุนเครือไปขังไว้แล้ว ก็ได้ปราบปรามทหารของเจ้าขุนเครือซึ่งเป็นเงี้ยวมาจากเมืองนายล้มตายจำนวนมาก เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมตีได้เมืองแล้วก็จัดการพลเมืองอยู่ในปกติ แล้วก็ทรงส่งข่าวให้พระราชบิดาที่เมืองเชียงรายทราบ พระญาไชยสงครามได้ทราบข่าวก็ทรงดีพระทัยและทรงรีบกลับเมืองเชียงใหม่ในทันทีอีกทั้งยังทรงจัดการปราบดาภิเษกเจ้าท้าวน้ำท่วมให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แต่นั้นมา ในขณะที่เจ้าท้าวน้ำท่วมทรงมีพระชนม์ได้ ๓๐ พรรษาแต่มีความสามารถปราบศัตรูได้สำเร็จ แต่ทรงครองราชย์ได้ ๒ ปีพระญาไชยสงครามพระราชบิดาเกิดระแวงว่าจะเป็นกบฏจึงได้มอบอำนาจให้ท้าวงั่วผู้เป็นอนุชาไปคุมตัวท้าวน้ำท่วมส่งไปปกครองเมืองเขมรัฐเชียงตุง พวกเขินชาวเมืองเขมรัฐก็เลยราชาภิเษกท้าวน้ำท่วมเป็นเจ้าผู้ครองเขมรัฐโชติตุงคบุรีในปีนั้น เจ้าขุนเครือถูกขังอยู่ ๔ ปีก็สิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง พระญาไชยสงครามจึงทรงยกให้เจ้าแสนภูขึ้นครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง 
          เมื่อพระญาแสนภูเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนา ในปี พ.ศ.๑๘๖๘ พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงรายโดยแต่งตั้งให้ท้าวคำฟู โอรสครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาราว พ.ศ. ๑๘๗๗ พระญาแสนภูโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในบริเวณเมืองเงินยาง (เมืองรอย ก็ว่า) ครั้นสร้างเมืองเชียงแสนแล้ว พระญาแสนภูก็ประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ การสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นนั้น ก็เพื่อป้องกันข้าศึกด้านเหนือ เพราะเชียงแสนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและสามารถใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองตามธรรมชาติได้ ตัวเมืองมีกำแพงกว้าง ๗๐๐ วา ยาว ๑๕๐๐ วา มีป้อมรายล้อมเมือง ๘ แห่ง


เมืองเชียงแสนมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองต่างๆ คือ เมืองเชียงราย เมืองฝาง เมืองสาด เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง และเมืองเชียงของ เชียงแสนจึงเป็นศูนย์กลางของเมืองตอนบน โดยมีหน้าที่ควบคุมหัวเมืองต่างๆ ที่รายล้อมดังกล่าวอีกด้วย 



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.chiangmai.smileplaza.net (กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่มีบทบาทสำคัญ:พญาแสนภู)
-http://www.thamnaai.com (พญาแสนภู:เรื่องโดย บรามี)
-หนังสือเล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยประวัติบุคคลสำคัญเรียบเรียงโดย อสิธารา
-http://phrachiangsan.com (ข่าวสารอัพเดทโดยมูลนิธิพระเชียงแสนสี่แผ่นดิน จ.เชียงราย:การสร้างอนุสาวรีย์พญาแสนภู ผู้สร้างเมืองเชียงแสน มูลค่า ๓๐๐,๐๐๐ บาท

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระญาไชยสงคราม กษัตริย์นักรบแห่งล้านนานคร

ตามประวัติกล่าวว่าพระญาไชยสงคราม ราชโอรสพระญามังราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระญาแสนภูราชโอรสให้ขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกและให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าสักการะกู่พระญามังราย ตั้งอยู่หน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง เดินทางโดยใช้เส้นทางจากวัดพระแก้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกเข้าถนนเรืองนคร จากนั้นตรงไปประมาณ ๕๐๐ เมตร จะไปบรรจบถนนงำเมือง เป็นสามแยกศูนย์คมนาคม จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ ๓๐๐ เมตร
                         



                พระญาไชยสงคราม กษัตริย์ในราชวงค์มังราย ลำดับที่ ๒ (พ.ศ.๑๘๕๔-๑๘๖๘) ทรงเป็นพระราชโอรสของพระญามังรายมหาราชได้เสวยราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรล้านนา สืบต่อจากพระญามังรายมหาราช ในปีพุทธศักราช ๑๘๖๐ ขณะขึ้นเสวยราชย์พระองค์มีพระชนมายุได้ ๕๕ ปี พระญาไชยสงครามนับเป็นปิยราชโอรส เพราะทรงเป็นเสมือนพระพาหาเบื้องขวาของพระญามังรายมหาราชพระราชบิดา ในการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ หลังจากที่ทรงมีชัยชนะต่อพระญาเบิก เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย ในการยุทธครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ แล้วพระราชบิดาก็สถาปนาให้เป็นมหาอุปราช เป็นที่เจ้าพระญาไชยสงคราม และโปรดประทานเมืองเชียงดาวให้เป็นบำเหน็จรางวัลอีกด้วย

พระญาไชยสงครามมีพระมเหสีหลายองค์ และทรงมีพระราชบุตร ๓ พระองค์ คือ เจ้าท้าวแสนภู เจ้าท้าวน้ำท่วม เจ้าท้าวงั่ว พระราชบุตรทั้งสามนี้เมื่อทรงจำเริญวัยขึ้นแล้ว พระบิดาได้ส่งเข้ามาเล่าเรียนศึกษาศิลปะวิทยาการและราชประเพณีในราชสำนักของพระญามังรายผู้เป็นพระอัยกา ซึ่งพระญามังรายก็ทรงมีพระกรุณาแก่พระนัดดาทั้งสามเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระญาไชยสงครามได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ทรงจัดการบ้านเมืองในเมืองเชียงใหม่ได้ ๔ เดือน พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ จึงได้สถาปนาให้เจ้าท้าวแสนภูพระราชบุตรองค์โตขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ในยุคนี้เมืองเชียงใหม่ได้ลดฐานะเป็นเพียงเมืองลูกหลวง พระญาไชยสงครามองค์พระประมุขทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงราย และทรงแต่งตั้งให้เจ้าท้าวน้ำท่วมพระราชบุตรองค์กลางไปครองเมืองฝาง ให้พระราชบุตรองค์เล็กคือเจ้าท้าวงั่วไปครองเมืองเชียงของ

ฝ่ายเจ้าท้าวแสนภูได้ครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๑ ปี เจ้าขุนเครือพระอนุชาของพระญาไชยสงครามซึ่งครองเมืองนายอยู่นั้น ได้ทราบว่าพระราชบิดาสวรรคตแล้ว การที่เจ้าขุนเครือทรงทราบข่าวช้าก็เพราะพระญาไชยสงครามพระเชษฐาธิราชไม่โปรดในพระอนุชาองค์นี้ เพราะทรงก่อเรื่องร้ายแรงไว้หลายประการ เช่นลอบทำชู้กับมเหสีของพระญาไชยสงคราม พระเชษฐาธิราชซึ่งยังความกริ้วให้แก่พระองค์เป็นอันมาก จึงไม่ยอมแจ้งข่าวให้พระอนุชาทรงทราบ ถึงการสวรรคตของพระราชบิดา

และเมื่อเจ้าขุนเครือทรงทราบก็ทรงดำริที่จะยกไพล่พลชาวไทยใหญ่มาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลทุ่งข้าวสาร ทำทีประหนึ่งจะเข้ามาทำการเคารพพระราชบิศพ เมื่อตั้งทัพแล้วเจ้าขุนเครือก็ยกเข้ามายังตลาดเมืองเชียงใหม่ แล้วแต่งราชสาส์นให้คนสนิทถือไปถวายเจ้าท้าวแสนภูพระนัดดา พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการ ในราชสาส์นนั้นแจ้งว่า เราเจ้าขุนเครือผู้เป็นอาขอทูลมายังเจ้าแสนภูผู้เป็นหลาน ด้วยอาได้ทราบข่าวว่าพระราชบิดา ซึ่งเป็นพระอัยกาของหลานได้เสด็จสวรรคตล่วงลีบไปแล้ว ด้วยความกตัญญูกตเวทีธรรม อาก็ใคร่เข้ามากราบบังคมเคารพพระบรมศพ ขณะนี้อาได้มาตั้งพักอยู่ที่ตลาดเมืองเชียงใหม่ ขอเจ้าผู้เป็นหลานอย่าได้มีความสงสัยในตัวอาแต่ประการใด และอาก็มิได้มีเจตนาร้ายอะไร นอกจากจะมาเคารพพระศพเท่านั้น

ข้างฝ่ายเจ้าท้าวแสนภูนั้น เมื่อทรงทราบว่าเจ้าขุนเครือผู้อาได้ยกกองทัพเข้ามา ก็ให้จัดแต่งการป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างแข็งแรง ฝ่ายเจ้าขุนเครือเมื่อส่งราชสาส์นถึงเจ้าแสนภูแล้ว ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่ที่ประตูเชียงใหม่และประตูสวนดอก (เวลานั้น ตลาดอยู่ข้างวัดพระสิงห์ปัจจุบัน) เจ้าขุนเครือตั้งทัพคอยทีอยู่ จะเข้าจับกุมเอาตัวเจ้าแสนภูผู้หลานในขณะที่เจ้าแสนภูออกไปชมตลาดในตอนเช้า

ฝ่ายเจ้าแสนภูนั้น หาได้มีความประมาทไม่ พระองค์ทรงดำริว่าแม้ตัวเราจะยกกองทัพออกสู้รบกับกองทัพเจ้าขุนเครือผู้อาก็ย่อมทำได้ แต่อาจพลาดพลั้งลงไปเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตด้วยน้ำมือทหารหาเป็นการสมควรไม่ เมื่อเป็นดังนี้สมควรที่พระองค์จะเสด็จหลบหนีออกจากเมืองเชียงใหม่เสียก่อน จึงจะไม่เป็นเวรานุเวรสืบต่อไป เมื่อทรงดำริเช่นนั้นแล้วก็ทรงอพยพครัวหนีออกจากเชียงใหม่ไปทางประตูหัวเวียง คือ ประตูช้างเผือก เวลานั้นยังไม่เรียกว่าประตูช้างเผือก ชื่อประตูช้างเผือกนี้เพิ่งมาเรียกในสมัยหลังในรัชกาลของพระญาแสนเมืองมา

เจ้าแสนภูพาครอบครัวหนีไปหาเจ้าท้าวน้ำท่วมอนุชาซึ่งครองเมืองฝาง พ่อท้าวน้ำท่วมก็จัดแต่งผู้คนออกไปส่งเจ้าแสนภูเชษฐาและครอบครัวถึงเมืองเชียงราย เจ้าแสนภูจึงนำความกราบบังคมทูลพระญาไชยสงครามพระราชบิดาให้ทรงทราบทุกประการ พระญาไชยสงครามทรงทราบดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธพระอนุชาเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าบรรดามุขมนตรีทั้งหลายว่า ขุนเครือนี้ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงถึง ๓ ประการ ประการที่ ๑ ได้ลอบทำมิจฉาจารต่อภริยาของกูที่เมืองเชียงดาว ประการที่ ๒ แย่งชิงเอาเมืองเชียงดาวที่พระราชบิดาประทานให้แก่กู ประการที่ ๓ บังอาจยกไพร่พลมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่จากลูกของกูอีก ฉะนั้นกูจะยกไปปราบมันเสียให้จงได้

