วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

หมื่นด้ำพร้าคต นายช่างเอกแห่งลานนา


พระเจดีย์หลวงยอดเต็มเป็นวัดที่หมื่นด้ำพร้าคต เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์กุฏิมหาธาตุ หรือเจดีย์ลักษณะบุราคม คือเจดีย์หลวงในกลางเวียงเมืองเชียงใหม่


              หมื่นด้ำพร้าคตผู้นี้ปรากฏในตำนานต่างๆกันดังนี้  ตำนานโยนกเรียกว่า หมื่นด้ำพร้าคต  ชินกาลมาลินีปกรณ์ว่า สีหโคตรเสนาบดี  ตำนานพระธาตุวัดเจดีย์หลวงว่า หมื่นด้ำสีหโคตร  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า หมื่นด้ำพร้าคต  ท่านผู้นี้เป็นนายช่างเอกที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้เป็นนายช่างเอกอำนวยการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่กลางเวียงเชียงใหม่  คือเจดีย์หลวง  หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โชติการาม  ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่ท่านผู้นี้ได้ฝากไว้ในโลกา  จนปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

         
ประวัติเดิมของหมื่นด้ำพร้าคตนี้  ในพงศาวดารหรือตำนานพื้นเมืองฉบับของอาจารย์ไกรศรี  นิมมานเหมินท์  กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  ในสมัยยังเยาว์วัยเป็นพระสหายของพระเจ้าติโลกราช  ถึงกับทรงตรัสไว้เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า หากกูเป็นใหญ่ กูจักตั้งมึงให้เป็นเสนา”  และเมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติครองเมืองเชียงใหม่  ก็ทรงแต่งตั้งให้หมื่นด้ำพร้าคตเป็นเสนาบดี  สมดังที่ตรัสไว้

         
หมื่นด้ำพร้าคต  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยเหลือพระเจ้าติโลกราช  ในการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางพุทธศาสนาให้แก่ล้านนา  เช่นเดียวกับหมื่นโลกสามล้าน หรือ หมื่นด้งนคร  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในด้านขุมกำลังทางทหารและการปกครอง  หมื่นด้ำพร้าคตเคยไปลังกา เพื่อจำลองแบบอย่างโลหปราสาทและรัตนเจดีย์ ณ เมืองลังกาทวีปโพ้นมา  แล้วให้หมื่นด้ำพร้าคตเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์กุฏิมหาธาตุ  หรือเจดีย์ลักษณบุราคม (เจดีย์หลวง เชียงใหม่)  ปีที่หมื่นด้ำพร้าคตเดินทางไปยังเมืองลังกาทวีปนี้ คือ พ.ศ. ๒๐๒๐ (ดูหนังสือตำนานโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุนนาค) ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ หน้า ๒๔๓ ๒๔๔)

         
นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุเจดีย์หลวง  หมื่นด้ำพร้าคตยังได้ทำการหล่อพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่หนักประมาณ ๓๓ แสน  ให้มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลวปุระ (คือพระเจ้าแค่งคม วัดศรีเกิดปัจจุบัน)  พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้หมื่นด้ำพร้าคต หรือสีหโคตรเสนา  กับอาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ (คือหมื่นด้ำพร้าอ้าย) เป็นผู้ทำการหล่อที่วัดป่าตาลมหาวิหาร  ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองเชียงใหม่  (ว่าคือวัดตะโปทารามหรือวัดล่ำเปิงปัจจุบันใต้สนามบิน)  บางท่านก็ว่าวัดป่าตาลนั้นเป็นวัดร้างอยู่ทางด้านใต้โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพปัจจุบัน

         
จากผลงานชิ้นสำคัญ ๒ ชิ้นนี้  แสดงว่าหมื่นด้ำพร้าคตหรือสีหโคตรเสนาบดีท่านนี้  เป็นทั้งนายช่างสถาปนิกและนักประติมากรรมลือชื่อ  ไม่แต่ในอดีตสมัยเท่านั้น  แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยากที่จะหานายช่างและนักประติมากรรมที่สร้างผลงานไว้เท่าเทียมท่านได้  ดังนั้นหมื่นด้ำพร้าคตจึงเป็นผู้ควรแก่การยกย่องสรรเสริญผู้หนึ่ง  เฉพาะอย่างยิ่ง หมื่นด้ำพร้าคตท่านนี้  เป็นชาวเมืองยวม  และเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว  อิฐของท่านก็ได้บรรจุไว้ในกู่ที่เมืองยวมใต้  ซึ่งอาจจะเป็นเจดีย์ร้างแห่งใดแห่งหนึ่ง  ในบริเวณเมืองยวมใต้นี้เอง

         
ท่านถึงอนิจกรรมเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๒๕  (ชินกาลมาลินี  ว่าพระเจ้าติโลกราชโปรดให้หล่อพระพุทธรูปแบบลวปุระ (พระเจ้าแค่งคม) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๗ (จ.ศ. ๘๔๕)  หากถือเอาตามตำนานโยนกว่า  หมื่นด้ำพร้าคตถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ จ.ศ. ๘๔๔ ก็เป็นเวลาหลังจากหมื่นด้ำพร้าคตถึงแก่อนิจกรรม ๑ ปี  เข้าใจว่าอาจคลาดเคลื่อน )  ปรากฏในตำนานโยนกว่า ลุศักราช ๘๔๔ ปีขาลจัตวาศก  หมื่นด้ำพร้าคตหรือสีหเสนาบดี  ผู้เป็นนายช่างใหญ่ป่วยถึงอนิจกรรม  โปรดให้ทำฌาปนกิจ ณ เมืองยวมใต้  ให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ ที่นั้น

         
แม้ว่าท่านจะล่วงลับไปเป็นเวลานานถึง ๔๘๖ ปีกว่ามาแล้วก็ตาม  แต่ผลงานของท่านยังคงปรากฏแก่สายตาของชนรุ่นหลังจนกระทั่งทุกวันนี้  และจะคงอยู่ต่อไป  จนชั่วลูกชั่วหลานชั่วกาลนาน  และดวงวิญญาณของท่าน  แม้จะสิงสถิตอยู่แห่งใดก็ดีคงจะชื่นชมกับผลงานของท่าน  ซึ่งยังคงอยู่ตาบทุกวันนี้  และตลอดไปชั่วกัลปาวสาน



วัดเจ็ดยอด  หมื่นด้ามพร้าคต เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง 
ศาสนสถานและเสนาสนะขึ้นเป็นพระอารามหลวง

คัดจาก
หนังสือ คนดีเมืองเหนือ ของ คุณสงวน โชติสุขรัตน์


3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 กรกฎาคม 2556 เวลา 11:50

    พี่คะ หนูเข้ามาอ่านแล้วชอบมากเลย อาจจะช้าไปสำหรับพี่ ขอบคุณที่โพสทิ้งไว้ อาจจะเก่าแล้วสำหรับพี่ แต่เรื่องนี้ใหม่สำหรับหนู หนูเกิดไอเดียปิ้ง ทำโมเดลตามที่พี่โพส
    ได้แบบนี้หนะ
    https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/553990_4824720189767_1955298069_n.jpg

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เยี่ยมมากเลยครับรูปแบบสวยดีอ่านง่ายสบายตา

      ลบ
  2. คือคุณครูบอกว่า
    เจดีย์ที่โรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบเป็นที่เก็บอัฐิของหมื่นด้ามพร้าคตค่ะ เจดีย์มีกำไรมีพระพุทธรูปด้วย อยากรู้ว่าจริงหรือไม่

    ตอบลบ