วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ท้าวสุนทรพจนกิจ กวีเอกแห่งพระเจ้าอินทวิชญานนท์


ท้าวสุนทรพจนกิจ เดิมชื่อ บุญมา สุคันธกุล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ ที่บ้านฮ่อม ตำบลช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่เป็นบุตรนายคำภีระ สุคันธกุลและแม่เฒ่าเต็ง สุคันธกุล ท่านเป็นกวีเอกของล้านนาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ รับราชการ ปฏิบัติงานบ้านเมืองทำหน้าที่ซ่อมแซมบูรณะซุ้มประตูเมืองเชียงใหม่ ถนนรอบกำแพงเมือง ควบคุมคนงานซ่อมแซมกำแพงเมืองด้านแจ่งกะต้ำ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวสุนทรพจนกิจ
มีความชำนาญในล้านนาศาสนพิธี และในราชพิธีสำคัญต่างๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี นายบุญมาจะได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวถวายโอวาทเวนทานเสมอ
และแต่งบทกวีเพื่อเป็นการช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ งานพัฒนาบูรณะ ต่าง ๆ ของครูบาศรีวิชัยให้เป็นที่รู้จัก
แพร่หลายทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือ ท่านเคยอุปสมบทเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาแล้วจึงถูกเรียกตามแบบชาวเชียงแสนว่า ใหม่บุญมา คำว่า ใหม่ เหมือนคำว่า น้อย ที่ใช้นำหน้าชื่อผู้เคยบวชเณร ท่านอพยพจากเชียงแสนมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นผู้มีอุปนิสัยชอบในการแต่งค่าวแต่งซอ โดยเฉพาะ ค่าวใช้ ได้รับจ้างเขียนเป็นประจำจนมีชื่อเสียงเลื่องลือทั่วเชียงใหม่ ต่อมาได้เป็นที่โปรดปรานของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้แต่งบทละครบ้าง เรื่องอื่นๆ บ้าง เป็นที่พอพระทัย จึงแต่งตั้งให้ใหม่บุญมาเป็นท้าวสุนทรพจนกิจ ชีวิตบั้นปลายได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพันตอง เชียงใหม่ พระสุนทรพจนกิจถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๐ อายุ ๗๒ ปี ท่านเป็นกวีขี้เมา แม้เป็นพระก็แอบดื่มเหล้าบ่อยๆ อ้างว่าถ้าไม่ดื่มจะเขียนบทกวีไม่ออกบทประพันธ์ที่แต่งมีมากมาย แต่สูญหายเป็นส่วนมาก ท่านมี มีบุตรธิดา ๖ คน


ผลงานสำคัญของท่านมีดังนี้
๑. ค่าวฮ่ำตุ๊เจ้าบ้านปาง (ครูบาศรีวิชัย)
๒. ซอพระลอเดินทาง (ซอพระลอ)
๓. บทละครเรื่องพระลอแว่นแก้ว หรือน้อยไชยา
๔. คำร้องระบำซอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมโภชช้างพลายที่ บริษัทบอเนียวน้อมเกล้าฯ ถวาย
๕. คำเรียกขวัญนาค
๖. คำค่าวฮ่ำการสุขาภิบาล
๗. กาพย์ฮ่ำการสุขาภิบาล
๘. กาพย์ฮ่ำเรื่องความเป็นไปสมัยใหม่
๙. คำค่าวเพลงยาวอื่น ๆ
๑๐. ค่าวเรียกขวัญช้างเผือก
๑๑. ค่าวซอเครื่องบินมาถึงเชียงใหม่
๑๒. ค่าวซอเชียงแสน
ชีวิตบั้นปลายได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุสุนทโร และได้เป็นเจ้าอธิการวัดพันตอง จ.เชียงใหม่จนมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๐
ต่อมาได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น