อนุสาวรีย์ พญาผานอง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
พญาผากอง หรือพญาผานอง เป็นโอรสของเจ้าเก้าเกื่อนหรือปู่ฟ้าฟื้น เดิมชื่อขุนใสหรือขุนใส่ยศ สืบเชื้อสายมาจากพญาภูคา เจ้าเมืองภูคา ขุนฟอง ปู่ของพญาผานองแยกมาตั้งเมืองพลัวหรือเมืองปัวครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๖๓-๑๘๙๒ เมื่อสวรรคตแล้ว โอรสสององค์คือเจ้าไสและเจ้ากานเมืองได้ครองราชย์ต่อมา เจ้ากานเมืองมีโอรสชื่อพญาผากอง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๒๙พญาผากองนี้เป็นผู้สร้างเมืองน่านที่เวียงกุม บ้านห้วยไคร้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๙ เชื้อสายของพญาผากองได้ครองเมืองน่านจนถึงเจ้าผาแสงเป็นองค์สุดท้าย ก่อนที่ทางเชียงใหม่ จะส่งคนมาปกครองเมืองน่านโดยตรง
ตามตำนานเมืองเหนือ และพงศาวดารโยนก บันทึกไว้ว่า
พระยาภูคา เป็นกษัตริย์ครองเมืองยาง(หรือเมืองภูคา) ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วันหนึ่งพรานป่าคนหนึ่งไปล่าเนื้อบนภูคา ได้พบไข่ปลาขนาดเท่าผลมะพร้าว วางอยู่ใต้ต้นไม้ 2 ฟอง จึงนำมาถวายพระยาภูคา พระองค์เห็นเป็นของประหลาด ก็เอาไข่ฟองหนึ่งใส่ไว้ในกะทองิ้ว(นุ่น) อีกฟองหนึ่งใส่ไว้ในกะทอฝ้าย อยู่มาไม่นานไข่ที่ใส่ไว้ในกะทอนุ่นก็แตกออกก่อน ปรากฏเป็นทารกรูปงาม พระยาภูคาจึงเลี้ยงไว้ ต่อมาอีก 2 ปี ไข่ในกะทอฝ้ายก็แตกออกมาอีก เป็นทารกรูปร่างงดงามเช้นกัน พระยาภูคาจึงตั้งชื่อทารกคนแรกว่า “เจ้าขุนนุ่น” ส่วนองค์ที่กำเนิดในกะทอฝ้ายตั้งนามว่า “เจ้าขุนฟอง” จึงเลี้ยงทารกทั้งสองไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม
วันเวลาผ่านไป ทารกทั้งสองก็เติบโตเป็นหนุ่ม เจ้าขุนนุ่นผู้พี่มีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี เจ้าขุนฟอง ๑๖ ปี พระยาภูคาจึงให้ราชบุตรบุญธรรมทั้งสององค์ไปตามหาเถรแตงซึ่งเป็นฤาษีหรือชีผ้าขาวผู้มีฤทธิ์ เพื่อขอให้เถรแตงสร้างเมืองให้เจ้าสองพี่น้อง เถรแตงจึงนำสองพี่น้องไปดูทำเลที่จะสร้างเมือง จึงได้สร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ให้ชื่อว่า เมืองจันทรบุรี(เวียงจันทร์) แล้วให้เจ้าขุนนุ่นผู้พี่ครองเวียงจันทร์ จากนั้นเถรแตงจึงสร้างเมืองห่างจากแม่น้ำน่าน ๕,๐๐๐ วา ตั้งชื่อเมืองว่า “วรนคร” (คือเมืองปัว) แล้วให้เจ้าขุนฟองผู้น้องครองเมือง
ตำนานเมืองเหนือหลายเมือง เมื่อจะกล่าวถึงการสร้างเมือง มักยกให้ฤาษีเป็นผู้สร้าง คำว่าฤาษี หมายถึงชีผ้าขาว ผู้อยู่ตามถ้ำตามป่าเขา มีผู้คนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง จึงเป็นผู้มีบารมีในการชักชวนชาวบ้านชาวเมืองให้ช่วยกันถางป่าสร้างบ้านแปงเมือง มาในยุคหลังก็มีครูบาศรีวิชัยเป็นตัวอย่างที่สามารถแลไปเทียบกับอดีตได้ ก็สมัยโบราณนั้น พระสงฆ์ยังไม่มีอิทธิพลในสังคมมากนัก ชีผ้าขาวหรือฤาษีจึงได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงจากสังคมยุคนั้น ท่านจึงเป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นผู้ประสานประโยชน์ในสังคม ระหว่างคนชั้นสูงคือผู้ครองเมือง กับคนชั้นล่างคือชาวบ้านชาวเมือง ตำนานการสร้างเมืองหริภุญชัย เมืองเขลางค์นคร ก็มีฤาษีเป็นผู้สร้างให้เจ้าชาย ในตำนานของพ่อขุนงำเมืองก็ไปเรียนวิชากับพระฤาษีที่เขาสมอคอน เมืองพิจิต พร้อมกับพระร่วงเจ้า และเครื่องรางของขลังวัตถุมงคลยุคนั้นก็สร้างขึ้นโดยฤาษีหรือชีผ้าขาว ไม่ว่าพระรอดลำพูน หรือพระซุ้มกอ จนถึงพระผงสุพรรณ ผู้เขียนได้รูปฤาษีมาจากกรุเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคราบกรุเป็นสนิมเหล็กเกาะติดแน่น แบบเดียวกับพระรอดลำพูนพิมพ์ต้อ ก็คงสร้างมาในยุคเดียวกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปฤาษีนารอด ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทยยุคโบราณคือฤาษีหรือชีผ้าขาว ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองแต่ละเมืองในยุคราชวงศ์พระเจ้ามังราย รับเอาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามา พระสงฆ์ก็เริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น และเจริญเฟื่องฟูที่สุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙ แห่งเชียงใหม่ เจ้าขุนฟองครองเมืองวรนครจนสิ้นอายุขัย ก็มีพระโอรสนามพระยาเก้าเกื่อน ครองเมืองสืบมา ต่อมา เมื่อพระยาภูคาผู้เป็นปู่ชราภาพ ก็ให้พญาเก้าเกื่อนไปครองเมืองภูคา พระยาเก้าเกื่อนจึงมอบวรนครให้นางพญาคำปินมเหสีอยู่ครองแทน ซึ่งตรงกับสมัยพ่อขุนงำเมือง อาณาจักรพะเยา (๑๘๐๑-๑๘๖๑)
ต่อมาพ่อขุนงำเมืองก็ยกกองทัพไปตีวรนคร พระนางคำปินจึงแจ้งข่าวศึกไปถึงพระยาเก้าเกือน พร้อมกับแต่งทัพออกต่อสู้กับกองทัพพะเยา แต่ไม่สามารถต้านทัพของพ่อขุนงำเมืองได้ นางพญาคำปินจึงหลบหนีออกจากเมืองพร้อมกับหญิงรับใช้คนหนึ่งไปอาศัยกระท่อมกลางป่าแห่งหนึ่ง และประสูติกุมารที่กระท่อมกลางป่านั้น
ในบริเวณป่าแห่งนั้นมีแต่ห้วยที่แห้งแล้ง หาน้ำใช้น้ำอาบไม่มี นางและบุตรน้อยจึงได้รับความลำบากมาก นางจึงตั้งสัจอธิษฐานว่า หากกุมารมีบุญญาธิการจะได้ครองเมืองก็ขอให้มีฝนตกลงมาเถิด ทันใดนั้นฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก เกิดน้ำไหลนองพัดเอาก้อนหินก้อนผามากองไว้เป็นอันมาก พระนางเห็นเช่นนั้นก็มีพระทัยยินดี อุ้มเอากุมารน้อยไปสรงน้ำ และได้อาศัยอยู่ที่กระท่อมหลังนั้นสืบมา
เช้าวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของกระท่อมไร่กลางป่านั้นมาทำไร่ปลูกสวน ได้ยินเสียงกุมารร้องไห้จึงเข้าไปดู ครั้นเห็นนางพญาก็จำได้ เพราะเคยเป็นข้าเก่าของพระยาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับเอานางพญาและกุมารไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน จนกุมารเติบใหญ่ขึ้น อายุได้ ๑๖ ปี นายบ้านเจ้าของกระท่อมกลางป่าดังกล่าวนั้นจึงนำกุมารไปถวายแด่พ่อขุนงำเมือง พระองค์เห็นหนุ่มน้อยก็นึกรักเอ็นดู จึงขอเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม ตั้งให้เป็น “ขุนใส่ยศ” ให้ไปกินเมืองปราด
พ่อขุนงำเมืองได้หญิงสาวชาววรนครผู้หนึ่งเป็นชายา นามว่า “พระนางอั้วสิม” มีโอรสด้วยกันองค์หนึ่งนามว่า “เจ้าอาบป้อม” เมื่อพ่อขุนงำเมืองจะเสด็จกลับไปครองเมืองพะเยา จึงมอบให้พระนางอั้วสิมและโอรสอยู่ครองเมืองวรนคร หลังจากพ่อขุนกลับพะเยาไม่นาน พระนางอั้วสิมก็พาโอรสไปเยี่ยม และเกิดมีเรื่องแหนงใจกับพ่อขุนงำเมือง ก็บังคมลากลับเมืองวรนคร ต่อมานางพบกับขุนใส่ยศก็มีจิตเสน่หากัน จึงได้อภิเษกสมรสกับขุนใส่ยศ ครองเมืองวรนครด้วยกัน
ความทราบถึงพ่อขุนงำเมืองก็ทรงพระพิโรธเป็นอันมาก จึงยกกองทัพมาตีเมืองวรนครอีกครั้ง ขุนใส่ยศเจ้าเมืองปราดจึงยกรี้พลออกสู้รบ และให้เจ้าอาบป้อม โอรสของพ่อขุนออกรบด้วย พ่อขุนเห็นโอรสออกมาสู้รบด้วยดังนั้นก็นึกสงสาร จึงถอยรี้พลกลับเมืองพะเยา ชาวเมืองวรนครจึงพร้อมใจกันทำพิธีราชาภิเศกให้ขุนใส่ยศเป็น “เจ้าพญาผานอง” ครองเมืองวรนครสืบมา
