วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

พระรัตนปัญญาเถระ กับผลงานชิ้นยอดชินกาลมาลีปกรณ์


            พระรัตนปัญญาเถระ หรือพระสิริรัตนปัญญาเถระ เป็นปราชญ์กวีสมัย พญาแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังรายพะรัตนปัญญาเถระเป็นชาวเชียงรายและ เป็นพระภิกษุรุ่นเดียวกันกับพระสิริมังคลาจารย์ เป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์มังราย อุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดป่าแก้ว เชียงราย ต่อมาได้มาศึกษาต่อที่เชียงใหม่ และพำนักอยู่วัดสีหลาราม หรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน มณี พยอมยงค์กล่าวว่าท่านเคยพำนักที่วัดฟ่อนสร้อย (เดินอยู่ใกล้ตลาดประตูเชียงใหม่) ก่อนจนได้เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นจึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นพระอารามหลวง
ผลงานของพระรัตนปัญญาเถระมีดังนี้
๑.    มาติกัตถสรูปอภิธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์อธิบายพระอภิธรรม ไม่ปรากฏปีที่รจนา
๒.    วชิรสารัตถสังคหะ รจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๘ ที่วัดมหาวนาราม เชียงใหม่ เป็นเรื่องศัพท์ย่อๆ ซึ่งเมื่อขยายใจความออกมาแล้วจะทำให้รู้ความหมายได้แจ่มชัด หรืออาจเรียกว่าเป็นหัวใจของธรรมะต่างๆ
๓.    ชินกาลมาลี หือ ชินกาลมาลีปกรณ์ คัมภีร์นี้เริ่มรจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ ในพรรษาที่ ๒๓ ของพระรัตนปัญญา รัชสมัยพระเมืองแก้ว เนื้อเรื่องกล่าวถึงกาลของพระพุทธเจ้า โดยเรียบเรียงอย่างมีระเบียบ จึงได้ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาถึงกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้โดยพิศดาร ว่าด้วยพุทธกิจว่าทรงทำอะไร ประทับอยู่ที่ไหน จนกระทั่งดับขันธ์ปรินิพพาน กาทำสังคายนาครั้งต่างๆ การจำแนกพระบรมธาตุ การเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ให้เวลาและสถานที่อย่างชัดเจน บอกกำหนดปีโดยครบถ้วน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประวัติของบุคคลและสถานที่ของเมืองสำคัญ คือ เชียงแสน เชียงราย ลำพูน และเชียงใหม่ รจนาเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑ มีความยาว ๑๔ ผูก กับ ๑๔ ลาน วรรณกรรมบาลีเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ล้านนาที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เป็นอย่างดี และเป็นที่เชื่อถือตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งผู้รจนาก็ได้แสดงความมุ่งหมายในการแต่งไว้อย่างละเอียด สมกับที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญ
           
ชินกาลมาลีปกรณ์ นับเป็นผลงานชิ้นเอกของนักปราชญ์ชาวล้านนา ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากมายหลายภาษา รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตถึง ๕ ท่าน ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยกลาง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกเป็นครั้งแรกในงานพระศพของพระราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาเสฐียร พันธรังษี ได้แปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ใช้ชื่อว่า ชินกาลมาลินี และในราว พ.ศ. ๒๕๐๐ แสง มนวิทูร ได้แปลเป็นภาษาไทยขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ มีเชิงอรรถ อธิบายความให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๑๙๙๘ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย


                    การแปลเป็นภาษาต่างประเทศเริ่มด้วย ยอร์ช เซเดส์ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยตีพิมพ์คู่กับภาษาบาลี ลงในวารสารวิชาการของฝรั่งเศสติดต่อกัน ๖ ฉบับ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สมาคมบาลีปกรณ์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้พิมพ์เป็นภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน ต่อมาก็ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ในประเทศลังกา พระภิกษุชื่อพุทธทัตก็ได้แปลเป็นภาษาสิงหล พิมพ์คู่กับภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘  จึงนับได้ว่าเป็นวรรณคดีล้านนาที่ได้รับการแปลและพิมพ์เผยแพร่มากที่สุด ชินกาลมาลีปกรณ์ จึงเสมือนเป็นคู่มือที่นักศึกษาชาวต่างประเทศได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย มานานแล้ว 
            พระประธานในอุโบสถวัดเจ็ดยอด




ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.lannapoem.com(อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528 : 118, ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 110 และประคอง นิมมานเหมินท์ 2517 : 46)
-http://www.bloggang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น