วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

พญามือเหล็ก วีรชนแห่งดอยประตูผา

        
รูปปั้นพญามือเหล็กจังหวัดลำปาง

        
                    พญามือเหล็กหรือเจ้าพ่อประตูผา  แห่งเขลางนคร เป็นยอดขุนพลของเจ้าลิ้นก่าน กษัตริย์เขลางนคร  มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กล้าหาญและจารึกว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕ เป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยที่พระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โน้น แคว้นลานนาไทยตกภายใต้อิทธิพลของพม่าเกือบทั้งสิ้น กล่าวคืน นครเชียงใหม่วัดล้มครืนลงอีกคราวนึ่งสมัยพระเจ้าเมกุฏิ (พ.ศ.๒๑๐๖) ได้เสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ปีต่อมาได้คิดปฏิวัติต่อพม่าก็ถูกพม่าวัดล้มครืนลงอีกคราวหนึ่ง พม่าจึงจัดตั้งนางวิสุทธิเทวี เจ้าหญิงไทยขึ้นครองถึงปี พ.ศ. ๒๒๗๔ ก็ได้สิ้นพระชนม์ลง บุเรงนองได้ส่งนายทหารพม่าชื่อ มังนรธาช่อ (โอรส) มาปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อมาถึง ปี พ.ศ. ๒๒๗๕ พม่าอ่อนกำลังลง เจ้าองค์นกหรือองค์ดำ ราชวงศ์เชียงใหม่-หลวงพระบาง ได้นำคนเข้ากอบกู้เอกราชคืนสำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชเป็นเจ้านามว่า พระหอดำ จนถึง พ.ศ. ๒๓๐๕ จึงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะ พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ จึงส่งนายทหารปกครองเมืองเชียงใหม่แทน ชื่อ โปมะยุง่วน (โป่หัวขาว) ให้คนไทยชื่อพญาจ่าบ้าน เป็นพ่อเมือง เชียงรายก็ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าข้าศึกด้วย เมืองแพร่ เมืองน่าน ยังเป็นอิสระเพราะมีเจ้าไทยปกครองกันเอง ส่วนนครลำพูนไชย มีเจ้าหรือท้าวมหายศ ปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าสมัยนั้น เราเรียกว่า พม่าเชียงใหม่ และพม่าลำพูน สำหรับนครเขลางค์ถูกอิทธิพลของพม่าบ้านแตกสาแหรกขาดทั้งเจ้าข้าหลบหนีตายเข้าป่าไปจำนวนมา คือเจ้าลิ้นก่าน หนีไปอยู่ที่ประตูผา นครเขลางค์จึงเหมือนว่าเจ้าครองเมือง มีแสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย แต่ทั้ง ๔ ท่าน คอยชิงดีชิงเด่นกันปกครองราษฎรไม่ปกติสุขความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเขลางค์ เร่าร้อนเป็นไฟทั่วใบหน้า

               ด้วยเหตุฉะนี้ พระอธิการเจ้าอาวาสวัดนายาง (เขตอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง) สมัยนั้น ราว พ.ศ.๒๓๓๒ ท่านเชี่ยวชาญวิทยาคมไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา มีชาวประชาเลื่อมในศรัทธาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายได้ปรึกษาหารือกัน เมื่อเห็นว่าขืนปล่อยให้บ้านเมืองเดือดร้อนลุกเป็นไฟ อย่างสภาพเท่าที่เป็นอยู่นี้ นครลำปางคงเหลือแต่ชื่อแน่ ๆ จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรแล้วจึงได้พากันชุมนุมปรึกษาหาทางกู้อิสรภาพบ้านเมืองต่อไปจะมักมาอาศัยขุนนางทั้ง ๔ เห็นทีจะล้มเหลวเป็นแน่แท้