พระยาผานองได้ครองเมืองสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๑๘๙๓ ก็ถึงพิราลัย ทรงมีโอรสองค์ ๖ องค์ด้วยกัน ขุนไสโอรสองค์น้อยได้ขึ้นครองเมืองแทน ต่อมาปี พ.ศ. ๑๘๙๖ ก็พิราลัย พระยาการเมืองราชโอรสองค์โตได้ขึ้นครองเมืองแทน พระยาการเมืองได้ทำไมตรีกับกรุงสุโขทัย(เข้าใจว่าครั้งนั้นเมืองน่านคงจะเป็นเมืองขึ้น ของกรุงสุโขทัย) ในปี พ.ศ. ๑๘๙๖ (จ.ศ.๗๑๕) ทางกรุงสุโขทัย มีการทำบุญทางศาสนาและได้บอกให้พระยาการเมืองทราบ พระยาการเมืองจึงลงไปช่วยเหลือและได้เกิดชอบกับพระยาโสปัตติกันทิ อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่เมืองสุโขทัยหลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว เมื่อพระยาการเมืองอำลากลับ พระยาโสปัตติกันทิได้มอบพระธาตุเจ้า ๗ องค์ กับพระพิมพ์คำ(ทองคำ) ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้พระยาการเมืองๆจึงอันเชิญพระธาตุดังกล่าวนั้นกลับมายังเมืองปัว และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุ และพระพิมพ์ที่ได้มานั้น ไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้งเมื่อได้อันเชิญพระธาตุเจ้าบรรจุที่นั้นเรียบร้อยแล้ว พระยาการเมืองก็ได้เสด็จกลับคืนยังเมืองปัว อยู่ต่อมาไม่นานนัก พระยาการเมืองจึงอยากอยู่ใกล้ชิดพระธาตุเจ้า เพื่อจะได้ทำการสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น ณ เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ในปี พ.ศ. ๑๙๐๖ (จ.ศ.๗๒๕) เจ้าผากองราชบุตรขึ้นเสวยราชย์แทน ในปีนั้นเองเจ้าผากองครองเวียงแช่แห้งได้ ๖ ปีก็เกิดแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ จนไม่มีให้สัตว์พาหนะกิน เจ้าผากองจึงขยับขยายไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ ทรงทอดพระเนตรเห็นบ้านห้วยไค้ เป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหารน้ำท่าบริบูรณ์ดี จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น คือเมืองน่าน เมืองน่านเก่าอยู่ทางทิศใต้เมืองน่านปัจจุบัน
ในตำนานพื้นเมืองระบุปี ที่เจ้าผากองทรงสร้างเมืองน่าน(เก่า)นี้ว่า “ปีรวายสง้า (มะเมีย) จุลศักราชได้ ๗๓๐ ตั๋ว(พ.ศ. ๑๙๑๑) เดือน ๑๒(เหนือ) ขึ้น ๖ ค่ำ วันอังคาร ยามแถร” เจ้าผากองครองเวียงแช่แห้งได้ ๖ ปี แล้วย้ายไปครองเมืองน่าน(เก่า) ครองอยู่ได้นาน ๒๑ ปี ลุวีรวายยี(ปีขาลสัมฤทธิศก) จุลศักราช ๗๕๐ พ.ศ.๑๙๓๑ ก็ถึงพิราลัย เจ้าคำตั๋นราชบุตรได้ครองเมืองสืบมา
ตลอดเวลาที่พญาผานอง ครองวรนคร(เมืองน่าน) ทรงมีความสุจริต ยุติธรรม เป็นนักรบที่เข้มแข็งและปกครองที่ดี เมืองวรนครเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่มีเมืองใดเลยที่กล้ามาตีเมืองวรนคร ถึงพ.ศ.1892 เวลา30ปี ครั้นพิราลัย พญาผากองนี้เป็นผู้สร้างเมืองน่านที่เวียงกุม บ้านห้วยไคร้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๙ เชื้อสายของพญาผากองได้ครองเมืองน่านจนถึงเจ้าผาแสงเป็นองค์สุดท้าย ก่อนที่ทางเชียงใหม่จะส่งคนมาปกครองเมืองน่านโดยตรง ด้วยคุณงามความดีและอานุภาพของพญาผานอง ชาวอำเภอปัวจึงสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่สักการะเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ และปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๖
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.sanyasi.org(ตำนานเมืองน่าน)
-จารึกประวัติพญาผานองบริเวณอนุสาวรีย์ พญาผานอง
- http://www.cm77.com (ภาพจาก rachata อัลบั้ม – วรนคร)
ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูล ครับ ขอบคุณมาก ๆ
ตอบลบ