วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

พระโพธิรังสีเถระ กับตำนานพระพุทธสิหิงค์และจามเทวีวงศ์

              
พระพุทธสิหิงค์ 
    
                พระโพธิรังสีเถระ ในบรรดานักปราชย์ชาวล้านนาที่เป็นพระเถระนั้น พระโพธิรังสีเถระเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุด เป็นชาวเชียงใหม่ พระโพธิรังสีมหาเถระ ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของ วัดโพธารามมหาวิหาร ผลงานของท่านปรากฏอยู่คู่กับวรรณคดีล้านนาเล่มอื่นๆ ที่มีผู้คนอ้างอิงและศึกษาทั้งทางศาสนาและประวัติศาสตร์ คือ จามเทวีวงศ์ และ สิหิงคนิทาน
                
จามเทวีวงศ์ จัดเป็นหนังสือพงศาวดาร รจนาเป็นภาษาบาลี มี ๑๕ ปริเฉท ปรากฏตอนท้ายทุกปริเฉทว่า อันมหาเถรมีนามว่า โพธิรังสี ได้แต่งตามคำมหาจารึก สันนิษฐานว่ารจนาราว พ.ศ. ๑๙๕๐-๒๐๖๐ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เปรียญ ร่วมกับ พระญาณวิจิตร (สิทธิ โลจนานนท์) เปรียญ ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๓
               
เนื้อเรื่องในจามเทวีวงศ์ ว่าด้วยวงศ์ของพระนางจามเมวีที่ได้ครองเมืองหริภุญชัยและประวัติพระศาสนาในล้านนา กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย  ลำปางและการสร้างวัดบรรจุพระธาตุคือ พระบรมธาตุหริภุญชัยในสมัยราชวงศ์ของพระนางจามเทวี กล่าวถึงธรรมะของกษัตริย์และความที่ไม่สมควร อันเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อนล่มจม นับว่าพระโพธิรังสีเถระสามารถนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาสัมพันธ์กับเรื่องราวทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าหนังสือ จามเทวีวงศ์ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง
              
