วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าทิพย์จักรสุลวะฤาไชยสงคราม วีรบุรุษพรานป่าแห่งเขลางค์นคร

       อนุสาวรีย์ พระเจ้าทิพย์จักรสุลวะฤาไชยสงคราม(หนานทิพย์ช้าง) ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย หมายเลข  ไฮเวย์ลำปาง-เชียงราย ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ  กิโลเมตร 


                    พระเจ้าทิพย์จักรสุลวะฤๅไชยสงคราม หรือ เจ้าพระยาสุลวะฤาชัยสงคราม หรือ หนานทิพย์ช้าง (บ้านปงยางคก) ท่านเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางในสมัยเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับกษัตริย์พม่า กษัตริย์ไทย (กรุงศรีอยุธยา) หรือเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ นับว่าเป็นต้น ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ต้นสกุลวงศ์ของ เจ้าเจ็ดตน
           
ภาพวาดของหนานทิพย์ช้าง

                   ตามประวัติเดิมกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นชาวลำปาง เกิดที่หมู่บ้านปงยางคก ตำบลปงยางคำ อำเภอห้างฉัตร เดิมชื่อทิพย์เทศ บุญเรือน หรือ ทิพย์จักร หรือ หนานทิพจักรวเนจร ส่วนคำว่า หนาน เป็นคำเรียกคนที่สึกจากพระทางภาคเหนือ  เป็นคำนำหน้าที่ยกย่องคนที่ได้เคยอยู่ใต้บุญผ้าเหลืองเพราะคนเหนือทั่วไปไม่ค่อยได้บวชกันเหมือนคนทางภาคอื่น ๆ ที่ต้องบวชเรียนเมื่ออายุครบกำหนดที่ต้องบวช แต่ในสมัยนี้ชายไทยบางคนก็ขอผลัดผ่อนการบวชไปก่อน เพื่อลองไป "เบียด" สักระยะ  แล้วค่อยบวชทีหลัง แต่เดิมพระองค์มีอาชีพเป็นนายพรานเชี่ยวชาญในการไล่ตัดหางช้างที่มาเหยียบข้าวในนาของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า ทิพย์ช้าง มีภรรยาชื่อ พิมพา เป็นชาวบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง 
                    ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๒ - ๒๒๗๕ คือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายดินแดนล้านนาได้รับความเดือดร้อนจากการรังควานของฝ่ายพม่า ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก ทั้งนี้เพราะอาหารการกินขาดแคลน ทรัพย์สมบัติ เรือกสวนไร่นาก็ถูกพม่าริบ ชายฉกรรจ์ถูกเกณฑ์ไปทำศึกสงคราม ทำให้เดือดร้อนกันโดยทั่วไป ขณะนั้นพม่าได้เข้ายึดเมืองลำพูน เชียงแสน เชียงราย  ส่วนทางเชียงใหม่มีเจ้า องค์ดำ (องค์นก) พยายามรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่า แต่ทางลำปางนั้นยังไม่มีเจ้าเมืองปกครองมีแต่ ขุนเมืองรักษาเมืองไว้ ๔ คน คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือนและจเรน้อย ขุนเมืองทั้ง ๔ ไม่มีความสามารถจะต่อสู้กับพม่า เพราะมุ่งแต่จะแก่งแย่งอำนาจกัน ความเดือดร้อนต่างๆ ของราษฎร   ร้อนถึงพระภิกษุเจ้าซึ่งในสมัยนั้นถือว่าพระภิกษุมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเป็นผู้มีความรู้ ประชาชนให้ความเลื่อมใสนับถือเป็นอย่างมาก ได้แก่ พระภิกษุวัดนายาง (นายาบ อยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) พระภิกษุรูปนี้กล่าวกันว่าแกร่งกล้าด้วยวิทยาคมมีความรู้ทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ท่านมีลูกศิษย์ที่เลื่อมใสจำนวนมาก จึงได้เข้าร่วมกับพระภิกษุวัดสามขา วัดบ้านฟ่อนโดยการลาสิกขาออกมาเพื่อกู้บ้านกู้เมืองจากพม่า แล้วรวบรวมผู้คนตั้งตนเป็นอิสระซึ่งขุนเมืองทั้ง ๔ ที่รักษาเมืองลำปางอยู่ไม่สามารถจะปราบปรามได้     ครั้นข่าวตั้งตนเป็นอิสระเป็นเหล่าเพื่อต่อสู้พม่าทราบไปถึงท้าวมหายศ ซึ่งเป็นชาวพม่าที่มาครองเมืองลำพูน