       
   อย่างไรก็ดี ความนี้ทราบไปถึงท้าวมหายศพม่าลำพูน ซึ่งมีเขตติดต่อกับนครลำปาง จึงฉวยโอกาสยกทัพมาหมายจะปราบผู้มีบุญนครลำปาง เมื่อข้าศึกยกทัพพม่า ท่านอธิการฯ ได้คุมสมัครพรรคพวกออกสู้รบเป็นสามารถในที่สุดถึงขั้นตะลุมบอนกันที่บริเวณทุ่งป่าตัว (บ้านป่าตัน เขตตำบลปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ) อนิจจังน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะกำลังพม่าข้าศึกมากกว่าไทยหลายเท่ายิ่งสู้เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ดังนั้น ท่านอธิการวัดนางยางจึงได้แตกพ่ายบริวารขวัญหนีดีฝ่อทิ้งดาบทิ้งปืนหลบหนีตายไปทางใต้ในที่สุดเข้าไปหลบอยู่ในเขตคูกำแพง (วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง) ทัพท้าวมหายศแห่งลำพูนได้ไล่ขยี้ตามไปติด ๆ ท่าน
 อธิการฯ กับเสนาขวา-ซ้ายปล่อยให้บริเวณหนีเข้าไปภายในกำแพงวัดก่อน ส่วนท่านกับเสนาออกต้านข้าศึกไว้ กองทัพลำพูนไล่ไปทัน จึงประจันบานกันระหว่างทาง ขณะนั้นท่านสมภารกับเสนาทั้งสองมีแต่ไม่กระทู้เสารั้วสวน ส่วนพม่าข้าศึกมีทั้งปืนทั้งดาบได้ต่อสู้กันอย่างประชิดตัวไม่กลัวตายใครดีก็อยู่ ใครไม่สู้ก็ตาย พวกพม่าลำพูนเกือบจะปราชัยอยู่แล้วทีเดียว บังเอิญท่าสมภารถูกระสุนที่หว่างคิ้ว แม้มันไม่ระคายผิวแต่ความแรงก็ทำให้ปวดบวมมองอะไรไม่เห็น ถูกพม่ารุมตีฟันแทงจบจนบอบช้ำไปหมดเซถลาลง ฝ่ายสมภารวัดบ้านฟ่อนได้รับบาดเจ็บที่หางตาซ้าย สมภารวัดสามขาบาดเจ็บที่หัวเข่าต่างหมดแรง แม้ร่างกายไม่มีรอยบาดแผลก็จริง ก็ล้มหมดแรงสิ้นลมปราณ ๓ คน สู้กับข้าศึกเป็นร้อย น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ จึงถึงแก่กรรมอย่างหาญกลางสมรภูมิในที่สุด

       
เมื่อได้ชัยชนะแล้วท้าวมหายศพม่าลำพูนได้นำพลไปฉลองชัยในเขตกำแพงพระธาตุลำปางหลวงให้ทหารตระเวนเกณฑ์เก็บภาษีอากร และยึดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงกันอย่างอิ่มหมีพลีมัน บ้านเรือนใดมีใครมีสาวสวยเมียงามไม่พูดพล่ามทำเพลง หรือเกรงใจเลยจับมาใครขัดขืน ฟันแทงฆ่าตายอย่างผักปลา ได้สุรานารีมาแล้วก็ดื่มอย่างสนุกสนานภายในเขตวัดไม่ยำเกรงนรกหมกไหม้ ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธเป็นที่เวทนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวนครลำปางเดือดร้อนกันไปทั่วกลียุค เกิดเพราะน้ำมือของพม่าข้าศึกคราวนั้นน่าเวทนายิ่งนัก

