วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

หาญยอดใจเพชร ผู้ประกาศศักดาฝีมือดาบเมืองเหนือ


อนุสาวรีย์บรรพชนล้านนา ด้านที่เห็นเป็นภาพการต่อสู้ของหาญยอดใจเพชรกับทหารสุโขทัย

ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
         


                    หาญยอดใจเพชร เป็นนายทหารชาวนครพิงค์เชียงใหม่  อยู่ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นนายทหารดาบเขนซึ่งมีฝีมือเป็นเยี่ยม  และเหตุที่ทำให้หาญยอดใจเพชรได้มีชื่อปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ก็เพราะว่าในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเกิดมีกรณีแตกแยกระหว่างพี่น้องขึ้น  อันทำให้เกี่ยวเนื่องไปถึงพระมหาธรรมราชาไสยลือไท แห่งกรุงสุโขทัยจนเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ดังนี้
                   ครั้นนั้นสิ้นพระเจ้าแสนเมืองมาพระราชบิดาแล้ว ราชบุตรสองพระองค์ต่างมารดากันองค์พี่มีพระนามว่า เจ้ายี่กุมกาม  พระบิดาให้ไปครองเมืองเชียงรายแต่ครั้นมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ส่วนองค์น้องมีพระนามว่า  เจ้าสามฝั่งแกน  เหตุที่ชื่อเช่นนี้เป็นเพราะเมื่อพระมารดาทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือน  พระราชบิดาได้พาเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆจนถึงเมืองสิบสองพันนาลื้อ  จนเวลาล่วงไปได้ ๗ เดือน กลับมายังพันนาฝั่งแกนจึงได้ประสูติพระกุมาร ณ ที่นั้น  ส่วนเจ้ายี่กุมกามนั้น ประสูติที่เวียงกุมกามจึงได้ชื่อว่า เจ้ายี่กุมกาม
                  พอพระเจ้าแสนเมืองมาถึงแก่พิราลัย เสนาทั้งหลายก็จัดการาชาภิเษกเจ้าสามฝั่งแกนขึ้นครองราชสมบัติ มีมหาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ว่าราชการแทนเพราะพระเจ้าสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์พระชันษายังไม่ถึงยี่สิบปี ทั้งยังต้องเตรียมการไว้เผื่อว่าทางเจ้ายี่กุมกามจะยกพลมาแย่งชิงราชสมบัติอีกด้วย  และแล้วก็เป็นจริงกองทัพเมืองเชียงรายโดยการนำของเจ้ายี่กุมกามผู้ครองเมือง ได้ยกมาเพื่อจะสัประยุทธ์ช่วงชิงราชสมบัติจากพระอนุชาด้วยความไม่พอพระทัยที่เจ้าสามฝั่งแกนได้ครองนครพิงค์สืบต่อจากพระราชบิดา   แต่เมื่อทางฝ่ายนครพิงค์ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว  ด้วยกำลังทัพซึ่งเหนือกว่า ทัพของเจ้ายี่กุมกามก็แตกพ่ายไป ตัวเจ้ายี่กุมกามก็หนีลงไปพึ่ง พระมหาธรรมราชาไสยลือไท  แห่งกรุงสุโขทัยและทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ากรุงสุโขทัยสำเร็จ  โดยพระมหาธรรมราชาไสยลือไทไม่ทันได้พินิจให้รอบคอบ หลงเชื่อคำบอกเล่าของเจ้ายี่กุมกาม ในปี พ.ศ.