วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

หาญยอดใจเพชร ผู้ประกาศศักดาฝีมือดาบเมืองเหนือ


อนุสาวรีย์บรรพชนล้านนา ด้านที่เห็นเป็นภาพการต่อสู้ของหาญยอดใจเพชรกับทหารสุโขทัย

ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
         


                    หาญยอดใจเพชร เป็นนายทหารชาวนครพิงค์เชียงใหม่  อยู่ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นนายทหารดาบเขนซึ่งมีฝีมือเป็นเยี่ยม  และเหตุที่ทำให้หาญยอดใจเพชรได้มีชื่อปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ก็เพราะว่าในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเกิดมีกรณีแตกแยกระหว่างพี่น้องขึ้น  อันทำให้เกี่ยวเนื่องไปถึงพระมหาธรรมราชาไสยลือไท แห่งกรุงสุโขทัยจนเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ดังนี้
                   ครั้นนั้นสิ้นพระเจ้าแสนเมืองมาพระราชบิดาแล้ว ราชบุตรสองพระองค์ต่างมารดากันองค์พี่มีพระนามว่า เจ้ายี่กุมกาม  พระบิดาให้ไปครองเมืองเชียงรายแต่ครั้นมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ส่วนองค์น้องมีพระนามว่า  เจ้าสามฝั่งแกน  เหตุที่ชื่อเช่นนี้เป็นเพราะเมื่อพระมารดาทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือน  พระราชบิดาได้พาเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆจนถึงเมืองสิบสองพันนาลื้อ  จนเวลาล่วงไปได้ ๗ เดือน กลับมายังพันนาฝั่งแกนจึงได้ประสูติพระกุมาร ณ ที่นั้น  ส่วนเจ้ายี่กุมกามนั้น ประสูติที่เวียงกุมกามจึงได้ชื่อว่า เจ้ายี่กุมกาม
                  พอพระเจ้าแสนเมืองมาถึงแก่พิราลัย เสนาทั้งหลายก็จัดการาชาภิเษกเจ้าสามฝั่งแกนขึ้นครองราชสมบัติ มีมหาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ว่าราชการแทนเพราะพระเจ้าสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์พระชันษายังไม่ถึงยี่สิบปี ทั้งยังต้องเตรียมการไว้เผื่อว่าทางเจ้ายี่กุมกามจะยกพลมาแย่งชิงราชสมบัติอีกด้วย  และแล้วก็เป็นจริงกองทัพเมืองเชียงรายโดยการนำของเจ้ายี่กุมกามผู้ครองเมือง ได้ยกมาเพื่อจะสัประยุทธ์ช่วงชิงราชสมบัติจากพระอนุชาด้วยความไม่พอพระทัยที่เจ้าสามฝั่งแกนได้ครองนครพิงค์สืบต่อจากพระราชบิดา   แต่เมื่อทางฝ่ายนครพิงค์ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว  ด้วยกำลังทัพซึ่งเหนือกว่า ทัพของเจ้ายี่กุมกามก็แตกพ่ายไป ตัวเจ้ายี่กุมกามก็หนีลงไปพึ่ง พระมหาธรรมราชาไสยลือไท  แห่งกรุงสุโขทัยและทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ากรุงสุโขทัยสำเร็จ  โดยพระมหาธรรมราชาไสยลือไทไม่ทันได้พินิจให้รอบคอบ หลงเชื่อคำบอกเล่าของเจ้ายี่กุมกาม ในปี พ.ศ.๑๙๔๔ พระมหาธรรมราชาไสลือไท ยกทัพหลวงกรุงสุโขทัย ขึ้นมาเพื่อตีเมืองเชียงใหม่ ให้แก่เจ้ายี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงราย   กองทัพสุโขทัยโดยการนำของพระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็ยกไปโดยผ่านแม่น้ำยมขึ้นไปตีเมืองพะเยาก่อน  สร้างหอเรือกสูง๑๒ วาที่ตำบลหนองเต่าเพื่อจะเอาปืนยิงเข้าไปในตัวเมือง  แต่ฝ่ายผู้รักษาเมืองพะเยาก็เตรียมสู้เต็มที่  ถึงกับรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาที่วัดมหาพนมาหล่อทำปืนใหญ่สีที่กำหนดสามล้านตอง  เซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือกผู้แล้วบรรจุกระสุนดินดำยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาไสยลือไททรงเห็นเป็นลางร้ายก็เลยไม่คิดสู้  แต่ได้สั่งให้เจ้ายี่กุมกามนำทัพลัดขึ้นไปเชียงรายเพื่อพักไพร่พลพอหายอิดโรยแล้วยกทัพย้อนลงมาทางเมืองฝางมุ่งตรงไปยังเชียงใหม่  ตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวงแล้วให้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่มีใจความว่า 
                  เจ้ายี่กุมกามนั้นเป็นพี่ควรจะได้ราชสมบัติแทนพระราชบิดาถ้าขุนนางในเชียงใหม่ขัดขืน มิให้เจ้ายี่กุมกามขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  พระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็จัดยกทัพพลโยธาเข้าตีชิงเอาเมืองนครพิงค์ให้แก่เจ้ายี่กุมกามให้จงได้