       
ท้าวมหายศจึงสั่งให้ทหารทั้ง ๓ ของตน มีหาญฟ้าแมบ, หาญฟ้างำและหาญฟ้าฟื้น ทำทีนำสารไปเจรจาความเมืองกับขุนนางทั้ง ๔ ของลำปางขณะนั้น ซึ่งมี แสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย ขณะเจรจากับพม่าพยายามเอาเปรียบทุกวิถีทาง ในที่สุดจเรน้อยไม่ยอม บอกว่าสมควรจะอัญเชิญท้าวลิ้นก่านเจ้าเมืองเขลางนค์ที่หนีไปอยู่ดอยประตูผามาเป็นประธานด้วย ฝ่ายพม่าเห็นว่าไม่ได้การจึงชักดาบออกไล่ฟันแทงขุนนางทั้ง ๔ ล้มตาย เกือบหมด เหลือเพียง จเรน้อยกับบริวาร ๒-๓ คน หนีตายไปสมทบกับท้าวลิ้นก่านและได้เชิญท้าวลิ้นก่านกลับไปครองนครเขลางค์อีก แต่ก็ไม่ยอมกลับ จเรน้อยจึงยอมอยู่กับท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา แต่ขณะนั้นยังมีทหารเอกที่จงรักภักดีคอยรับใช้อยู่ นั่นคือ พญามือเหล็ก ท่านผู้นี้เป็นชาวบ้านต้า (คือบ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง) เป็นเด็กกำพร้า ญาตินำไปถวายท่านอธิการวัดนายางเคยเป็นเด็กวัดเรียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวกับ จเรน้อยและหนานทิพย์ช้าง มีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า สามารถใช้แขนโล่ได้ คนส่วนมากจึงเรียกว่า "หนานข้อมือเหล็ก" คอยรับใช้อารักขา ท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา

       
กล่าวถึงจเรน้อยนำสมัครพรรคพวกลี้ภัยมาหาท้าวลิ้นก่านมาพบหนานข้อมือเหล็ก ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญามือเหล็ก" แล้วก็ดีใจซ่องสุมกำลังเตรียมการกู้ชาติให้จงได้  แต่บริวารที่มาด้วย เห็นฝีมือของจเรน้อยแล้วไม่ไหวขืนอยู่ด้วยเห็นจะถูกพม่าฟันตายอายุสั้น เปล่า ๆ จึงพากันหลบหนีไปอยู่เมืองต้า (บ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว) เมืองเมาะ (บ้านแม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ) เมืองตีบ (ต.แม่ตีบ (เวียงทิพย์) อ.งาว) เมืองลอง (อ.ลอง จ.แพร่) ด้วยเหตุนี้เองนครลำปางจึงทิ้งร้างว่างเปล่ากลัวพม่าลำพูน หาผู้คนมาอาศัยน้อยเต็มที ที่มีอยู่มากก็จะมีที่เมืองจาง (บ้านสบจาง เขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง) เพราะพวกคนนี้เป็นคนมีฐานะ คิดถึงทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ หากบ้านเมืองสงบสุขเมื่อใดก็จะกลับไปบ้านเดิมเมื่อนั้น นครลำปางได้ปล่อยร้างอยู่ไม่นาน ต้นปี พ.ศ. ๒๒๗๔ มีเจ้าอธิการวัดแก้มชมภู (เขต อ.เมือง จ.ลำปาง) ชำนาญโหราศาสตร์ จึงซ่องสุมผู้คนคิดกู้บ้านเมืองจากพม่าปรากฏว่ามีบริวารพอสมควร วันหนึ่งท่านจึงประกาศว่า "หาคนมาปราบพม่าบ่ได้ อาตมาจะสึกออกไปเป็นหัวหน้าปราบมันเอง บรรดาญาติโยมต่างห้ามปรามท่านไว้ เพราะขณะนั้นหาสงฆ์ติดวัดยากยิ่ง จึงตกลงให้ไปติดต่อท้าวลิ้นก่านที่ประตูผา ท้าวลิ้นก่านตอบว่ายังไม่พร้อม ใครจะคิดการณ์อย่างไรก็ทำไปก่อนเถิด ความจริง ท้าวลิ้นก่านกำลังคิดอยู่แล้วทีเดียว 