ทรงมีพระราชดำรัสดังนั้นแล้ว ก็โปรดให้จัดแต่งกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ในเดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีวอก ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๖๒ โปรดให้เจ้าท้าวน้ำท่วมราชบุตรองค์ที่ ๒ เป็นทัพหน้ายกไปยังเมืองเชียงใหม่ก่อน เจ้าท้าวน้ำท่วมยกไปถึงเมืองเชียงใหม่ในวันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาใกล้รุ่ง ให้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลทุ่งแสนตอ เจ้าท้าวน้ำท่วมจึงจัดแต่งกลศึกอันมีชื่อว่าราชปัญญา คือแต่งคนเอาเครื่องศึกใส่หาบดังประหนึ่งมาเข้าเวรรั้งเมือง ดังที่เคยปฏิบัติมาแต่กาลก่อน

พวกไพร่พลที่ปลอมตัวไปนั้น ก็เข้าไปประจำอยู่ทุกประตูเมือง แล้วพระองค์จัดแต่งทหารอีกกองหนึ่ง ยกเรียงรายกันล้อมตัวเมือง เพื่อให้พวกชาวเมืองเป็นกังวลรักษาหน้าที่ ครั้นได้ยามดี เจ้าท้าวน้ำท่วมกับทหารร่วมพระทัยก็ลอบยกเข้าไปถึงประตูเมือง ไพร่พลที่ปลอมเข้าไปเป็นคนรักษาประตูก็เปิดประตูเมือง ออกรับกองทัพของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าเมืองได้ แล้วไพร่พลทั้งหลายก็พากันโห่ร้องยิงปืนตีฆ้องกลองอย่างสนั่นหวั่นไหว ชาวเมืองทั้งหลายของเจ้าท้าวน้ำท่วม ไล่ฟันไพร่พลของเจ้าขุนเครือล้มตายลงเป็นอันมาก

ข้างฝ่ายเจ้าขุนเครือนั้น เสพสุรามึนเมานอนหลับอยู่ในหอคำ นายประตูที่เฝ้ารั้งคุ้มหลวงอยู่ เห็นไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมบุกเข้ามาเช่นนั้นก็รีบเข้าไปปลุกร้องว่า กองทัพเจ้าท้าวน้ำท่วมผู้หลานเจ้า ตนครองเมืองฝางนั้น ยกเข้าเมืองได้แล้ว และกำลังยกเข้ามายังคุ้มหลวง ขอเจ้าเร่งรีบหนีเอาตัวรอดเถิดแล้วนายประตูก็รีบหนีเอาตัวรอดไป ฝ่ายเจ้าขุนเครือได้ยินดังนั้น ก็มีความตกพระทัยเป็นอันมาก รีบลุกขึ้นจากที่บรรทมวิ่งไปตีกลองสัญญาณเรียกไพร่พล แต่หามีผู้ใดมาไม่ เพราะต่างก็ตื่นหนีศึกไปก่อนแล้ว เจ้าขุนเครือเลยตกตะลึงยืนพะว้าพะวังอยู่ที่นั้นเอง ไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าไปถึงก็เลยจับกุมเอาตัวเจ้าขุนเครือได้ และนำไปถวายเจ้าท้าวน้ำท่วม เจ้าท้าวน้ำท่วมจึงให้เอาตัวไว้เพื่อรอให้พระญาไชยสงครามพระราบิดาทรงพิจารณาโทษด้วยพระองค์เอง

เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมจัดการบ้านเมืองจนเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งข่าวสาส์นไปกราบทูลให้พระราชบิดา ณ เมืองเชียงรายให้ทรงทราบ พระญาไชยสงครามทรงมีพระทัยโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงตรัสชมเชยพระราชบุตรองค์ที่ ๒ ว่าแกล้วกล้าในการสงคราม สมควรที่จะได้ครองเมืองเชียงใหม่แทนเจ้าแสนภูต่อไป ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงยกพหลพลเสนาตรงไปยังเมืองเชียงใหม่ โปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษกให้เจ้าท้าวน้ำท่วมเป็นพระญาครองเมืองเชียงใหม่

เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมได้ครองบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๐ ชันษา ปีที่ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่นั้นตรงกับปี พ.ศ. ๑๘๖๕ ส่วนเจ้าขุนเครืออนุชานั้น ทรงมีพระเมตตาอยู่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกัน และเป็นอนุชาองค์เดียวเท่านั้น จึงไม่ลงพระอาญาฆ่าฟัน เพียงแต่ให้จำขังไว้ ณ ที่มุมเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ และให้หมื่นเรืองเป็นผู้ดูแล เจ้าขุนเครือถูกคุมขังอยู่ได้ ๔ ปีก็พิราลัย และมุมเมืองทางด้านนั้น ส่วนหมื่นเรืองผู้ดูแลนั้น เมื่อถึงแก่กรรมลงก็สร้างกู่ที่บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่นั้น มุมเมืองด้านนั้นเลยเรียกว่าแจ่งกู่เรือง ตามนามของหมื่นเรืองนั้นเอง (คำว่า แจ่งกู่เรือง เมืองเหนือออกเสียงเป็น แจ่งกู่เฮือง)

เจ้าท้าวน้ำท่วมครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๒ ปี ลุปี พ.ศ. ๑๘๖๗ มีผู้ไปกราบทูลพระญาไชยสงครามว่า เจ้าท้าวน้ำท่วมจะคิดกบฏ พระญาไชยสงครามทรงมีความระแวง จึงโปรดให้เจ้าท้าวงั่วราชบุตรองค์เล็กมาคุมตัวเจ้าท้าวน้ำท่วมไปยังเมืองเชียงราย ทรงไต่สวนทวนความดูก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระราชบุตรองค์ที่ ๒ จะคิดทรยศจริงดังคำกราบทูลนั้น จึงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงตุง และโปรดให้อภิเษกเจ้าแสนภูราชบุตรองค์โตเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ครั้นเสร็จจากพิธีอภิเษกเจ้าแสนภูแล้ว ก็เสด็จกลับคืนไปยังเมืองเชียงราย สถิตสำราญอยู่ได้ ๒ ปี ก็ทรงพระประชวรสวรรคต สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๒ ชันษา เจ้าแสนภูราชบุตรองค์โตได้เถลิงราชสมบัติสืบต่อมา และได้ทรงไปบูรณะเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่นั้น แล้วย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงแสนตลอดรัชกาลของพระองค์

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน สร้างโดยพระญาแสนภู พระราชนัดดาของพระญามังรายมหาราช หลังจากนั้นพระญาแสนภูได้เสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่แทนพระราชบิดา คือ พระญาไชยสงครามซึ่งเสด็จมาประทับยังเมืองเชียงราย พร้อมทั้งนำอัฐของพระราชบิดา คือพระญามังรายมหาราชที่เสด็จสวรรคตที่เชียงใหม่กลับมายังเมืองเชียงราย


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก


วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา

พระบรมราชานุสาวรีย์พระญามังรายมหาราช ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดเชียงราย
บริเวณทางแยกที่จะไป อำเภอแม่จัน