สิหิงคนิทาน หรือประวัติพระพุทธสิหิงค์ แม้มิได้ระบุปีที่รจนา แต่สันนิษฐานว่าเป็นระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๖๘ เพราะเป็นระยะที่วรรณกรรมบาลีกำลังเฟื่องฟู เนื้อเรื่องใน สิหิงคนิทาน ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งหล่อในประเทศลังกาด้วย เงิน ตะกั่ว และทองเหลือง ประวัติการเดินทางมาสู่ประเทศไทยและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเชียงใหม่ ปัจจุบันได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยกลางและพิพม์เผยแพร่แล้ว
                                ตำนานของพระโพธิรังสีกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่ เจ้าลังกา ๓ พระองค์ ได้ร่วมพระทัยกันพร้อมด้วยพระอรหันต์ใน เกาะลังกาสร้างขึ้นราว พ.ศ.๗๐๐ โดยหมายจะให้ได้พระพุทธรูปเหมือนองค์พระพุทธเจ้าจริงๆ ถึงกับตำนานกล่าวว่า พญานาคซึ่งเคยเห็นองค์พระพุทธเจ้ามาแปลงกายให้ดูเป็นตัวอย่าง มาถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๐-๑๘๖๐) มีพระภิกษุลังการ เข้าสู่ประเทศสยาม พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทราบกิติศัพท์เลื่องชื่อ ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีพุทธลักษณะที่งดงาม พ่อขุนรามคำแหง จึงทรงขอให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แต่งทูตเชิญพระสาส์นไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากเจ้ากรุงลังกา เนื่องด้วยว่าเป็นเมืองที่มีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้ตามพระราชประสงค์ อัญเชิญมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราช จัดงานพิธีสมโภชใหญ่โตเป็นเวลา ๗ วัน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ให้ช่างท้องถิ่นจำลองไว้บูชา ๑ องค์ โดยกล่าวไว้ว่าพ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปรับ พระพุทธสิหิงค์ถึงนครศรีธรรมราช ด้วยพระองค์เอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยทุกพระองค์ได้ทรงเคารพบูชาพระพุทธสิหิงค์ตลอดมา
                               ครั้งเมื่อได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทางสุโขทัยอ่อนกำลังลง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้สุโขทัยไว้ในอำนาจเมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ พญาไสยลือไทย เจ้ากรุงสุโขทัย ถูกลดตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราช ลงมาครองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานไว้ที่พิษณุโลกด้วย เมื่อพระยาไสยลือไทย สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ก็ทรงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์โดยมาทางเรือลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจแล้ว ได้จัดแบ่งการปกครอง ออกเป็นสองมณฑลคือเมืองตาก, สวรรค์โลก กับพิษณุโลก เป็นมณฑลสอง ให้เจ้านายในราชวงศ์พระร่วงปกครอง พระยาธิษฐิระ ผู้ครองกำแพงเพชรนั้นปรากฏว่า ราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปรารถนาจะได้พระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้เมืองกำแพงเพชร จึงให้มเหสีผู้เป็นมารดาตนขอพระพุทธรูปองค์หนึ่ง แล้วติดสินบนขุนพุทธบาลผู้รักษาพระ เลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไป เรื่องมีต่อว่า ใน พ.ศ.๑๙๓๑ นี้เองมีพระภิกษุรูปหนึ่งในเมืองกำแพงเพชรปั้นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ด้วยขี้ผึ้ง และนำพระพุทธรูปจำลองนี้ไปเชียงราย เมื่อเจ้ามหาพรหมผู้ครองนครเชียงรายได้เห็นจึงชวนเจ้ากือนา พี่ชายผู้ครองนครเชียงใหม่ยกกองทัพไปกำแพงเพชรและ ขู่ขอพระพุทธสิหิงค์ พระยาธิษฐิระต้องยอมยกพระพุทธสิหิงค์ให้ไป พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่เชียงราย ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ พอถึง พ.ศ.๑๙๕๐ เชียงใหม่กับเชียงรายเกิดรบกัน เชียงรายแพ้ เจ้าแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ก็อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่เชียงใหม่ราว ๒๕๕ ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.๒๒๐๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชรกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ เชียงใหม่เป็นพวกพ้องพม่า จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเชียงใหม่ได้รวมอยู่กับคนไทยแล้ว พม่ายกกองทัพมาล้อมเชียงใหม่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่าพ้นเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มากรุงเทพฯ (พ.ศ.๒๓๓๔) ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยนัยนี้ นับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศ มาตั้งแต่ต้นประวัติกาล
                         ผู้แต่งตำนานคือพระโพธิรังสี ได้พรรณนาอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ไว้เป็นอันมาก มีข้อที่น่าฟังตอนหนึ่งกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์หามีชีวิตได้ก็จริง แต่มีอิทธานุภาพด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อธิษฐานพละของพระอรหันต์ อธิษฐานพละของเจ้าลังกาหลายพระองค์ และศาสนพละของพระพุทธเจ้า" ซึ่งหมายความว่ากำลังใจของพระอรหันต์ และกำลังใจของเจ้าลังกาพร้อมทั้งกำลังแห่งพระพุทธศาสนา กระทำให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงอานุภาพ อีกตอนหนึ่งพระโพธิรังสี กล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่" ในส่วนของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ซึ่งได้รวบรวมตำนาน พระพุทธสิหิงค์เองมีความเชื่อมั่นในอานุภาพ ของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก "อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง"
                         คุณานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ดังกล่าวมานี้ กระทำให้ท่านเชื่อเหตุผลของ พระโพธิรังสีว่าอธิษฐานพละ คือกำลังใจของพระอรหันต์ และเจ้าลังกาผู้สร้างพระพุทธสิหิงค์ได้เข้าไปอยู่ในองค์พระพุทธสิ หิงค์พร้อมทั้งศาสนพละของพระพุทธเจ้า และข้อที่พระโพธิรังสีกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์ประทับอยู่ใดก็เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น"ข้อนี้ก็สมจริง ใครที่ได้เห็น พระพุทธเจ้าแม้แต่ยังมิได้ฟังธรรมเทศนาเลย ก็มีความสบายใจในทันทีที่ได้เห็นผู้ใดที่ได้เห็น พระพุทธสิหิงค์ย่อมได้รับผลอย่างเดียวกัน พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของ องค์พระมหากษัตริย์ ของประชาชนชาวสยามมาเป็นเวลาช้านาน จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศเลยทีเดียว





วัดเจ็ดยอดหรือวัดโพธารามมหาวิหารตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดียเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมดและเป็นวัดที่จำพรรษาของพระโพธิรังสี มหาปราชญ์ล้านนา

ภาพทั่วไปของวัด


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.lannapoem.com (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 103 และประคอง นิมมานเหมินท์, 2517 : 42), (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 104)


1 ความคิดเห็น: