วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

ท้าวมหายักษ์ จอมอัศวินชาวล้านนา


        หากจะพูดถึงความเก่งกล้าสามารถของอัศวินแห่งยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แล้ว  แม่ธรณีลานนาไทยก็ได้ให้กำเนิดยอดนักรบผู้หนึ่ง  ซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถเป็นยอดเยี่ยม  สามารถตีหักฝ่าวงล้อมของทัพพม่าซึ่งตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ทั้ง ๔ ทิศนั้นออกไปโดยลำพัง  ไปขอทัพไทยกลางมาช่วยตีขนาบข้าศึกจนแตกพ่ายยับเยิน  พฤติการณ์อันเป็นเกียรติประวัติของขุนพลแก้วผู้นี้  ได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  เพื่อเป็นแบบฉบับแก่อนุชนรุ่นหลัง  เขาคือ


พระเจ้ากาวิละ พระเจ้าแผ่นดินล้านนาองค์ที่ ๑


       
ท้าวมหายักษ์ จอมอัศวินของพระเจ้าบรมราชาธิบดี(กาวิละ) พระเจ้าขัญฑสีมานครเชียงใหม่ที่ ๑

       
นับตั้งแต่พม่าได้ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูนแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ ในแผ่นดินพระเจ้าธนบุรี  เหล่าประชาราษฎรต่างกระจัดกระจายแตกหนีไปอาศัยอยู่ตามป่าดง ลี้ภัยจากพม่าข้าศึก  บ้านเมืองก็เลยกลายเป็นเมืองร้างแต่นั้นมา  นครลำปางซึ่งเป็นเมืองที่กำลังรบเข้มแข็งในแคว้นลานนาไทยในขณะนั้น  ก็ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า ๆ จึงแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วผู้เป็นราชบุตรของพระสุละวะฤาชัยสงคราม (เจ้าหนานทิพย์ช้าง) เป็น "เจ้าฟ้า" ครองเมือง

       
ในสมัยนั้นพม่ามีอำนาจปกครองเมืองแผ่นดินลานนาไทย มีนครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย เชียงแสน หัวเมืองฝ่ายเหนือตกอยู่ในอำนาจเงื้อมมือของพม่าทั้งสิ้น  ในกาลต่อมา  เจ้ากาวิละผู้เป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมคิดกับพญาจ่าบ้านผู้เป็นน้า  เอาใจออกหากจากพม่า  โดยหันหน้าเข้าร่วมมือกับฝ่ายไทยกลาง  ในรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี  ซึ่งในรัชกาลนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗  โป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงให้พญาจ่าบ้านลงไปแผ้วถางทางน้ำ  เพื่อยกกองทัพไปตรีกรุงศรีอยุธยา  แต่พญาจ่าบ้านกลับไปนำกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นมา  ส่วนพระเจ้ากาวิละนั้นในขณะนั้นครองเมืองนครลำปาง  เมื่อทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นมา  ก็นำเอาเสบียงอาหารออกไปต้อนรับ  และนำกองทัพขึ้นมาตีนครเชียงใหม่  โป่มะยุง่วนสู้รบไม่ไหว  ก็แตกหนีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน

       
เมื่อตีเมืองเชียงใหม่แล้ว  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็นที่พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่  และให้เจ้ากาวิละครองเมืองนครลำปางตามเดิม  ในสมัยนั้นนครเชียงใหม่ได้ถูกรบกวนโจมตีจากพม่าเสมอ  เพราะพม่าตั้งใจที่จะยึดเอาเมืองเชียงใหม่ไว้เช่นเดิม  ต่อมาเมื่อพระยาวิเชียรปราการ(พญาจ่าบ้าน)ถึงแก่กรรม  เจ้ากาวิละก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ "พระยาวิเชียรปราการ" ครองเมืองเชียงใหม่สืบมา  พระยากาวิละเห็นว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่  แต่มีไพร่พลน้อยเห็นที่จะรักษาเมืองไว้ได้ยาก  เพราะพม่ามักจะยกมารบกวนอยู่เสมอ  จึงย้ายไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน)  แต่พม่าก็ยกไปตีถึงเวียงป่าซาง  พระยากาวิละต้องขอทัพกรุงมาช่วยสู้รบพม่าจนพม่าแตกไป  แม้กระนั้นพม่าก็ยังยกมารบกวนอีกหลายครั้ง  ทำความเดือดร้อนให้แก่พลเมืองและสมณะชีพราหมณ์อย่างยิ่ง

       
ในขณะนั้น  ไทยมีอำนาจปกครองเพียงเมืองลำพูน เชียงใหม่ นครลำปางเท่านั้น  เชียงรายและเชียงแสนยังตกอยู่ในอำนาจของพม่าอยู่  และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ พม่าได้ให้จีนฮ่อผู้หนึ่งมาตั้งอยู่ที่เมืองสาด  ประกาศตนเป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดินลานนาไทย ๕๗ หัวเมือง  พระยากาวิละเจ้านครเชียงใหม่จึงยกทัพไปตีเมืองสาด ซึ่งเป็นหัวเมืองไทยใหญ่และขึ้นต่อพม่า  จับตัวราชาจอมหงเจ้าเมืองกับไหมขัตติยะบุตร  พร้อมกับต้อนครัวชาวเมืองสาด ๕,๐๐๐ คนมาด้วย  และจับได้ตัวซวยหลิงมณีทูตของพระเจ้าอังวะ  ให้ถือสาส์นไปยังเมืองญวน  และหนังสือญวนตังเกี๋ยถึงพระเจ้าอังวะ  ส่งลงไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพพระมหานคร

       
การกระทำของพระยากาวิละครั้งนี้  ยังความโกรธเคืองให้แก่พระเจ้าอังวะเป็นอันมาก  จึงได้แต่งตั้งให้อินแซะหวุ่นเป็นแม่ทัพ  คุมพลยกมาตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่พระยากาวิละได้ยกเข้ามาตั้งอยู่นครเชียงใหม่แล้ว  กองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นทัพใหญ่  และตั้งล้อมเมืองไว้เป็นเวลานาน  แต่ก็หาตีเมืองแตกไม่  พระยากาวิละตั้งรักษาเมืองอย่างแข็งแรง  พม่าจึงตั้งค่ายล้อมไว้ทั้ง ๔ ทิศ  ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า

        "
อินแซะหวุ่นแม่ทัพ  จึงแบ่งไพร่พลออกเป็น ๗ สกอง  ให้ปะไลโอนามิแล ชิดชิงโบ่ มะเดมะโย กงคอรัต ตองแพกะเมียหวุ่น มะยอกแพกะเมียหวุ่น  เป็นแม่ทัพแต่ลพกองตามลำดับ  ให้ปักเสาไม้ล้อมเมืองไว้  เสานั้นใหญ่ ๓ กำ ยาว ๘ วา ลงดิน ๑ วา  มีเอ็นร้อยถึงกันทั้ง ๓ ชั้น  มีกรอบกันปืน  แผงบังตา มีสนามเพลาะสูง ๓ ศอก กว้าง ๑ วา  มีช่องปืนเรียงรายรอบด้าน"

       
พม่าตั้งค่ายล้อมอยู่เป็นเวลานาน  แต่ก็หาตีหักเอาเมืองได้ไม่  พระยากาวิละได้รักษาเมืองอย่างแข็งแรงคอยทัพหลวงจากกรุงเทพฯซึ่งขอไปช่วย  ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระอนุชาธิราชเป็นแม่ทัพใหญ่  ยกกองทัพมาช่วยแล้ว  แต่เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองเถิน  สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระประชวรเป็นโรคนิ่ว  มีพระอาการเป็นที่น่าวิตกมาก  ไม่สามารถจะเดินทัพต่อมาด้วยพระองค์เองได้  ครั้นความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดฯให้กรมพระราชวังหลังยกทัพตามขึ้นมาที่เมืองเถิน  แต่กรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้ยกกองทัพขึ้นมารออยู่ที่เมืองเชียงใหม่ก่อน  และมีรับสั่งให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯยกไปบรรจบกัน  แล้วให้เข้าโจมตีพม่าพร้อมกัน