                         พระราชตระกูลของพระญามังรายมหาราช  เริ่มต้นตั้งแต่ชาวไทยภาคเหนือหรือชาวไทยยวนอันเป็นบรรพบุรุษของชาวล้านนาหรือไทยเหนือในปัจจุบัน ได้อพยพหนีภัยจากการรุกรานของจีน เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๑๘๒  อันเป็นที่อยู่ของพวกชนเผ่าละว้าหรือลัวะ  ชนเผ่าไทยยวนได้ขับไล่พวกละว้าออกไปแล้วตั้งอาณาจักรของตนขึ้นใหม่ว่า อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง และได้สถาปนาพระมหากษัตริย์ปกครองเมืองคือ พระญาลวจักราชหรือปู่เจ้าลาวจกนั่นเอง  ซึ่งพระองค์ก็คือบรรพบุรุษของพระญามังรายมหาราช  พระญาลวจังกราชได้สถาปนาราชวงศ์ จักราช และทรงมีพระราชโอรส ๓ พระองค์คือ ลาวหม้อ(ต่อมาได้ครองเมืองเชียงลาว)  ลาวล้าน(ต่อมาได้ทรงครองเมืองเชียงรุ้ง)  ลาวกลิ่น(ต่อมาทรงได้ครองเมืองเวียงสีทอง)  พระโอรสที่มีความสังพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระญามังรายมหาราชก็คือพระญาลาวล้านและพระญาลาวกลิ่น  กล่าวคือ พระญาลาวล้านเมื่อทรงครองราชย์ที่นครเชียงรุ้งนั้นได้ทรงเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า ท้าวรุ้งแก่น และทรงมีพระธิดาพระนามว่า เจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมือง  ส่วนพระญาลาวกลิ่นเจ้าแผ่นดินเวียงสีทองทรงมีพระโอรสพระนามว่า ลาวเคียง เมื่อลาวเคียงได้เป้นรัชทายาทก็ทรงเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า พระญาลาวเงิน  เมื่อพระญาลาวเงินทรงครองราชย์สมบัติก็ได้ทรงมีพระโอรสพระนามว่า ลาวเม็ง กล่าวคือพระญาลาวเม็งเป็นหลานปู่ของพระญาลาวกลิ่น
                                เมื่อพระญาลาวเงินสิ้นพระชนม์  พระญาลาวเม็งก็ได้ทรงครองราชย์สืบมา  พระญาลาวเม็งทรงมีความต้องการที่จะได้เมืองเชียงรุ้งเป็นพระเทศราชซึ่งเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองที่ใหญ่โตและอุดมสมบูรณ์ซึ่งจะทำให้แคว้นเวียงสีทองมีความยิ่งใหญ่ขึ้น ขณะนั้นท้าวรุ้งแก่นแห่งแคว้นเชียงรุ้งทรงชราภาพมากแล้ว เมื่อพระญาลาวเม็งยกทัพมาประชิดพระนคร เจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมืองพระราชิดาจึงอาสายกทัพไปรบกับพระญาลาวเม็งโดยทรงปลอมพระองค์เป็นชาย ซึ่งพระญาลาวเม็งทรงทราบว่าแท้จริงแล้วเจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมืองเป็นหญิง พระญาลาวเม็งจึงทรงมีพระราชหฤทัยเสน่หาในเจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมือง จนในที่สุดพระญาลาวเม็งก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอั้วมิ่งจอมเมือง และได้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าเทพคำขยาย 
                             พระญาลาวเม็งและเจ้าเทพคำขยาย ทรงมีความสุขอยู่ร่วมกันจนได้ให้กำเนิดพระประสูติกาลพระญามังรายมหาราช เมื่อ วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกศก จุลศักราช ๖๐๑(พ.ศ.๑๗๘๒)  เวลาย่ำรุ่ง บางฉบับบอกว่าวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ จุลศักราช ๖๐๐(พ.ศ.๑๗๘๑) ซึ่งห่างกันประมาณ ๑ ปีครับ   ในระหว่างที่พระญามังรายมหาราชทรงประสูติกาลนั้นได้มีฤาษีปะทะมังกรให้คำทำนายว่าพระญามังรายมหาราชจะทรงครองเมืองอยุ่เพียง ๑๖ ปีแล้วจะไปตั้งเมืองครองอยู่เองในทิศใต้ หลังจากครองเมืองนั้นเป็นเวลา ๒๐ ปีก็จะไปสร้างนครใหม่ทางทิศใต้อีก และจะมีพระชนมายุถึง ๘๐ พรรษา จะทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่เลื่องลือทั่วไป แต่เพราะวิบากกรรมในอดีตชาติพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ด้วยสายอสุนีบาต   พระญาลาวเม็งทรงปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางอย่างปกติสุขจนเจ้าชายมังรายพระชนมายุได้ ๑๓ ชันษาก็ได้ทรงร่ำเรียนวิชาศิลปศาสตร์และยุทธพิชัยสงครามจากพระอาจารย์ที่พระราชบิดาทรงหามาให้ และทรงไปศึกษาวิชากับเทพอิสิฤาษีที่ดอยด้วน(ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่อำเภอพานเรียกว่าดอยหัวง้ม) ซึ่งเป็นสำนักเดียวกันที่ทรงศึกษากับเจ้าชายงำเมือง(พระญางำเมือง)และเจ้าชายราม(พ่อขุนรามคำแหง)  แล้วได้รำเรียนวิชาจบแล้วก็ย้ายไปสุกทันตฤๅษีก็ยังพบสหายอยู่เมื่อเรียนวิชาสำเร็จเจ้าชายทั้งสามเห็นว่าต้องแยกจากกันจึงดื่มน้ำสาบานว่าจะเป็นเพื่อนกันตลอดไปแล้วได้พูดว่า หากใครบ่ซื่อคิดคดขอให้ตายในสามวันอย่าให้ทันในสามเดือนอย่าให้เคลื่อนในสามปี จากนั้นเจ้าชายทั้งสามก็กลับบ้านเมืองของตนไปเมื่อเจ้าชายมังรายมีพระชนมายุ ๑๖ ชันษา พระญาลาวเม็งทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายไปเป็นทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนครเพื่อนบ้าน ได้แก่ นครเชียงรุ้ง นครเชียงคำ นครเชียงเรือง ต่อมาเจ้าชายมังรายได้เข้าพระราชพิธีอาวาหมงคลกับเจ้าหญิงเรือนคำ พระราชธิดาในพระญาเจือง แห่งนครเชียงรุ้ง ณ เมืองหิรัญนคร หลังจากที่เจ้าชายมังรายเข้าพระราชพิธีอาวาหมงคลได้ไม่นาน พระญาลาวเม็งทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายมังรายเป็นอุปราช   พ.ศ.๑๘๐๒ พระญาลาวเม็งทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๗๕ พรรษา ครองราชย์ได้ ๔๐ พรรษา เจ้าชายมังรายจึงได้ขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อมา เป็นรัชกาลที่ ๒๕ แห่งราชวงศ์ลวจักราช  ทรงพระนามว่า พระญามังราย 
                           พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะรวบรวมหัวเมืองต่างๆที่ขึ้นอยู่กับหิรัญนครเงินยางที่ดำรงอยู่อย่างอิสระ มีเรื่องวิวาทแย่งชิงบ้านเมืองไพร่และส่วยสาอากรอยู่เป็นเนืองๆ จึงทรงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์ แต่งพระราชสาส์นไปถึงบรรดาหัวเมืองต่างๆ ให้มาอ่อนน้อมในพระบรมโพธิสมภารของพระองค์เสียแต่โดยดี มิฉะนั้นพระองค์จะทรงยกทัพไปปราบปราม แล้วพระองค์ก็แต่งราชทูตมอม  เมืองไล่ เมืองเชียงคำ เมืองเชียงช้าง อันเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองเหล่านี้ถือว่าตนเป็นเชื้อสายเจ้าลาวคอบอันเป็นโอรสของพระญาลวจักราชปฐมวงศ์มาแต่กาลก่อน ไม่ยอมอ่อนน้อมจัดแต่งกำลังป้องกันไว้อย่างเข้มแข็ง เมื่อพระญามังรายทราบก็ทรงยกกองทัพไปตีเมืองมอมก่อน เมื่อทรงได้เมืองมอมแล้วก็ทรงยกทัพไปตีเมืองไล่  เจ้าเมืองหนีออกจากเมืองไปจึงได้นามเมืองว่าเมืองไล่(ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด)  จากนั้นทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงช้าง เจ้าเมืองเชียงช้างสำนึกว่าตนเป็นเมืองน้อย จึงแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระญามังราย  พระญามังรายทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง  ทรงโปรดให้เจ้าเมืองเชียงช้างครองเมืองต่อไป  และโปรดให้เจ้าเมืองเชียงช้างนำทัพไปติดตามพลเมืองที่แตกฉานจากบ้านเมืองไปในที่ต่างๆ ให้กลับเข้ามายังบ้านเมืองอย่างเดิม แล้วทรงยกทัพกลับคืนยังเมืองหิรัญนครเงินยาง ในปี พ.ศ.๑๘๐๒   
                            ครั้นต่อมาช้างพระที่นั่งมงคลของพระญามังราย ซึ่งทอดไว้ในป่าหัวดอยทางทิศตะวันออกของเมืองเต่ารอย  หรือเมืองลาวกู่เต้านั้นหายไป พระญามังรายพร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารออกติดตามช้างไปถึงดอยจอมทองริมแม่น้ำกก พระญามังรายทรงทอดพระเนตรเห็นว่าภูมิประเทศแถบนั้นสมควรจะสร้างเป็นเมืองได้จึงโปรดให้สร้างเป็นเมืองพระนคร โดยให้ก่อกำแพงเมืองโอบเอาดอยจอมทองไว้ท่ามกลางเมือง แล้วทรงขนานนามว่า เมืองเชียงราย(เจียงฮาย)  ปีที่พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงรายนั้นตรงกับ พ.ศ.๑๘๐๕ พระองค์ได้ยกทัพไปตีเชียงตุง ได้จากมางคุมมางเคียน ซึ่งเป็นพระญาลัวะ มางคุมมางเคียนยอมแพ้ในเวลานั้นยังไม่ได้เรียกว่าเมืองเชียงตุง เมื่อพระญามังรายทรงปราบพวกลัวะได้จึงให้สร้างเมืองขึ้นใหม่และทรงขนานนามว่า นครเชียงตุง ในปีนั้นพระมเหสีของพระองค์ได้ประสูติกาลพระราชโอรสองค์แรก ทรงพระนามว่าเจ้าขุนเครื่อง ในปี พ.ศ.๑๘๐๘ ได้พระโอรสองค์ที่๒ พระนามว่าเจ้าขุนคราม และในปีถัดมาได้พระโอรสพระนามว่า เจ้าขุนเครือ
                          เมื่อเจ้าขุนเครือ พระชนม์ได้ ๑๖ ชันษา พระญามังรายมหาราชทรงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงราย ส่วนพระองค์ทรงไปครองเมืองฝางเพื่อหวังที่จะแผ่ขยายอาณาจักรลงมาทางใต้ ดังที่ทรงมีพระประสงค์ไว้
                       ส่วนเจ้าขุนเครื่อง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพระยุพราช มีมนตรีที่ประจบสอพลอคนหนึ่งนามว่า ขวัญฟ้า มีลูกสาวชื่อว่าคำฟูต่อมาเจ้าขุนเครื่องสู่ขอคำฟูเป็นชายาขวัญฟ้าได้ทำการยุแหย่เจ้าขุนเครื่องให้ลอบปลงพระชนม์พระบิดาแต่มีมนตรีคนเก่าแก่ของเจ้าขุนเครื่องคนหนึ่งที่พระญามังรายเจ้าส่งมาและถูกเจ้าขุนเครื่องปลดออกแล้วได้ทราบความลับดังกล่าว มนตรีคนนี้จึงได้ไปกราบทูลพระญามังรายเจ้าให้ทรงทราบ พระญามังรายจึงทรงส่งคนมาสืบและทรงทราบว่าเป็นเรื่องจริง จึงโปรดเกล้าให้อ้ายเผียนนายขมังธนูนักแม่นหน้าไม้เผ่าเชียงตุงเข้าเฝ้า และทรงรับสั่งให้สังหารเจ้าขุนเครื่องอ้ายเผียนจึงได้สังหาร เจ้าขุนเครื่อง ขวัญฟ้า และนางคำฟูด้วยธนูอาบยาพิษ

การแผ่พระบารมีของพระญามังรายมหาราช
พ.ศ.๑๘๑๑ ได้แปรพระราชฐานไปประทับอยู่เมืองฝาง ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระญาลวจักราช ปฐมวงศ์ เมื่อพ.ศ.๑๑๘๓
พ.ศ.๑๘๑๒ ทรงยกทัพไปตีเมืองผาแดงเชียงของได้ แล้วทรงเสด็จกลับมาประทับที่เมืองฝาง
พ.ศ.๑๘๑๔ ทรงยกทัพไปตีเมืองเชิง ทรงได้รับชัยชนะและทรงได้เมืองเชิงมาไว้ในครอบครอง แล้วเสด็จกลับมาประทับที่เมืองฝาง
พ.ศ.๑๘๑๙ ทรงยกทัพไปตีแคว้นพะเยาของ พระญางำเมืองธรรมมิกราช แต่พระญางำเมืองทรงแต่งขบวนออกมาต้อนรับ พระญามังรายจึงทรงรับเป็นไมตรีต่อกัน และพระญางำเมืองได้ยกดินแดนบริเวณตำบลปากน้ำให้แก่พระญามังรายอีกด้วย
พ.ศ.๑๘๒๔ ทรงยกทัพไปตีแคว้นหริภุญชัยจาก พระญายีบา ทรงทำสงครามอยู่นานกว่าจะสำเร็จทรงส่งให้ขุนฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึกในนครหริภุญชัย เมื่อขุนฟ้าสบโอกาสจึงได้ส่งข่าวไปบอกแก่พระญามังรายเจ้ายกทัพเข้าตีหริภุญชัยสำเร็จ พระญายีบาทรงเสด็จหนีออกจากเมืองโดยได้รับความช่วยเหลือจากพระญาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์นครซึ่งเป็นพระโอรสของพระญายีบา พระญายีบาเสด็จหนีออกเมืองไปถึงดอยกลางป่าก็คิดนึกได้ที่เสียรู้ขุนฟ้าเป็นไส้ศึกให้พระญามังรายก็เสียใจหลั่งน้ำตาร้องไห้ สถานที่น้ำตาตกนี้จึงมีชื่อว่า ดอยพระญายีบาร้องไห้มาจนทุกวันนี้ ต่อมาพระญายีบาจึงหนีมาอยู่กับพระญาเบิกเจ้าเมืองลำปาง(เขลางค์) ผู้เป็นโอรส เวลาล่วงไป ๑๔ ปี พระญาเบิกทรงช้างชื่อ ปานแสนพล ยกทัพไปหมายจะตีเมืองลำพูนคืนให้พระบิดา พระญามังรายให้เจ้าขุนสงครามทรงช้างชื่อแก้วไชยมงคลออกรับศึก ทั้งสองได้ทำยุทธหัตถีกัน ที่บ้านขัวมุงขุนช้าง ใกล้เมืองกุมกาม พระญาเบิกถูกหอกแทงบาดเจ็บ และตีฝ่าวงล้องออกมาได้ จึงมาตั้งรับอยู่ที่ตำบลแม่ตาล เขตเมืองลำปาง ได้สู้รบกันเป็นสามารถผล ที่สุดทัพลำปางแพ้ยับเยิน เจ้าขุนสงครามจับกุมตัวพระยาเบิกแม่ทัพได้ และปลงพระชนม์เสียที่นี่ ดวงวิญญาณอันกล้าหาญเปี่ยมไปด้วยกตัญญูเวทิคุณนี้ จึงได้รับพระราชทานนามว่า "เจ้าพ่อขุนตาน" พระญามัรายทรงครองเมืองหริภุญชัยได้ ๒ ปีจึงเสด็จไปสร้างเมืองใหม่คือ เวียงกุมกาม เนื่องจากทรงมีพระดำริว่าเมืองหริภุญชัยไม่เหมาะกับพระองค์จึงทรงให้เจ้าขุนเครือพระโอรสองค์เล็กของพระองค์มาปกครองเมืองนี้แทน
พ.ศ.๑๘๓๑ ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้ากรุงหงสาวดีสุทธโสมเกรงพระบารมีจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นพระราชไมตรีและยอมยกพระราชธิดาพระนางปายโคให้เป็นบาทบริจาริกาแก่พระองค์
พ.ศ.๑๘๓๓ ทรงยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระเจ้าอังวะทรงทราบข่าวจึงได้ให้เสนาอำมาตย์ นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นพระราชไมตรี พระเจ้าอังวะได้ทรงส่งช่างต่างๆมาให้ เช่น ช่างทองคำ ช่างทองเหลือง ช่างทองแดง ช่างเหล็กและอื่นๆ พระญามังรายจึงทรงยกทัพกลับทรงโปรดให้ช่างทองไปอยู่เมืองเชียงตุง ช่างฆ้องไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน ช่างทองเหลือง ช่างเหล็กไปอยู่ที่เมืองเวียงกุมกามอีกทั้งยังทรงได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ
พ.ศ.๑๘๓๔ เสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ จถึงปี พ.ศ.๑๘๓๘ ก็แล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัย   พระญางำเมืองธรรมมิกราช พระเจ้าแผ่นดินแคว้นพะเยา มาช่วยกันนานนามเมืองใหม่ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
                พระญามังรายมหาราช ทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งและกล้าหาญในการศึกสงครามและทรงมีสายพระเนตรไกล เป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ทรงจับจองดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แล้วทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นหลายเมือง เช่น นครเชียงราย เวียงกุมกาม  นครเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือ ทั้งด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