                    ทางฝ่ายในเมืองนครพิงค์บรรดาเสนามาตย์ข้าราชการขุนนางทั้งหลายก้พร้อมใจกันมีหนังสือตอบไปยังอีกฝ่ายหนึ่งใจความว่า   เจ้ายี่กุมกามถึงหากจะเป็นพี่ ก็หามีบุญญาธิการมิได้เพราะฉะนั้นการที่จะรบด้วยกำลังพลโยธาทั้งสองฝ่ายก็เห็นที่ว่าจะหมดเปลืองชีวิตของเหล่าพลโยธาเสียเปล่า ข้าพเจ้าทั้งหลายใคร่จะขอให้มีการเสี่ยงบารมีว่าใครจะมีบุญญาธิการยิ่งกว่า ระหว่างเจ้ายี่กุมกามกับเจ้าสามฝั่งแกนกล่าวคือ  จัดให้มีการต่อสู้กันตัวต่อตัวระหว่างนายทหารซึ่งมีฝีมือเยียมฝ่ายละคน  คัดเลือกจัดสรรเอามาจากในกองทัพของแต่ละฝ่าย  หากว่าทหารของฝ่ายใดได้รับชัยชนะก็จะถือว่าเป็นการแพ้ชนะด้วยทั้งกองทัพ  ด้วยบุญญาธิการบารมีของเจ้าชายทั้งสอง พระองค์จะเห็นเป้นประการใด
                    พระมหาธรรมราชาไสยลือไทได้ทรงรับหนังสือเช่นนั้น  ก็นำมาปรึกษากับเหล่าแม่ทัพนายกองของฝ่ายพระองค์  ต่างก็เห็นดีเห็นชอบตามข้อเสนอของเสนามาตย์ฝ่ายเมืองนครพิงค์ทั่วหน้ากัน  พระมหาธรรมราชาไสยลือไทก็ทรงมีหนังสือตอบตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนด
                  ครั้นแล้ว  ทั้งสองฝ่ายก็เลือกคัดสรรนายทหารที่มีฝีมือ  เพื่อจะได้ออกไปสู้กับฝ่ายตรงข้าม  มันเป็นการต่อสู้ที่หมายถึงการพนันระหว่างเจ้าชายสองพี่น้อง  ฝ่ายใดชนะก็จักได้ขึ้นครองนครพิงค์ ฝ่ายใดแพ้ก็ต้องก้มหน้าออกจากตำแหน่งนายทหารผู้ได้รับคัดเลือกจากกองทัพของสุโขทัยนั้นปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์เป็นผู้ที่ชำนาญเพลงดาบสองมือเป็นเยี่ยมยอดหาผู้เสมอเหมือนมิได้   ทางฝ่ายนครพิงค์ก็ได้เลือกจัดหานายทหารผู้มีฝีมือกันอย่างจริงจัง ในที่สุดก็ได้นายทหารผู้มีนามว่า หาญยอดใจเพชร  เป็นผู้เชี่ยมชาญในการใช้ดาบเขนอย่างหาตัวจับยาก
                  เมื่อต่างฝ่ายก็ได้ตัวนายทหารที่จะมาขับสู้เพื่อแข่งบุญญาธิการของเจ้านายของตนแล้ว  ก็นับเป็นเวลาและจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม  ก็ไปได้ที่ตำบลเชียงขวางนอกเมืองเชียงใหม่  จึงประชุมกันจัดตั้งเป็นสนามประลองฝีมือระหว่างทหารเอกของสุโขทัยกับทหารเอกของเชียงใหม่  ท่ามกลางความตื่นเต้นของชาวเมืองและของเหล่าไพร่พลทั้งสองฝ่าย  พระเจ้าสามฝั่งแกน  เจ้ายี่กุมกาม  และพระมหาธรรมราชาไสยลือไทต่างก็เสด็จมาประทับทอดดพระเนตรการต่อสู้ครั้งนี้  พร้อมด้วยเสนามาตย์ข้าราชการ  รวมทั้งพลโยธาทั้งหลายซึ่งพากันมาประชุมพร้อมใจกันด้วยใจอันเต้นระทึก  พอได้เวลา ทหารเอกของทั้งสองฝ่ายก็ออกสู่สนาม พร้อมด้วยอาวุธคู่มือ  ทหารฝ่ายสุโขทัยถือดาบสองมือกระชับ  ลวดลายที่รำไหว้ครูสวยงามเป็นสง่าน่าชมยิ่งนัก  ฝูงชนที่มาชมก็กล่าวชมกันเซ็งแซ่ว่านายทหารชาวสุโขทัยนี้สง่านัก  ท่าทางที่รำดาบไหว้ครูก็งดงามสมเป็นชายชาติทหาร
                   ทีนี้ถึงคราวหาญยอดใจเพชรทหารเอกของทัพนครพิงค์เชียงใหม่ผู้รับอาสามาต่อสู้เพื่อรักษาราชบัลลังก์ของพระเจ้าเหนือหัวก็มิได้น้อยหน้านายทหารสุโขทัย  เขาวาดลวดลายการรำไหว้ครูได้สวยงามไม่แพ้นายทหารสุโขทัย แม้ว่ามือข้างหนึ่งถือดาบและอีกข้างหนึ่งจับเขน จะทำให้ไม่สะดวกในการออกลวดลายได้เต็มที่เท่ากับการใช้ดาบสองมือ  แต่ท่วงท่าอันสง่าอาจหาญของทหารเอกนครพิงค์ก็ได้รับเสียงแซ่ซ้องชมเชยจากผู้ชมทั้งสองฝ่าย  ครั้นแล้วความชื่นตาที่พวกเขาได้รับก็เปลี่ยนเป้นความตื่นเต้นหวาดเสียว  เมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง  เสียงดาบประดาบดังสะเทือนประสาทของผู้มีขวัญอ่อน  และผู้ที่หวาดว่าจะต้องสูญเสียเมืองให้แก่ศัตรูก็ยืนตัวแข็ง  ส่งกระแสจิตไปช่วยนายทหารฝ่ายของตัวตลอดเวลา
                   การสัประยุทธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น  ทั้งสองมีความสามารถเกือบจะเสมอกันจึงไม่มีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำโดยง่ายต่างฝ่ายต่างก็มีลวดลายชั้นเชิงหลบหลีกปัดป้องอย่างว่องไว  ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเอาใจช่วย  องค์ประมุขทั้งสามพระองค์ก็ทอดพระเนตรการต่อสู้ด้วยสีพระพักตร์อันเคร่งเครียด  จนเวลาผ่านไป  ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ยอมพ่ายแพ้  คงผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบอยู่เช่นนั้น
                   แต่ครั้นแล้วในที่สุด  หาญยอดใจเพชรก็ได้ที มีโอกาสได้ฝากคมดาบเฉี่ยวเอาเท้านายทหารสุโขทัยเข้าฉับหนึ่ง(ในตำนานบอกว่า เพิก ไปหน่อยหนึ่ง) ทหารสุโขทัยจึงเป็นฝ่ายแพ้แต่ในเวลานั้น  อันหมายความว่าฝ่ายนครพิงค์ได้รับชัยชนะด้วยฝีมือการใช้อาวุธของนายทหารเอกของนครพิงค์ผู้มีนาม  หาญยอดใจเพชร