       
ทางฝ่ายเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถูกล้อมอยู่นั้น  เมื่อเห็นว่าทางกองทัพกรุงล่าช้า  เกรงว่าจะรักษาเมืองไว้ให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกไม่ได้  และผู้คนพลเมืองก็อดอยากเสบียงอาหารที่มีอยู่ก็ร้อยหรอลงทุกวันๆ  จะออกไปหาเสบียงก็ไม่ได้เพราะพม่าล้อมเมืองแข็งแรงนัก  และหากพม่าเห็นว่าชาวเมืองอ่อนกำลังลงก็จะยกเข้าตีหักเอาเมือง  ก็คงจะต้องเสียเมืองแก่ข้าศึกอย่างแน่นอน  พระยากาวิละและน้องทั้งหกขัดใจขึ้นมาก็ยกทหารออกตีค่ายพม่าที่ตั้งล้อมอยู่  แต่ก็ถูกพม่าตีกลับเข้ามาเพราะมีไพร่พลน้อยกว่า  กล่าวกันว่าเพราะความอดอยากที่ถูกล้อมอยู่เป็นเวลานานวัน  ทำให้ไพร่พลของพระยากาวิละถึงกับจับพม่าที่ปีนเข้ามาจะตีหักเอาเมืองทางแจ่งศรีภูมิ์ ๗ คนฆ่ากินเป็นอาหาร

         
ครั้นพม่าทราบว่า  กรมพระราชวังบวรฯทรงพระประชวรอยู่เมืองเถิน  จึงให้ท้าวมหายักษ์ทหารเอกแกไปเฝ้าทูลแจ้งข้อราชการให้ทรงทราบ

       
ท้าวมหายักษ์ผู้นี้  เป็นผู้มีฝีมือเข้มแข็งและกล้าหาญมาก  เป็นผู้คงกระพันชาตรีและมีกำลังแข็งแรงมาก  สามารถสู้รบข้าศึกได้หลายสิบคนในเวลาเดียวกัน  ทั้งๆที่พม่าได้ตั้งล้อมเมืองไว้อย่างแข็งแรงดังกล่าวแล้ว  แต่ท้าวมหายักษ์ก็ตีหักฝ่าออกไปจนได้  มิหนำซ้ำยังกล่าวท้าไว้เสียด้วยว่า  จะกลับมาทางประตูนี้  ให้พม่าคอยจับเอาเถิด  และก็ได้กลับเข้ามาทางประตูนั้นจริงๆ  พม่าคอยจับก็จับไม่ได้  ความเก่งกล้าของท้าวมหายักษ์นี้  กล่าวไว้ในหนังสือบันทึกหลักฐานและเหตุการณ์สมัยกรุงเทพ เล่ม ๑ ว่า

        "
คืนนั้น  ท้าวมหายักษ์ออกมาทางประตูน้ำ (ประตูสำหรับระบายน้ำ) ด้านที่พม่าได้ตั้งกองล้อมไว้  แล้วเขียนหนังสือปักไว้ว่า  กูชื่อท้าวมหายักษ์  พระยากาวิละให้ออกไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเพื่อแจ้งข้อราชการ  เสร็จเรื่องแล้วกูจะกลับเข้ามาทางประตูนี้อีก  มืงคอยจับกูเถิด  ทั้งไปและกลับท้าวมหายักษ์ก็ผ่านทางนั้น  พม่าพยายามจะจับก็จับไม่ได้"

