ประวัติเมืองฝาง หรือ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเป็นที่ตั้งของเวียงสุทโธ , เวียงไชยปราการ และเวียงฝาง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ ด้านทิศเหนือป้องกันการรุกรานจากพม่า เล่ากันว่าในครั้งที่พม่ายกทัพเข้ามารุกรานแผ่นดินไทย (ในสมัยรัชกาลใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด) ได้มีทหารเอกเจ้าเมืองฝางท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญ และชำนาญในการรบ ได้นำกำลังกองทัพเข้าต่อสู้กับทหารพม่าด้วยความเด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ สามารถมีชัยชนะต่อข้าศึกหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่เลื่องลือไปทั่วถิ่นล้านนา และเป็นที่หวาดหวั่นยำเกรงต่อทหารพม่า เมื่อเอ่ยชื่อถึงทหารเอกท่านนี้ จนเมื่อท่านเสียชีวิตลง ผู้คนเชื่อกันว่าดวงวิญญาณของท่านยังคงสถิตอยู่ที่เมืองฝาง ณ บริเวณแหล่งน้ำมันไชยปราการ เพื่อคอยปกป้องดูแลรักษาผืนแผ่นดินที่ท่านหวงแหนตลอดมา ทหารเอกที่ได้กล่าวถึงนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ได้จากการบอกเล่าของผู้คนในท้องที่อำเภอฝางที่เล่าสืบต่อกันมาบ้าง ได้จากการบอกเล่าของร่างทรงมาบ้าง ที่สามารถบันทึกไว้ได้มีจำนวน ๕ ประวัติ ซึ่งแต่ละประวัติจะกล่าวถึงคุณงามความดีและความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของท่าน ในการต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ามารุกรานผืนแผ่นดินไทย แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนในชีวประวัติที่แท้จริงของท่าน จึงได้มีการเรียกชื่อทหารเอกท่านนี้ภายหลังที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว นามว่า “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” โดยเรียกชื่อตามลักษณะการแต่งกายของท่านที่ใช้ ๒ ดาบเป็นอาวุธ มีปลอกเหล็กหุ้มข้อมือต่างโล่ห์ ทั้ง๒ ข้อมือ
ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเท่าที่ประมวลจากตำนานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา บันทึกที่ค้นพบ และการถามม้าขี่ (คนทรง) ปัจจุบันเจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีคนทรงหลายคนได้ข้อมูลที่ตรงกันประการหนึ่ง คือ เจ้าพ่อข้อมือเหล็กขณะยังมีชีวิตอยู่ เป็นทหารหรือนักรบของคนไทยลานนา มีความกล้าหาญสามารถกำดาบสู้กับข้าศึกได้นับร้อย มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง ถือดาบสองมือเป็นอาวุธ ชื่อเดิมและประวัติครอบครัวไม่ค่อยตรงกัน พื้นเพเดิมอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง และมาเป็นทหารให้กับหัวเมืองเหนือตั้งแต่เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ จนถึงเวียงฝางทำสงครามกับไทยใหญ่และพม่าเสียชีวิตลงเนื่องจากการรบหรือตรากตรำในการรบ ยุคสมัยของท่านไม่สามารถระบุได้แน่นอนในประวัติศาสตร์คาดว่าจะอยู่ระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังจากเสียชีวิตแล้วยังเป็นห่วงชาติบ้านเมือง เป็นเทวดาคุ้มครองตอนเหนือของเชียงใหม่ ตั้งแต่ อ.