                  ม้าเร็วจึงส่งข่าวให้สมภารทราบ และบอกว่า "อันครูบาเจ้าก็ชำนาญโหราเลขผานาที หยังมาคิดคำง่ายมีแต่จะสึก ๆ เข้าเจ้าคิดว่าลำปางยังบ่เสี้ยงคนดีเตื่อเจ้า" ท่านสมภารคิดได้จึงจับยามสามตาลงเลขผานาทีเห็นว่า "อันหลานกูผู้สามารถยังมีสูฮีบไปตวยมันมาหากูจิ่มเต๊อะ" ในที่สุดคนจึงไปตามหานานทิพย์ช้างพเจนร ซึ่งเคยบวชเรียนอยู่กับอธิการวัดนายางแล้วไปอยู่ปงยางคก (เขต อ.ห้างฉัตร) ไปได้ภรรยาบ้านเอื้อม (เขต อ.เมืองลำปาง) มีวิชาอาคมขลัง สามารถใช้ปืนผาหน้าไม้ ไล่จับช้างดึงหายมันให้หลุดได้ในขณะนั้นมีอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ ร่างกายกำยำล่ำสันสูงใหญ่ ชาวบ้านต่างขนานนามหนานนี้ว่า "หนานทิพย์ช้าง" พอตามท่านสมภารผู้เป็นลุงจึงถามว่า "บ่าหนาน คิงจะสู้ กู้เมืองคืนจากพม่าได้ก่อ" หนานจึงพนมมือวันทาแล้วตอบว่า "อันพม่าลำพูนก็เตียวดิน กิ๋นข้าวอย่างหมู่เฮา ข้าตึงบ่อกลัวสักน้อยเจ้า" ท่านสมภารได้ยินดังนั้นจึงมอบบริวารให้ประมาณ ๓๐๐ คน ให้หนานทิพย์ช้างเตรียมตัวไว้ ถ้าได้โอกาสดีจะได้ตีเอาเมืองคืนจากพม่าต่อไป           ย้อนเรื่องราวกล่าวถึงท้าวมหายศ แม่ทัพพม่าลำพูน เมื่อฆ่าขุนนางทั้ง ๓ ได้แล้วก็ยังไม่สบายใจเพราะหนีไปอีกคนหนึ่ง คือจเรน้อย ดันหนีไปหาท้าวลิ้นก่านอดีตเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งขณะนั้นลี้ภัยไปอยู่ดอยประตูผาโน่น ขืนปล่อยไว้ก็จะเป็นหนามยอกอก ปกครองนครลำปางไม่ราบลื่นแน่นอน จึงสั่งการให้ ๓ ทหารเสือของตนไปทำการปราบปรามต่อไป (หาญฟ้าแมบ, หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น)

       
ณ ดอยประตูผาที่ลี้ภัยของท้าวลิ้นก่านกับพวกนั้นเป็นเชิงเขาเวิ้งชะโงก เดิมมีช่องย่องผ่านเข้าไปที่แคบ ๆ ทะลุไปสู้เมืองต้า เมืองลอง เมืองแพร่ ก่อนนั้นทางนี้เป็นทางลัดตรงที่สุด ใช้เป็นที่แอบซ่อมสุมกำลังได้ดีที่สุด ทหารเอกของท้าวลิ้นก่าน ขณะนั้น พญามือเหล็ก และ จเรน้อย ที่มาสมทบใหม่พร้อมบริวารเพียงเล็กน้อยกำลังคิดหาทางกู้อิสรภาพคืนจากพม่าลำพูนอยู่ทุกลมหายใจ แต่ขณะนั้นยังขาดกำลังอย่างเดียวเท่านั้น และนึกไม่ฝันว่าพม่าจะส่งกำลังมารังควาญ จึงไม่ได้เตรียมตัวแต่อย่างใดเลย