๑๙๔๔ พระมหาธรรมราชาไสลือไท ยกทัพหลวงกรุงสุโขทัย ขึ้นมาเพื่อตีเมืองเชียงใหม่ ให้แก่เจ้ายี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงราย   กองทัพสุโขทัยโดยการนำของพระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็ยกไปโดยผ่านแม่น้ำยมขึ้นไปตีเมืองพะเยาก่อน  สร้างหอเรือกสูง๑๒ วาที่ตำบลหนองเต่าเพื่อจะเอาปืนยิงเข้าไปในตัวเมือง  แต่ฝ่ายผู้รักษาเมืองพะเยาก็เตรียมสู้เต็มที่  ถึงกับรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาที่วัดมหาพนมาหล่อทำปืนใหญ่สีที่กำหนดสามล้านตอง  เซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือกผู้แล้วบรรจุกระสุนดินดำยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาไสยลือไททรงเห็นเป็นลางร้ายก็เลยไม่คิดสู้  แต่ได้สั่งให้เจ้ายี่กุมกามนำทัพลัดขึ้นไปเชียงรายเพื่อพักไพร่พลพอหายอิดโรยแล้วยกทัพย้อนลงมาทางเมืองฝางมุ่งตรงไปยังเชียงใหม่  ตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวงแล้วให้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่มีใจความว่า 
                  เจ้ายี่กุมกามนั้นเป็นพี่ควรจะได้ราชสมบัติแทนพระราชบิดาถ้าขุนนางในเชียงใหม่ขัดขืน มิให้เจ้ายี่กุมกามขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  พระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็จัดยกทัพพลโยธาเข้าตีชิงเอาเมืองนครพิงค์ให้แก่เจ้ายี่กุมกามให้จงได้
                    ทางฝ่ายในเมืองนครพิงค์บรรดาเสนามาตย์ข้าราชการขุนนางทั้งหลายก้พร้อมใจกันมีหนังสือตอบไปยังอีกฝ่ายหนึ่งใจความว่า   เจ้ายี่กุมกามถึงหากจะเป็นพี่ ก็หามีบุญญาธิการมิได้เพราะฉะนั้นการที่จะรบด้วยกำลังพลโยธาทั้งสองฝ่ายก็เห็นที่ว่าจะหมดเปลืองชีวิตของเหล่าพลโยธาเสียเปล่า ข้าพเจ้าทั้งหลายใคร่จะขอให้มีการเสี่ยงบารมีว่าใครจะมีบุญญาธิการยิ่งกว่า ระหว่างเจ้ายี่กุมกามกับเจ้าสามฝั่งแกนกล่าวคือ  จัดให้มีการต่อสู้กันตัวต่อตัวระหว่างนายทหารซึ่งมีฝีมือเยียมฝ่ายละคน  คัดเลือกจัดสรรเอามาจากในกองทัพของแต่ละฝ่าย  หากว่าทหารของฝ่ายใดได้รับชัยชนะก็จะถือว่าเป็นการแพ้ชนะด้วยทั้งกองทัพ  ด้วยบุญญาธิการบารมีของเจ้าชายทั้งสอง พระองค์จะเห็นเป้นประการใด
                    พระมหาธรรมราชาไสยลือไทได้ทรงรับหนังสือเช่นนั้น  ก็นำมาปรึกษากับเหล่าแม่ทัพนายกองของฝ่ายพระองค์  ต่างก็เห็นดีเห็นชอบตามข้อเสนอของเสนามาตย์ฝ่ายเมืองนครพิงค์ทั่วหน้ากัน  พระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็ทรงมีหนังสือตอบตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนด
                  ครั้นแล้ว  ทั้งสองฝ่ายก็เลือกคัดสรรนายทหารที่มีฝีมือ  เพื่อจะได้ออกไปสู้กับฝ่ายตรงข้าม  มันเป็นการต่อสู้ที่หมายถึงการพนันระหว่างเจ้าชายสองพี่น้อง  ฝ่ายใดชนะก็จักได้ขึ้นครองนครพิงค์ ฝ่ายใดแพ้ก็ต้องก้มหน้าออกจากตำแหน่งนายทหารผู้ได้รับคัดเลือกจากกองทัพของสุโขทัยนั้นปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์เป็นผู้ที่ชำนาญเพลงดาบสองมือเป็นเยี่ยมยอดหาผู้เสมอเหมือนมิได้   ทางฝ่ายนครพิงค์ก็ได้เลือกจัดหานายทหารผู้มีฝีมือกันอย่างจริงจัง ในที่สุดก็ได้นายทหารผู้มีนามว่า หาญยอดใจเพชร  เป็นผู้เชี่ยมชาญในการใช้ดาบเขนอย่างหาตัวจับยาก