อาณาเขตในสมัยของพระองค์
กล่าวคือหลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำไปแล้วในปี พ.ศ.๑๘๒๔ ตีเมืองหิริภุญชัยจากพระญายีบาได้สำเร็จดินแดนภาคเหนือทั้งหมด พระญามังรายมหาราชได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกล ดังนี้
                      ทิศเหนือ         จดสิบสองปันนา
                      ทิศใต้           จดอาณาจักรสุโขทัย
                      ทิศตะวันออก        จดแคว้นลาว
                      ทิศตะวันตก      จดแม่น้ำสาละวิน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระญามังรายมหาราชบริเวณวัดดอยงำเมือง จังหวัดเชียงราย

พระญามังรายมหาราชกับการเป็นยอดนักตุลาการ
จากการเรียบเรียงของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในหนังสือ อนุสรณ์การสมโภชเมืองเชียงราย ๗๒๕ ปี เอกสารดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า พระญามังรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ทรงเป็นผู้ไว้ซึ่งความสุขุมรอบคอบ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พระองค์ทรงตรากฎหมายไว้มากมาย เรียกกันว่า กฎหมายมังรายศาสตร์หรือวินิจฉัยมังราย นับว่าเป็นหนังสือใบลานที่เก่าแก่ที่สุดต้นฉบับเดิมเขียนเป็นภาษาไทเหนือหรืออักษรตั๋วเมือง ความหมายของชื่อกฎหมายนั้นหมายความว่าเป็นคำพิพากษาของพระญามังรายเจ้านั่นเอง สำหรับลักษณะการแต่งของกฎหมายมังรายศาสตร์นี้เป็นการแต่งแบบร้อยแก้วมังรายศาสตร์เป็นหนังสือกฎหมายที่ได้รวบรวมเรียบเรียงมาจากหนังสือธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์กฎหมายเก่าแก่ของอินเดีย ที่ถูกมอญดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของตนไปบ้างแล้ว  ในส่วนของตอนแรกกล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์ล้านนา การสร้างเมืองเชียงใหม่และวัตถุประสงค์ในการแต่ง คำนำ ใช้คำว่าสิทธิสวัสดี กล่าวถึงกฎหมายที่ได้รู้มาแต่โบราณ พระญามังรายจึงบัญญัติไว้เพื่อให้ท้าวพระยาทั้งหลายผู้เป็นลูกหลานเหลน และเสนาอมาตย์ผู้ปกครองเมืองสืบไปได้รู้จักผิดรู้จักชอบ  ตอนที่สองกล่าวถึงเรื่องระเบียบการปกครอง ซึ่งสมัยนั้นได้มีการจัดการปกครองออกเป็นหมู่ๆ หมู่ละ๑๐ คนบ้าง ๑๐๐ คนบ้าง ๑,๐๐๐ คนบ้าง ๑๐,๐๐๐ คน ๑๐๐,๐๐๐ คนบ้าง โดยมีหัวหน้าทำหน้าที่ในการปกครองในแต่ละหมู่  ตอนที่สามกล่าวถึงเรื่องของตัวบทกฎหมาย ที่มีคำอธิบายพร้อมเหตุผลประกอบ มีจริยธรรมสอดแทรก และมีลักษณะของความยืดหยุ่นเพื่อความเหมาะสมอีกด้วย สำหรับหมวดหมู่ต่างๆที่ถูกแบ่งไว้มีดังนี้
๑.กฎหมายหมวดหนีศึก
๒.คนตายกลางสนามรบ
๓.รบศึกกรณีได้หัว และไม่ได้หัวข้าศึก
๔.เสนาอมาตย์ตาย
๕.ให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน
๖.ไพร่กู้เงินทุน
๗.ไพร่สร้างไร่นา
๘.โทษหนักสามสถาน
๙.โทษประหารชีวิต
๑๐.ลักษณะหมั้น
๑๑.ลักษณะหย่า
๑๒.การแบ่งสินสมรส
๑๓.ขอรับมรดก
๑๔.อายุความยี่สิบปี
๑๕.สาเหตุวิวาทกัน ๑๖ ประการ
              จากหมวดกฎหมายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์แห่งการปกครองอย่างแท้จริ สมัยโบราณการศึกษายังไม่มีเป็นระบ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีสถาบันการศึกษา แต่พระญามังรายมหาราชทรงรอบรู้จากสติปัญญา จากสามัญสำนึกและจินตนาการอันแหลมคมของพระองค์  กฎหมายพระญามังรายมหาราชนั้นได้กลายมาเป็นพื้นฐานของกฎหมายปัจจุบันที่ได้รับการพัฒนาสืบมา
ตัวอย่างในการพิจารณาคดีในกฎหมายมังรายศาสตร์ของพระองค์
ไพร่สิบคน ให้มีนายสิบผู้หนึ่ง ข่มกว้านผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อ (ล่าม) ป่าวประกาศเรื่องงานการประจำนายสิบทุกคน
นายสิบ ๕ คน ให้มีนายห้าสิบผู้หนึ่ง มีปากขวาและปากซ้ายเป็นผู้ช่วยรวม ๒ คน
นายห้าสิบ ๒ คน ให้มีนายร้อยผู้หนึ่ง
นายร้อย ๑๐ คน ให้มีเจ้าพันผู้หนึ่ง
เจ้าพัน ๑๐ คน ให้มีเจ้าหมื่นผู้หนึ่ง
เจ้าหมื่น ๑๐ คน ให้มีเจ้าแสนผู้หนึ่ง 
หนีศึก  ในการรบ ผู้ใดหลบหนีละทิ้งผู้บังคับบัญชา ให้ฆ่าเสีย
ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีดังนี้ ไพร่ นายสิบ นายห้าสิบ นายร้อย เจ้าพัน เจ้าหมื่น เจ้าแสน และ พระยา
เมื่อฆ่าแล้ว ให้ริบครอบครัวทรัพย์สินทั้งสิ้นเพื่อมิให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง ให้สักหมึกไว้ที่หน้าผาก ว่ามันผู้นี้เจ้านายไม่รับเลี้ยงเพื่อให้เป็นที่น่าละอายยิ่งนัก ในทำนองเดียวกัน ให้ฆ่าผู้ซึ่งละทิ้งลูกน้องในที่รบ ผู้บังคับบัญชามีลำดับลงมาดังนี้ เจ้าแสน เจ้าหมื่น ล่ามหมื่น เจ้าพัน ล่ามพันและพันน้อย ล่าวบ่าว กว้าน ไพร่ เมื่อฆ่าแล้ว ให้ริบเอาครอบครัวทรัพย์สินทั้งสิ้น
ข้อความดังนี้ มีมาแต่โบราณ ผู้เป็นใหญ่และสัปบุรุษก็ควรพิจารณาว่า ชาติสัตว์ทั้งหลายมียศศักดิ์มากนักยังไม่รักเจ้านายตน ขี้ขลาดละทิ้งเจ้านายเสียดังนี้ ผู้ขี้ขลาดอื่นๆก็จะกระทำอย่างเดียวกันนี้ ให้สักหน้าผากด้วยหมึกแล้วปล่อยเสียเถิด
ฉบับวัดเชียงหมั้น อธิบายว่า ทำดังนี้ เสียหาย (ร้าย) ยิ่งกว่าตายเสียอีก
อนึ่ง พระยาเจ้าผู้มีธรรมกรุณา ก็ควรพิจารณาถึงคุณความดีของผู้ขี้ขลาดนี้ หากทำดีไว้ก่อน ก็ควรกรุณาตามควร เพราะคนทุกคนก็ย่อมกลัวตายด้วยกันทั้งสิ้น ควรลงโทษบ้างเพื่อมิให้คนอื่นดูเยี่ยงอย่าง แต่ไม่ควรประหารชีวิต เพราะการเกิดเป็นคนนี้ ยากนัก
คนตายกลางสนามรบ     เจ้าขุนผู้ใดกล้าหาญมาก ไม่ถอยหนี ได้รบได้ชน ได้ฆ่าในที่รบ แต่ถูกข้าศึกฆ่าตาย ไม่ควรริบครอบครัว ทรัพย์สินเข้าพระคลัง เพราะคนทั้งหลายมาอาสาต่อท้าวพระยา ก็เพื่อจะคุ้มครองลูกเมีย เมื่อตายเพราะรับอาสาเจ้านาย ก็ไม่ควรให้ลูกเมียผู้ตายได้รับทุกข์ ควรปล่อยให้อยู่ตามใจเขา ถ้ามีลูกหลานควรเลี้ยงไว้สืบเชื้อสายต่อไป
รบศึก กรณีได้หัว และ กรณีไม่ได้หัวข้าศึกมา
มาตรา ๑
นายตีนผู้ใดรบศึกในสนามรบ ได้หัวนายช้างนายม้ามา ควรเลี้ยงดูให้เป็นใหญ่ อนึ่ง ถ้าข้าศึกมาล้อมบ้านเมือง ผู้ใดรบชนะได้หัวข้าศึกมาให้รางวัลหัวละ ๓๐๐ เงิน ให้ไร่นาที่ดิน และ เลี้ยงดูให้เป็นใหญ่ หากนายตีนได้หัวนายม้า ควรเลื่อนขึ้นเป็นนายม้า คนตีนได้หัวนายช้างควรเลื่อนขึ้นเป็นนายช้าง ให้มีฉัตรกั้น ให้ภริยา เครื่องทอง ทั้งทองปลายแขน เสื้อผ้าอย่างดี เพราะเขารับอาสาด้วยเต็มใจ จึงควรรางวัลให้อย่างเต็มใจเช่นกัน เพื่อให้คนทั้งหลายอุตสาหะอาสาต่อเจ้านาย