แม่แตง จนถึง อ.ฝาง ประวัติที่จะได้อ่านต่อไปนี้ ได้มาจาก คำบอกเล่า บันทึกที่ค้นพบจากการถามม้าขี่ (ร่างทรง) และจากหนังสือตำรา ( “ผีเจ้านาย โดยฉลาดชาย สมิตานนท์”) ประวัติที่ ๑ - เป็นทหาร รูปร่างสูงใหญ่ ประมาณ ๑ เท่าครึ่งของคนปัจจุบันใช้ดาบคู่ แขนตั้งแต่ข้อมือถึงข้อศอก สวมปลอกเหล็กไว้กันดาบของคู่ต่อสู้ที่รับไว้แล้วอาจพลาดมาถูกแขนได้ เนื่องจากดาบไม่มีโกร่งกันอย่างดาบฝรั่ง นอกจากนั้นยังใช้ปลอกเหล็กกันอาวุธแทนโลห์อีกด้วย - เจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีชื่อว่า บุเหลง, เหล็ก และเพชร(๓ ชื่อ) เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก แล้วย้ายตามบิดามารดาลงมาเติบโตที่จังหวัดพิจิตร ท่านเป็นนักรบของคนไทยในภาคเหนือ ตั้งแต่เมืองปัว เมืองน่าน ต่อมาถึงเมืองฝางเป็นทหารเอกของเจ้าพระยาฝาง ต่อสู้กับพม่ามาตลอดจนสิ้นชีวิต(สมัยเจ้าพระยาตาก) - ลักษณะการแต่งกาย นุ่งกางเกงแค่หัวเข่า (ขาก๊วย) เสื้อแขนยาวถึงข้อศอกใช้ผ้าผูกแทนกระดุม (เสื้อหม้อห้อม) สวมรองเท้าหนังสัตว์ใส่เกราะไม้ไผ่รอบอก (ทำอย่างการเผ้าเฝือกรักษากระดูกหลัง) แล้วสวมเสื้อทับ คาดเอวทับด้วยผ้าแดง - มีความชำนาญในการใช้ดาบคู่ สามารถรำดาบให้เห็นเงาของปลายดาบเป็นรูป ๓ เหลี่ยม อยู่รอบตัว ในขณะที่รำดาบให้ดูนี้อาจตัดหัวคนให้ขาดได้โดยไม่รู้ตัว - ปัจจุบัน ท่านเป็นเทวดาที่ดูแลคุ้มครองพื้นที่เขตอำเภอฝางทั้งหมด การกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจของท่านในบริเวณอำเภอฝางนั้นจำเป็นต้องขออนุญาตท่านเสียก่อน - การบวงสรวง ประกอบพิธีกรรม จัดเครื่องสักการะบูชาในระดับชั้นเทวดา และชอบการละเล่นที่แสดงพละกำลังความสามารถของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การงัดข้อบนตอไม้ที่สูงระดับประมาณครึ่งเมตร - การทำบุญให้ทาน ให้ใช้วิธีสังฆทาน ถวายผ้าไตร สร้างพระพุทธรูปประวัติที่ ๒ เมื่อสมัยพระยาหมื่นคื่น ได้ปกครองเมืองก๊ะ สันนิษฐานว่าจะอยู่ใกล้ ๆ บ่อน้ำมัน บริเวณหมู่บ้านแม่คะปัจจุบัน พระยาหมื่นคื่น มีภรรยาชื่อ ธรรมเนียม มีบุตรธิดาทั้งหมด ๑๒ คน มีชื่อเท่าที่ ปรากฎ๑. เจ้ากาบคำ หรือก๊าบคำหรือดาบคำ คือเป็นลูกคนแรก พ่อแม่คงรักมาก เมื่อเกิดนางธรรมเนียมผู้เป็นแม่จึงเอาแก้วแหวนเงินทองให้คาบไว้ เป็นการเอาเคล็ดว่าจะได้เสวยสุข มั่งมีเงินทองถึงคาบเงินคาบทอง๒. เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก๓. เจ้าคมดาบ๔. เจ้าใจดำ๕. เจ้าอินสอน๖. เจ้าขวัญเรือน๗. ฯลฯ ไม่ทราบนาม มีสมัยหนึ่งมีทัพมาจากพม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองใหญ่น้อยในภาคเหนือ จนมาถึงเมือก๊ะ และเข้าล้อมเมืองไว้ หวังจะให้ชาวเมืองก๊ะหมดอาหารและยอมจำนน พระยาหมื่นคื่นจึงได้เรียกประชุมที่เหล่าแม่ทัพนายกองและบุตรที่เป็นทหาร ทั้งแม่ทัพและราชบุตรต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรสู้ เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของตนเอง มีแต่เจ้าคมดาบน้องคนที่สาม ซึ่งปกครองเมืองสะหลุงเชียงดาว เมื่อทราบข่าวการศึกจึงรีบมาช่วยให้ความเห็นว่าไพร่พลของตัวมีน้อย และเป็นการถนอมรักษาชีวิตพลเมืองไว้ เห็นควรยอมแพ้แต่โดยดี เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก จนถึงเจ้าใจดำบุตรคนที่สี่เศร้าเสียใจที่ยกเมืองให้ข้าศึกง่าย ๆ จึงกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตาย เมื่อตกลงกันเป็นที่แน่นอนว่าวิธีที่จะรักษาเอกราชของตนเอง คือสู้เท่านั้น และในที่ประชุมต่างเห็นว่าผู้ที่มีความสามารถทั้งด้านฝีมือและการวางกลยุทธการต่อสู้ ไม่มีใครเกิน เจ้าพ่อข้อมือเหล็กจึงได้ร่วมใจกันยกให้เจ้าพ่อข้อมือเหล็กขึ้นเป็นนายทัพ การสู้รบครั้งนั้นเป็นไปด้วยความกล้าหาญของไพร่พลแม่ทัพกองเมืองก๊ะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายพลได้แสดงความกล้าหาญ นำทัพเข้าตลุยนำหน้าตลอดเวลา จนกระทั่งศัตรูแตกพ่ายไปทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่า จนรักษาเอกราชไว้ได้ร่างทรง คุณยายเทียมต๋า ซึ่งขณะนี้อายุ ๓๘ ปี เป็นชาวบ้านแพะ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งได้ย้ายมาอยู่ บ้านแม่คะ ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อาชีพทำนา ว่างจากนาก็หาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ นำมาขาย เป็นครอบครัวที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน วันหนึ่ง เมื่อคุณยายเทียมต๋า ขณะนั้นอายุได้ ๒๑ ปี เข้าไปหาของป่าเหมือนเช่นเคย ผ่านมาทางบ่อต้นขาม รู้สึกเวียนศรีษะจนเป็นลม เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยต้องช่วยกันพากลับบ้าน ถึงบ้านก็ไม่สบายมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่คิดว่าคุณยายไปทำมิดีมิร้ายต่อเจ้าพ่อ จึงไปขอขมาลาโทษต่อเจ้าพ่อที่บ่อต้นขาม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น อาการมีแต่ทรงกับทรุด จึงได้สอบถามเจ้าพ่อองค์หนึ่งที่ผ่านร่างทรง จึงได้ทราบว่าขณะนี้เจ้าพ่อข้อมือเหล็กได้มาสถิตย์อยู่ทิศทางนี้และอาศัยศาลที่บ่อต้นขามมานานยังไม่มีร่างทรง ติดต่อระหว่างผู้มีมาขอความคุ้มครองกับเจ้าพ่อ และรอมานานไม่พบผู้ที่เหมาะสม จนกระทั่งเห็นคุณยายเทียมต๋าจึงรู้เป็นผู้ที่ท่านรอมานาน เพราะเป็นผู้ที่มีความสัตย์ ใจบุญ ไม่คดโกง ท่านกล่าวว่าเป็นคนน้ำไหลใจซื่อ มีศีลธรรม เหมาะที่จะเป็นร่างทรง ถ้าไม่ทรมานด้วยการให้ความป่วยไข้เสียก่อนก็อาจจะไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ และไม่รับการเป็นร่างทรง เมื่อไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะร่างรายผ่ายผอมลงไปทุกวันสุดท้ายคุณยายเทียมต๋าจึงยอมรับเป็นร่างทรง ตั้งแต่อายุ ๒๑ ปี หลังจากนั้นอาการเจ็บป่วยก็หายไปดีปลิดทิ้ง จนถึงขณะนี้คุณยายอายุ ๗๘ ปี ยังรับใช้เป็นร่างทรงเจ้าพ่อข้อมือเหล็กอยู่
หมายเหตุ คุณยายเทียมต๋า ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ด้วยโรคชรา