                  เมื่อต่างฝ่ายก็ได้ตัวนายทหารที่จะมาขับสู้เพื่อแข่งบุญญาธิการของเจ้านายของตนแล้ว  ก็นับเป็นเวลาและจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม  ก็ไปได้ที่ตำบลเชียงขวางนอกเมืองเชียงใหม่  จึงประชุมกันจัดตั้งเป็นสนามประลองฝีมือระหว่างทหารเอกของสุโขทัยกับทหารเอกของเชียงใหม่  ท่ามกลางความตื่นเต้นของชาวเมืองและของเหล่าไพร่พลทั้งสองฝ่าย  พระเจ้าสามฝั่งแกน  เจ้ายี่กุมกาม  และพระมหาธรรมราชาไสยลือไทต่างก็เสด็จมาประทับทอดดพระเนตรการต่อสู้ครั้งนี้  พร้อมด้วยเสนามาตย์ข้าราชการ  รวมทั้งพลโยธาทั้งหลายซึ่งพากันมาประชุมพร้อมใจกันด้วยใจอันเต้นระทึก  พอได้เวลา ทหารเอกของทั้งสองฝ่ายก็ออกสู่สนาม พร้อมด้วยอาวุธคู่มือ  ทหารฝ่ายสุโขทัยถือดาบสองมือกระชับ  ลวดลายที่รำไหว้ครูสวยงามเป็นสง่าน่าชมยิ่งนัก  ฝูงชนที่มาชมก็กล่าวชมกันเซ็งแซ่ว่านายทหารชาวสุโขทัยนี้สง่านัก  ท่าทางที่รำดาบไหว้ครูก็งดงามสมเป็นชายชาติทหาร
                   ทีนี้ถึงคราวหาญยอดใจเพชรทหารเอกของทัพนครพิงค์เชียงใหม่ผู้รับอาสามาต่อสู้เพื่อรักษาราชบัลลังก์ของพระเจ้าเหนือหัวก็มิได้น้อยหน้านายทหารสุโขทัย  เขาวาดลวดลายการรำไหว้ครูได้สวยงามไม่แพ้นายทหารสุโขทัย แม้ว่ามือข้างหนึ่งถือดาบและอีกข้างหนึ่งจับเขน จะทำให้ไม่สะดวกในการออกลวดลายได้เต็มที่เท่ากับการใช้ดาบสองมือ  แต่ท่วงท่าอันสง่าอาจหาญของทหารเอกนครพิงค์ก็ได้รับเสียงแซ่ซ้องชมเชยจากผู้ชมทั้งสองฝ่าย  ครั้นแล้วความชื่นตาที่พวกเขาได้รับก็เปลี่ยนเป้นความตื่นเต้นหวาดเสียว  เมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง  เสียงดาบประดาบดังสะเทือนประสาทของผู้มีขวัญอ่อน  และผู้ที่หวาดว่าจะต้องสูญเสียเมืองให้แก่ศัตรูก็ยืนตัวแข็ง  ส่งกระแสจิตไปช่วยนายทหารฝ่ายของตัวตลอดเวลา
                   การสัประยุทธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น  ทั้งสองมีความสามารถเกือบจะเสมอกันจึงไม่มีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำโดยง่ายต่างฝ่ายต่างก็มีลวดลายชั้นเชิงหลบหลีกปัดป้องอย่างว่องไว  ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเอาใจช่วย  องค์ประมุขทั้งสามพระองค์ก็ทอดพระเนตรการต่อสู้ด้วยสีพระพักตร์อันเคร่งเครียด  จนเวลาผ่านไป  ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ยอมพ่ายแพ้  คงผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบอยู่เช่นนั้น
                   แต่ครั้นแล้วในที่สุด  หาญยอดใจเพชรก็ได้ที มีโอกาสได้ฝากคมดาบเฉี่ยวเอาเท้านายทหารสุโขทัยเข้าฉับหนึ่ง(ในตำนานบอกว่า เพิก ไปหน่อยหนึ่ง) ทหารสุโขทัยจึงเป็นฝ่ายแพ้แต่ในเวลานั้น  อันหมายความว่าฝ่ายนครพิงค์ได้รับชัยชนะด้วยฝีมือการใช้อาวุธของนายทหารเอกของนครพิงค์ผู้มีนาม  หาญยอดใจเพชร

ประวัติสงครามระหว่างสุโขทัยกับเชียงใหม่ ภายใต้อนุสาวรีย์บรรชนล้านนา


ขอบคุณภาพจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น