ประวัติสงครามระหว่างสุโขทัยกับเชียงใหม่ ภายใต้อนุสาวรีย์บรรชนล้านนา


ขอบคุณภาพจาก

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

พญามือเหล็ก วีรชนแห่งดอยประตูผา

        
รูปปั้นพญามือเหล็กจังหวัดลำปาง

        
                    พญามือเหล็กหรือเจ้าพ่อประตูผา  แห่งเขลางนคร เป็นยอดขุนพลของเจ้าลิ้นก่าน กษัตริย์เขลางนคร  มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กล้าหาญและจารึกว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕ เป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยที่พระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โน้น แคว้นลานนาไทยตกภายใต้อิทธิพลของพม่าเกือบทั้งสิ้น กล่าวคืน นครเชียงใหม่วัดล้มครืนลงอีกคราวนึ่งสมัยพระเจ้าเมกุฏิ (พ.ศ.๒๑๐๖) ได้เสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ปีต่อมาได้คิดปฏิวัติต่อพม่าก็ถูกพม่าวัดล้มครืนลงอีกคราวหนึ่ง พม่าจึงจัดตั้งนางวิสุทธิเทวี เจ้าหญิงไทยขึ้นครองถึงปี พ.ศ. ๒๒๗๔ ก็ได้สิ้นพระชนม์ลง บุเรงนองได้ส่งนายทหารพม่าชื่อ มังนรธาช่อ (โอรส) มาปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อมาถึง ปี พ.ศ. ๒๒๗๕ พม่าอ่อนกำลังลง เจ้าองค์นกหรือองค์ดำ ราชวงศ์เชียงใหม่-หลวงพระบาง ได้นำคนเข้ากอบกู้เอกราชคืนสำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชเป็นเจ้านามว่า พระหอดำ จนถึง พ.ศ. ๒๓๐๕ จึงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะ พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ จึงส่งนายทหารปกครองเมืองเชียงใหม่แทน ชื่อ โปมะยุง่วน (โป่หัวขาว) ให้คนไทยชื่อพญาจ่าบ้าน เป็นพ่อเมือง เชียงรายก็ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าข้าศึกด้วย เมืองแพร่ เมืองน่าน ยังเป็นอิสระเพราะมีเจ้าไทยปกครองกันเอง ส่วนนครลำพูนไชย มีเจ้าหรือท้าวมหายศ ปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าสมัยนั้น เราเรียกว่า พม่าเชียงใหม่ และพม่าลำพูน สำหรับนครเขลางค์ถูกอิทธิพลของพม่าบ้านแตกสาแหรกขาดทั้งเจ้าข้าหลบหนีตายเข้าป่าไปจำนวนมา คือเจ้าลิ้นก่าน หนีไปอยู่ที่ประตูผา นครเขลางค์จึงเหมือนว่าเจ้าครองเมือง มีแสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย แต่ทั้ง ๔ ท่าน คอยชิงดีชิงเด่นกันปกครองราษฎรไม่ปกติสุขความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเขลางค์ เร่าร้อนเป็นไฟทั่วใบหน้า

               ด้วยเหตุฉะนี้ พระอธิการเจ้าอาวาสวัดนายาง (เขตอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง) สมัยนั้น ราว พ.ศ.๒๓๓๒ ท่านเชี่ยวชาญวิทยาคมไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา มีชาวประชาเลื่อมในศรัทธาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายได้ปรึกษาหารือกัน เมื่อเห็นว่าขืนปล่อยให้บ้านเมืองเดือดร้อนลุกเป็นไฟ อย่างสภาพเท่าที่เป็นอยู่นี้ นครลำปางคงเหลือแต่ชื่อแน่ ๆ จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรแล้วจึงได้พากันชุมนุมปรึกษาหาทางกู้อิสรภาพบ้านเมืองต่อไปจะมักมาอาศัยขุนนางทั้ง ๔ เห็นทีจะล้มเหลวเป็นแน่แท้

       
   อย่างไรก็ดี ความนี้ทราบไปถึงท้าวมหายศพม่าลำพูน ซึ่งมีเขตติดต่อกับนครลำปาง จึงฉวยโอกาสยกทัพมาหมายจะปราบผู้มีบุญนครลำปาง เมื่อข้าศึกยกทัพพม่า ท่านอธิการฯ ได้คุมสมัครพรรคพวกออกสู้รบเป็นสามารถในที่สุดถึงขั้นตะลุมบอนกันที่บริเวณทุ่งป่าตัว (บ้านป่าตัน เขตตำบลปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ) อนิจจังน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะกำลังพม่าข้าศึกมากกว่าไทยหลายเท่ายิ่งสู้เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ดังนั้น ท่านอธิการวัดนางยางจึงได้แตกพ่ายบริวารขวัญหนีดีฝ่อทิ้งดาบทิ้งปืนหลบหนีตายไปทางใต้ในที่สุดเข้าไปหลบอยู่ในเขตคูกำแพง (วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง) ทัพท้าวมหายศแห่งลำพูนได้ไล่ขยี้ตามไปติด ๆ ท่าน
 อธิการฯ กับเสนาขวา-ซ้ายปล่อยให้บริเวณหนีเข้าไปภายในกำแพงวัดก่อน ส่วนท่านกับเสนาออกต้านข้าศึกไว้ กองทัพลำพูนไล่ไปทัน จึงประจันบานกันระหว่างทาง ขณะนั้นท่านสมภารกับเสนาทั้งสองมีแต่ไม่กระทู้เสารั้วสวน ส่วนพม่าข้าศึกมีทั้งปืนทั้งดาบได้ต่อสู้กันอย่างประชิดตัวไม่กลัวตายใครดีก็อยู่ ใครไม่สู้ก็ตาย พวกพม่าลำพูนเกือบจะปราชัยอยู่แล้วทีเดียว บังเอิญท่าสมภารถูกระสุนที่หว่างคิ้ว แม้มันไม่ระคายผิวแต่ความแรงก็ทำให้ปวดบวมมองอะไรไม่เห็น ถูกพม่ารุมตีฟันแทงจบจนบอบช้ำไปหมดเซถลาลง ฝ่ายสมภารวัดบ้านฟ่อนได้รับบาดเจ็บที่หางตาซ้าย สมภารวัดสามขาบาดเจ็บที่หัวเข่าต่างหมดแรง แม้ร่างกายไม่มีรอยบาดแผลก็จริง ก็ล้มหมดแรงสิ้นลมปราณ ๓ คน สู้กับข้าศึกเป็นร้อย น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ จึงถึงแก่กรรมอย่างหาญกลางสมรภูมิในที่สุด

       
เมื่อได้ชัยชนะแล้วท้าวมหายศพม่าลำพูนได้นำพลไปฉลองชัยในเขตกำแพงพระธาตุลำปางหลวงให้ทหารตระเวนเกณฑ์เก็บภาษีอากร และยึดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงกันอย่างอิ่มหมีพลีมัน บ้านเรือนใดมีใครมีสาวสวยเมียงามไม่พูดพล่ามทำเพลง หรือเกรงใจเลยจับมาใครขัดขืน ฟันแทงฆ่าตายอย่างผักปลา ได้สุรานารีมาแล้วก็ดื่มอย่างสนุกสนานภายในเขตวัดไม่ยำเกรงนรกหมกไหม้ ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธเป็นที่เวทนาเป็นอย่างยิ่ง ชาวนครลำปางเดือดร้อนกันไปทั่วกลียุค เกิดเพราะน้ำมือของพม่าข้าศึกคราวนั้นน่าเวทนายิ่งนัก

