วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

พระสิริมังคลาจารย์ มหาปราชญ์แห่งล้านนา


อนุสาวรีย์พระสิริมังคลาจารย์ คัมภีร์มังคลัตถทีปนีประดิษฐานหน้าพุทธสถานเชียงใหม่


รูปปั้นพระสิริมังคลาจารย์ ที่วัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์
จ.เชียงใหม่

                  พระสิริมังคลาจารย์ จอมปราชญ์แห่งล้านนา เดิมชื่อ ศรีปิงเมือง มีศักดิ์เป็นพระเจ้าน้องยาเธอของพระเจ้าติลกปนัดดาธิราช(พระญาแก้ว) กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่  ทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอของพระเจ้าติโลกราช และเป็นราชบุตรของพระญายอดเชียงรายกับพระนางสิริยสวดี (เทวีปงน้อย) ต่อมาเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรมีฉายาว่า สิริมังคละ บิดามีอาชีพ ค้าช้าง ท่านเกิดในสมัยราชวงศ์มังรายปกครองอาณาจักรล้านนาตรงกับราชกาลพระเจ้าติโลกราช ระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๐ - ๑๐๒๐ มรณภาพในรัชกาลพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๑๗) ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนขวัญ ปัจจุบัน ชื่อ วัดตำหนัก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ของนครเชียงใหม่ ประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นปราชญ์ทางด้านภาษาบาลี ผู้แตกฉานในอักขรวิธี วจีวิพาก วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์อย่างยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรบาลีชั้นประโยค ปธ.๔ ปธ.๕ และ ปธ.๗ ในปัจจุบัน ท่านเคยไปศึกษาที่ลังกา และเคยเป็นอาจารย์ของพระเมืองเกษเกล้า 

                 ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์คงเป็นช่วงที่ท่านจำพรรษาที่วัดตำหนังสวนขวัญ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ และคงใช้เวลาค้นคว้ารจนาคัมภีร์ต่างๆ จากหอธรรมที่ท่านรวบรวมไว้ เพราะว่าปรากฏว่าผลงานของท่านมีการอ้างอิง บอกถึงที่มาโดยละเอียด นับว่าท่านเป็นนักปราชญ์ที่มีผลงานอ้างอิงที่ก้าวหน้าเกินยุคสมัยของท่านมาก
พระสิริมังคลาจารย์รจนาผลงานไว้ ๔ เรื่องซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ
.การอธิบายคัมภีร์ที่มีมาแต่เดิม ผลงานประเภทนี้มีด้วยกัน ๓ เรื่อง ดังนี้

.เวสสันตรทีปนี รจนาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ ในรัชกาลพระเมืองแก้ว อธิบายอรรถกถาเวสสันดรชาดก เกี่ยวกับความเบ็ดเตล็ดเกร็ดเล็กน้อยต่างๆ ที่น่าสนใจ ตลอดจนวิธีแบ่งคาถาในเวสสันดรชาดกอีกด้วย คัมภีร์นี้มีความยาวบั้นต้น ๔๐ ผูก บั้นปลาย ๑๐ ผูก

สังขยาปกาสกฎีกา เป็นหนังสืออธิบายคัมภีร์สังขยาปกาสกะ ที่พระญาณวิลาสเถระชาวเชียงใหม่รจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๙ เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น รจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๓ จำนวน ๒ ผูก

. มังคลัตถทีปนี หรือ มงคลทีปนี เป็นวรรณกรรมเรื่องเอกที่มีชื่อเสียงยิ่งของพระสิริมังคลาจารย์ รจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ เพื่อเป็นการอธิบายความในมงคลสูตร ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ๒ แห่ง คือ ในขุททกปาฐะและสุตตนิบาต ซึ่งทั้งสองนี้อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา ซึ่งพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาไว้อันเป็นพระสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติที่เป็นมงคลรวม ๓๘ ประการ เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต ฯลฯ ท่านได้อธิบายถึงความหมายของพระสูตรนี้โดยละเอียดด้วยภาษาบาลีอันไพเราะและสละสลวย และนำเรื่องจากคัมภีร์และชาดกอื่นๆ มาอธิบายประกอบมังคลัตถทีปนี นี้ได้แปลเป็นภาษาไทยความยาว ๘๙๓ หน้า และพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งแล้ว เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนปริยัติธรรมจะต้องศึกษา