สัมภาษณ์ร่างทร ได้สอบถามเจ้าพ่อกาบคำ ผ่านร่างทรงถึงความเป็นมาของท่านและเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ท่านได้เล่าว่าเมื่อเจ้าพ่อข้อมือเหล็กท่านเสียชีวิต ด้วยความห่วงใยบ้านเมืองท่านจะกลับมารักษาเขตด้านชายแดนในลักษณะเทพ จนผ่านมาหลายยุคหลายชาติ และจะมาปรากฏตัวอีกครั้งที่เมืองฝางมีน้ำมันปรากฏขึ้น แต่กาลทั้งนี้ได้รับบัญชาจากเจ้าพ่อหลักเมืองให้มารักษาเขตแดนทางด้านเขตบ่อน้ำมัน พ้อมกับเจ้าพ่อกาบคำผู้เป็นพี่ สมัยเป็นมนุษย์ เจ้าพ่อกาบคำจะมีอิทธิฤทธิ์น้อยกว่า จึงคอยรักษาหมู่บ้านและคอยช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งการช่วยเหลือเล็กๆ น้อย ๆ ส่วนเจ้าพ่อมือเหล็กท่านมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าจึงได้รักษาเขตบ้านเขตเมือง เรียกว่าเป็นเสมือนทัพหน้าและเป็นเช่นนี้ตลอดมาจนถึงขณะนี้ เจ้าพ่อข้อมือเหล็กท่านจะมาเข้าทรงน้อยมาก เพราะภารกิจของท่านมากต้องตระเวนรักษาเขตแดนตลอดเวลา เว้นแต่จะมีความจำเป็นจริง ๆ และมีผู้ร้องขอท่าน นี่เป็นการบอกเล่าผ่านร่างทรงของเจ้าพ่อกาบคำ ซึ่งเมื่อสมัยเป็นมนุษย์เป็นพี่ชายเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
ประวัติที่ ๓ ในอดีตเป็นสามัญชนชื่อ น้อย เป็นทหาร เป็นนักรบ บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลานดอกไม้เมืองตาก ตนเป็นนักรบของหมื่นหาญ หมื่นดำ ซึ่งเป็นแม่ทัพอยู่ลำพูน ในสมัยนั้นเจ้าฟ้าสะท้านเป็นกษัตริย์ปกครองเชียงใหม่ ลำพูน เจ้าฟ้าสะท้านเป็นน้องของเจ้าหลวงคำแดง ในตอนนั้นเมืองตากตกเป็นข้าทาสของเชียงใหม่-ลำพูน เจ้าฟ้าสะท้านได้นำนางสร้อยทองมาเชียงใหม่ด้วย เจ้าฟ้าสะท้านได้จัดให้นางสร้อยทองพักอยู่ที่คุ้มประตูระแกง ต่อมานางถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา จากพวกข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าสะท้าน ต่อมาน้อยก็ได้ไปรับจ้างขุดดินทำกำแพงเมืองเชียงใหม่ เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางพานางสร้อยทองกลับเมืองตากได้เงินมาหกพันด้วง ในขณะที่น้อยรับจ้างขุดดินอยู่นั้นได้พบชายเฒ่าคนหนึ่งถูกทหารของเจ้าฟ้าสะท้านโดยในข้อหาว่า พาลูกสาวไปซ่อนไม่ยอมให้เจ้าฟ้าสะท้านเอามาเป็นเมีย น้อยก็บังเกิดโทสะขึ้นมา และคิดว่าถ้าตนได้เป็นทหารอีกเมื่อไรจะปลดปล่อยข้าทาสให้จงได้ ต่อมานางสร้อยทองและน้อยเดินทางกลับเมืองตาก ขณะเดินทางถูกทหารของเจ้าฟ้าสะท้านจับได้ ชาวบ้านต่างนินทาว่าน้อยเป็นชู้กับนางสร้อยทอง น้อยปฏิเสธและขอให้เจ้าหลวงคำแดงให้ความเป็นธรรมแก่ตน เจ้าหลวงคำแดงยอมให้พิสูจน์ตนเองโดยการส่งไปรบกับไทยใหญ่พม่า และต้องสู้รบ ขณะสู้รบถูกไทยใหญ่จับตัวได้ถูกใส่ปลอกเหล็กที่ข้อมือที่ซึ่งติดตัวต่อมา แต่น้อยไม่ยอมจำนน นำทหารที่ถูกจับเป็นเชลยด้วยกันลุกขึ้นสู้และสามารถหนีกลับได้หลังจากนั้นก็รวบรวมทหารตั้งเป็นด่านรักษาเมืองเชียงใหม่อยู่แม่แตงต่อมาได้ตายไปเพราะเป็นอัมพาตคือช้ำในตายเพราะผ่านการรบมามาก โดยเหล็ก โดนดาบอยู่ตลอดเวลา เมื่อตายไปชาวบ้านก็ได้สร้างศาลให้สถิตย์อยู่ที่แม่แตง (เจ้าข้อมือเหล็กในร่างของม้าขี่ กล่าวว่าเรื่องประวัติของตนนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์จึงไม่รรู้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.อะไร)