       
ถึงคราวจะสิ้นชื่อ ให้ชาวดลระบือเกียรติคุณสืบไปตราบชั่วหลานเหลนโพ้น สามทหารเอกของท้าวมหายศ อันมีหาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ หาญฟ้าฟื้น ได้กรีฑาทัพ ไปยังประตูผาทันที ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งสุริยากำลังจะมาเยือนขอบโลกเบื้องบูรพาทิศ จเรน้อย เห็นข้าศึกก่อนจึงออกต่อกรไม่ยอมช้าได้ต่อสู้พม่าเป็นสามารถแต่ขาดอาวุธ ในที่สุดพม่าบุกทะลวงไล่จเรน้อยไปยังหน้าผาตูบ พม่าได้ใจรุกไล่ไม่ลดละ พญามือเหล็ก เห็นว่าหากปล่อยพม่าเข้ามาท้าวลิ้นก่านราชาก็สิ้นนามกันคราวนี้ จึงฉวยดาบคู่ชีพรีบกระโดยสกัดกั้นทหารพม่าที่กรูเข้ามาถูกพญามือเหล็ก มีพลังใจเสกเป่าคาถาอาคมที่ครูบาให้มาเท่าใดนำออกมาใช้จนหมดพุม คราวน้ำฉวยดาบทั้งสองมือยืนจังก้าหน้าประตูผาทหารพม่าข้าศึกนึกว่าไทยคนเดียวหรือจะสู้กู พม่าเป็นสองสามร้อยคนได้ จึงเรียงแถวตรงเข้าไปพญามือเหล็กขยับดาบมือซ้ายเบา ๆ เอาพม่าเป็นศพเช่นคมดาบได้ถึง ๕ คน ป่ายดาบมือขวาได้พม่าเซ่นดาบอีก ๑๐ คน หยุดการเดินเดี่ยวของพม่าได้ชะงักนัก
               ภาพวาดพญามือเหล็กรบกับศัตรู



        ฝ่ายหาญฟ้าง้ำเห็นพวกเสียที ไม่รีรอถลกโสร่งเข้าไปหมายแก้มือให้เพื่อ ฟันซ้ายป่ายขวาไม่นับ พญามือเหล็กแทบรับไม่ทัน ในที่สุดดาบหักไปอันหนึ่ง จึงใช้ศอกซ้ายรับอาวุธแทนโล่  มือขวาถือดาบคอยจ้องฟันแม้คมดาบ จะไม่ระคายเคืองผิวหนังเลย แต่ศอกซ้ายก็บวมเป่งงอมช้ำเอาดื้อ ๆ โตขึ้นถึง ๓ เท่าตัว เหนื่อย ก็เหนื่อยข้าวไม่ได้ตกท้องเลยตั้งแต่เช้า เจ็บมือซ้ายย้ายมาใช้มือขวารับคมดาบศัตรูแทนโดยไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว จนมือขวาก็บวมเลือดไหลซิบ ๆ เท่ายางบอน อดทนต่อกรกับพม่าหมาหมู่ อยู่ต่อไปไม่ปริปากหาญฟ้าง้ำนั้นคิ้วบากหน้าเบี้ยวเห็นทีจะสู้คนเดียวต่อไปไม่ไหวแน่แหกปากร้องให้นายฟ้าแมบผู้เฒ่าเข้าไปช่วยสองต่อหนึ่ง สู้กันถึงใจเลือดไหลเข้มข้นเสมอ

       
พญามือเหล็ก รู้สึกหิวโหยโรงแรงแต่แข็งใจสู้บริวารที่อยู่เบื้องหลังเสียงดาบปะทะกันไม่ไหวหนีตายอนาถกันหมดสิ้น ทั้งสองทหารพม่าประดาหน้าเข้าใส่หลับตาฟัน หลับตาแทนไม่เลือกที่ ทั้งกายของพญามือเหล็ก ระบมบอบช้ำบวมเป่งไปทั่วสารพางค์ สู้กันตั้งแต่เที่ยงวันยันบ่ายสามโมงยังไม่มีทีท่าว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ พม่า ๒ คนชักระอาใจจะหนีไปก็เสียเหลี่ยม ฝืนใจสู้ต่อไปอย่างนั่นเองจังหวะขณะที่หาญฟ้าง้ำโสร่งลุ่ยก้มหน้าย่อตัวนุ่งโสร่ง พอโย่งโย้ขึ้นมาอนิจจา พญามือเหล็ก รวมพลังครั้งสุดท้ายมือขวายกไม่ไหว มือซ้ายถือดาบฟันฉับลงที่แสกหน้าผ่าแล่งเป็นสองส่วนพอดิบพอดี ไม่มีเวลาร้องสั่งเพื่อนแม้แต่อ้าปาก