       
ท้าวมหายศจึงสั่งให้ทหารทั้ง ๓ ของตน มีหาญฟ้าแมบ, หาญฟ้างำและหาญฟ้าฟื้น ทำทีนำสารไปเจรจาความเมืองกับขุนนางทั้ง ๔ ของลำปางขณะนั้น ซึ่งมี แสนหนังสือ แสนเทพ แสนบุญเรือน และจเรน้อย ขณะเจรจากับพม่าพยายามเอาเปรียบทุกวิถีทาง ในที่สุดจเรน้อยไม่ยอม บอกว่าสมควรจะอัญเชิญท้าวลิ้นก่านเจ้าเมืองเขลางนค์ที่หนีไปอยู่ดอยประตูผามาเป็นประธานด้วย ฝ่ายพม่าเห็นว่าไม่ได้การจึงชักดาบออกไล่ฟันแทงขุนนางทั้ง ๔ ล้มตาย เกือบหมด เหลือเพียง จเรน้อยกับบริวาร ๒-๓ คน หนีตายไปสมทบกับท้าวลิ้นก่านและได้เชิญท้าวลิ้นก่านกลับไปครองนครเขลางค์อีก แต่ก็ไม่ยอมกลับ จเรน้อยจึงยอมอยู่กับท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา แต่ขณะนั้นยังมีทหารเอกที่จงรักภักดีคอยรับใช้อยู่ นั่นคือ พญามือเหล็ก ท่านผู้นี้เป็นชาวบ้านต้า (คือบ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง) เป็นเด็กกำพร้า ญาตินำไปถวายท่านอธิการวัดนายางเคยเป็นเด็กวัดเรียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวกับ จเรน้อยและหนานทิพย์ช้าง มีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า สามารถใช้แขนโล่ได้ คนส่วนมากจึงเรียกว่า "หนานข้อมือเหล็ก" คอยรับใช้อารักขา ท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา

       
กล่าวถึงจเรน้อยนำสมัครพรรคพวกลี้ภัยมาหาท้าวลิ้นก่านมาพบหนานข้อมือเหล็ก ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญามือเหล็ก" แล้วก็ดีใจซ่องสุมกำลังเตรียมการกู้ชาติให้จงได้  แต่บริวารที่มาด้วย เห็นฝีมือของจเรน้อยแล้วไม่ไหวขืนอยู่ด้วยเห็นจะถูกพม่าฟันตายอายุสั้น เปล่า ๆ จึงพากันหลบหนีไปอยู่เมืองต้า (บ้านร่องต้า ต.บ้านหวด อ.งาว) เมืองเมาะ (บ้านแม่เมาะ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ) เมืองตีบ (ต.แม่ตีบ (เวียงทิพย์) อ.งาว) เมืองลอง (อ.ลอง จ.แพร่) ด้วยเหตุนี้เองนครลำปางจึงทิ้งร้างว่างเปล่ากลัวพม่าลำพูน หาผู้คนมาอาศัยน้อยเต็มที ที่มีอยู่มากก็จะมีที่เมืองจาง (บ้านสบจาง เขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง) เพราะพวกคนนี้เป็นคนมีฐานะ คิดถึงทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ หากบ้านเมืองสงบสุขเมื่อใดก็จะกลับไปบ้านเดิมเมื่อนั้น นครลำปางได้ปล่อยร้างอยู่ไม่นาน ต้นปี พ.ศ. ๒๒๗๔ มีเจ้าอธิการวัดแก้มชมภู (เขต อ.เมือง จ.ลำปาง) ชำนาญโหราศาสตร์ จึงซ่องสุมผู้คนคิดกู้บ้านเมืองจากพม่าปรากฏว่ามีบริวารพอสมควร วันหนึ่งท่านจึงประกาศว่า "หาคนมาปราบพม่าบ่ได้ อาตมาจะสึกออกไปเป็นหัวหน้าปราบมันเอง บรรดาญาติโยมต่างห้ามปรามท่านไว้ เพราะขณะนั้นหาสงฆ์ติดวัดยากยิ่ง จึงตกลงให้ไปติดต่อท้าวลิ้นก่านที่ประตูผา ท้าวลิ้นก่านตอบว่ายังไม่พร้อม ใครจะคิดการณ์อย่างไรก็ทำไปก่อนเถิด ความจริง ท้าวลิ้นก่านกำลังคิดอยู่แล้วทีเดียว 

                  ม้าเร็วจึงส่งข่าวให้สมภารทราบ และบอกว่า "อันครูบาเจ้าก็ชำนาญโหราเลขผานาที หยังมาคิดคำง่ายมีแต่จะสึก ๆ เข้าเจ้าคิดว่าลำปางยังบ่เสี้ยงคนดีเตื่อเจ้า" ท่านสมภารคิดได้จึงจับยามสามตาลงเลขผานาทีเห็นว่า "อันหลานกูผู้สามารถยังมีสูฮีบไปตวยมันมาหากูจิ่มเต๊อะ" ในที่สุดคนจึงไปตามหานานทิพย์ช้างพเจนร ซึ่งเคยบวชเรียนอยู่กับอธิการวัดนายางแล้วไปอยู่ปงยางคก (เขต อ.ห้างฉัตร) ไปได้ภรรยาบ้านเอื้อม (เขต อ.เมืองลำปาง) มีวิชาอาคมขลัง สามารถใช้ปืนผาหน้าไม้ ไล่จับช้างดึงหายมันให้หลุดได้ในขณะนั้นมีอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ ร่างกายกำยำล่ำสันสูงใหญ่ ชาวบ้านต่างขนานนามหนานนี้ว่า "หนานทิพย์ช้าง" พอตามท่านสมภารผู้เป็นลุงจึงถามว่า "บ่าหนาน คิงจะสู้ กู้เมืองคืนจากพม่าได้ก่อ" หนานจึงพนมมือวันทาแล้วตอบว่า "อันพม่าลำพูนก็เตียวดิน กิ๋นข้าวอย่างหมู่เฮา ข้าตึงบ่อกลัวสักน้อยเจ้า" ท่านสมภารได้ยินดังนั้นจึงมอบบริวารให้ประมาณ ๓๐๐ คน ให้หนานทิพย์ช้างเตรียมตัวไว้ ถ้าได้โอกาสดีจะได้ตีเอาเมืองคืนจากพม่าต่อไป           ย้อนเรื่องราวกล่าวถึงท้าวมหายศ แม่ทัพพม่าลำพูน เมื่อฆ่าขุนนางทั้ง ๓ ได้แล้วก็ยังไม่สบายใจเพราะหนีไปอีกคนหนึ่ง คือจเรน้อย ดันหนีไปหาท้าวลิ้นก่านอดีตเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งขณะนั้นลี้ภัยไปอยู่ดอยประตูผาโน่น ขืนปล่อยไว้ก็จะเป็นหนามยอกอก ปกครองนครลำปางไม่ราบลื่นแน่นอน จึงสั่งการให้ ๓ ทหารเสือของตนไปทำการปราบปรามต่อไป (หาญฟ้าแมบ, หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น)