       
เมื่อท้าวมหายักษ์หลบหนีจากวงล้อมของพม่าออกไปได้แล้ว  ก็มุ่งตรงไปเมืองเถินเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทฯ  ทรงมีรับสั่งให้ท้าวมหายักษ์กลับมาแจ้งแก่พระยากาวิละว่า  ได้จดให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯยกกองทัพมาช่วยแล้ว  ขอให้พระยากาวิละรักษาเมืองไว้คอยท่าทัพกรุงให่จงได้  และเมื่อทัพกรุงยกไปถึงเข้าตีทัพพม่า  ก็ให้กองทัพพระยากาวิละตีกระหนาบออกมา  พม่าจะได้แตกหนีไป

       
เมื่อกองทัพกรุง  ซึ่งมีพระเจ้าหลวงเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพยกมาสมทบ  กับทัพของเจ้าบำเรอภูธร (เป็นบุตรจีนแสชาวเมืองชลบุรี  ได้ร่วมสาบานเป็นภารดากับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ๆ มีอุปการะแก่น  เมื่อเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจลเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐  จึงโปรดให้สถาปนาเป็นกรมขุนสุนทรภูเบศร  ยกขึ้นเป็นเจ้าตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ  เป็นต้นตระกูล สุนทรกุล ณ ชลบุรี) ที่เมืองลำพูน  และยกเข้าตีทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่เมืองลำพูน  ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอน  พม่าจึงแตกหนีไป  ทางเมืองเชียงใหม่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ฯ  และเจ้าบำเรอภูธรจึงยกทัพออกติดตามไป  และตั้งค่ายล้อมทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองไว้อีกชั้นหนึ่ง  และพร้อมกันกรมพระราชวังหลังซึ่งยกมาคอยอยู่ก่อนแล้วนั้น  ต่างก็ยกเข้าตีพม่าพร้อมกันทุกด้าน  และทัพพระยากาวิละก็ตีกระหนาบออกมาจากในเมือง  ตั้งแต่ตีสามของคืนนั้น

       
การสู้รบได้เป็นไปอย่างดุเดือด  พม่าจัดไพร่พลออกมาเรียงรายตามสนามเพลาะนอกค่าย  แล้วใช้ปืนยิง  ขึ้นกราดไว้  ส่วนทหารไทยต้องแอบอาศัยคันนากำบังกาย  ยิงตอบโต้กันจนรุ่งสว่าง  กองทัพไทยจึงบุกเข้าไปในค่ายของพม่าได้  และไล่บุกฟันบั่นแทงเข้าไปทุกค่าย  พม่าต้านทานไว้ไม่ไหวก็แตกหนีไปอย่างไม่เป็นกระบวน  พระยากาวิละจัดทัพชาวเชียงใหม่ไล่ติดตามไปจนถึงเมืองเชียงแสน

       
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๔๖  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าขัณฑสีมา  มีพระนามตามสุพรรณบัฏว่า"พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุริยศักดิ์ สมญามหาขัตติราช ชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี  ให้เป็นใหญ่ในลานนา ๕๗ หัวเมือง"  เพราะมีความชอบที่รักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ได้จากเงื้อมมือพม่าข้าศึก  และจัดทัพไล่ตีพม่าถึงเมืองเชียงแสน

       
ถึงแม้ว่าในพงศาวดารตอนหลัง  จะไม่ได้กล่าวถึงท้าวมหายักษ์จอมอัศวินผู้กล้าหาญนี้เลย  แต่ท้าวมหายักษ์ก็เป็นยอดอัศวินชาวล้านนาคนเดียว  ที่ได้รับเกียรติจากนักประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์  บันทึกนามของเขาไว้ในพงศาวดารเพื่อเป็นแบบฉบับและเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังว่า  ในกาลครั้งหนึ่งนักรบชาวลานนาของเรามีความเก่งกล้าสามารถ  ไม่แพ้นักรบในถิ่นอื่นเหมือนกัน


คัดจาก "คนดีเมืองเหนือ" สงวน โชติสุขรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น