       
ฝ่ายทหารฟ้าแมบผู้เฒ่าไม่เอาไหน เห็นเพื่อนตายไปต่อหน้า ถ้าขืนชักช้าอยู่สู้มันไม่ได้ พอดีพญามือเหล็กใกล้ขาดใจจึงเบนกายเข้าไปพิงหน้าผายืนสง่าสิ้นลมปราณ อย่างชายชาติทหารเอก มือยังถือดาบอยู่ หาญฟ้าแมบไม่รู้นึกว่า พญามือเหล็ก แบเอาท่าทีจำงุมมือกำดาบไม่ว่าเลย...อนิจจาเพื่อนตายไปทั้งสองกูจะเอาชีวิตมาทิ้งเหรอ ยังอาลัยเมียเก่าลูกรักที่เมือง ตนจึงหันหลังวิ่งแล่นไม่เหลียวกลับ ทัพพม่าจึงยึดดอยประตูผาไม่สำเร็จด้วยประการฉะนี้แล
ศาลเจ้าพ่อประตูผา(พญามือเหล็ก)อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางลำปาง งาว กิโลเมตรที่ ๔๘ ศาลเจ้าพ่อประตูผาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ผู้สัญจรไปมาผ่านเส้น ทางนี้มักแวะสักการะและจุดประทัดถวาย เจ้าพ่อประตูผา เดิมชื่อพญาข้อมือเหล็กเป็นผู้อยู่คงกระพัน ชาตรี เป็นทหารเอกของเจ้าผู้ครองนครลำปาง (เจ้าลิ้นก่าน) ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตูผา จนกระทั้งถูกรุมแทงตายในลักษณะมือถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธา และได้ตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปางและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ช่วงประมาณวันที่ ๒๐๒๕ เมษายน ของทุก ๆ ปี ประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมกันจัดงานประเพณีบวงสรวงสักการะรดน้ำดำหัวเจ้าพ่อประตูผา มีการจัดขบวนแห่เครื่องบวงสรวงและสักการะอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา


       
กล่าวถึงท้าวลิ้นก่านกับจเรน้อย เมื่อเห็นว่าเงียบเสียงดาบเสียงคนแล้ว จึงพากันออกมา อนิจจา...ฟ้าดิน "พญามือเหล็ก" ผู้กล้าหาญยืนมือถือดาบท่าทางสง่าปานราชสีห์ สิ้นใจตายจากไปเสียแล้ว จึงสั่งทหารหาญ นำร่างไร้วิญญาณไปวางไว้ที่ผาลาดปลงศพวีรชนตามมีตามเกิดแล้วสร้างศาลเพียงตา อัญเชิญดวงวิญญาณ พญามือเหล็กมาสิงสถิตให้เป็นที่สักการบูชาของเหล่าปวงชนรุ่นหลังต่อไป แทนที่ศาลนี้จะเรียกว่า "ศาลพญามือเหล็ก" ปัจจุบันกลับเรียกกันว่า "ศาลเจ้าพ่อประตูผา" ตามชื่อดอยประตูผาสืบต่อมาคราบเท่าทุกวันนี้
คาถาบูชาพญามือเหล็ก


ด้วยความเป็นวีรชนผู้กล้าหาญและตำนานว่าเป็นผู้ที่มีคาถาอาคมจึงทำให้มีคนสร้างวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกแก่ท่าน เช่น เหรียญเจ้าพ่อประตูผารุ่นแรก ปลุกเสกโดยหลวงพ่อเกษม




ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก


http://slmlp142.igetweb.com 

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 เมษายน 2555 เวลา 09:40

    ท่านได้เอารูปจากเว็บเราไปน่าจะให้เครดิตเราบ้างนะท่าน
    แค่นี้เราก้อดีใจ้แล้ว
    http://forum.narandd.com/index.php?topic=865.0

    ตอบลบ
  2. โทษทีครับพอดีหาข้อมูลมาเยอะเลยจำไม่ได้ครับ เดี๋ยวผมจะลงให้นะครับ ขอบพระคุณมากครับ

    ตอบลบ