ตามศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวถึงพ่อขุนสามชนว่า
พ่อขุนสามชน เป็นราชบุตรของพ่อขุนจันคำเหลืองเจ้าเมืองฉอด และเจ้าแตงอ่อน (เจ้ามุกขวดี) มีพระอนุชาชื่อ พ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงส์ เมื่อพ่อขุนจันคำเหลืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนสามชนราชบุตรองค์ใหญ่ได้สืบราชสมบัติในเมืองฉอดแทนพระราชบิดา ต่อมามีเจ้าแม่มโนราห์เป็นชายา เมืองฉอดปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่ระมาดซึ่งอยู่เหนืออำเภอแม่สอดขึ้นไป พ่อขุนสามชนสืบราชสมบัติต่อมาไม่นาน ก็ทรงเริ่มทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขต และด้วยเป็นขุนศึกที่เชี่ยวชาญเชิงยุทธ์ประกอบกับมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารีย์รักไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนมากและยิ่งกว่านั้นในวันธรรมสวนะก็ สั่งสอนในเรื่องของธรรมแก่ราษฎรมิได้ขาด ยังปรากฏพระแท่นอาสนะ และพระพุทธรูปอยู่ทุกวันนี้ พ่อขุนสามชนได้ขยายอาณาเขต ออกไปจนกว้างใหญ่ไม่น้อย คือ ขยายออกมาทางบ้านแม่ตื่นสามหมื่น ซึ่งเป็นเมืองที่ท่านอยู่อาศัย ลงมาทางแม่ระมาดบ้านพะหน่อเก (วัดดอนแก้ว ในแม่สอดปัจจุบัน) เลยไปถึงบ้านแม่โกนเกน ผาลู เมืองเก่าของท่าน ยังมีเจดีย์เก่า ๆ อยู่ในป่า ไกลจากแม่ระมาดไปทางแม่ตื่นสามหมื่น ประมาณ 2 กิโลเมตร แผ่นดินใหญ่ปรากฏ และทางวัดแม่ต้านก็รักษาไว้จนถึงทุกวันนี้
ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน
สาเหตุที่พ่อขุนสามชนทำศึกกับสุโขทัยนั้นเป็นเพราะความเข้าใจผิดกัน เพราะก่อนหน้านี้ขอม สมาด โขลญลำพง ยึดอำนาจเป็นใหญ่ที่เมืองสุโขทัยและข่มเหงรังแกคนไทยมาก พ่อขุนสามชนจึงดำริว่า จะต้องยกกองทัพไปตีเมืองสุโขทัยก่อน เพื่อล้มอำนาจขอม สมาด โขลญลำพงและจะรวมไทยเข้าเป็นปึกแผ่นเข้าด้วยกัน โดยมีสุโขทัยเป็นเมืองแม่แต่ขณะที่ยกทัพไปนั้น พ่อขุนบางกลางท่าวกับพ่อขุนผาเมืองได้ปราบขอมสำเร็จแล้ว และพ่อขุนบางกลางท่าว ก็ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า พระเจ้าขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนสามชนได้ข่าวก็รู้สึกยินดีเป็นล้นพ้น แต่ก็เดินทัพต่อเพื่อต้องการเกลี้ยกล่อมคนไทย ด้วยกันให้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงสุโขทัย หาได้ต้องการเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันไม่ แต่ทางสุโขทัยไม่ทราบเรื่องเพราะขุนสามชนไม่ได้แจ้งให้ทราบจึงเกิดความเข้าใจผิด เมื่อกองทัพปะทะกันยังไม่ทันได้พูดจา จึงเกิดการต่อสู้กัน พ่อขุนสามชนกระทำยุทธหัตถีกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อ่อนล้าและกำลังจะถอยร่นไปนั้น พ่อขุนรามราชบุตรก็เข้ามาช่วยจนขุนสามชนเสียหลักและบาดเจ็บหลายแห่ง จึงถอยทัพกลับเมืองฉอด ฝ่ายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ก็มิได้ติดตามไปซ้ำอีกเพราะเห็นเป็นไทยด้วยกัน ขุนสามชนรู้สึกเสียพระทัยมากที่ลูกหลานไทยตายไปจำนวนมาก เมื่อทรงหายจากประชวรแล้ว ก็ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้พระอนุชา คือ พ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงษ์ และตรัสสอนว่าให้ดูแลทุกข์สุขของราษฎรทุกคนเหมือนลูกหลาน จงรวมคนไทยที่แตกแยกเข้าด้วยกัน หากเกิดศัตรูที่เป็นคนต่างชาติจะมาเอาแผ่นดินจงรวมพลังกันต่อสู้
ภาพการกระทำยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนสามชนกับพ่อขุนรามคำแหง
หลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ณ กรุงสุโขทัย พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง ณ ยอดดอยสูงตรงบริเวณที่พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพ่อขุนสามชน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งที่พ่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพมาตีเมืองตาก
เจดีย์ยุทธหัตถี จ.ตาก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
๑. มหาเสวกตรี ค้นคว้าเรียบเรียง, พระยาวรสิทธิ์ เสรีวัตร (สะอาด ไชยนันท์). ประวัติอันยิ่งใหญ่ควรแก่การเทิดพระเกียรติ พ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ตาก : โชติการพิมพ์, ๒๕๒๔.
๒. อนุรักษ์ พันธุ์รัตน์, บรรณาธิการ. แม่สอดหนึ่งร้อยปี. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ตาก : ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอแม่สอด, ๒๕๔๑.
ผมเชื่อว่า น่าจะเป็นเจดีย์ประจำเมืองตากที่ขาดการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรมากกว่าครับ
ตอบลบผมคิดว่า์(สุสานเจ้าเมืองฉอด)น่าจะอยู่ห่างจากเจดีย์ยุทธหัตธียไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ70กม.นะครับเพราะเคยมีชาวบ้านเคยขุดค้นพบสุสานโบราณสิ่งที่เจอในหลุมมีถ้วย(ทอง100/)มีดาบทองยังเจอวัตถุโบราณหลายชิ้นซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในสมัยนั้นเพราะดูจากวัตถุโบราณน่าจะอยู่ระหว่างวัตถุโบราณสมัยขอม_วัตถุโบราณสมัยล้านนา
ตอบลบ