มาตรา ๒
คนตีนได้ฆ่านายช้างนายม้าตายในที่รบจะตัดหัวก็ไม่ทัน แต่มีผู้รู้เห็นก็ควรรางวัลให้ยศศักดิ์แก่เขา
เสนาอมาตย์ตาย        ประการหนึ่ง เสนาอมาตย์ผู้ใดช่วยปกครองบ้านเมืองดีมาก รักษากฏหมาย ให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองและเจ้านาย หากตายไป ควรปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตาย เกี่ยวกับช้างม้าเงินทองข้าคนทั้งหลาย หากตายไม่ทันสั่งเสีย ให้นำทรัพย์สินแบ่งเข้าพระคลังครึ่งหนึ่ง ให้ลูกเมียครึ่งหนึ่ง หากมีลูกหญิงลูกชาย พระยาเจ้าควรเลี้ยงดูตามคุณความดี อย่าให้เสียวงศ์สกุลผู้ตาย เพราะเชื้อผู้ดีหาได้ยากมาก ถ้าทำผิดครั้งสองครั้ง ก็ไม่ควรประหารชีวิต เพราะนึกถึงบุญคุณของผู้ตาย ควรสั่งสอนดูก่อน แต่ถ้าทำผิดร้ายแรงมาก ไม่มีทางสั่งสอน จึงควรลงโทษตามความผิดนั้น
ให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน
มาตรา๑
ควรจัดให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน มาทำงานหลวง ๑๐ วัน กลับไปสร้างเหมืองฝาย ไร่นาสวนเรือกที่ดิน ๑๐ วัน จัดเช่นนี้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่โบราณแล
ไพร่กู้เงินขุน
มาตรา ๑
ไพร่ตกยาก มากู้เงินขุนผู้เป็นนายทำทุน พ้นสามปีแล้วจึงเริ่มคิดดอกเบี้ย อย่างนี้เที่ยงธรรมแล
ไพร่สร้างไร่นา
มาตรา ๑
ไพร่อุตสาหะสร้างป่าคานาร้างสวนร้างให้เป็นนา เป็นสวน เป็นบ้านเมือง ให้กินข้างไปก่อนสามปี ต่อจากนั้นจึงเก็บค่านาค่าสวน เพื่อให้ไพร่ผู้อุตสาหะ สร้างบ้านเมือง ฯลฯ เป็นพลเมืองดี (ฝุ่นบ้านฝุ่นเมืองดี) ได้รับความสุขสบาย
หากมีผู้ใดถือดีว่า มียศศักดิ์มาเพิ่มค่าเช่านาให้แก่ขุนผู้กินนา เพื่อจักแย่งชิงเอานาไปจากผู้สร้างคนเดิมนั้น อย่ายอมให้กระทำได้ มันเป็นคนเลว อย่าปล่อยให้มียศ มีอำนาจ ถ้าเป็นผู้เกียจคร้าน ก็จะทำให้ไร่นาเสียหาย บ้านเมืองก็จะพลอยเสื่อมถอยไปด้วย
ไพร่ที่ขุนไม่ควรรับไปเป็นข้า
ขุนไม่ควรรับไพร่ ๔ ประเภทนี้ไปเป็นข้า คือ
๑. ผู้มีหนี้สินมาก ไม่มีทางชำระหนี้ จะหนีไปเป็นข้าขุนเพื่อให้พ้นหนี้
๒. ผู้กำลังจะแพ้ความ
๓. ผู้เป็นโจรแย่งชิงฆ่าคนลักข้าวของท่าน
๔. ผู้ละทิ้งราชการ
ข้าขอรับมรดก
มาตรา ๑
เดิมเป็นไพร่เอาตัวไม่รอด จึงเข้าไปเป็นข้าของขุนท้าวพระยา ต่อมาพ่อแม่พี่น้องผู้เป็นไพร่ตาย โดยไม่ได้สั่งเสียเรื่องมรดกไว้ หากมันจะไปขอรับมรดก ไม่ควรให้รับ ยกเว้นกรณีที่ผู้ตายสั่งให้ไว้ ก็ให้รับมรดกเท่าที่สั่งไว้ได้ เพราะว่ามันเอาตัวไม่รอด จะพลอยพาพี่น้องอื่นล่มจมไปด้วย
ข้าพระยา ไปอยู่กินกับ ไพร่
มาตรา ๑
ข้าของท้าวพระยาไปอยู่กินกับไพร่ เกิดลูกหญิงลูกชายจำนวนเท่าใด หากพ่อซึ่งเป็นข้าท้าวพระยาตาย หรือ ทิ้งลูกเมียไว้ ก็ไม่ควรให้ลูกไปเป็นข้าของท้าวพระยา ควรให้อยู่กับแม่เป็นไพร่เมือง เพราะว่าไพร่เมืองหาได้ยาก
มาตรา ๒
ข้าของพระยามาอาศัยอยู่กินกับไพร่ในบ้านเรือนไพร่ มันยังเป็นของเจ้าแผ่นดินอยู่ ให้เมียส่งข้าวห่อเมื่อถึงเวรมาทำงานให้เจ้านายตน เท่านี้ก็ดีพอแล้ว หากข้านั้นตายไม่ควรเอาลูกเมียมันมาเป็นข้าโบราณกล่าวว่า ท้าวพระยาครองเมืองได้ก็ด้วยไพร่ และ ไพร่ก็หายากนัก ไม่ควรบังคับไพร่มาเป็นข้า เพราะเหตุนี้
ลักษณะนายที่ดี และ นายที่เลว
มาตรา ๑
ขุนในโลกนี้มี ๒ ประเภท คือ ขุนธรรม และ ขุนมาร
ขุนธรรมมีลักษณะดังนี้ ขุนผู้ใด ประกอบด้วย สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ เมตตากรุณาไพร่ไทย ไม่บาปไพร่ไหมไทย ราวีทุบผูกมัดไพร่ไทย ขุนผู้เป็นเช่นนี้ คือ ขุนธรรม   ขุนผู้ใด ไม่ประกอบด้วย สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ ไม่เมตตากรุณาไพร่ไทย ย่อมบาปไพร่ไหมไทย ราวีทุบผูกมัดไพร่ไทย ใส่ขื่อคามัดเชือกแล้วรังแก ข่มขี่เอาข้าวของ บังคับลูกหลานไพร่ไปเป็นเมีย หรือ ข่มขืนเมียไพร่ ขุนเช่นนี้ ชื่อว่าขุนมารอยู่ที่ไหนเมืองฉิบหายที่นั่น คนเช่นนี้ไม่ควรให้เป็นใหญ่ มันเป็นต้นง้วน ต้นพิษ ในกลางเมือง ถ้ามีหน่อลำ ก็จะเป็นพิษร้ายแก่บ้านเมือง เจ้าขุนผู้อาสาต่างหูต่างตาท้าวพระยา ควรทำตามแบบขุนธรรมแล
ความผิดร้ายแรง ซึ่งยอมฆ่าผู้กระทำผิดได้
การฆ่าผู้กระทำผิดร้ายแรง โดยผู้ฆ่าไม่ต้องรับโทษ มีดังต่อไปนี้
๑. ฆ่าชู้และเมียด้วยกันในที่รโหฐาน (ที่สงัด)
๒. ฆ่าขโมย ซึ่งไล่จับได้พร้อมทั้งของกลางในมือ
๓. เจ้าบ้านฆ่าผู้ถือหอกดาบมาถึงที่อยู่
๔. เจ้าบ้านฆ่าผู้ที่ลอบเข้ามาในบ้านผิดกาละ คือ กลางคืน
๕. เจ้าบ้านฆ่าผู้ร้าย ในขณะที่มาซัดทุบเรือนตอนกลางคืน
หากผูกมัดผู้กระทำผิดได้แล้ว กลับฆ่าเสียในภายหลัง ผู้ฆ่าก็มีความผิด
มาตรา ๑
ผู้ใดมีความผิดมาก หรือ น้อยก็ตาม เมื่อเจ้าขุนไปเอาตัว หากมันใช้หอกดาบต่อสู้ หรือ ถือหอกดาบวิ่งหนีไปก็ดี ผู้ใดฆ่าตายไม่มีความผิด แต่ถ้าหากมันยอม หรือ วิ่งหนีด้วยมือเปล่าห้ามมิให้ผู้จับฆ่ามัน ผู้ใดฆ่าก็มีความผิด
อนึ่ง ถ้าจับผู้กระทำผิดมัดได้แล้ว ฆ่าเสียไม่นำมาให้เจ้าขุนพิจารณาดูก่อน ผู้ฆ่าก็มีความผิดต้องเสียค่าสินไหม
โทษประหารชีวิต
ผู้กระทำผิดร้ายแรงควรประหารชีวิต มีดังต่อไปนี้
๑. ฆ่าผู้ไม่มีความผิด
๒. เกาะกุมลูกท่าน หรือ ข้าท่าน ไปฆ่าเอาทรัพย์
๓. ทำลาย กุฏิ วิหาร พระพุทธรูป
๔. รุกล้ำที่ (ผกท่าผ่าทาง)
๕. ชิงทรัพย์ท่าน (ครุบท่าน)
๖. รับผู้คน (แก้วหาญข้า) ของท้าวพระยามาพักในบ้าน
๗. ลักของพระสงฆ์
๘. ลูกฆ่าพ่อ
๙. ลูกฆ่าแม่
๑๐. น้องฆ่าพี่
๑๑. ฆ่าเจ้า
๑๒. เมียฆ่าผัว
โทษหนักสามสถาน
โทษหนักมีสามสถาน คือ
๑. ประหารชีวิต
๒. ตัดตีนตัดมือ
๓. เอาไปขายเสียต่างเมือง หรือ อีกนัยหนึ่ง ขับออกจากเมือง
การพิจารณาความให้ดูเหตุ ๔ ประการ
การพิจารณาความทั้งปวง ให้ดูเหตุ ๔ ประการ คือ
ให้ดูราคาของว่าถูกหรือแพง วัตถุ ถ้อยความหนัก หรือ เบา
๑. ให้ดูเวลาที่เสียข้างของไป ถ้าเสียของไปเมื่อราคาถูก ให้ตัดสินอย่างของราคาถูก ถ้าเสียของไปเมื่อราคาแพง ให้ตัดสินอย่างของราคาแพง
๒. ให้ดูว่า ความที่พิพาทกันนั้น เกิดขึ้นนานแล้วหรือเพิ่งเกิด เหตุเกิดกลางคืนหรือกลางวัน เช้าหรือค่ำ
๓. สอบสวนดูว่า ของราคาถูก หรือ ราคาแพง
๔. ให้ดูว่าของเก่าใหม่ ได้ใช้ไปแล้วเพียงใด ตามคาถาที่มีมาแต่โบราณว่า วัตถุกาลัญจ เวสัญจ ปริโภคัญจนํ ตุลยิตฺวา ปัญจฐานานิ ธาเลยฺยัตถํ วัจจักขิณา