ก็ได้ยกกองทัพมายังนครลำปาง เพื่อจะมาปราบปรามพระภิกษุที่ลาสิกขาบทออกมารวมทั้งพรรคพวก เมื่อทราบข่าวการศึกสมภารวัดนายาง วัดสามขา และวัดบ้านฟ่อน จึงได้คุมสมัครพรรคพวกออกต่อสู้กองทัพท้าวมหายศ เมืองลำพูนโดยมิได้ย่อท้อ    การรบครั้งนั้นดุเดือดจนถึงขั้นตะลุมบอน ที่ตำบลป่าตัน กองกำลังฝ่ายสมภารวัดนายาง สู้กองทัพท้าวมหายศไม่ได้ก็แตกหนีไปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พม่าตามไปล้อมไว้ ครั้นเวลาค่อนรุ่งสมภารวัดนางยางได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เหลืออยู่หนีออกจากวัดลำปางหลวงไปทางทิศใต้ กองทัพท้าวมหายศไล่ติดตามไปทันจึงเกิดต่อสู้กันอีกสมภารวัดนายางถูกกระสุนปืนของชาวลำพูนตรงระหว่างคิ้วล้มลง เสนาซ้ายขวาเข้าประคองก็ถูกกระสุนปืนล้มลงทั้งคู่   เสนาวัดบ้านฟ่อนถูกกระสุนปืนที่หางตา เสนาวัดสามขาถูกที่หัวเข่า ถึงแก่กรรมทั้ง ๓ ท่านส่วนราษฎรที่เหลือ เมื่อเห็นหัวหน้าเกิดอันตรายจึงพากันหลบหนีไป พวกที่หนีไม่ทันก็ถูกทหาร ท้าวมหายศฆ่าตายจำนวนมาก เมื่อได้รับชัยชนะแล้วท้าวมหายศก็ยกทัพเข้ามาตั้งอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วจึงมีบัญชาให้ทหารออกไปเรียกเก็บเงินภาษีชาวบ้าน บังคับเอาข้าวของทรัพย์สินเงินทองเสบียงอาหาร เพื่อนำไปบำรุงกองทัพใครขัดขวางก็ลงโทษอย่างทารุณ   ส่วนผู้หญิงถูกฉุดคร่าไปเป็นนางบำเรอของทหารและแม่ทัพนายกอง ต่อมาท้าวมหายศหาทางเข้าปกครองเมืองลำปาง โดยการคิดหาอุบายฆ่า ขุนเมืองลำปางทั้ง ๔ คน ดังนั้นจึงใช้ให้หาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น นายทหารเอกซ่อนอาวุธเข้าไปเจรจาความเมืองกับขุนเมืองทั้ง ๔ ของเมืองลำปาง คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือง และจเรน้อย รวมทั้งท้าวขุนทั้งหลาย พวกขุนเมืองที่รอดมาได้คือ ท้าวลิ้นก่าน จเรน้อย นายน้อยธรรม และชาวบ้านได้หนีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ประตูผา เมืองลอง เมืองจีบ เมืองต้า เมืองเมาะ เมืองจาง    เมืองลำปางครั้งนั้นจึงเป็นเมืองร้าง หาคนอยู่อาศัยไม่มีเพราะเกรงข้าศึกพม่าจะมาทำร้าย ในเวลาต่อมามีพระมหาเถรรูปหนึ่งอยู่วัดพระแก้วชมพู (วัดพระแก้วดอนเต้า) ขออาสาเข้าปราบพม่าจึงได้ปรึกษาหารือกับญาติโยม และสานุศิษย์ ทางญาติโยมทั้งหลายก็ขอนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดก่อน และให้ดูตำราไสยศาสตร์ เพื่อหาคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นหัวหน้าชาวบ้านแทน   พระมหาเถรวัด พระแก้วชมพูมองเห็นหนานทิพย์ช้างเป็นชาวบ้านคอกวัว มีอาชีพเป็นพรานป่า อยู่แถบข้างวัดศรีล้อม จังหวัดลำปาง (บางฉบับว่าเป็นชาวบ้านปงยางยก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด กล้าหาญ มีกำลังฝีมือเข้มแข็ง ทั้งชำนาญในการใช้อาวุธปืนให้เป็นผู้นำกำลังเข้าต่อสู้พม่า   แต่หนานทิพย์ช้างก็เกรงว่า ถ้าได้กู้บ้านเมืองแล้วจะมีปัญหาเรื่องการครองบ้านครองเมือง กับเจ้า ผู้ครองนครองค์เก่า จึงขอคำสัญญาจากชาวบ้านชาวเมืองและเจ้าผู้ครองนครองค์เก่าว่า ถ้าทำศึกชนะแล้วจะยกบ้านยกเมืองให้ครอง ชาวบ้านชาวเมืองก็พร้อมใจกันตกลง    หนานทิพย์ช้างได้นำกำลังคน ๓๐๐ คน ไปล้อมทัพท้าวมหายศที่วัดพระธาตุลำปางหลวง    กองทัพเดินทางไปถึงก็เป็นเวลาดึกสงัดแล้ว หนานทิพย์ช้างจึงวางกำลังคนอยู่เฝ้าจุดสำคัญของพวกพม่าแล้วลอบเข้าทางท่อระบายน้ำทิศตะวันตกของวัดพระธาตุลำปางหลวง (ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่) 
รางน้ำที่หนานทิพย์ช้างเคยลอดเข้ามา ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง

หนานทิพย์ช้างปลอมตัวเป็นผู้ถือหนังสือจากเมืองลำพูนว่าเป็นหนังสือของชายาท้าวมหายศ และได้สืบถามจากทหารว่าท้าวมหายศเป็นผู้ใด ขณะนั้นท้าวมหายศ ทหารคนสนิทและนางบำเรอกำลังเล่นหมากรุกที่วิหารหลวง ในวัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่   หนานทิพย์ช้างจึงทำทียื่นหนังสือให้แล้วถอนมาพอระยะจึงใช้ปืนยิงท้าวมหายศ ตายคาวงหมากรุก ซึ่งลูกปืนทะลุไปถูกกรงเหล็กที่ล้อมพระธาตุไว้ (ปัจจุบันนี้ยังมีรอยเหลืออยู่) 

   ภาพรูกระสุนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศ

ทัพท้าวมหายศแตกกระจัดกระจาย ทหารถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก หนานทิพย์ช้างกลับมา ออกท่อระบายน้ำทางเดิมอีก   ชาวเมืองลำปางได้ตั้งชื่อให้เป็นเจ้าทิพเทพบุญเรือน เมื่อขับไล่ปราบกองทัพม่าแตกพ่ายไปแล้ว พระมหาเถรวัดพระแก้วชมพู พร้อมด้วยประชาราษฎร์ชาวเมืองนครลำปาง (เมืองลคอร) พร้อมใจกันตั้งพิธีสรงน้ำมุรธาภิเษกให้หนานทิพย์ช้าง เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง ใน พ.ศ.๒๒๗๕ (จุลศักราช ๑๐๙๔) มีนามว่า เจ้าพระยาสุลวฤาชัยสงครามหรือ พระเจ้าสุลวฤาชัยสงคราม พระองค์ทรงครองเมืองลำปางได้นานถึง ๒๗ ปี พอปี พ.ศ.๒๓๐๒ (จุลศักราช ๑๑๒๑) ก็ถึงแก่ทิวงคตรวมอายุได้ ๘๕ ปี มีโอรสธิดากับเจ้าแม่ พิมพา (ปิมปา) รวมได้ ๖ องค์ได้แก่ ๑.เจ้าอ้าย ๒. เจ้าแก้ว ตอนหลังพม่าตั้งให้เป็น เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ๓. เจ้าหญิงคำ ๔.เจ้าหญิงคำปา ๕. เจ้าพ่อเรือน ๖. เจ้าหญิงกลม 


  ภาพบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน




ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-หนังสือ หนานทิพย์ช้าง(ฉบับการ์ตูน) ,สรรัตน์  จิรบวรวิสุทธิ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น