       
ณ ดอยประตูผาที่ลี้ภัยของท้าวลิ้นก่านกับพวกนั้นเป็นเชิงเขาเวิ้งชะโงก เดิมมีช่องย่องผ่านเข้าไปที่แคบ ๆ ทะลุไปสู้เมืองต้า เมืองลอง เมืองแพร่ ก่อนนั้นทางนี้เป็นทางลัดตรงที่สุด ใช้เป็นที่แอบซ่อมสุมกำลังได้ดีที่สุด ทหารเอกของท้าวลิ้นก่าน ขณะนั้น พญามือเหล็ก และ จเรน้อย ที่มาสมทบใหม่พร้อมบริวารเพียงเล็กน้อยกำลังคิดหาทางกู้อิสรภาพคืนจากพม่าลำพูนอยู่ทุกลมหายใจ แต่ขณะนั้นยังขาดกำลังอย่างเดียวเท่านั้น และนึกไม่ฝันว่าพม่าจะส่งกำลังมารังควาญ จึงไม่ได้เตรียมตัวแต่อย่างใดเลย

       
ถึงคราวจะสิ้นชื่อ ให้ชาวดลระบือเกียรติคุณสืบไปตราบชั่วหลานเหลนโพ้น สามทหารเอกของท้าวมหายศ อันมีหาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ หาญฟ้าฟื้น ได้กรีฑาทัพ ไปยังประตูผาทันที ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งสุริยากำลังจะมาเยือนขอบโลกเบื้องบูรพาทิศ จเรน้อย เห็นข้าศึกก่อนจึงออกต่อกรไม่ยอมช้าได้ต่อสู้พม่าเป็นสามารถแต่ขาดอาวุธ ในที่สุดพม่าบุกทะลวงไล่จเรน้อยไปยังหน้าผาตูบ พม่าได้ใจรุกไล่ไม่ลดละ พญามือเหล็ก เห็นว่าหากปล่อยพม่าเข้ามาท้าวลิ้นก่านราชาก็สิ้นนามกันคราวนี้ จึงฉวยดาบคู่ชีพรีบกระโดยสกัดกั้นทหารพม่าที่กรูเข้ามาถูกพญามือเหล็ก มีพลังใจเสกเป่าคาถาอาคมที่ครูบาให้มาเท่าใดนำออกมาใช้จนหมดพุม คราวน้ำฉวยดาบทั้งสองมือยืนจังก้าหน้าประตูผาทหารพม่าข้าศึกนึกว่าไทยคนเดียวหรือจะสู้กู พม่าเป็นสองสามร้อยคนได้ จึงเรียงแถวตรงเข้าไปพญามือเหล็กขยับดาบมือซ้ายเบา ๆ เอาพม่าเป็นศพเช่นคมดาบได้ถึง ๕ คน ป่ายดาบมือขวาได้พม่าเซ่นดาบอีก ๑๐ คน หยุดการเดินเดี่ยวของพม่าได้ชะงักนัก
               ภาพวาดพญามือเหล็กรบกับศัตรู



        ฝ่ายหาญฟ้าง้ำเห็นพวกเสียที ไม่รีรอถลกโสร่งเข้าไปหมายแก้มือให้เพื่อ ฟันซ้ายป่ายขวาไม่นับ พญามือเหล็กแทบรับไม่ทัน ในที่สุดดาบหักไปอันหนึ่ง จึงใช้ศอกซ้ายรับอาวุธแทนโล่  มือขวาถือดาบคอยจ้องฟันแม้คมดาบ จะไม่ระคายเคืองผิวหนังเลย แต่ศอกซ้ายก็บวมเป่งงอมช้ำเอาดื้อ ๆ โตขึ้นถึง ๓ เท่าตัว เหนื่อย ก็เหนื่อยข้าวไม่ได้ตกท้องเลยตั้งแต่เช้า เจ็บมือซ้ายย้ายมาใช้มือขวารับคมดาบศัตรูแทนโดยไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว จนมือขวาก็บวมเลือดไหลซิบ ๆ เท่ายางบอน อดทนต่อกรกับพม่าหมาหมู่ อยู่ต่อไปไม่ปริปากหาญฟ้าง้ำนั้นคิ้วบากหน้าเบี้ยวเห็นทีจะสู้คนเดียวต่อไปไม่ไหวแน่แหกปากร้องให้นายฟ้าแมบผู้เฒ่าเข้าไปช่วยสองต่อหนึ่ง สู้กันถึงใจเลือดไหลเข้มข้นเสมอ

       
พญามือเหล็ก รู้สึกหิวโหยโรงแรงแต่แข็งใจสู้บริวารที่อยู่เบื้องหลังเสียงดาบปะทะกันไม่ไหวหนีตายอนาถกันหมดสิ้น ทั้งสองทหารพม่าประดาหน้าเข้าใส่หลับตาฟัน หลับตาแทนไม่เลือกที่ ทั้งกายของพญามือเหล็ก ระบมบอบช้ำบวมเป่งไปทั่วสารพางค์ สู้กันตั้งแต่เที่ยงวันยันบ่ายสามโมงยังไม่มีทีท่าว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ พม่า ๒ คนชักระอาใจจะหนีไปก็เสียเหลี่ยม ฝืนใจสู้ต่อไปอย่างนั่นเองจังหวะขณะที่หาญฟ้าง้ำโสร่งลุ่ยก้มหน้าย่อตัวนุ่งโสร่ง พอโย่งโย้ขึ้นมาอนิจจา พญามือเหล็ก รวมพลังครั้งสุดท้ายมือขวายกไม่ไหว มือซ้ายถือดาบฟันฉับลงที่แสกหน้าผ่าแล่งเป็นสองส่วนพอดิบพอดี ไม่มีเวลาร้องสั่งเพื่อนแม้แต่อ้าปาก

       
ฝ่ายทหารฟ้าแมบผู้เฒ่าไม่เอาไหน เห็นเพื่อนตายไปต่อหน้า ถ้าขืนชักช้าอยู่สู้มันไม่ได้ พอดีพญามือเหล็กใกล้ขาดใจจึงเบนกายเข้าไปพิงหน้าผายืนสง่าสิ้นลมปราณ อย่างชายชาติทหารเอก มือยังถือดาบอยู่ หาญฟ้าแมบไม่รู้นึกว่า พญามือเหล็ก แบเอาท่าทีจำงุมมือกำดาบไม่ว่าเลย...อนิจจาเพื่อนตายไปทั้งสองกูจะเอาชีวิตมาทิ้งเหรอ ยังอาลัยเมียเก่าลูกรักที่เมือง ตนจึงหันหลังวิ่งแล่นไม่เหลียวกลับ ทัพพม่าจึงยึดดอยประตูผาไม่สำเร็จด้วยประการฉะนี้แล
ศาลเจ้าพ่อประตูผา(พญามือเหล็ก)อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางลำปาง งาว กิโลเมตรที่ ๔๘ ศาลเจ้าพ่อประตูผาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ผู้สัญจรไปมาผ่านเส้น ทางนี้มักแวะสักการะและจุดประทัดถวาย เจ้าพ่อประตูผา เดิมชื่อพญาข้อมือเหล็กเป็นผู้อยู่คงกระพัน ชาตรี เป็นทหารเอกของเจ้าผู้ครองนครลำปาง (เจ้าลิ้นก่าน) ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตูผา จนกระทั้งถูกรุมแทงตายในลักษณะมือถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธา และได้ตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปางและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ช่วงประมาณวันที่ ๒๐๒๕ เมษายน ของทุก ๆ ปี ประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมกันจัดงานประเพณีบวงสรวงสักการะรดน้ำดำหัวเจ้าพ่อประตูผา มีการจัดขบวนแห่เครื่องบวงสรวงและสักการะอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา


       
กล่าวถึงท้าวลิ้นก่านกับจเรน้อย เมื่อเห็นว่าเงียบเสียงดาบเสียงคนแล้ว จึงพากันออกมา อนิจจา...ฟ้าดิน "พญามือเหล็ก" ผู้กล้าหาญยืนมือถือดาบท่าทางสง่าปานราชสีห์ สิ้นใจตายจากไปเสียแล้ว จึงสั่งทหารหาญ นำร่างไร้วิญญาณไปวางไว้ที่ผาลาดปลงศพวีรชนตามมีตามเกิดแล้วสร้างศาลเพียงตา อัญเชิญดวงวิญญาณ พญามือเหล็กมาสิงสถิตให้เป็นที่สักการบูชาของเหล่าปวงชนรุ่นหลังต่อไป แทนที่ศาลนี้จะเรียกว่า "ศาลพญามือเหล็ก" ปัจจุบันกลับเรียกกันว่า "ศาลเจ้าพ่อประตูผา" ตามชื่อดอยประตูผาสืบต่อมาคราบเท่าทุกวันนี้
คาถาบูชาพญามือเหล็ก


ด้วยความเป็นวีรชนผู้กล้าหาญและตำนานว่าเป็นผู้ที่มีคาถาอาคมจึงทำให้มีคนสร้างวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกแก่ท่าน เช่น เหรียญเจ้าพ่อประตูผารุ่นแรก ปลุกเสกโดยหลวงพ่อเกษม




ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก


http://slmlp142.igetweb.com 

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

พระรัตนปัญญาเถระ กับผลงานชิ้นยอดชินกาลมาลีปกรณ์


            พระรัตนปัญญาเถระ หรือพระสิริรัตนปัญญาเถระ เป็นปราชญ์กวีสมัย พญาแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังรายพะรัตนปัญญาเถระเป็นชาวเชียงรายและ เป็นพระภิกษุรุ่นเดียวกันกับพระสิริมังคลาจารย์ เป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์มังราย อุปสมบทและพำนักอยู่ที่วัดป่าแก้ว เชียงราย ต่อมาได้มาศึกษาต่อที่เชียงใหม่ และพำนักอยู่วัดสีหลาราม หรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน มณี พยอมยงค์กล่าวว่าท่านเคยพำนักที่วัดฟ่อนสร้อย (เดินอยู่ใกล้ตลาดประตูเชียงใหม่) ก่อนจนได้เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นจึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นพระอารามหลวง
ผลงานของพระรัตนปัญญาเถระมีดังนี้
๑.    มาติกัตถสรูปอภิธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์อธิบายพระอภิธรรม ไม่ปรากฏปีที่รจนา
๒.    วชิรสารัตถสังคหะ รจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๘ ที่วัดมหาวนาราม เชียงใหม่ เป็นเรื่องศัพท์ย่อๆ ซึ่งเมื่อขยายใจความออกมาแล้วจะทำให้รู้ความหมายได้แจ่มชัด หรืออาจเรียกว่าเป็นหัวใจของธรรมะต่างๆ
๓.    ชินกาลมาลี หือ ชินกาลมาลีปกรณ์ คัมภีร์นี้เริ่มรจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ ในพรรษาที่ ๒๓ ของพระรัตนปัญญา รัชสมัยพระเมืองแก้ว เนื้อเรื่องกล่าวถึงกาลของพระพุทธเจ้า โดยเรียบเรียงอย่างมีระเบียบ จึงได้ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาถึงกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้โดยพิศดาร ว่าด้วยพุทธกิจว่าทรงทำอะไร ประทับอยู่ที่ไหน จนกระทั่งดับขันธ์ปรินิพพาน กาทำสังคายนาครั้งต่างๆ การจำแนกพระบรมธาตุ การเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ให้เวลาและสถานที่อย่างชัดเจน บอกกำหนดปีโดยครบถ้วน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประวัติของบุคคลและสถานที่ของเมืองสำคัญ คือ เชียงแสน เชียงราย ลำพูน และเชียงใหม่ รจนาเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑ มีความยาว ๑๔ ผูก กับ ๑๔ ลาน วรรณกรรมบาลีเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ล้านนาที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เป็นอย่างดี และเป็นที่เชื่อถือตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งผู้รจนาก็ได้แสดงความมุ่งหมายในการแต่งไว้อย่างละเอียด สมกับที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญ
           
ชินกาลมาลีปกรณ์ นับเป็นผลงานชิ้นเอกของนักปราชญ์ชาวล้านนา ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากมายหลายภาษา รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตถึง ๕ ท่าน ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยกลาง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกเป็นครั้งแรกในงานพระศพของพระราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาเสฐียร พันธรังษี ได้แปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ใช้ชื่อว่า ชินกาลมาลินี และในราว พ.ศ. ๒๕๐๐ แสง มนวิทูร ได้แปลเป็นภาษาไทยขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ มีเชิงอรรถ อธิบายความให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๑๙๙๘ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย


                    การแปลเป็นภาษาต่างประเทศเริ่มด้วย ยอร์ช เซเดส์ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยตีพิมพ์คู่กับภาษาบาลี ลงในวารสารวิชาการของฝรั่งเศสติดต่อกัน ๖ ฉบับ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สมาคมบาลีปกรณ์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้พิมพ์เป็นภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน ต่อมาก็ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ในประเทศลังกา พระภิกษุชื่อพุทธทัตก็ได้แปลเป็นภาษาสิงหล พิมพ์คู่กับภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘  จึงนับได้ว่าเป็นวรรณคดีล้านนาที่ได้รับการแปลและพิมพ์เผยแพร่มากที่สุด ชินกาลมาลีปกรณ์ จึงเสมือนเป็นคู่มือที่นักศึกษาชาวต่างประเทศได้ใช้เป็นหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย มานานแล้ว 
            พระประธานในอุโบสถวัดเจ็ดยอด




ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.lannapoem.com(อุดม รุ่งเรืองศรี, 2528 : 118, ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 110 และประคอง นิมมานเหมินท์ 2517 : 46)
-http://www.bloggang.com