พระญามังรายมหาราชทรงตัดสินคดี
           พระญามังรายมหาราชทรงเป็นตุลาการตัดสินความคดีระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย กับพระญางำเมืองธรรมิกราช แห่งแคว้นพะเยา ด้วยความสุขุมรอบคอบ ในปีพ.ศ. ๑๘๓๐ โดยเกิดเหตุคือเรื่องชู้สาวระหว่าง พระญาร่วง ( พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ) แห่งเมืองสุโขทัย กับพระนางอั้วเชียงแสนราชเทวีของพระญางำเมือง พระญางำเมือง ทรงทราบเหตุก็กุมเอาพระญาร่วงไว้ พระญางำเมือง ได้อัญเชิญพระญามังรายมหาราชไปช่วยตัดสินความ จะตัดสินเองก็ทรงกลัวที่จะกระทบไมตรีต่อพระสหาย  พระญามังรายมหาราชทรงทราบเหตุก็จินตนาการว่า โบราญธรรมแต่ก่อน เจ้าความย่อมมาสู่ผู้รู้ไต่ความพิจารณาด้วย บัดนี้สหายทั้งสองเป็นความต่อกันหากกูไปพิจารณาความแห่งเขาทั้งสองบัดนี้ ครั้นจะให้มาตัดสินก็จักเป็นเวณแก่กันมากซะละ ครั้นกูจักเอาพระร่วงมาตัดแต่งสินไหมมันก็เป็นพระยามีอานุภาพนัก จักมีความละอายซะละ
     พระญางำเมืองนายโจทย์ ได้แจ้งโทษพระร่วงต่อพระญามังรายมหาราชก่อน พระญามังรายมหาราชจึงตรัสว่า ดูราสหายเจ้า เรานี้เป็นท้าวพระยาใหญ่ได้ทรงน้ำมุรธาภิเษกสรงเกศมียศบริวารทุกคนดังพญาร่วงนี้เล่า เขาเจ้าก็ได้มุรธาภิเษกในเมืองสุโขทัยพู้นแล้ว แม้นท้าวร่วงได้กระทำผิดสหายได้รักษาไว้ บัดนี้สหายจึงนำพระร่วงมาเราจักพิจารณาตามครรลองคุณและโทษ พระญางำเมืองก็หื้อเอาพระร่วงเจ้ามาถาม พระร่วงเจ้าก็ปลงปฏิญาณว่าได้ประพฤติผิดตามที่กล่าวหา 
ในวันรุ่งขึ้นพระญามังรายมหาราชจึงแนะนำให้พ่อขุนรามคำแหงทรงเสียผี ในการเล้าโลมสนมคนโปรดเป็นเงินเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเบี้ย เงินจำนวนนี้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงไม่มีติดตัวมา พระญามังรายมหาราชจึงทรงออกให้แทนต่อจากนั้นก็ทรงสาบานเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่มีการฆ่าฟันหรือรุกรานกัน โดยทรงกีดเลือดสาบานบริเวณริมฝั่งแม่น้ำขุนภู สถานที่ที่พระญาทั้งสามหันหลังพิงกันกล่าวคำสาบานต่อมาได้กลายเป็นแม่น้ำชื่อว่า ลำน้ำแม่อิงนั่นเองครับ
พระราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์(ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม) จังหวัดเชียงใหม่
ด้านขวาคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย
ด้านซ้ายคือพระญางำเมืองธรรมมิกราชแห่งแคว้นพะเยา
กลางคือพระญามังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา

พระญามังรายมหาราชกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร
          จุลศักราช ๖๔๘ จากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า ถึงปีจอ จุลศักราช ๖๔๘ พระญามังรายมหาราชจึงย้ายมาสร้างเวียงกุมกาม ณ ที่ใกล้น้ำแม่ระมิงค์ ให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน ไขน้ำแม่ระมิงค์เข้าขังในคูและตั้งลำเวียงรอบทุกเบื้อง ให้ขุดหนองสระอันหนึ่ง ณ ที่ใกล้เรือนหลวง ยามเมื่อขุดนั้นพระญามังรายมหาราชทรงเยี่ยมหน้าต่างดูคนคนทำการทุกวัน ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีน้ำในการทำการเกษตร
            ต่อมาได้ทรงตั้งตลาดกุมกามให้เป็นที่ซื้อขายแก่คนทั้งหลายเป็นที่สนุกยิ่งนัก แสดงให้เห็นถึงพระญามังรายมหาราชทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลต่อการดำรงชีพของชุมชน
ภาพโบราณสถานเวียงกุมกามในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยก่อนได้ถูกจมอยู่ใต้ดินเป็นนครใต้พิภพนานหลายร้อยปี

ด้านการศาสนา
        ปัจจุบันโบราณสถานสำคัญของอาณาจักรหริภุญชัยนั้นก็คือ พระธาตุหริภุญชัย ที่จังหวัดลำพูน และยังมีเมืองโบราณเวียงมโน ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โบาณสถานที่เวียงเกาะ บ้านสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และเวียงท่ากาน ที่ตำบลบ้านกลาง ต.สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บางหมู่บ้านของจังหวัดลำพูนนั้นพบว่า ยังมีคนพูดภาษามอญโบราณและอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญโบราณอยู่
        พระพุทธบาทตากผ้า ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า บนเนินเขาระหว่างดอยม่อนช้าง กับดอยเครือ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร
        รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข มีอยู่สองรอย คือรอยพระพุทธบาทใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร ยาวประมาณสองเมตรครึ่ง รอยพระพุทธบาทเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ ๓๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ เมตร กับ ๒๖ นิ้ว
        ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล ณ เวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแผ่ข่ายพระญาณ เพื่อตรวจดูสัตว์โลกผู้ควรแก่การบรรลุธรรม ก็ทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณ (พระญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในอนาคตตามความเป็นจริง) ว่าในดินแดนสุวรรณภูมิ (คือดินแดนที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน) จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปประดิษฐานพระศาสนาไว้ เมื่อทรงมีพระดำรินั้นแล้ว จึงได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิต มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (ตามเสด็จ) พระองค์ได้เสด็จจาริกมาตามคามนิคมชนบทต่าง ๆ จนถึงถ้ำตับเต่า ถ้ำเชียงดาว พระนอนขอนม่วง พระบาทยั้งหวีด และพระธาตุทุ่งตุม ตามลำดับ ได้ทรงเหยียบรอยพระบาท และประทานพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้ในที่นั้น ๆ ตามควรแก่พุทธอัชฌาศัย แล้วเสด็จเลียบลงมาตามฝั่งแม่น้ำปิง จนถึงวังน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำใสสะอาด มีที่ราบเตียนงาม พระพุทธองค์จึงได้ทรงหยุดพักและทรงเปลื้องจีวรให้พระอานนท์นำไปซัก สถานที่พระอานนท์เอาจีวรไปซักนี้ได้ชื่อว่า วังซักครัว มาจนถึงปัจจุบัน เป็นจุดที่อยู่ทางใต้ของสบกวง อันเป็นที่แม่น้ำกวง ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ส่วนจุดที่ตากจีวรซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นเนินศิลา บนผิวศิลาปรากฎเป็นรอยตารางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายกับผ้าจีวร ซึ่งจะเห็นเป็นตารางคล้ายแนวคันนาของอินเดียในสมัยนั้น ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จข้ามแม่น้ำ แล้วจาริกไปตามลำดับ จนถึงบ้านแห่งหนึ่งไม่ห่างจากดอยม่อนช้างมากนัก พระองค์ก็ทรงหยุดยืน แล้วผินพระพักตร์หว่าย (บ่าย) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านหว่าย ซึ่งปัจจุบันคือบ้านหวาย จากนั้นก็เสด็จไปถึงลานผาลาด ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้า ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
        " ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา"
หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จไปทางทิศตะวันออก ถึงหัวดอยม่อนช้าง แล้วทรงประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ ณ ที่นั้น จากนั้นได้ประทานพระเกศาแก่ตายายสองคนผัวเมีย ผู้เข้ามาปฏิบัติบำรุงพระพุทธองค์ด้วยภัตตาหารและน้ำ ต่อมาได้มีผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ขึ้นไว้ ณ ที่นั้น ได้ชื่อว่า พระนอนม่อนช้าง มาจนถึงปัจจุบันนี้
        เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมภูทวีป ได้ส่งพระโสณะ และพระอุตตระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ในครั้งนั้นมหาชนผู้ได้รับแสงสว่างจากพุทธธรรม จึงได้สร้างวัดพระพุทธบาทตากผ้าขึ้น และได้เเป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับแต่นั้นมาจนประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๐เศษ พระนางจามเทวีได้ครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) พระนางมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท แล้วจัดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่
        ในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ พระญามังรายมหาราช ตีได้เมืองหริภุญชัย ก็ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธบาทตากผ้าต่อมา จนสิ้นราชวงศ์เม็งราย เกิดศึกสงครามบ้านเมืองร้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็เสื่อมโทรมไป
        ในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ คณะสงฆ์และฆราวาส โดยมีครูป๋าปารมี แห่งวัดสะปุ๋งหลวงเป็นหัวหน้า ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวิหารหลังใหญ่ ครอบมณฑปพระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการพระพุทธบาท ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน มีพระพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (ปัจจุบันคือ ป่าซาง ) อยู่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมี หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) นายอำเภอปากบ่อง เป็นประธาน ได้ไปอาราธนาครูบาศรีวิชัย ซึ่งอยู่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุขครอบรอยพระพุทธบาท

พระโอรสพระธิดาบุญธรรม
พระญามังรายมหาราช ได้ทรงรับราชบุตรและราชธิดาบุญธรรม ในช่วงอายุ ๗๔ - ๘๐ ปีก่อนสวรรคต ราชธิดาบุญธรรมพระองค์แรก คือ เจ้าหญิงธรรมธารี พระธิดากษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม (เขตพม่า) ก่อนเมืองแตก ราชบุตรบุญธรรม พระองค์ที่สอง คือ เจ้ายอดเมือง (เจ้าแสนต่อ) ราชบุตรของเจ้าเมืองเวียงกาหลง (ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงกาหลง อ.ป่าแงะ จ.เชียงราย) ซึ่งเจ้าแสนต่อนี้เองที่เป็นต้นตำนานแห่งสุวรรณภูมิ ที่ มิได้ถูกบันทึกไว้ เนื่องจากเป็นลูกเจ้าเมืองเล็กๆ แต่วีรกรรม นั้นยิ่งใหญ่มาก ได้อาสารบกับกองทัพพระเจ้ากุบไลข่านแห่งมองโกลที่ยิ่งใหญ่ พร้อมๆ กับกษัตริย์อีก ๒ อาณาจักรคือ พระญางำเมือง และ พ่อขุนรามคำแหง จนชนะทำให้พระเจ้ากุบไลข่านยกทัพกลับมองโกล เกิดเป็นแผ่นดินแห่งสยามและเป็นตำนานพระยอดขุนพลจนทุกวันนี้