.คัมภีร์ที่รจนาขึ้นใหม่ มีเพียงเรื่องเดียว คือ

.จักกวาฬทีปนี ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้ผูกโครงเรื่องขึ้นก่อน โดยแบ่งเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับจักรวาลออกเป็นตอนๆ จากนั้นก็อธิบายเรื่องราวตอนนั้นๆ อย่างละเอียดลออ โดยอ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ มาประกอบ รจนาเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๓ กล่าวถึงเรื่องราวในจักรวาลหรือโลกธาตุ พรรณนาถึงภูมิที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย อาหารของสัตว์ ภูเขา แม่น้ำ เทวดา อสูร ฯลฯ ดังนี้

-   
ภูเขา พรรณนาถึงเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์และเขาต่างๆ ในป่าหิมพานต์

-   
สระ พรรณนาถึงสระอโนดาต กัญญมุณฑก รถกรก ฉัททันต์ กุนาล ฯลฯ

-   
นที พรรณนาแม่น้ำต่างๆ เช่น คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ ฯลฯ

-   
ทวีป พรรณนาชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป บุพพวิเทห และอมรโคยาน เป็นต้น

-   
ภูมิของสัตว์ต่างๆ เช่น อบายภูมิ คือ นิรยะ ติรัจฉานโยนิ เปตวิสัย อสุรกาย และมหานรก ๘ ขุม เช่น สัญชีวะ กาลสุตตะ สังฆาตะ ปตาปนะ เป็นต้น

-   
อสูร พรรณนา เวปจิตต สัมพร อสุโรช ปหารท ราหุ เป็นต้น
-   ภุมมเทวดา คือ เทวดาที่อยู่บนพื้นดินและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือทรงคุณประโยชน์ต่างๆ

-   
อากาศเทวดา กล่าวถึงเทพที่สถิตอยู่ในอากาศ แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชั้นจตุมหาราชิก

-   
มเหสักขเทวดา กล่าวถึง เทวดาที่สูงศักดิ์ต่างๆ ในฉกามาวจรเทวโล

-   
พรหม กล่าวถึง พรหมต่างๆ ในพรหมโลก

นอกจากนี้ยังได้พรรณนา หรือวินิจฉัยเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วย เรื่องอายุ อาหาร การคำนวณภูมิเรื่องต้นไม้ เรื่องโลก โลกธาตุ และเรื่องความไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนคำศัพท์ต่างๆ ก็ได้อธิบายไว้เช่น ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก วิบัติภวโลก ฯลฯ

เมื่อพิจารณาวิธีการรจนาคัมภีร์ทั้ง ๔ เรื่องแล้ว จะเห็นว่าพระสิริมังคลาจารย์รจนาคัมภีร์แต่ละเรื่องขึ้นเพื่ออธิบายขยายความ ที่ยากหรือค่อนข้างยากให้คนทั่วไปเข้าใจรู้เรื่องอย่างแจ่มแจ้ง อันเป็นจุดประสงค์สำคัญของผลงานกลุ่มแรก ส่วนผลงานที่รจนาใหม่คือ การอธิยายเรื่องจักรวาลนั้น ก็เพื่อต้องการให้ชาวล้านนาที่สนใจและมิได้เป็นนักปราชญ์ที่ต้องการจะทราบ เรื่องจักรวาลอย่างถ่องแท้ละเอียดพิสดาร ตามแนวของพุทธศาสนาได้สามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยไม่ต้องค้นคว้าหาอ่านมากมาย

นอกจากนี้ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ยังสะท้อนให้เห็นความสนใจและการใฝ่หาความรู้ด้านพุทธศาสนาและวิชาการแขนงต่างๆ ของชาวล้านนาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ มีมากเพียงใด ทั้งยังเป็นความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้นั้นๆ อย่างแตกฉานอีกด้วย
พระสิริมังคลาจารย์ ได้รับเกียรติคุณเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์แห่งล้านนาถึงสองพระองค์ คือ พระอาจารย์ ของพระเมืองแก้ว และพระเมืองแก้วทรงแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดพร้อมถวายสมณศักดิ์ให้เป็นพระสิริมังคลาจารย์ตามฉายาเดิม เคยเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาในลังกา ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกจนถึงมรณภาพ 
                       พระสิริมังคลาจารย์เป็นพระสงฆ์ที่ทรงภูมิปัญญา ท่านเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรข้างเคียงรู้จักและยอมรับ ความเจริญรุ่งเรืองของยุคทองพุทธศาสนา และยุคทองของวรรณกรรมพุทธศาสนาของอาณาจักรล้านนา 

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 ธันวาคม 2554 เวลา 05:57

    เจริญขอบคุณโยมที่เผยแผ่องค์ความรู้ดีๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16 กันยายน 2556 เวลา 07:31

    อยากได้ประวัติของพระสิริมังคลาจารย์ให้มากกว่านี้นะครับ จะหาได้ที่ไหนครับ

    ตอบลบ