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

พระโพธิรังสีเถระ กับตำนานพระพุทธสิหิงค์และจามเทวีวงศ์

              
พระพุทธสิหิงค์ 
    
                พระโพธิรังสีเถระ ในบรรดานักปราชย์ชาวล้านนาที่เป็นพระเถระนั้น พระโพธิรังสีเถระเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุด เป็นชาวเชียงใหม่ พระโพธิรังสีมหาเถระ ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของ วัดโพธารามมหาวิหาร ผลงานของท่านปรากฏอยู่คู่กับวรรณคดีล้านนาเล่มอื่นๆ ที่มีผู้คนอ้างอิงและศึกษาทั้งทางศาสนาและประวัติศาสตร์ คือ จามเทวีวงศ์ และ สิหิงคนิทาน
                
จามเทวีวงศ์ จัดเป็นหนังสือพงศาวดาร รจนาเป็นภาษาบาลี มี ๑๕ ปริเฉท ปรากฏตอนท้ายทุกปริเฉทว่า อันมหาเถรมีนามว่า โพธิรังสี ได้แต่งตามคำมหาจารึก สันนิษฐานว่ารจนาราว พ.ศ. ๑๙๕๐-๒๐๖๐ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เปรียญ ร่วมกับ พระญาณวิจิตร (สิทธิ โลจนานนท์) เปรียญ ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๓
               
เนื้อเรื่องในจามเทวีวงศ์ ว่าด้วยวงศ์ของพระนางจามเมวีที่ได้ครองเมืองหริภุญชัยและประวัติพระศาสนาในล้านนา กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย  ลำปางและการสร้างวัดบรรจุพระธาตุคือ พระบรมธาตุหริภุญชัยในสมัยราชวงศ์ของพระนางจามเทวี กล่าวถึงธรรมะของกษัตริย์และความที่ไม่สมควร อันเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อนล่มจม นับว่าพระโพธิรังสีเถระสามารถนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาสัมพันธ์กับเรื่องราวทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าหนังสือ จามเทวีวงศ์ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง
              
สิหิงคนิทาน หรือประวัติพระพุทธสิหิงค์ แม้มิได้ระบุปีที่รจนา แต่สันนิษฐานว่าเป็นระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๖๘ เพราะเป็นระยะที่วรรณกรรมบาลีกำลังเฟื่องฟู เนื้อเรื่องใน สิหิงคนิทาน ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งหล่อในประเทศลังกาด้วย เงิน ตะกั่ว และทองเหลือง ประวัติการเดินทางมาสู่ประเทศไทยและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเชียงใหม่ ปัจจุบันได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยกลางและพิพม์เผยแพร่แล้ว
                                ตำนานของพระโพธิรังสีกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่ เจ้าลังกา ๓ พระองค์ ได้ร่วมพระทัยกันพร้อมด้วยพระอรหันต์ใน เกาะลังกาสร้างขึ้นราว พ.ศ.๗๐๐ โดยหมายจะให้ได้พระพุทธรูปเหมือนองค์พระพุทธเจ้าจริงๆ ถึงกับตำนานกล่าวว่า พญานาคซึ่งเคยเห็นองค์พระพุทธเจ้ามาแปลงกายให้ดูเป็นตัวอย่าง มาถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๐-๑๘๖๐) มีพระภิกษุลังการ เข้าสู่ประเทศสยาม พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทราบกิติศัพท์เลื่องชื่อ ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีพุทธลักษณะที่งดงาม พ่อขุนรามคำแหง จึงทรงขอให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แต่งทูตเชิญพระสาส์นไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์จากเจ้ากรุงลังกา เนื่องด้วยว่าเป็นเมืองที่มีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้ตามพระราชประสงค์ อัญเชิญมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราช จัดงานพิธีสมโภชใหญ่โตเป็นเวลา ๗ วัน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ให้ช่างท้องถิ่นจำลองไว้บูชา ๑ องค์ โดยกล่าวไว้ว่าพ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปรับ พระพุทธสิหิงค์ถึงนครศรีธรรมราช ด้วยพระองค์เอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยทุกพระองค์ได้ทรงเคารพบูชาพระพุทธสิหิงค์ตลอดมา
                               ครั้งเมื่อได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทางสุโขทัยอ่อนกำลังลง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้สุโขทัยไว้ในอำนาจเมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ พญาไสยลือไทย เจ้ากรุงสุโขทัย ถูกลดตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราช ลงมาครองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานไว้ที่พิษณุโลกด้วย เมื่อพระยาไสยลือไทย สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ก็ทรงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์โดยมาทางเรือลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อทางกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจแล้ว ได้จัดแบ่งการปกครอง ออกเป็นสองมณฑลคือเมืองตาก, สวรรค์โลก กับพิษณุโลก เป็นมณฑลสอง ให้เจ้านายในราชวงศ์พระร่วงปกครอง พระยาธิษฐิระ ผู้ครองกำแพงเพชรนั้นปรากฏว่า ราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปรารถนาจะได้พระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้เมืองกำแพงเพชร จึงให้มเหสีผู้เป็นมารดาตนขอพระพุทธรูปองค์หนึ่ง แล้วติดสินบนขุนพุทธบาลผู้รักษาพระ เลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไป เรื่องมีต่อว่า ใน พ.ศ.๑๙๓๑ นี้เองมีพระภิกษุรูปหนึ่งในเมืองกำแพงเพชรปั้นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ด้วยขี้ผึ้ง และนำพระพุทธรูปจำลองนี้ไปเชียงราย เมื่อเจ้ามหาพรหมผู้ครองนครเชียงรายได้เห็นจึงชวนเจ้ากือนา พี่ชายผู้ครองนครเชียงใหม่ยกกองทัพไปกำแพงเพชรและ ขู่ขอพระพุทธสิหิงค์ พระยาธิษฐิระต้องยอมยกพระพุทธสิหิงค์ให้ไป พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่เชียงราย ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ พอถึง พ.ศ.๑๙๕๐ เชียงใหม่กับเชียงรายเกิดรบกัน เชียงรายแพ้ เจ้าแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ก็อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่เชียงใหม่ราว ๒๕๕ ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.๒๒๐๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชรกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ เชียงใหม่เป็นพวกพ้องพม่า จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเชียงใหม่ได้รวมอยู่กับคนไทยแล้ว พม่ายกกองทัพมาล้อมเชียงใหม่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่าพ้นเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระกรมพระราชวังบวรฯ จึงได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มากรุงเทพฯ (พ.ศ.๒๓๓๔) ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยนัยนี้ นับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศ มาตั้งแต่ต้นประวัติกาล
                         ผู้แต่งตำนานคือพระโพธิรังสี ได้พรรณนาอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ไว้เป็นอันมาก มีข้อที่น่าฟังตอนหนึ่งกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์หามีชีวิตได้ก็จริง แต่มีอิทธานุภาพด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อธิษฐานพละของพระอรหันต์ อธิษฐานพละของเจ้าลังกาหลายพระองค์ และศาสนพละของพระพุทธเจ้า" ซึ่งหมายความว่ากำลังใจของพระอรหันต์ และกำลังใจของเจ้าลังกาพร้อมทั้งกำลังแห่งพระพุทธศาสนา กระทำให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงอานุภาพ อีกตอนหนึ่งพระโพธิรังสี กล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่" ในส่วนของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ซึ่งได้รวบรวมตำนาน พระพุทธสิหิงค์เองมีความเชื่อมั่นในอานุภาพ ของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก "อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง"
                         คุณานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ดังกล่าวมานี้ กระทำให้ท่านเชื่อเหตุผลของ พระโพธิรังสีว่าอธิษฐานพละ คือกำลังใจของพระอรหันต์ และเจ้าลังกาผู้สร้างพระพุทธสิหิงค์ได้เข้าไปอยู่ในองค์พระพุทธสิ หิงค์พร้อมทั้งศาสนพละของพระพุทธเจ้า และข้อที่พระโพธิรังสีกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์ประทับอยู่ใดก็เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น"ข้อนี้ก็สมจริง ใครที่ได้เห็น พระพุทธเจ้าแม้แต่ยังมิได้ฟังธรรมเทศนาเลย ก็มีความสบายใจในทันทีที่ได้เห็นผู้ใดที่ได้เห็น พระพุทธสิหิงค์ย่อมได้รับผลอย่างเดียวกัน พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของ องค์พระมหากษัตริย์ ของประชาชนชาวสยามมาเป็นเวลาช้านาน จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศเลยทีเดียว





วัดเจ็ดยอดหรือวัดโพธารามมหาวิหารตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดียเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมดและเป็นวัดที่จำพรรษาของพระโพธิรังสี มหาปราชญ์ล้านนา

ภาพทั่วไปของวัด


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.lannapoem.com (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 103 และประคอง นิมมานเหมินท์, 2517 : 42), (ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 104)


วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

พระญาณกิตติเถระ นักปราชญ์ล้านนาที่รจนาวรรณกรรมมากกว่าผู้อื่น

               พระญาณกิตติเถระ เป็นชาวเชียงใหม่ มีอาวุโสกว่าพระสิริมังคลาจารย์ จำพรรษาอยู่วัดปนสาราม (สวนต้นขนุน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครเชียงใหม่ จากผลงานของท่านที่รจนาไว้ ทำให้ทราบว่าท่านเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าติโลกราชเชื่อว่าท่านเคยไปศึกษาที่ประเทศลังกา ในรัชกาลกษัตริย์กรุงลังกาปรักกรมพาหุที่ ๖ และพระเจ้าภูวเนกพาหุที่ ๖ (พ.ศ. ๑๙๕๕-๒๐๒๔) ครั้งนั้นศาสนสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่ อยุธยา ลังกา และพม่า ดำเนินไปด้วยดี พระสงฆ์ล้านนาเดินทางไปประเทศเหล่านี้ได้อย่างเสรี ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชและพระเจ้ายอดเชียงราย งานที่ท่านรจนาขึ้นหลังจากสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๐๒๐ ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น

                ผลงานของพระญาณกิตติเถระรจนาคัมภีร์อธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย และพระอภิธรรมและบาลีไวยากรณ์  มีทั้งหมด ๖ เรื่อง แบ่งตามหมวดดอันมีชื่อตามลำดับดังนี้

พระวินัย

๑.สมันตปาสาทิกา อัตถโยชนา อธิบายศัพท์ คำ ข้อความยากในอรรถกถาวินัยปิฏกชื่อ สมันตปาสาทิกา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบัญญัติ ข้อแนะนำตักเตือนและบทลงโทษ สำหรับพระภิกษุผู้ผิดวันัย เป็นต้น

๒. ภิกขุปาฎิโมกขคัณฐีทีปนี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระปาฏิโมกข์ หรือศีลของพระภิกษุโดยเฉพาะ เช่น สงฆ์ควรปฏิบัติอย่างไรก่อนพิธีสวดปกฏิโมกข์ และอธิบายขยายความในประปาฏิโมกข์ รจนาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕

๓.สีมาสังกรวินิจฉัย วินัยปิฏกกล่าวถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ คือ สีมา ซึ่งคู่กับพระอุโบสถ หรือโบสถ์เป็นที่ทำสังฆกรรม กิจกรรมที่ต้องทำโดยความสามัคคีเป็นเอกฉันท์ มีเสียงคัดค้านเพียงเสียงเดียว สังฆกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ

พระอภิธรรม

๔. อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอัฏฐสาลินี อรรถกถาอภิธรรมธัมมสังคณีโดยพระพุทธโฆสาจารย์

๕. สัมโมหวิโนทนี อัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอรรถกถาอภิธรรมวิภังค์ โดยพระพุทธโฆสาจารย์

๖.     ปัญจกรณัฏฐกถา อัตถโยชนา และเชื่อว่าท่านญาณกิตติเถระคงรจนาคู่มืออธิบายอภิธรรมที่เหลืออีก ๕ คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลปัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน รวมเรียกว่า ปัญจปกรณัฏฐกถา ที่ท่านพุทธโฆสาจารย์รจนาไว้

ท่านพุทธทัตต์เถระชาวลังกาได้กล่าวว่า คัมภีร์เหล่านี้และคัมภีร์อื่นๆ อีกหลายคัมภีร์จารด้วยอักษรขอม ส่งจากประเทศไทยไปถวายเป็นบรรณาการแก่พระมหาเถรปุรัตคามธัมมลังสิริกาสุมนติสส แห่งปรมานันทวิหาร เมืองกอลเล ประเทศลังกาโดยผ่านราชทูตไทย

๗. อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายอภิธัมมัตถวิภาวินี ซึ่งรจนาโดยพระสุมังคล ชาวลังกา ท่านรจนาเรื่องนี้ที่วัดปนสาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๕

ไวยากรณ์

๘.มูลกัจจายนอัตถโยชนา คู่มืออธิบายบาลีไวยากรณ์สายกัจจนะ ซึ่งพระกัจจายนเถระ ภิกษุรุ่นหลังท่านพุทธโฆสาจารย์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒) รจนามูลกัจจายนวยากรณ

วรรณกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ท่านญาณกิตติเถระได้รจนาระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๒๘-๒๐๔๓ ท่านเป็นนักปราชญ์ล้านนาที่รจนาวรรณกรรมไว้มากกว่าผู้อื่น






ขอบคุณข้อมูลจาก
-http://www.lannapoem.com(ประคอง นิมมานเหมินท์, 2517:31,(ลิขิต ลิขิตานนท์, 2527 : 478-480),(ลิขิต ลิขิตานนท์, 2523 : 106)
-
http://server.thaigoodview.com