เกี่ยวกับพระนามของพระองค์
พระนามที่ถูกต้องคือ "มังราย" คำนำหน้าพระนามที่ถูกต้องก็คือ "พระญา(พญา)" ไม่ใช่ "พ่อขุน" กล่าวถึงพระนามที่ถูกต้องคือ "พระญามังราย"ไม่ใช่ "พ่อขุนเม็งราย" 
การเรียกขานคำนำหน้าพระนามของกษัตริย์ว่า…."พ่อขุน."เป็นคตินิยมของทางอาณาจักรสุโขทัยแต่คตินิยมทางอาณาจักรล้านนา ไม่ปรากฎว่าเรียกขานกษัตริย์ ว่า "พ่อขุน"คงมีแต่.พระญา,พญา..."
หรือ .ขุน .เท่านั้น แม้กระทั่งชาวไทยเขิน รัฐเชียงตุงและชาวไทยลื้อ รัฐสิบสองพันนาก็ใช้คำว่า.."พญา.." แทนตำแหน่งกษัตริย์ เรื่องพญามังรายสร้างเมืองเชียงตุง พญาจ๋องเป็นปฐมกษัตริย์สิบสองพันนาในตำนานเมืองเชียงตุงและตำนานสิบสองพันนา
ข้อเสนอและหลักฐานอ้างอิง ดังนี้
๑.เหตุที่มีการเรียกพระนามว่า"เม็งราย"สืบเนื่องมาจากพงศาวดารโยนกเขียนโดย พระยาประชากิจกรจักรเปลี่ยนพระนาม "มังราย"เป็น "เม็งราย" ทั้งๆที่เอกสารตำนานต่างๆ ที่ผู้เขียนอ้างอิง เช่น ตำนานสิงหวัติ ตำนานเมืองหริภุญชัย ตำนานหิรัญนครเชียงแสน ตำนานพิงควงศ์ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานเมืองพะเยา ตำนานเมืองเชียงราย ตำนานเมืองนาน ตำนานพระธาตุดอยตุงและต้นฉบับอักษรพื้นเมือง ล้วนแล้วแต่เรียกพระนามว่า "พระญามังราย"หรือ "มังราย" ทั้งสิ้นไม่ปรากฏพระนาม "เม็งราย" หรือ "พ่อขุนเม็งราย" เลยสักแห่งเดียว ไม่ทราบเหตุผลใดที่พระยาประชากิจกรจักร จึงมาเปลี่ยนพระนามเป็น"เม็งราย"แต่ถึงกระนั้นในตอนท้ายของเล่มในรายพระนามกษัตริย์ก็มีคำว่า."มังราย." ถึงสองแห่ง พลอยให้ผู้เขียนประวัติศาสตร์รุ่นหลังเขียนพระนามผิดไปด้วย แต่ปัจจุบันนี้ ปรากฏว่าหันมาเขียนพระนาม "มังราย" ถูกต้องแล้วเป็นส่วนมาก
อนึ่งพระนาม " พ่อขุนเม็งราย" นักเขียนประวัติศาสตร์คงจะเพิ่งใช้พระนามนี้ทีหลังจากที่หลวงวิจิตรวาทการแต่งเพลงประวัติศาสร์ใช้พระนามในเนื้อเพลง "พ่อขุนเม็งราย"แต่บัดนั้นเป็นต้นมาความผิดพลาดที่เกิดด้วยเหตุนี้อีกประการหนึ่ง
๒.หลักฐานที่ทางราชการถวายพระนาม "พญามังราย" ปรากฏในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สามกษัตริย์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ทางราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพ่อค้าประชาชน และข้าราชการ ได้พร้อมใจกันร่วมทุนและดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระญามังราย พระญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)และพระญางำเมือง ซึ่งเป็นพระสหาย ร่วมน้ำสาบาน ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์ ทรงร่วมปรึกษาหารือวางแผนผังสร้างเมืองเชียงใหม่ และขนานนามเมืองว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เพื่อเป็นที่กราบไห้วเคารพสการะระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทางราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จารึกพระนามไว้ที่ฐานพระบรมราชาอนุสาวรีย์ว่า ""พญามังราย"(เม็งราย) พญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)และ "พญางำเมือง" ทั้งได้อัญชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระบรมราชินีนาถมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๗ เวลา๑๖.๐๐ น.
๓.เหตุผลที่จังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการได้เรียกขานพระนามว่า"พระญามังราย"ก็เพื่ออนุรักษ์ให้ถูกต้องตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เช่น เอกสารตำนานจากคำภีร์โบราณ ปั๊บสาและศิลาจารึกกับคตินิยมของชาวล้านนา ที่ไม่เคยเรียกพระนามกษัตริย์ของล้านนาโดยใช้คำนำหน้าว่า "พ่อขุน"แม้แต่พระองค์เดียว ดังจะกล่าวดังต่อไปนี้
๓.๑.ศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นศิลาจารึกที่พระสุมนเถระ พระภิกษุชาวสุโขทัย ซึ่งพระญากือนา แห่งเมืองเชียงใหม่ได้ทรงขอต่อพระญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย เพื่อมาเผยแพร่ศาสนาในเชียงใหม่ ปรากฏคำจารึกอยู่ในหลักจารึกหมายเลข ล.พ. ๓๘ เป็นหลักจารึกของพระสุมนเถระสร้างเสริมพระอัฎฐารสยืนเมื่อ จ.ศ.๗๓๒ (พ.ศ.๑๙๑๓)เป็นระยะเวลาห่างจากปีสวรรณคตของพระญามังรายและกษัตริย์ล้านนาว่า.. "อันว่า พระเศลาจารึก เจ้าท้าวสองแสนนาอันธรรมมิกราช ผู้เป็นลูกรักแก่ พระญาผาย เป็นหลานแก่ พระญาคำฟู เป็นหลานแก่ พระญามังราย หลวงนี้ " ได้ทำสำเนาออกมกจากศิลาจารึกไว้ดังนี้
๓.๒.หลักศิลาจารึกวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลาจารึกที่ ๗๖ ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๔ (จ.ศ.๙๔๓)ในจารึกกล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ และสร้างวัดเชียงมั่น โดยพระญามังราย พระญาร่วง และพระญางำเมือง ดังนี้ " ศักราช ๖๕๘ ปีรวายสันเดือนวิสาขะออก ๘ค่ำ วัน๕ไทยเมิงเปล้ายามแตรรุ่งแล้วสองลูกนาที ปลายสองบาทนวลัคนาเสวยนวางศ์ พฤหัสในมีนศรี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตนตั้งหอนอนในชัยภูมิราชมณเฑียรขุด คือ ก่อตีบูร ทั้งสี่ด้าน…."
ได้สำเนาออกมา
๓.๓.หลักจารึก ล.พ. ๙ ซึ่งปัจจุบันตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดลำพูน ระบุพระนามว่า "พญามังราย"(ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๓)
ฉะนั้นพระนาม"พญามังราย"จึงมีความหมายต่อความรู้สึกของชาวล้านนา และชาวเชียงใหม่อย่างยิ่ง ที่พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการปกครองและวัฒนธรรม สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
๓.๔.ออกจากนั้นก็ปรากฏอยู่ในตำนานเป็นคำภีร์ใบลานบ้าง ปั๊บสาบ้างเอกสารต่างๆที่กล่าวมาล้วนเขียนพระนามว่า พระญามังราย(พญามังราย)หรือ"มังราย"ทั้งสิ้นเช่น
ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระพระวงค์ของ พญามังราย การเรียกพระนาม"พระญามังราย" จึงไม่ผิดแน่ (เอกสารเรื่องนี้เดิมเขียนเป็นภาษาบาลีและได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดย ศาสตราจารย์ยอร์ซเซเดย์และภาษาอังกฤษโดย ดร.ชยะวิกรม แห่งมหาวิทยาลัยซีลอน(ลังกา)
ตำนานมูลศาสนา รจนาโดยพระพุทธพุกาม พระพุทธญาณ เชื่อว่าได้แต่งขึ้นก่อนปีที่แต่งชินกาลมาลีปกรณืหรือจาเทวีวงศ์ (พ.ศ. ๒๐๕๙-๒๐๖๐)
ประชุมพงศาวดารภาคีที่๑๐ เรื่องราชวงศ์ปรณ์พงศาวดารเมืองน่าน
ประชุมพงศาวดารภาคที่๖๑ เรื่อง พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และตำนานสิงหวัติ
ตำนานพื้นเมื่องเชียงใหม่ ๘ ผูก ฉบับสำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่
กฎหมายมังรายศาสตร์ (ฉบับวัดเสาไห้- ฉบับวัดเชียงมั่น-ฉบับวัดหมื่นเงินกอง-ฉบับนอตอง-ฉบับวัดช้างค้ำและฉบับวัดไชยสถาน)
ตำนานพระธาตุดอยตุง โครงราชหิภุญชัย (ฉบับบพระสมุด ฉบับเชียงใหม่-ฉบับลำพูนและฉบับวัดกิ่วพร้าว อ.แม่จันเชียงราย)
ตำนานเมืองเชียงตุง ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ตำนานพระธาตุหริภุญชัย โคลงมังทรารบเชียงใหม่ ฯลฯ
.การใช้คำนำหน้าพระนาม "มังราย"เป็นพ่อขุนมังราย ย่อมไม่เป็นการถูกต้องตามคตินิยมของชาวล้านนาและไม่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตรื และโบราณคดีตามที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น คตินิยมของการใช้คำว่า "พ่อขุน"เป็นลักษณะของชาวอาณาจักรสุโขทัยตามลักษณะการปกครองของกษัตริย์ ทำนองพ่อปกครองลูกและปรากฏจากหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยเรียกคำนำหน้าพระนามว่า "พ่อขุน" เพียงไม่กี่พระองค์คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาว(พระองค์เดียวกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์)และพ่อขุนศรีนาวนำถม เท่านั้นกษัตริย์พระองค์ไม่เรียก "พ่อขุน" เช่น พระญาลิไทย พระญาสือไทย(ศิลาจารึกหลักที่๓ นครชุมกำแพงเพชร)
ฉะนั้นการที่จะช้คำนหน้าพระนามของพระมหากษัตริย์ทางล้านเป็น"พ่อขุน." จะพทำให้สับสนและผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์และโบราณงคดี เป็นการฝึกคตินิยมและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่
คำว่า "พ่อขุน"+พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ อธิบายว่า "พ่อขุน"(โบ) น.กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในสมัยสุโขทัย
๕. หลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยมีดังนี้
๕.๑.ศิลาจารึกหลักที่๑ หน้า๑ตอนที่๒ว่า เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว " ." กลางบ้าน กลางเมืองมีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจมันจะกล่าวเถิง เจ้าเถิง ขุนบ่ไร้ไปลั่นกระดิ่ง อันแขวนไว้พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ "
๕.๒ในด้านที่๔ กล่าวคือ "พ่อขุนรามคำแหง"ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ๑๒๐๔ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้พ่อรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวพญาแก่ไทยทั้งหลาย
อนึ่งจะเห็นได้ว่า ตามหลักศิลาจารึกนั้น การเรียกขานพระนาม "พ่อขุน"มิใช่มีแต่พ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น
แต่ได้เรียกถึง(ศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม สุโขทัย) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบางกลางหาว
พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบาน และพ่อขุนนำถมอีกด้วย (มีคำว่า "ปู่พญา" พรญา)สรีนาวนำถม ซึ่งเป็นคนละพระองค์กับ "พ่อขุนนำถม")
๕.๓. ส่วนทางอาณาจักรล้านนาและสุโขทัยมีความสัมพันธ์ที่กษัตริย์ของล้านนาคือ พระญามังราย พระญางำเมือง และพระร่วง ที่เป็นพระสหายร่วมสาบานกัน และประชาชนทั้งสองอาณาจักรจะไปมาหาสู่ทำมาค้าขายซึ่งกันและกันก็ย่อมจะได้กิตติศัพท์เรียกขานกษัตริย์สุโขทัยว่า "พ่อขุน" อยู่เป็นเนืองนิจชาวล้านนาก็ไม่ได้เอาคตินิยมเรียกขานกษัตริย์ของสุโขทัยมาเป็นแบบอย่างด้วย คงเรียกขานพระนามกษัตริย์ของตนเอง " พญา" หรือไม่ก็มีเพียงคำว่า "ขุน" เท่านั้น สำหรับบางพระองค์หรือบางสมัยกาลแม้แต่พระสุมนเถระที่เป็นชาวสุโขทัย ซึ่งเป็นผู้ทำศิลาจารึก วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ก็ไม่ได้จารึกพระนาม "พ่อขุนมังราย" ตามคตินิยมของชาวสุโขทัยซึ่งพระสุมนเถระเคยชินอยู่เป็นเนื่งนิจในอาณาจักรสุโขทัย แสดงว่าพระสุมนเถระได้ทราบถึงคตินิยมของชาวล้านนาเป็นอย่างดี จึงได้จารึกพระนามกษัตริย์ ของล้านนาว่า "พระญาคำฟู พระญาผายู และพระญามังราย"
๕.๔. อย่างไรก็ดี ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๔หลักที่ ๕หลักที่ ๗และหลักที่ ๘ จารึกพระนามกษัตริย์สุโขทัยว่า "พญา" (พระญา) ทั้งสิ้น
. ความหมายคำว่า "พญา" พจนานุกรมฉบับราชฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้อธิบายไว้ว่า "พญา" (พะยา) (โบ) น.เจ้าแผ่นดิน เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า พะยา น.บรรณาศักดิ์สูงกว่า พระต่ำกว่า เจ้าพระยา" มีผู้รู้บางท่าน อ้างว่า พญา เป็นภาษาเขมร โดยอ้างพจนานุกรมเขมรว่า " พญา" (น) เจ้าชาย คำนำหน้าชื่อเจ้าเมือง คำนำหน้าชื่อรัฐมนตรี
และผู้รู้เท่านั้นกล่าวต่อไปอีกว่า การที่มีการใช้คำว่า " พญา"เนื่องจากไทยรับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถแล้วอิทธิพลของภาษาเขมรจะขยายมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนมากที่สุด
เรื่องนี้ เป็นการที่อ้างเอาพจนานุกรมของเขมรด้านเดียว แต่พจนานุกรมไทยมิได้ถือว่าเป็นภาษาเขมร เพียงแต่อ้างว่าเป็นภาษาโบราณ ตรงข้ามถ้า คำใดเป็นคำเขมรแท้พจนานุกรมไทยจะระบุว่าเป็นภาษาเขมร เช่น เขนย เสวยเป็นต้น ส่วนการที่อ้างว่าภาษาเขมร หรือวัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามามากในสมัยพระบรมไตรโลกนารถคงจะหมายถึงคำว่า พระยา ซึ่งคำนี้ตามพจนานุกรมให้ความหมายเพียงตำแหน่งบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่าเจ้าพระยา และสูงกว่าพระแต่คำว่า " พญา"ที่ทางล้านนาใช้นำหน้ากษัตริย์นั้น มีมาก่อนในสมัยพระบรมไตรโลกนารถ อย่างน้อยที่สุดก็เท่าที่ปรากฏ ในหลักศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน คือ พ.ศ. ๑๙๑๓ ตรงกับสมัยพญาลิไท และพระเจ้ากือนา
อย่างไรก็ตาม ผู้รู้อีกท่านหนึ่งคือ ดร. ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อธิบายว่า พญา เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาอินเดีย เป็นคำที่ใช้เรียกกษัตริย์ของชาวมอญสมัยโบราณ (จากหนังสือล้านนาไทย หน้า (๓๗) อ้าง
H.L shorto A Dictionary of the Mon Incriptions From the Sixth to the Sixteenthe Centuries London ๑๙๗๑ P.๒๕๘ S.V. bana
ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเป็นภาษาเขมร ภาษามอญ หรือภาษาไทย ก็เป็นภาษาที่นำมาจากอินเดียกันทั้งสิ้น ไทยทางล้านนามิได้รับเอา วัฒนธรรม ทางเขมร แต่รับเอาวัฒนธรรมจากมอญ เพราะไปาหาสู่กับอาณาจักรหริภุญชัยอยู่เสมอ และยังผนวกเอาอาณาจักรหริภุญชัยเข้ามาในอาณาจักรล้านนา ในสมัยพระญามังราย อิทธิพลของภาษามอญจึงเข้ามาปนอยู่ในภาษาถิ่นของล้านนาจนกลายเป็นภาษาของล้านนาไป ดังนั้นผู้ใดจะมาอ้างว่าการใช้ " พญา"พระนาม ศรีอินทราทิตย์ รามคำแหง ก็เป็นภาษาต่างชาติเหมือนกัน
ดังนั้น ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังได้กล่าวมาแต่ต้น พระนามที่ถูกต้องของพระมหากษัตริย์แห่งล้านนาไทผู้ทรงสร้าง " นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" คือ พญามังราย ไม่ใช่พ่อขุนเม็งราย และทั้งที่เป็นการสมควรในการถวายพระสมัญญานามว่า " พระญามังรายมหาราช" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นล้านนาไทย ทรงรวบรวมนครรัฐหรือแคว้นต่างๆทั้งได้ผนวกเอาอาณาจักรเดียวกัน ทำให้อาณาจักรล้านนา ไทยแผ่ไปอย่างกว้างใหญ่ไพรศาล และขยายพระราชอำนาจเข้าไปถึงอาณาจักรพม่าและหงสาวดี ปัจจุบันนี้นครเชียงใหม่ได้เจริญวัฒนาเป็นหลักในการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรมล้านนาสืบมาทุกวันนี้

เสด็จสู่สวรรคต
ศาลพระญามังรายมหาราชที่เชื่อกันว่าเป็นที่ที่พระองค์ทรงสวรรคต
 ปัจจุบันเป็นที่ดินของเอกชน ตั้งอยู่บริเวณซอยเล็กๆในเชียงใหม่                
                    พระญามังรายมหาราช  ทรงสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๘๕๑ พระชนม์ได้ ๘๐ พรรษาโดยทรงสวรรคตขณะที่ทรงทอดพระเนตรตลาดเพื่อพิจารณาดูภูมิประเทศเขตขัณฑสีมาเพื่อจะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เวลานั้นเป็นเวลากลางวันท้องฟ้าสว่างปราศจากเมฆหมอกใดๆ แต่ทันใดนั้นก็ปรากฏเมฆตั้งเค้าลมพัดแรงและฝนตกลงมา ในทันทีก็มีอสุนีบาตมายังองค์ของพระญามังรายมหาราชเจ้าทำให้ทรงสวรรคตบนหลังช้างระหว่างกลางตลาดนั้นเอง  เชื่อกันว่าเป็นปาฏิหารย์ของ พระนางอั้วมิ่งเวียงไชยเนื่องจากทรงระลึกได้ว่าพระญามังรายทรงผิดคำสาบาน ที่พระองค์ทรงสาบาน ในเมื่อประทับ อยู่ที่เชียงแสนว่า จะมีมเหสีเพียง พระองค์เดียว พระนางจึงสละพระองค์ออกจากพระราชวัง ออกบวชชี ซึ่งเชื่อกันว่า ต่อมาบริเวณที่พระนางไปบวชนั้น เป็น เวียงกุมกามหลังจากนั้น พระญาไชยสงคราม(เจ้าขุนคราม) พระโอรสได้จัดพิธีปลงพระศพแล้วสร้างสถูปบรรจุอัฐิของพระบิดาไว้ที่ตลาดกลางเมือง และปลูกต้นโพธิ์ไว้ที่สถูปนั้น ทั้งยังสร้างรั้วล้อมบริเวณดังกล่าวไว้ด้วย
                              จากพระราชประวัติของพระญามังรายมหาราชเจ้านั้น แม้จะไม่ปรากฏถึงการเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่การที่พระองค์ได้เสด็จไปยังตลาดจนถึงกับสิ้นพระชนม์ระหว่างกลางตลาดนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงสนับสนุนเศรษฐกิจของบ้านเมืองเนอย่างยิ่งทรงมีพระทัยใส่ในการทำมาหากินของราษฎรอยู่เสมอ จะเห็นได้จากการขยายอาณาเขตไปยังนครหริภุญชัย เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยการค้า นอกจากนี้การที่พระองค์ทรงขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง ก็ย่อมแสดงได้ว่าราษฎรของพระองค์มีการกินดีอยู่ดี มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ จนนำความมั่นคงทางเศรษฐกิจมาส่งเสริมกิจการทหารได้ พระญามังรายมหาราขจึงทรงเป็นมหาราชที่สนับสนุนส่งเสริมกิจการเศรษฐกิจของบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ศาลพระญามังรายมหาราชจำลอง ถูกสร้างขึ้นใหม่เพราะบริเวณที่เชื่อกันว่าทรงสวรรคต
เป็นที่ดินของเอกชนไม่สะดวกในการสักการะบูชา
ป้ายหินอ่อนที่จารึกว่าเป็นศาลจำลอง


 ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-หนังสือพระเจ้ามังรายมหาราช(พญามังรายมหาราช):อุดม เชยกีวงศ์
-หนังสือพระราชประวัติ ๑๐ มหาราชของไทย
-http://www.bloggang.com (มังรายศาสตร์ : ฉบับ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เรียบเรียงเป็นภาษาปัจจุบัน:(Merchant Dream )
-หนังสือ สารนิยาน ใต้ฟ้าลานนา ของอสิธารา
-http://www.oknation.net (หลักฐาน ปวศ. ชี้ชัด พญามังราย ไม่ใช่ พ่อขุนเม็งราย:ทรายโข่ง)
-http://www.chiangsaenlife.com (มังราย กับ เม็งราย อย่างไหนถูก?)
-http://board.dserver.org (พญามังรายหรือพ่อขุนมังรายครับ:ละอ่อนเจียงของ,ละอ่อนเจียงฮาย)
-http://www.chiangraifocus.com (เชียงรายโฟกัส:นี่หรือที่สวรรคตของพญามังราย:เชียงรายพันธุ์แท้)
-http://www.thaigoodview.com (อาณาจักรสุโขทัย:คุณครูมาลัยวรรณ  จันทร)
-http://th.wikipedia.org (พ่อขุนเม็งรายมหาราช)
-http://www.chomthai.com (เวียงกุมกามตามอัธยาศัย)