ประวัติที่ ๔ ชาติก่อนเจ้าพ่อคือ พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นน้องของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เคยเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงพูดภาษาต่างประเทศได้ แต่ม้าขี่ไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร
ประวัติที่ ๕ เจ้าพ่อข้อมือเหล็กเดิมเป็นคนบ้านลานดอกไม้ แขวงเมืองกำแพงเพชร เป็นทหารยุคเจ้าฟ้าสะท้าน สามารถกำดาบสู้คนได้เป็นร้อย โดยข้อมือไม่ตกจึงได้ชื่อว่าข้อมือเหล็ก เป็นทหารให้เมืองเชียงใหม่ ครั้งสุดท้ายไปทำสงครามที่บ้านสบแตง รบกับพม่า ๑ วัน กับ ๑ คืน จนตายโดยยังถือดาบอยู่ในมือ อยู่หน้ากองทัพ พม่าไม่กล้าเข้าใกล้ (ในสมัยพระเจ้าอังวะ) ตอนเป็นทหารอยู่เป็นมีจิตใจเหี้ยมโหดแต่มีความรักบ้านเมือง จึงทำให้จิตกังกลอยู่เช่นนี้ ดังนั้นเลยไม่ยอมไปผุดไปเกิดยังคงเป็นผีอยู่ เหตุที่มาเข้าร่างทรงในเมืองมนุษย์ก็เพื่อล้างกรรมเก่า ที่มีมาแต่ชาติปางก่อน เคยฆ่าคนไว้มากและอีกประการหนึ่งจิตใจยังกังวลห่วงชาติบ้านเมืองอยู่ จึงต้องลงมาประทับทรงกับร่างมนุษย์ มาช่วยเหลือมนุษย์สร้างบุญบารมี เจ้าพ่อเคยมีร่างทรงมาแล้ว ๓ คน ตายไป ๑ คน อีกคนหนึ่งลาไปบวชเป็นพระไม่สึกตลอดชีวิต การที่เลือกมาขี่ก็เพราะชาติก่อนได้เคยช่วยเหลือใช้สอยกันมา ชาตินี้จึงเลือกเป็นม้าขี่ศาลใหญ่อยู่ที่อำเภอแม่แตง
บริเวณรอบๆศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก
ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเท่าที่ประมวลจากตำนานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา บันทึกที่ค้นพบ และการถามม้าขี่ (คนทรง) ปัจจุบันเจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีคนทรงหลายคนได้ข้อมูลที่ตรงกันประการหนึ่ง คือ เจ้าพ่อข้อมือเหล็กขณะยังมีชีวิตอยู่ เป็นทหารหรือนักรบของคนไทยลานนา มีความกล้าหาญสามารถกำดาบสู้กับข้าศึกได้นับร้อย มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง ถือดาบสองมือเป็นอาวุธ ชื่อเดิมและประวัติครอบครัวไม่ค่อยตรงกัน พื้นเพเดิมอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง และมาเป็นทหารให้กับหัวเมืองเหนือตั้งแต่เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ จนถึงเวียงฝางทำสงครามกับไทยใหญ่และพม่าเสียชีวิตลงเนื่องจากการรบหรือตรากตรำในการรบ ยุคสมัยของท่านไม่สามารถระบุได้แน่นอนในประวัติศาสตร์คาดว่าจะอยู่ระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังจากเสียชีวิตแล้วยังเป็นห่วงชาติบ้านเมือง เป็นเทวดาคุ้มครองตอนเหนือของเชียงใหม่ ตั้งแต่ อ.แม่แตง จนถึง อ.ฝาง
ประวัติที่จะได้อ่านต่อไปนี้ ได้มาจาก คำบอกเล่า บันทึกที่ค้นพบจากการถามม้าขี่ (ร่างทรง) และจากหนังสือตำรา ( “ผีเจ้านาย โดยฉลาดชาย สมิตานนท์”)
*เนื้อหาสาระดีมากเลยครับสนุกด้วยได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญ
ตอบลบภูมิใจมากครับ...ที่ได้เกิดมาอยู่บนผืนแผ่นดินท่าน
ตอบลบ#ผมคนฝางครับ^^